Skip to main content
sharethis

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เมื่อวันที่ 30 กันยายน ถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับการก่อสร้างชั่วคราว 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ว่า ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกาและอัยการ ไปอุทธรณ์คำสั่งใน 1-2 วันนี้ โดยจะอุทธรณ์เฉพาะโครงการที่ได้รับการอนุญาตไปแล้ว เพื่อให้สามารถเดินต่อได้ และยังจำเป็นต้องปรึกษาศาลปกครองว่า หากต้องออกคำสั่งให้ระงับกิจกรรมต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยเหตุผลและอำนาจตามกฎหมายใด เพราะสิ่งที่ทำไปก่อนหน้านี้ 14 กรณี ที่ออกใบอนุญาตโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมโรงงาน ทั้งให้ก่อสร้างและการประกอบการ ดังนั้น คำสั่งชั่วคราวของศาลจะให้เป็นการระงับหรือเพิกถอนหรือไม่อย่างไร ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน

สำหรับโครงการอื่นที่อยู่ในกระบวนการขออนุมัติ จะชะลอไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีความชัดเจนในเรื่องที่อุทธรณ์และภาพใหญ่ของคดี

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ศาลปกครองเห็นว่าโครงการใดๆ ก็ตามที่ต้องทำแผนวิเคราะห์ผลกระทบด้าน (อีไอเอ) ศาลได้ใช้มาตรการชั่วคราวเพื่อระงับโครงการไว้ เพื่อให้มีแนวทางชัดเจนในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 แต่สิ่งที่รัฐบาลยืนยันคือ เราปฏิบัติตามมาตรา 67 อยู่แล้ว สิ่งที่เดินหน้าไปเป็นเฉพาะโครงการที่เห็นว่าไม่ได้มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ ชุมชน โดยอาศัยอีไอเอเป็นเกณฑ์ประเมินว่าอันไหนรุนแรงหรือไม่รุนแรง แต่เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งออกมา ก็ต้องขอความชัดเจนแนวปฏิบัติ อยากให้ได้ข้อยุติโดยเร็วไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ถ้ายืดเยื้อก็เป็นเรื่องที่เราหนักใจ แต่ถ้าได้ข้อยุติโดยเร็วคิดว่าสามารถอธิบายได้

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ นายอภิสิทธิ์สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งอุทธรณ์คำสั่งศาลโดยเร็ว หากดำเนินการได้ภายในวันนี้ (30 กันยายน) ก็ขอให้ดำเนินการเลย โดยนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่าจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเช้าวันที่ 1 ตุลาคม แต่นายกฯบอกว่าไม่ต้องรอถึงพรุ่งนี้ ขอให้รีบเรียกประชุมภายในวันนี้เลย ทำให้นายชาญชัยรีบเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กระทรวงอุตาหกรรม ทันที

“รัฐมนตรีหลายคนมีความกังวลเป็นอย่างมากว่าปัญหาเรื่องนี้จะมีผล กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน หากไม่สามารถแก้ไขได้ ผลกระทบจะมีความรุนแรงไม่แพ้เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงที่ผ่าน มา นอกเหนือจากอุทธรณ์ต่อศาลปกครองแล้ว สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมรับมือการถูกเอกชนฟ้องร้อง เพราะปฏิบัติตามขั้นตอนที่รัฐบาลกำหนดทุกข้อ แต่กลับถูกระงับการลงทุน” แหล่งข่าวกล่าว

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประสานไปยังศาลปกครอง เพื่อขอทราบรายละเอียดคำสั่งเพิ่มเติมว่าจะมีผลกับผู้ประกอบการทุกกลุ่มหรือ ไม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตก่อนรัฐธรรมนูญปี 2550 ประกาศใช้ หรือจะมีผลเฉพาะกับผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ออกใบอนุญาตเท่านั้น เพราะคำสั่งที่ออกมาเป็นการระบุกว้างๆ ทำให้ยากต่อการปฏิบัติ รวมถึงความชัดเจนว่าคำสั่งของศาลปกครองที่ออกมาจะครอบคลุมไปถึงเอกชนหรือไม่ หากเอกชนไม่ดำเนินการจะเกิดผลอย่างไรบ้าง เนื่องจากคำสั่งศาลปกครองที่ออกมาส่วนใหญ่มักจะครอบคลุมการปฏิบัติงานของ หน่วยงานราชการเท่านั้น

นายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมอบหมายให้อัยการสูงสุดยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองในวันที่ 1 ตุลาคม ขณะนี้ในส่วนโครงการที่ยังไม่ได้ใบอนุญาตดำเนินการก็ต้องระงับก่อน ส่วนโครงการที่ได้รับการอนุญาตไปแล้วก็คงต้องแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบ

“จากการร่วมประชุมกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาล ปกครองทั้ง 76 โครงการ ทางผู้ประกอบระบุว่าจะรอดูการยื่นอุทธรณ์ของอัยการสูงสุด ประมาณ 1-2 อาทิตย์ ถ้าเห็นว่าหากนานเกินไปจะเกิดความเสียหาย ผู้ประกอบการอาจยื่นอุทธรณ์เอง” นายสรยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบ 76 โครงการ พบว่า มีโครงการต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว 65 โครงการ มูลค่า 229,692 ล้านบาท ซึ่งได้รับความเห็นชอบอีไอเอแล้ว โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับอนุญาตอีไอเออยู่ก่อน แต่ขอขยาย/เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการหลังรัฐธรรมนูญ 2550 จำนวน 47 โครงการ มูลค่า 140,461 ล้านบาท และกลุ่มโครงการใหม่ที่ได้รับอนุญาตอีไอเอแล้ว 18 โครงการ มูลค่า 89,232 ล้านบาท ส่วนอีก 11 โครงการที่เหลือมูลค่า 288,097 ล้านบาท คือกลุ่มที่ได้รับอนุญาตอีไอเอก่อนรัฐธรรมนูญ 2550 และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาใบอนุญาตประกอบกิจการ

