Skip to main content
sharethis
แต่ก่อนหน้าการประกาศรางวัลระดับโลกนี้ไม่กี่วัน ในวันที่ 1 ต.ค. ก็มีการประกาศรางวัล อิก โนเบล ซึ่งเป็นรางวัลเชิงล้อเลียนโนเบล มอบให้กับผลงานที่ "ทำให้คนหัวเราะในทีแรก และทำให้พวกเขาคิดในเวลาต่อมา" ซึ่งมักเป็นผลงานที่แปลกใหม่ ไม่น่าจะมีใครทำ ภาพของรางวัลนี้มักถูกนำเสนอโดยสื่อด้วยน้ำเสียงที่ตรงกันข้ามกับโนเบล ขณะที่โนเบลดูเคร่งขรึมจริงจัง และมีน้ำเสียงยกย่อง แต่รางวัลอิก โนเบล มักมีการนำเสนอไปในทางตลกโปกฮาแบบผิวเผิน เหมือนเป็นแค่เรื่องบันเทิงชั่วข้ามคืน ในบางแห่งถึงขั้นจัดรางวัลนี้อยู่ในประเภทเดียวกับรางวัลล้อเลียนอื่น ๆ เช่น ราสเบอร์รี่อวอร์ด ซึ่งมอบให้กับภาพยนตร์ยอดแย่
แต่อย่างไรก็ตามมีบทความจาก นสพ. เดอะ เนชันแนล (The National) เขียนถึงรางวัลอิก โนเบล ในอีกแง่ ผู้เขียนคือ โรเบิร์ท แมธธิว ผู้ช่วยศาตราจารย์ชั่วคราวในสาขาวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแอสตัน ที่เมืองเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ บทความนี้ลงวันที่ 26 ก.ย. 2009 มีชื่อบทความว่า "ด้านที่น่ายกย่องของรางวัลอิก โนเบล" (The Noble side to Ig Nobels)
จากความแสดงให้เห็นว่าแม้รางวัลอิก โนเบล ที่มอบให้กับคนที่หาวิธีเอายกทรงมาช่วยกรองอากาศเสีย จะดูตลก และดูเป็นเรื่องกระจิ๊บกระจ้อย แต่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์หลายอย่างก็มากจากการสังเกต และค้นคว้ากับเรื่องกระจิ๊บกระจ้อย อย่างแอปเปิ้ลที่หล่นในสวนของนิวตัน ทำให้เขาคิดกฏแรงโน้มถ่วง หรือ การสังเกตขดเชือกที่พันกันอิรุงตุงนัง ที่ใครจะรู้ล่ะว่าในเวลาต่อมาปรากฏการณ์เดียวกันนี้จะเกิดขึ้นกับโมเลกุลแบบเส้นของ DNA และเป็นต้นตอการทำให้มียาปฏิชีวนะมาจนถึงทุกวันนี้
บทความ - ด้านที่น่ายกย่องของรางวัลอิก โนเบล
ในวันที่ 1 ตุลาคม จะมีเหล่ามีนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกคัดเลือก ให้ออกมายืนกลางแสงสปอตไลท์ในฐานะผู้ได้รับรางวัลจากการค้นคว้าวิจัย ไม่...ไม่ได้หมายถึงรางวัลโนเบลที่เป็นรางวัลอันทรงเกียรติ์ มอบให้กับงานวิจัยที่มีแค่ผู้ได้รับรางวัลกับคนอื่นอีกไม่กี่คนเท่านั้นที่จะสามารถเข้าใจได้ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความโดดเด่นแล้ว รางวัลโนเบลอันแสนเลอค่าในตอนนี้ก็ค่อยๆ พ่ายให้กับรางวัลที่ดูรื่นเริงและเข้าถึงได้ง่ายกว่าอย่างอิก โนเบล (Ig Nobel) รางวัลที่มอบให้กับงานวิจัยที่ "ทำให้คนหัวเราะในตอนแรก แล้วทำให้พวกเขาคิดที่หลัง"
มีการเปิดตัวรางวัลแนวล้อเลียนชุดนี้ครั้งแรกในปี 1991 โดยวารสารวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ชื่อ "บันทึกงานวิจัยที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ประจำปี" (Annals of Improbable Research) เจ้ารางวัล "อิก" นี้กลายเป็นไฮไลท์ในปฺฏิทินของชาววิทยาศาสตร์ โดยมีการประกาศรางวัลก่อนหน้ารางวัลโนเบลของจริงไม่กี่วัน มีการมอบรางวัลแบบไม่ค่อยเน้นพิธีรีตองกันที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้มอบรางวัลอิก โนเบล ก็เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลตัวจริง โดยมีผู้ได้รับรางวัลอิก โนเบลมารับรางวัลด้วยตนเองเป็นจำนวนมาก
