Skip to main content
sharethis

ภายหลังการร้องเรียนอันยาวนานตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ของชาวบ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร อันเนื่องมาจากการทำเหมืองทองคำชาตรีของบริษัทอัคราไมนิ่งนั้นส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งในด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษทั้งฝุ่นหิน เฉพาะอย่างยิ่งสารไซยาไนด์จากกระบวนการทำเหมือง อันเป็นสารก่อมะเร็ง แทนที่ปัญหาความเดือดร้อนชองชาวบ้านจะได้รับการแก้ไข กลับกลายเป็นว่าปี 2551 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสมัยนั้น มีมติอนุมัติการทำเหมืองทองคำชาตรีระยะที่ 2 ของบริษัทอัคราไมนิ่งต่อไปอีก เป็นการทิ้งทวนก่อนลาออกเป็นจำนวน 5 แปลง เนื้อที่ 1,309 ไร่ในเขตจ.พิจิตร และอีก 4 แปลง เนื้อที่รวม 1,156 ไร่ในเขตจ.เพชรบูรณ์


ปัจจุบันการทำเหมืองทองของบริษัทดังกล่าวก็ได้ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีวันสิ้นสุดอยู่ในขณะนี้ มีข่าวชาวบ้านออกมายื่นหนังสือร้องเรียนเป็นระยะๆ ปัญหาความเดือดร้อนของชาวเขาหม้อก็ถูกแก้ไขพอเป็นพิธี เช่นว่าการปัญหาน้ำดื่ม อบต.ก็จัดหาน้ำมาให้ หลังจากที่ชาวบ้านต้องซื้อน้ำกินมาเป็นเวลาหลายปี เสียเงินรวมกันร่วมหลายแสนบาท หรือทำนาข้าวแล้วเม็ดลีบก็อ้างว่าเป็นเพราะพันธุ์ข้าวของชาวบ้านไม่ดีบ้าง เป็นเพราะไม่ใส่ปุ๋ย ไม่บำรุงบ้าง เป็นต้น รวมไปถึงปัญหาผลกระทบสุขภาพ การเป็นตุ่มคัน โรคทางเดินหายใจ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มิได้สืบเสาะหาข้อเท็จจริง หรือตั้งคำถามกับผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด


ร้ายไปกว่านั้นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกนำมาพิจารณา หรือเป็นส่วนประกอบของการพิจารณาการลงทุนเลยนับจากอดีตถึงปัจจุบัน !

อาชญาบัตรแสนไร่ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด

จ่อคิวทำเหมืองทองคำ


กรณีการอนุมัติโครงการทำเหมืองทองที่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติ เป็นเพียงกรณีตัวอย่างของการพิจารณาโครงการของภาครัฐที่มิได้อยู่บนพื้นฐานของความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสมัยใดก็ตาม และการเดินหน้าอนุมัติประทานบัตรยิ่งดูว่าจะมีแนวโน้มทวีความเร่งรีบมากยิ่งขึ้นในยุคที่ค่าเงินอ่อนตัวลง และเศรษฐกิจทั่วโลกให้ความสำคัญกับทองคำ ราคาทองคำสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเร็วๆ นี้กรมทรัพยากรธรณีประกาศว่าในพื้นที่ 31 จังหวัดของประเทศไทยมีทองคำที่มีมูลค่ารวมกันถึง 9 แสนล้านบาท คำพูดดังกล่าวสะท้อนนัยะว่าเรามีทองคำมากพอที่จะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในวงเล็บที่ไม่ได้พูดถึงคือความร่ำรวยของบริษัทข้ามชาติ ที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัทไทย นามสกุลต่างชาติ นั่นต่างหาก


ข้อมูลจาก โครงการขับเคลื่อนนโยบายสา ธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ระบุว่า บริษัทอัคราไมนิ่งที่เข้ามาดำเนินการทำเหมืองทองในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2544-2550 จ่ายค่าภาคหลวงให้รัฐเพียง 383.82 ล้านบาท จากแร่ทองคำและเงินที่ผลิตได้มูลค่า 12,695.48 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทอัคราไมนิ่ง ซึ่งร่วมทุนกับกลุ่มทุนคิงเกตของออสเตรเลีย นั้นแม้ในตอนเริ่มต้นจะเป็นสัดส่วน 50 ต่อ 50 แต่ต่อมากลับปรากฏว่าสัดส่วนกลับเปลี่ยนเป็นร้อยละ 10 (ไทย) ต่อ 90 (ของออสเตรเลีย) (ดูเอกสารประกอบ นอมินี ในโครงสร้างและสายสัมพันธ์เชื่อมโยงการถือหุ้นของบริษัทอัคราไมนิ่งจำกัด)


