Skip to main content
sharethis

คำบอกเล่าของชาวบ้านถึงพื้นที่พรุชุ่มน้ำผืนกว้างใหญ่ของพรุบาเจาะที่มีทุ่งหญ้า ป่าเสม็ด ป่ากก และป่าสาคูแทรกตัวสลับไปมาเต็มพื้นที่เกือบแสนไร่ กินขอบเขตไปถึงสี่อำเภอสองจังหวัดของนราธิวาสและปัตตานี ช่างแตกต่างจากสิ่งที่ฉันเห็นอยู่ตรงหน้า ยากเหลือเกินที่จะจินตนาการได้ถึงลักษณะพื้นที่พรุในอดีต


สวนปาล์มน้ำมันผืนใหญ่สุดลูกหูลูกตาของนิคมสหกรณ์บาเจาะ ดูเผิน ๆ แล้วไม่ต่างจากสวนปาล์มน้ำมันในแถบภาคใต้ตอนบนแถวจังหวัดกระบี่ ชุมพร หรือสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันที่สำคัญมาตั้งแต่กลางทศวรรษ
2520

 

สิ่งเดียวที่ต่างออกไปก็คือสวนปาล์มน้ำมันที่พรุบาเจาะมีร่องระบายน้ำที่ถูกขุดเป็นโครงข่ายซับซ้อนโยงใย ทั่วทั้งผืน

 

พรุบาเจาะเป็นกรณีตัวอย่างของการเปลี่ยนสภาพของระบบนิเวศน์อย่างสิ้นเชิงโดยฝีมือมนุษย์ มีการระบายน้ำออกทำให้พื้นที่ชุมน้ำเป็นผืนดินแห้ง ๆ นัยว่าเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและเพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม

 

น่าสนใจว่าการเปลี่ยนสภาพพรุเกี่ยวข้องกับการที่รัฐไทยพยายามทำให้คนมาเลย์มุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้สวามิภักดิ์ ซึ่งเป็นความพยายามที่มีมาตั้งแต่ราวปี พ.. 2516 ขณะที่ชาวบ้านก็ไม่สามารถจะวิจารณ์ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพพรุได้อันเนื่องมาจากลักษณะเฉพาะทางการเมืองการปกครองของประเทศไทย

 

นอกจากนั้นปรากฏการณ์ระดับโลกอย่างเช่นวิกฤติพลังงาน ได้ทำให้เกิดความตื่นตัวในการหาพืชพลังงานทดแทน รวมทั้งการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องปาล์มน้ำมันอันนำมาสู่การส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่พรุ ปัจจัยนี้ได้เข้ามาบดบังอำพรางจนยากที่จะมองเห็นได้ถึงปัญหาที่ซับซ้อนเป็นลูกโซ่และเกิดขึ้นมายาวนานนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนสภาพพรุในช่วงแรก ๆ

 

พรุ: ฐานชีวิตของคนสามจังหวัดภาคใต้

 

ในเขตสามจังหวัดภาคใต้ พรุเป็นทรัพยากรธรรมชาติพื้นฐานในการดำรงชีวิตของชาวบ้านมาตั้งแต่อดีต ดังตัวอย่างของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแถบตอนกลางของลุ่มน้ำสายบุรีที่ ในช่วงก่อนการขยายตัวของการปลูกยางพาราและไม้ผลเชิงพาณิชย์ ชาวบ้านดำรงชีวิตอยู่ด้วยสองฐานทรัพยากรสำคัญคือ พรุ และพื้นที่ราบริมแม่น้ำ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งสองส่วนนี้ก่อให้เกิดระบบการผลิตที่หลากหลายที่สามารถครอบคลุมความจำเป็นขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่ของชีวิตได้ พวกเขาทำนาพรุ ทำสาคู เลี้ยงควาย และจับปลาในพรุ อีกทั้งทำนาหว่านและนาดำบริเวณขอบพรุ จับปลาในแม่น้ำ และเก็บผลไม้จากสวนผสมผสานบริเวณที่ราบริมน้ำใกล้กับที่ตั้งบ้าน (สวนดุซง)

 

แม้กระทั่งในปัจจุบันที่การเกษตรเชิงเดี่ยวเชิงพาณิชย์ขยายตัวอย่างกว้างขวางและกลายเป็นวิถีการผลิตหลักของคนที่นั่นไปแล้ว พรุก็ยังคงมีความสำคัญต่อชาวบ้านบางส่วนในฐานะที่เป็นอีกแหล่งรายได้หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเลี้ยงควายในพรุ และเป็นการสร้างหลักประกันแก่ครอบครัวว่าจะมีข้าวกินตลอดปีจากการทำนารอบพรุไม่ว่าราคายางจะสูงหรือต่ำก็ตาม

 