ที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ถนนยมจินดา ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก แถลงว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 ราย รวมทั้งชาวบ้านมาบตาพุด รู้สึกดีใจที่ศาลปกครองกลางสั่งระงับการก่อสร้างชั่วคราว 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่หากมีการยื่นอุทธรณ์แสดงว่าไร้มนุษยธรรม ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และจะมีมาตรการเคลื่อนไหวต่อไป

“สมัยที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศโครงการที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องทำแผนวิเคราะห์ผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทุกโครงการ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 แต่นายชาญชัย (ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม) ฉีกประกาศของนายสุวิทย์ทิ้ง และประกาศใหม่เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 โดยอาศัยมติ กรอ.(คณะกรรมร่วมภาครัฐและเอกชน) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 ประกาศโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง 8 โครงการเท่านั้น คือ 1.ทำเหมืองใต้ดิน 2.เหมืองแร่ตะกั่วและสังกะสี 3.ถลุงแร่ 4.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง ที่ใช้สารก่อมลพิษทางอากาศ 5.โครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมผลิตเหล็กขั้นต้น ปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง 6.โรงงานฝังกลบของเสียอันตราย 7.โรงงานผลิตพลังไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ยกเว้นก๊าซธรรมชาติสังเคราะห์ 8.โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” นายสุทธิกล่าว

นายสุทธิกล่าวว่า สมัยนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งคณะทำงานศึกษาโครงการที่ต้องประกาศความรุนแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 จำนวน 19 ประเภท แต่นายชาญชัยไม่เอาผลการศึกษาคณะทำงานของนางอนงค์วรรณมาพิจารณา ประกาศเพียง 8 ประเภท ตัดออก 11 โครงการ

“คำว่ารุนแรงของนายชาญชัยคงหมายถึงประชาชนตายก่อน เตรียมจะฟ้องให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครอง โดยใช้ประกาศสมัยนายสุวิทย์ พร้อมยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบการทำหน้าที่ของนายชาญชัย เพราะอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อกลุ่มทุนบางกลุ่ม”นาสยสุทธิกล่าว

นายสุทธิกล่าวว่า นอกจากนี้ กนอ.ประกาศฉบับที่ 37/2552 คัดเลือกบริษัทประกันภัย ประกันความรับผิดของคณะกรรมการและผู้บริหาร กนอ.วงเงินประกัน 700 ล้านบาทต่อปี โดยประกันความผิดที่ไม่ต้องรับผิดชอบ เช่น การกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ กนอ.หรือถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ประมาทเลินเล่อ แถลงข้อความอันเป็นเท็จ หรือแถลงข้อความที่ทำให้หลงผิด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่ไม่น่าจะทำได้ เพราะเป็นการรับประกันให้คนที่ทำผิดกฎหมายอาญา

“ต้องยื่นหนังสือให้นายกฯ รวมทั้ง ป.ป.ช.ตรวจสอบการออกประกาศเชิญชวนดังกล่าว และต้องตรวจสอบบริษัทประกันภัยโดยยื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และจะประกาศให้สังคมรับรู้ว่าผู้บริหาร กนอ.ไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบทางกฎหมายเมื่อตัวเองทำผิด” นายสุทธิกล่าว และว่า จะจัดงานสืบชะตาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชีวิตคนระยองวันที่ 19 ตุลาคม โดยมีนักวิชาการจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นมาร่วมงานที่จะบริเวณใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ในส่วนของ ทส.ได้รับมอบหมายจากมติ ครม.เกี่ยวกับการประเมินทางด้านสุขภาพมาดำเนินการภายใต้กรอบ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 โดยประสานกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในการติดตามประเด็นและแนวทางในการประเมินสุขภาพ (เอชไอเอ) มาผนวกการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยา กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทั้งนี้ ทส.เสนอที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา ว่าการพิจารณาอีไอเอภายใต้กรอบกฎหมายเดิม ให้ประเมินผลกระทบทางสุขภาพได้ และให้ปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ที่จะเป็นผู้แทนจากองค์การที่ดูแลทางด้านสุขภาพ และผู้แทนจากภาควิชาการ เพื่อสนองตอบเจตนารมณ์ของ มาตรา 67 

“ขณะเดียวกันยังพิจารณาปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมเพื่อให้รองรับเจตนารมณ์มาตรา 67 ทั้งในส่วนการตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม การจะดำเนินการให้ครบถ้วน ก็เมื่อมีการปรับปรุง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ แต่ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขณะนี้สิ่งที่ ทส.ทำภายใต้กรอบกฎหมายเดิมอย่างครบถ้วนแล้ว แม้ว่าการวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสุขภาพจะยังไม่มีกฎหมายรองรับก็ตาม”ปลัด ทส.กล่าว

ด้านนางนิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการ สผ.กล่าวว่า อีไอเอในโครงการมาบตาพุดที่ สผ.อนุมัติไปก่อนหน้านี้ถือว่าผ่านการพิจารณาอย่างถูกต้องตามกระบวนการแล้ว แต่หากจะบอกว่าไม่ได้พิจารณาผลกระทบด้านสุขภาพตาม มาตรา 67 เป็นเรื่องที่หน่วยงานอนุมัติอนุญาตการตั้งโรงงาน ต้องหาทางออก
 

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net