กรณีที่น่าเป็นห่วง และน่าจับตามองที่สุดคือ การขยายพื้นที่การทำเหมืองทองที่ไม่มีวันสิ้นสุด

พื้นที่อาชญาบัตรของบริษัทอัครไมนิ่ง จำกัด และบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด (ซึ่งถือเป็นบริษัทในเครือของบริษัทอัคราฯ) และบริษัทไทย โกลบอล เวนเจอร์ จำกัด ในเขตรอยต่อของ 3 จังหวัด คือจ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลกที่มีการอนุมัติพร้อมกันทีเดียวเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 นั้นมีจำนวนถึง 58 แปลง พื้นที่ทั้งสิ้น 507,996 ไร่ กำลังจ่อคิว เนื่องจากอายุอาชญาบัตรมีอายุ 5 ปี นั่นหมายความว่าหากบริษัทอัครา และบริษัทริชภูมิ ไม่ต้องการให้การทำเหมืองติดขัด หรือการกอบโกยทำกำไรจากการที่ราคาทองพุ่งกระฉูดแล้ว บริษัทดังกล่าวจะต้องเตรียมขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองในไม่ช้านี้


เมื่อดูจากพื้นที่การทำเหมืองแล้วจะพบว่าบางตำบล เช่น อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลกจะโดนเขตอาชญาบัตรซ้อนทับทั้งตำบลเลยทีเดียว ขณะที่วิถีวีชิตของคนที่นั่น บางส่วนต้องพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในการทำการเกษตร บางส่วนก็ยังต้องเก็บหาของจากป่าเป็นรายได้เสริมเช่นกัน หากทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายไป การดำรงชีวิตก็จะมีความยากลำบากมากขึ้น


จากงานศึกษาของเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติในเขตภาคเหนือตอนล่าง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนเหนือล่าง (กป.นลก.) เกี่ยวกับเรื่องป่าชุมชนในต.บ้านดง อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะมีการขยายการทำเหมืองนั้น พบว่าชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวจำเป็นต้องพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการทำการเกษตร จนนำไปสู่การฟื้นฟูป่า หลังจากที่พบบทเรียนว่าการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนักหน่วง ส่งผลกระทบกับชุมชน


ยิ่งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ การปลูกข้าวทำนาไม่ได้ผล หลายหมู่บ้านขาดทุนจากการทำนา มีบางชุมชนต้องหันกลับไปพึ่งพาความอุดมสมบรูณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เช่นการเก็บหาของป่าเพื่อขาย พอมีรายได้เลี้ยงครอบครัว หรือบางส่วนเมื่อไปรับจ้างข้างนอก แต่ก็ยังต้องหาอาหารจากป่า เช่น หน่อไม้ พืชผักจากป่า ทำให้ลดรายจ่ายไปได้มากทีเดียว เช่น ผักหวานป่า สัตว์ป่า เห็ดเผาะ ยาสมุนไพร เป็นต้น


เมื่อเร็วๆ นี้ ข้อมูลจากชาวบ้านหลายๆ พื้นที่ในเขตพื้นที่รอยต่อสามจังหวัด เช่น ในเขตต.วังโพรง ต.ไทรย้อย ต.ท้ายดง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลกเริ่มพบว่ามีการเข้ามาขุดเจาะสำรวจเพื่อหาแหล่งแร่ทองคำกันแล้ว นอกจากนี้ในบางพื้นที่ก็เริ่มมีการทำงานสัมพันธ์กับมวลชน เช่น การบริจาคเงินให้วัด โรงเรียน และการประชาสัมพันธ์โครงการ นั่นหมายความว่าการเตรียมการเพื่อขอประทานบัตรทำเหมืองทองคำคงอีกไม่ไกล

 

นโยบาย/กฎหมายแร่ยังคงเอื้อประโยชน์ทุนใหญ่


เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา มีความเห็นว่านอกเหนือไปจากนโยบายของรัฐที่ไฟเขียวให้กับการทำเหมืองทองคำมีแนวโน้มที่จะขยายเหมืองทองคำอย่างไร้ขีดจำกัดแล้ว สิ่งที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่การทำเหมืองทองคำโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่ถือครองโดยกลุ่มทุนข้ามชาติยังมี ร่างพ...แร่ฉบับใหม่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเมื่อวันที่ 16 มิ..2552 อยู่ด้วย


โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ฯ ชี้ว่าประเด็นสำคัญในร่าง พ...แร่ที่เสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม มีความน่าเป็นห่วงคือ 1.ประเด็นการฟื้นฟูเหมืองหลังจากดำเนินการไปแล้วนั้นในร่างพ...ใหม่นั้นระบุว่าสามารถยืดเวลาต่อไปอีกได้ ถ้ายังมีการทำเหมืองในแปลงใกล้เคียงกันอยู่ (ตามมาตรา 33 วรรค 4) 2.เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่เข้ามาทำเหมือง สามารถเอาหิน ดิน ทรายที่เกิดจากกระบวนการทำเหมืองทองคำไปเป็นผลพลอยได้ (มาตรา 34 (1) ) โดยผู้ถือประทานบัตรไม่ต้องเสียค่าประทานบัตรเพิ่มแต่อย่างใด


3.
ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐมากเกินสมควร และไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งกฎหมาย ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการแต่ฝ่ายเดียว เช่น มาตรา 28 และมาตรา 45 ที่ให้อำนจรัฐมนตรีในการอนุมัติกำหนดเขตเหมืองแร่แก่ผู้ขอประทานบัตร สำหรับทำเหมืองเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการใช้ดุลพินิจของรัฐได้ 4.ร่างพ...ดังกล่าวไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจใช้ทรัพยากรและกำหนดวิถีชีวิตตามรัฐธรรมนูญ 2550 แต่อย่างใด เช่น มาตรา 30 มีการระบุเรื่องการปิดประกาศคำขอประทานบัตรนั้นเจ้าพนักงานจะต้องติดประกาศตามสถานที่ราชการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ที่ไม่ได้กิจธุระในสถานที่ดังกล่าว ซึ่งการทำเช่นนั้นเท่ากับว่าประชาชนก็ไม่สามารถที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารใดๆ ได้


5.
การไม่เคารพสิทธิของเจ้าของที่ดิน (มาตรา 87) มีการระบุว่ากรณีที่จะเข้าไปรังวัดที่ดินและปักหมุดหลักฐานที่ดิน นั้นทำเพียงแค่แจ้งให้ทราบโดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาแจ้งล่วงหน้า และไม่ต้องรอให้เจ้าของที่ดินอนุญาตหรือให้ความยินยอมอีกด้วย


6.
ในร่างพ...ดังกล่าวยังละเว้นการเอาผิด และมีบทลงโทษแก่ผู้ประกอบการอีกด้วย เช่น มาตรา 67 ไม่มีการระบุว่าหากผู้ประกอบการถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว จะขอรับใบอนุญาตอีกไม่ได้จนกว่าจะมีบทลงโทษ (ซึ่งตาม พ..บแร่มีปี 2510 ระบุไว้)

..นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นว่า ปัญหาสำคัญก่อนที่จะเปิดให้มีการลงทุนทำเหมืองทองคำคือ จะต้องทำให้กฎหมายมีความเป็นธรรมเสียก่อน ซึ่งปัจจุบันร่างพ...ฉบับดังกล่าวยังมีเงื่อนงำที่ชงโดยกระทรวงอุตสาหกรรมที่เน้นการสนับสนุนการลงทุนมากกว่าการคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ดังนั้นการแก้ไขร่างพ...แร่ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องทำก่อน เพื่อทำให้กติกามีความเป็นธรรม เช่น สิทธิในด้านข้อมูลข่าวสารของภาคประชาชนที่จะต้องรับรู้ก่อนว่าจะมีการทำเหมืองในบ้านของตัวเอง และต้องแก้ไขสอดคล้องกับมาตรา 66 และมาตรา 67 ตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสุขภาพ จะต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และสุขภาพของประชาชน (HIA) และต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเสียก่อน

จะเห็นได้ว่าหากร่าง พ...แร่ฉบับใหม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนขนาดใหญ่สามารถทำเหมืองได้อย่างเสรี และยังไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย ความสอดคล้องของกฎหมาย และนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับการทำเหมืองนั้นยังเป็นการปูพื้นฐานไปสู่การเปิดเสรีการลงทุนที่ไปสู่ทิศทางเดิมๆ คือ การรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยลืมที่จะนึกถึงต้นทุนที่คนในท้องถิ่นต้องจ่ายไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และลึกไปกว่านั้นการสูญเสียวิถีชีวิต ความเป็นชุมชนเดิมที่ไม่อาจจะสร้างใหม่ได้เมื่อชุมชนแตกสลายไปแล้ว และสุดท้ายประเทศไทยก็ยังไปไม่พ้นจากการเป็นที่รองรับการลงทุนราคาถูถอยู่ดี

เลิศศักดิ์ มีความเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เฉพาะยิ่งในโครงสร้างบริษัททำเหมืองแร่ที่มีต่างชาติถือหุ้นเกินครึ่ง จึงอยากให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากกว่านี้ อย่างไรเสีย “แร่ก็เป็นทรัพยากรที่อยู่ติดดิน ไม่หายไปไหน” เขากล่าวทิ้งท้าย

 

สิทธิ และตัวตนของคนท้องถิ่นอยู่ตรงไหน ?


