Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ถึงวันนี้เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เข้าถล่มหลายๆ ประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศไทย เมื่อ 26 ธันวาคม 2547 ก็ผ่านมาถึง 5 ปีแล้ว และจากรายงาน Oxfam Briefing Note (March 2005) เรื่อง ผลกระทบของสึนามิต่อผู้หญิง ( The Tsunami’s Impact on Women) พบว่า มหันตภัยครั้งนั้นได้คร่าชีวิตผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่าและในบางพื้นที่ของอะเจห์ พบยอดผู้เสียชีวิตเพศหญิงถึง 80%  ทว่า อะไรที่เป็นสาเหตุที่ให้ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างกันระหว่างเพศหญิงและชายนั้นอาจจะยังไม่มีใครได้ให้ความสำคัญนัก ทั้งๆ ที่ประเด็นเหล่านี้นั้นไม่ควรอย่างยิ่งที่จะถูกละเลยไป
 
หากมองเพียงผิวเผินแล้ว อาจกล่าวได้ว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตมากกว่าผู้ชายนั้น เป็นเพราะร่างกายของผู้หญิงที่บอบบางกว่า แต่อันที่จริงแล้วสิ่งทีเกิดขึ้นกับผู้หญิงนั้น ถ้ามองจากมุมมองด้านเพศภาวะและโครงสร้างทางสังคมของสังคมเอเชียแล้ว ก็จะทำให้สามารถวิเคราะห์ความเปราะบางของผู้หญิงต่อภัยพิบัติได้กว้างและลึกขึ้น
 
หากมองจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหญิงชายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตจะเห็นว่า ในชุมชนที่มีพื้นที่ติดทะเลนั้น ผู้ชายจะทำหน้าที่ออกเรือประมง เพื่อจับสัตว์น้ำ ในขณะที่ผู้หญิง รอเรือเทียบท่าอยู่บนฝั่ง เพื่อช่วยขนถ่าย ลำเลียงสัตว์น้ำที่จับมาได้ บางส่วนทำงานด้านประมงต่อเนื่อง เช่น แกะกุ้ง หรือทำงานในโรงงานอาหารทะเลแปรรูป เป็นต้น บางส่วนอยู่บ้าน เป็นแม่บ้าน เลี้ยงดูลูกและญาติผู้ใหญ่
 
เมื่อคลื่นยักษ์ซัดมา เรือหาปลากลางทะเลจะไม่ได้รับผลกระทบจากคลื่นเหมือนกับบริเวณชายหาด ชายชาวประมงจึงมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า ส่วนผู้ชายที่อยู่บนบก ก็อาศัยความแข็งแรงวิ่งหนีขึ้นที่สูง ปีนต้นไม้ ทันเวลา สำหรับผู้หญิง ส่วนใหญ่ไม่สามารถว่ายน้ำได้ดีเท่ากับผู้ชาย พบว่าผู้หญิงศรีลังกาจำนวนมาก ไม่ได้รับการฝึกว่ายน้ำ รวมทั้งในการแต่งกายเองเสื้อผ้าที่รุ่มร่าม ไม่ว่าจะเป็นผ้าถุง ผ้านุ่งหรือสาหรี ก็ล้วนเป็นอุปสรรคที่ถ่วงต่อการวิ่งหนี หรือปีนต้นไม้เพื่อเอาชีวิตรอด
 
นอกจากนี้ หญิงที่อยู่ในบ้านที่ต้องดูแลเด็ก คนชรา จะวิ่งหนีเอาตัวรอดก็ไม่สามารถทำได้ เพราะคอยห่วงหน้าพะวงหลังช่วยเหลือคนอื่นๆ ในครอบครัว และจากเหตุการณ์นี้ มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตขณะตั้งครรภ์ หรือบางคนเมื่อรอดชีวิตจากคลื่นยักษ์ ผู้หญิงจำนวนมากสูญเสียเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ไม่กล้าตะโกนให้คนช่วยต้องหลบซ่อนตัวด้วยความอับอายไม่ให้ผู้อื่นเห็น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อได้รับความช่วยเหลือในศูนย์พักพิงแล้ว ยังต้องประสบกับภาวะขาดแคลนสิ่งจำเป็นต่ออนามัยโดยรวมและอนามัยเจริญพันธ์ของผู้หญิงเช่น ชุดชั้นใน ผ้าอนามัย และยาคุมกำเนิด ซึ่งในหลายพื้นที่ ผู้หญิงจำเป็นต้องอยู่ในศูนย์พักพิงร่วมกับผู้ชาย ทำให้เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากหญิงที่รอดชีวิตต้องฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของตัวเองแล้ว ยังต้องดูแลเด็กและคนชราในครอบครัวไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นภาระอันหนักอึ้งต่อผู้หญิงเหล่านี้
 
การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสึนามิในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบการฟื้นฟูสาธารณูปโภค สร้างบ้าน ทำถนน ซ่อมแชมโรงเรียน หรือการส่งเสริมการสร้างรายได้ของครอบครัวและชุมชน เป็นดาบสองคมที่ส่งผลทั้งทางบวกและลบแก่ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ
 
ความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและเอกชนต่อภัยภิบัติในครั้งนี้ แม้จะเรียกได้ว่าช่วยบำบัดทุกข์ให้กับผู้ประสบภัยได้อย่างมาก แต่ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลกระทบก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมไป ดังที่ผู้เขียนได้มาโอกาสลงพื้นที่ในชุมชนทางภาคใต้ของไทยแห่งหนึ่ง สังเกตเห็นว่า บ้านที่ปลูกสร้างใหม่จากความช่วยเหลือขององค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งมีโครงสร้างเป็นคอนกรีตปลูกเพื่อทดแทนบ้านไม้ที่ถูกสึนามิทำลาย เมื่อมองไปรอบ ๆ จะพบว่าผู้หญิงหลายคน ออกมานั่งหน้าบ้าน บ้างก็ทำกับข้าวกับปลา บ้างก็ไกวเปลเลี้ยงลูกหน้าบ้าน โดยหญิงเหล่านั้นให้ความเห็นว่าในบ้านตอนกลางวันอากาศร้อน เพราะเป็นบ้านปูนอากาศไม่ถ่ายเทพัดลมไม่สามารถให้ความเย็นได้เพียงพอ ประกอบกับพวกเขาไม่มีเงินพอที่จะซื้อเครื่องปรับอากาศมาติดตั้ง จึงต้องออกมารับลมนอกบ้าน แม้จะไม่เย็นสบายแต่ก็ดีกว่าไม่มีบ้านอยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังพบว่า ที่ศูนย์ส่งเสริมรายได้สตรีของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล สอนทำผ้าบาติกและสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่าย ผู้หญิงในศูนย์ที่พบ เป็นผู้หญิงวัย 30-40 ขึ้นไป ไม่พบหญิงในช่วงวัยรุ่น จึงได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ในศูนย์ ว่า หญิงวัยรุ่นมองว่าการทำผ้าบาติกเป็นงานของคนแก่ จึงไม่สนใจจะเข้าโครงการ ประกอบกับอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย งานจึงไม่มีให้ทำมากนัก วัยรุ่นจำนวนจึงเข้าเมืองเพื่อไปหางานทำ
 
จากผลกระทบที่ได้กล่าวมาข้างต้น แม้ว่าสึนามิมีโอกาสเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก แต่จากสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน การเตรียมการป้องกันภัยธรรมชาติโดยใช้มุมมองด้านเพศภาวะจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
 
เพราะผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชายดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การวางแผนเฝ้าระวังภัยและแผนอุพยพฉุกเฉินเมื่อเกิดภัยพิบัติ หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งชุมชน องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นและองค์กรพัฒนาเอกชนต้องวางแผนโดยคำนึงถึงวิถีชีวิตของชุมชน ความแตกต่างในการดำเนินชีวิต และความเปราะบางระหว่างหญิงกับชายเป็นสำคัญ
 
การบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย ในรูปแบบของอาหารและยานั้น ไม่อาจเพียงพอแก่หญิงที่ได้รับผลกระทบ สิ่งจำเป็นด้านสุขอนามัยและอนามัยเจริญพันธุ์ เช่น ชุดชั้นใน ผ้าอนามัยและยาคุมกำเนิด เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
 
นอกจากนี้ การวางแผนระยะยาวเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ต้องให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบทางสังคมเป็นสำคัญ เพราะความช่วยเหลือที่ส่งผลทำให้วิถีชุมชนเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลเสียต่อสังคมได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net