Skip to main content
sharethis

นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการพม่าได้จับกุมชาวบ้านทางตอนใต้ของรัฐฉาน ในข้อหาเชื่อมโยงกับกองกำลังทหารไทยใหญ่ภาคใต้ หรือ SSA-S (Shan State Army-South-) อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีชาวบ้านจำนวน 4 คน ในเมืองสี่แสงและเมืองโหโปง ถูกจับในข้อหาดังกล่าว

ทางการพม่าได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดต่อชาวไทยใหญ่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ผู้นำระดับสูงในกองทัพพม่าถูกลอบยิงเสียชีวิตจากกลุ่มไม่ทราบฝ่ายเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้านจายหลาวแสง โฆษกของกองกำลังทหารไทยใหญ่ SSA–S เปิดเผยว่า

“รัฐบาลพม่ามักกล่าวหาชาวบ้านว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธและมักจับกุม ทรมานและสังหารชาวบ้าน ซึ่งนี่เป็นวิธีที่รัฐบาลมักใช้กดขี่ชาวบ้านในรัฐฉาน สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย ยิ่งในช่วงที่เกิดการปะทะระหว่างทหารพม่าและกลุ่มติดอาวุธ และยังไม่มีใครยื่นมือเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว”

ขณะที่ชาวบ้านทั้งสี่คนที่ถูกจับจะถูกตั้งข้อหาเกี่ยวข้องกับกลุ่มผิดกฎหมาย ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้จับกุมชาวบ้านจำนวน 7 คน และทั้งหมดถูกตั้งข้อหาเดียวกัน ซึ่งอาจถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี มีรายงานว่า ทางการได้บังคับชาวบ้านในพื้นที่เป็นจำนวนมากลงชื่อรับรองว่าจะไม่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลพม่า (DVB 26 พ.ย.52)


สื่อพม่าแฉหมอในพม่าทำงานสะเพร่า

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อพม่าหลายฉบับต่างให้ความสนใจและออกมาวิพากษ์วิจารณ์ระบบการรักษาพยาบาลในประเทศอีกครั้ง หลังเด็กสาววัย 15 ปี รายหนึ่งเสียชีวิตหลังแพทย์วินิจฉัยโรคผิด

เด็กสาวคนดังกล่าวได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ในย่างกุ้งว่าป่วยเป็นโรคกระเพาะและได้ทำการผ่าตัด ซึ่งแท้จริงแล้วเด็กสาวคนดังกล่าวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยแม่ของเด็กสาวได้แจ้งให้แพทย์ทราบว่า เด็กมีอาการเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคไข้เลือดออก แต่แพทย์ยังคงทำการผ่าตัดคนไข้ต่อไป เมื่อผ่าตัดแล้วเสร็จ แพทย์ได้เข้าตรวจอาการเพียงครั้งเดียว ซึ่ง 2 วันต่อมา คนไข้ได้เสียชีวิตวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา

ขณะที่เมื่อหลายวันก่อน หนังสือพิมพ์หลายฉบับถูกสั่งห้ามลงข่าวการเสียชีวิตของเด็กสาวดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นักเขียนด้านการแพทย์คนหนึ่งออกมาระบุว่า “แพทย์ในพม่าบางคนตรวจเช็คคนไข้ไม่ถึงนาทีด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นไปได้ว่าแพทย์อาจวินิจฉัยโรคผิด แพทย์บางคนที่ทำงานอยู่ในคลินิกเอกชนได้รับค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับจำนวนคนไข้ ซึ่งทำให้แพทย์เร่งวินิจฉัยคนไข้ให้ได้มากที่สุด”

รัฐบาลจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขต่อหัวคิดเป็น 2.3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ และคิดเป็น 0.3 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งปี ขณะที่งบประมาณส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้กับทางกองทัพ

กลุ่มสภาทนายความในพม่าออกมาระบุว่า การเสียชีวิตของเด็กสาวสอดคล้องกับสิ่งที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศพม่าเลวร้ายเป็นอันดับสองของโลกเมื่อปี 2543

“มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในพม่า แต่ยังไม่มีการพูดคุยหารือว่าแพทย์ คลินิกหรือโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบต่อความผิดของพวกเขาอย่างไร”

ทนายความพม่าอีกคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า คนไข้ผู้เสียหายจำนวนมากไม่กล้าร้องเรียนหรือฟ้องร้องแพทย์ที่ทำผิด ซึ่งการฟ้องร้องในลักษณะนี้แทบไม่เคยปรากฏในพม่า เนื่องจากความกลัวที่จะถูกฟ้องกลับ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า อาชีพแพทย์เป็นที่เคารพนับถือมากในสังคมพม่า

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขของพม่าออกมายอมรับว่า การตรวจสอบระบบการรักษาพยาบาลอยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลพม่าออกมาประกาศว่า มีแผนเปิดโรงพยาบาลเอกชนอีกครั้งหลังจากถูกล้มเลิกในสมัยรัฐบาลนายพลเนวิน (DVB 27 พ.ย.52)
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net