ความแหวกแนวของงานวิจัยที่ได้รางวัลชิ้นนี้ต้องอยู่ในระดับน่าทึ่งแน่ ๆ เช่นในปี 2001 ผู้ที่ได้รางวัลอิก โนเบล สาขาฟิสิกส์ คือ ดร.เดวิด ชมิดท์ จากมหาวิทยาลัยเมสซาชูเสทท์ สำหรับการวิจัยว่าเหตุใดม่านกันห้องอาบน้ำฝักบัวมักจะงอตัวเข้ามาด้านใน ขณะที่ในปี 2005 อิก โนเบล สาขาจิตวิทยาตกเป็นของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคย์โอ ประเทศญี่ปุ่น ที่ฝึกให้นกพิราบแยกแยะระหว่างรูปจิตรกรรมของปิกัสโซ กับ โมเนต์
ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้านฮา ๆ ของรางวัลอิก โนเบล ในปี 1995 ทีมวิจัยของอังกฤษได้รับรางวัลอิก โนเบล สาขาฟิสิกส์ จากการวิจัยว่าเหตุใดซีเรียลอาหารเช้าถึงนิ่มลงจากความชื้น ทำให้หนังสือพิมพ์บางสำนักออกมาตั้งคำถามว่าทำไมถึงต้องมาเสียเงินภาษีให้กับงานวิจัยกระจิ๊บกระจ้อยเช่นนี้ด้วย ซึ่งในความจริงนั้นแหล่งทุนงานวิจัยนี้ไม่ได้มาจากเงินภาษีของชาวอังกฤษ แต่เป็นเงินทุนของผู้ผลิตซีเรียลที่จริงจังกับงานวิจัยชิ้นนี้มาก เพราะว่าผู้บริโภคชอบซีเรียลที่คงความกรอบไว้ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แต่อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงในกรณีดังกล่าวก็ทำให้เซอร์ โรเบิร์ท เมย์ ประธานหน่วยงานวิทยาศาสตร์ของอังกฤษเรียกร้องให้ทางผู้จัดงานอย่าให้รางวัลนี้กับนักวิจัยชาวอังกฤษอีก เพราะที่ผ่านมาดูนักวิจัยอังกฤษจะได้รับเกียรติ์อันนี้บ่อยไปหน่อยแล้ว
จริง ๆ แล้วการเรียกร้องของเซอร์ โรเบิร์ท เมย์ ก็พอจะเข้าใจได้ เนื่องจากในปัจจุบันการรักษาหน้าตาในสังคมของนักวิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ถึงกระนั้น เราจะละเลยความจริงอย่างหนึ่งไปหรือเปล่า ความจริงที่ว่าคือ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากมายในอดีตนั้น มาจากการศึกษาค้นคว้าปัญหา "เล็ก ๆ น้อย ๆ" กันทั้งนั้น
ตัวอย่างที่เป็นที่รู้จักกันดีคือการค้นพบกฏแรงโน้มถ่วงของนิวตัน หลังจากที่เขาเห็นลูกแอปเปิ้ลหล่นจากต้นในสวนของแม่เขาเอง แม้ในตอนนี้จะมีนักประวัติศาสตร์บางรายสงสัยว่านิวตันแต่งเรื่องขึ้นมาเองเพื่อยืนยันว่าตนค้นพบกฏนี้ก่อนโรเบิร์ท ฮุก ผู้เป็นคู่แข่งของเขาหรือเปล่า
ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไรก็ตาม แต่เราจะเห็นได้ว่านิวตันเอง ไม่ได้กังวลเลยเวลาที่เขาอ้างถึงแรงบันดาลใจที่มาจาก เรื่อง "เล็ก ๆ น้อย ๆ"
ในเวลาใกล้ ๆ กัน แบลส ปาสคาล นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียง ก็ได้รับการขอร้องให้ไขปัญหายิบย่อย อย่าง "วิธีการที่ดีที่สุดที่จะชนะในเกมลูกเต๋า" ปาสคาลจึงได้ร่วมมือไขปัญหานี้กับเพื่อนของเขาคือ ปิแยร์ เดอ แฟรมาต์ จนกระทั่งกลายเป็นพื้นฐานของหนึ่งในสาขาย่อยที่สำคัญที่สุดของวิชาคณิตศาสตร์คือ ทฤษฎีความน่าจะเป็น
ในช่วงทศวรรษที่ 1920s นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เอมิลี โบเรล ก็ได้ครุ่นคิดถึงวิธีการที่ดีที่สุดในการเอาชนะในเกมไพ่โป๊กเกอร์ (Poker) และคิดวิธีการทำให้ "เสีย" น้อยที่สุดหากสถานการณ์ดำเนินมาในทางที่ย่ำแย่ที่สุด ซึ่งมีการเรียกว่าเป็นกลวิธีมินิแม็กซ์ (Minimax) การครุ่นคิดในเรื่องนี้เป็นการเปิดทางไปสู่สิ่งที่ในปัจจุบันเรียกว่าเป็นทฤษฎีเกม (Game Theory) ที่ถูกนำมาใช้กับยุทธศาสตร์ทางการทหาร การประมูลสินทรัพย์ของรัฐบาล และแน่นอนว่ารวมถึงในการเล่นไพ่โป๊กเกอร์ด้วย
