Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ: แถลงการณ์ของเวทีชนเผ่าพื้นเมืองระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำเสนอโดย เอสเตบานซิโอ คาสโตร ดิแอส ในเวทีเปิดการประชุมครั้งที่ 7 ของคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยความร่วมมือระยะยาวภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Ad Hoc Working Group on Long-term Cooperation Action under the Convention หรือ AWG-LCA) ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อ 28 กันยายน 2552

เอสเตบานซิโอ คาสโตร ดิแอส

ขอบคุณท่านประธานที่อนุญาตให้ชนเผ่าพื้นเมืองมานำเสนอแถลงการณ์ในเวทีเปิดการประชุมที่นี่

ข้อกังวลและข้อคิดเห็นของชนเผ่าพื้นเมืองยังไม่มีการพูดคุยอย่างจริงจังในกระบวนการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มสตรีและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองยิ่งมีน้อยมาก

ท่านประธานผมขอย้ำเตือนว่าระบบการบริหารจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดีนั้นต้องงยอมรับสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลในเวทีการเจรจาทุกอย่าง โดยรัฐบาลที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง สถาบันและองค์กรของชนเผ่าพื้นเมืองตามประเพณี พวกเราคือผู้ถือสิทธิ ดังนั้นผลใดๆของการประชุมภาคีครั้งที่ 15 และหลังจากนั้น ต้องยืนยันพันธะหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของยูเอ็นในการสนับสนุนมาตรฐานและพันธะสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค โดยเฉพาะปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

การให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น การให้คุณค่าองค์ความรู้พื้นบ้านและนวัตกรรมของเรา และการให้การสนับสนุนยุทธศาสตร์การปรับตัวและการลดสภาวะโลกร้อนในระดับท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นของการแก้ไขปัญหาองค์รวมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ยุทธศาสตร์และลำดับความสำคัญในระดับท้องถิ่นของเราต้องสะท้อนอยู่ในแผนปฏิบัติการลดภาวะโลกร้อนและการปรับตัวในระดับชาติ (NAMAs) และแผนงานและยุทธศาสตร์การปรับตัวในระดับประเทศ (NAMAs and NAPAs), ในการพัฒนาและการปฏิบัติการแผนเหล่านี้พวกเราต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และอย่างมีประสิทธิผล บทบาทและความรับผิดชอบเฉพาะของสตรีและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองจะต้องมีการนำไปพิจารณาด้วย ในด้านการให้ความสำคัญในกระบวนการวางแผนและการตัดสินใจ

พวกเราเชื่อว่าจะไม่มีความถูกต้องในกระบวนการตัดสินใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหากกระทำโดยปราศจากความยุติธรรม โลกร้อนที่เป็นธรรมต้องยอมรับความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งการส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมระหว่างและภายในประเทศต่างๆ การธำรงบูรณภาพทางนิเวศน์ การพูดถึงหนี้นิเวศน์และสภาพภูมิอากาศ และดำเนินการปรับเปลี่ยนการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่มีประสิทธิผล

พวกคุณอาจตัดสินใจหลีกเลี่ยงเส้นทางนี้ โดยใช้ป่าของเราเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน มีพี่น้องของเรามากมายที่อาศัยอยู่ในป่าและพึ่งพาป่าเพื่อความอยู่รอด และพึงพอใจในสิทธิขั้นพื้นฐานในป่าไม้และการถือครองที่ดิน ป่าไม้มีความสำคัญทางด้านวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจและจิตวิญญาณสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองและให้ผลประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ผมขอบอกพวกคุณว่าถ้าไม่มีการยอมรับและการคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง อย่างเช่น ในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 169 รวมทั้งสิทธิในทรัพยากร ที่ดินและเขตแดน และสิทธิในการยอมรับที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ (FPIC) พวกเราจะคัดค้านโครงการเรดด์และเรดด์พลัส (REDD and REDD+) และโครงการชดเชยคาร์บอน รวมทั้งโครงการและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวและการลดภาวะโลกร้อนที่อยู่บนพื้นฐานของระบบนิเวศน์

พวกเราเชื่ออย่างจริงใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสภาวะวิกฤติทางการเงิน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและอาหารในระดับโลก จะเป็นตัวอย่างของความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อนและโอกาสสำหรับมนุษยชาติในการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมของโลกให้อยู่อย่างสมดุลกับแผ่นดินแม่

แต่ในการที่จะทำได้ดังกล่าว พวกคุณซึ่งมาประชุมกันที่กรุงเทพฯ นี้ ต้องลงมติและตัดสินใจ ชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วโลกก็อยู่ที่นี่เช่นกัน รวมพลังเป็นเสียงเดียวในจิตสำนึกที่ว่า พวกเราต้องมีบทบาทร่วมในการทำให้เกิดความยุติธรรมทางสังคมและนิเวศน์ต่อไป

ขอขอบคุณ
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net