กลางธันวาคมที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ 3 จังหวัด (พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก) รวมถึงประชาสังคมส่วนต่างๆ เช่น เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง มูลนิธิชุมชนไท สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ ฯลฯ จึงได้จัดงาน บวชป่า ขึ้น ณ วัดป่าเขาเขียว ต.วังโพรง และจัดเวทีสาธารณะขึ้น ณ วัดไทรย้อย ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลกขึ้น

 

พิธีกรรมบวชป่า ที่จัดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ที่คนทั้งสามจังหวัดต้องการสื่อสาร และประกาศว่า พวกเขาต้องการมีสิทธิ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในใช้ทรัพยากรที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน เพราะ ที่ผ่านมาการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับการอนุมัติทำเหมือง ตั้งแต่อาชญาบัตร จนถึงการประทานบัตร การขุดเจาะสำรวจ ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดไม่เคยรับรู้เลย


เรารู้สึกผิดปกติมาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว เขามาสำรวจ เขาก็ไม่เคยบอกชาวบ้าน ตอนนี้ชาวบ้านพอได้ข่าวของคนเขาหม้อก็มีความกังวลมาก ที่กลัวมากคือสารไซยาไนด์ที่ใช้ในกระบวนการทำเหมืองทองคำ” อารมณ์ คำจริง เจ้าหน้าที่พยาบาล บ้านเนินมะปราง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลกสะท้อนความรู้สึกของชาวบ้านเมื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารว่าจะมีการขยายการทำเหมืองทองคำมาที่บ้านของเธอ

 

ภาพผลกระทบของคนเขาหม้อที่ปรากฏตามหน้าสื่อ และจอทีวีเป็นระยะนั้นคงเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวที่คนเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อเผชญมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี โดยที่สังคมไม่เคยรับรู้ แม้กระทั่งในพื้นที่ตำบลใกล้เคียง หรือคนที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันเองก็ตาม


จากการรวบรวมของเครือข่ายเหมืองแร่ และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองมีการสรุปปัญหาผลกระทบของชาวเขาหม้อพบว่าชาวบ้านที่อยู่ใกล้พื้นที่ทำเหมืองต้องได้รับผลกระทบจากน้ำที่ดื่ม และกิน เป็นผื่น และแผลพุพองเป็นจำนวน 30 ราย ส่วนน้ำอุปโภค-บริโภคเมื่อใช้ดื่มกินไม่ได้ ชาวบ้านต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ตั้งแต่มกราคม 2547 –ปัจจุบัน ชาวบ้านต้องซื้อน้ำโดยเฉลี่ยครอบครัวละ 180 บาท/วัน หรือ 5400 บาทต่อเดือน รวมชาวเขาหม้อทั้ง 35 ครอบครัวต้องซื้อน้ำดื่มน้ำใช้ในช่วงเวลา 6 ปี (2547-2552) ต้องใช้เงินทั้งสิ้น 422,100 บาท


และที่ชาวเขาหม้อเป็นกังวลมากที่สุดคือ การรั่วไหลของไซยาไนด์ อันเป็นสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการทำเหมืองทองคำ หากมีการรั่วไหลและปนเปื้อนในดิน และแหล่งน้ำ ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร ยังไม่มีใครรู้อนาคต นอกจากนี้ก็ยังมีสารหนูที่มีอยู่ในแหล่งแร่ทองคำ อยู่แล้ว หากจัดการไม่ดีพอ สารหนูอันเป็นสารก่อมะเร็ง ก็จะปนเปื้อนในน้ำดื่ม น้ำกินของชาวบ้านได้ ซึ่งจากการที่ชาวบ้านเริ่มเป็นตุ่มคันในช่วง 3-4 ปีมานี้ก็อาจมาจากสารหนูดังกล่าวด้วย


ข่าวสารของชาวเขาหม้อยิ่งตอกย้ำให้คนในพื้นที่รอยต่อสามจังหวัดที่ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่ที่มีขุมทองคำอยู่ใกล้บ้านตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเขาหม้อ จะกลายเป็นอนาคตของคนในเขตรอยต่อสามจังหวัดหรือไม่นั้น ยังไม่มีใครตอบได้ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาเริ่มต้นแล้วคือการยืนยันความมีตัวตนของตนเอง ไม่ใช่ใครจะแบกเครื่องจักร ข้ามหัวมาลงทุนขุดทองกันง่ายๆ เช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้.

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net