ใกล้เข้ามาอีกหน่อย มีนักฟิสิกส์อเมริกันที่ชื่อ ริชาร์ด เฟยน์แมน ผู้ที่ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล เริ้มจากที่เขาไปเห็นจานอาหารหมุนคว้างกลางอากาศภายในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย แล้วเขาก็ถูกดึงดูดโดย "การส่าย" ขณะหมุนของมันเข้า ดร. เฟยน์แมน จึงมาวิเคราะห์เรื่องนี้ด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์ ทำให้ทราบว่าหากมีการส่ายของจานเพียงเล็กน้อย จะทำให้อัตราการหมุนของจานเพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่า จากความปลื้มปิติที่เขาได้รับหลังการค้นพบ ทำให้เขาบอกกับเพื่อนและผู้ร่วมงานของเขาคือ ฮานส์ เบธ ผู้ที่คิดว่ามันออกจะ "เล็กน้อย" ไปหน่อย แต่มันก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับ ดร. เฟยน์แมน ไนการศึกษาเรื่องการหมุนของอิเล็กตรอน จนกระทั่งกลายเป็นผลงานเรื่อง พลศาสตร์แม่เหล็กไฟฟ้าเชิงควอนตัม (Quantum electrodynamics) ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ในปี 1965
มีการค้นพบ "เล็ก ๆ น้อย ๆ" อย่างอื่นอีกไหมที่น่าจะปูทางไปสู่งานระดับโนเบลในอนาคต? ตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจคือปรากฏการณ์จากการศึกษาของ ศ. โดเรียน เรย์เมอร์ และ ดร. ดักลาส สมิธ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่คว้ารางวัล อิก โนเบล มาแล้ว
พวกเขาได้รางวัลอิก โนเบล สาขาฟิสิกส์ เมื่อปีที่แล้ว (2008) จากการที่พวกเขาศึกษาสิ่งที่เจอโรม เค. เจอโรม นักเขียนเรื่องตลกสมัยวิกเตอร์เรี่ยนเขียนถึงไว้ในนิยายชวนหัวเรื่อง "ชายสามคนบนเรือ" (Three Men in a Boat) ที่มีตัวละครหนึ่งในเรื่องสังเกตพบว่าถ้าเราใช้เชือกอย่างไม่ใส่ใจมาก ๆ เข้า มันจะเริ่มพันกันยุ่งเหยิงอย่างไม่อาจห้ามได้
ขณะที่ในช่วงทศวรรษที่ 1960s นักชีวเคมีก็ได้ชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์แบบเดียวกัน แต่ในคราวนี้มันเกิดขึ้นกับโมเลกุลที่เป็นเส้นอย่าง DNA ซึ่งพวกมันก็สามารถพันกันยุ่งเหยิงได้เช่นเดียวกับเชือก แต่ในฐานะที่มันเป็นสารอินทรีย์ในสิ่งมีชีวิต เรื่องนี้จึงเป็นมากกว่าความไม่สะดวก เงื่อนปมที่เกิดจากการพันกันของโมเลกุลชนิดนี้อาจทำให้การอ่านรหัสพันธุกรรมเกิดความผิดพลาดได้ และอาจถึงขั้นส่งผลร้ายแรง
เคยมีการค้นพบว่าเซลล์มีเอนไซม์ที่สามารถเข้าไปที่พื้นที่พันเป็นปมของ DNA ตัดมันออกจากกันและต่อใหม่ไม่ให้พันกันได้ แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ในทางธรรมชาติว่าจะมีวิธีการเติบโตในแนวทางอื่นที่ทำให้โมเลกุลแบบเส้นไม่พันกันได้ และนี่ก็เป็นสิ่งที่นักวิจัยอย่างแอนด์เซจ สตาเซียค และคณะจากมหาวิทยาลัย เลาซานน์ มุ่งศึกษาเป็นหลัก จนถึงปัจจุบันมีการค้นพบยาปฏิชีวนะ และ ยาต้านมะเร็ง ที่ทำงานโดยการใช้วิธีการถอนปมที่พันกันของ DNA
นักวิทยาศาสตร์บางรายที่ได้รับรางวัลอิก โนเบล ในปีนี้อาจอยากชนะรางวัล "ของจริง" มากกว่า พวกเขาอาจถึงขั้นกังวลว่าจะโดนคนรอบข้างดูถูก แต่ไม่ว่าจะเป็นการหมุนของจาน หรือการพันกันของ DNA ก็ตาม มีความจริงอยู่อย่างหนึ่งคือ ธรรมชาตินั้นไม่รู้จักคำว่า "เล็ก ๆ น้อย ๆ"
A noble side to Ig Nobels , Robert Matthews , The National , 26-09-2009
เว็บไซต์ของรางวัลอิก โนเบล
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net