ที่สำคัญ พรุยังเป็นที่ทำมาหากินของคนยากจนในชุมชนที่ไม่มีที่ดินหรือไม่เงินมากพอในการลงทุนประกอบอาชีพอื่น เนื่องจากการหากินในพรุนั้นไม่ต้องลงทุนมากพวกเขาก็สามารถมีรายได้จากต้นจากหรือต้นสาคู รวมทั้งปลาแห้ง ปลาเค็ม หรือปลาส้มที่ได้จากพรุ

 

พื้นที่พรุในเขตสามจังหวัดภาคใต้มีมากถึงหนึ่งในสามของพื้นที่พรุทั้งหมดในประเทศ ที่ผ่านมา “รัฐไทย” ให้ความสำคัญกับพรุในเขตนี้มาก โครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ “รัฐไทย” ได้รับความสวามิภักดิ์และความจงรักภักดีจากชาวมาเลย์มุสลิม ที่ดูดีกว่าการใช้นโยบายกลืนกลายแบบบังคับดังเช่นในอดีต โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ซึ่งความรุนแรงและความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน

 

โครงการพัฒนาพรุ: เปลี่ยนพื้นที่พรุ เปลี่ยน “ตัวตน” คนใช้พรุ

 

โครงการพัฒนาพรุ รวมทั้ง ความสนใจต่อพื้นที่พรุนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่ “รัฐไทย” กำลังถูกท้าทายอย่างหนักจาก “ภัย” คอมมิวนิสต์ ในบริบทที่ความมั่นคงของชาติเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งของนโยบายรัฐ

 

โครงการพัฒนาพรุเกิดขึ้นบนฐานความคิดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะนำมาสู่ความมั่นคงแห่งชาติ และช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับขบวนการคอมมิวนิสต์และขบวนการ “ก่อความไม่สงบ” ในภาคใต้

 

โครงการพัฒนาพรุในสามจังหวัดเกิดขึ้นครั้งแรกในฐานะโครงการตามพระราชดำริในช่วงกลางทศวรรษ 2520ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถาบันกษัตริย์ยังไม่มีอิทธิพลในพื้นที่นี้มากนัก โครงการพัฒนาพรุได้ขยายตัวกว้างขวางขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในแง่พื้นที่และขอบข่ายงาน

 

การพัฒนาพื้นที่พรุในระยะแรกเน้นการระบายน้ำออกจากพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนพรุจากพื้นที่ชุ่มน้ำให้เป็นพื้นที่แห้ง มีการควบคุมปริมาณและการไหลของน้ำด้วยการสร้างประตูกั้นน้ำและการทำโครงข่ายคลองระบายน้ำ น่าสนใจอย่างยิ่งว่าโครงการพัฒนาพรุเหล่านี้วางอยู่บนฐานความคิดว่า พรุเป็นพื้นที่ไร้ประโยชน์ เสื่อมโทรม และไม่ก่อให้เกิดผลผลิต และควรถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นทรัพยากรที่มีประโยชน์ทางการเกษตร

 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่าความซับซ้อนในเชิงระบบนิเวศของพรุ และองค์ความรู้และการใช้ประโยชน์จากพรุของคนท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่อดีตได้ถูกละเลยไปจากโครงการพัฒนาพรุโดยรัฐไทยอย่างสิ้นเชิง

 

การพัฒนาพรุของ “รัฐไทย” ไม่มีได้เฉพาะเพียงแค่การเปลี่ยนสภาพของพรุเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนตัวตนของชาวมาเลย์มุสลิมผู้ใช้ประโยชน์จากพรุจากสถานะของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีศาสนาที่แตกต่างให้มาเป็นพสกนิกร อันถือเป็นคุณลักษณะสำคัญในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “รัฐไทย”

 

การละเลยความสัมพันธ์ในเชิงระบบนิเวศของพื้นที่พรุและการละเลยองค์ความรู้และภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากพรุของชาวบ้านนั้น ได้สร้างความชอบธรรมให้กับความพยายามในการเปลี่ยนตัวตนดังกล่าว เพราะเป็นการให้ภาพคนมาเลย์มุสลิมในฐานะกลุ่มคนที่ยากจน ไร้การศึกษา ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ขาดศักยภาพในการแก้ไขปัญหาในชีวิต ไม่มีแม้กระทั่งความสามารถในการนำที่ดินพรุรกร้างเสื่อมโทรมรอบๆ ตัวมาทำให้เกิดประโยชน์ได้

 

ภาพลักษณ์นี้มีนัยว่าคนเหล่านี้จะมีชีวิตผาสุกได้ก็ต่อเมื่อมีฐานะเป็น “พสกนิกร” ที่ได้รับการปกป้อง คุ้มครองและช่วยเหลือจาก “รัฐไทย”

 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net