นศ.-คนงานรำลึก 3 ปี 19 ก.ย.49 หวังเป็นรัฐประหาร "ครั้งสุดท้าย"

สนนท.และสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จุดเทียนรำลึก 3 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. ชี้เป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการของอำมาตยาธิปไตยต่อประชาชน หวังเป็นการ "รัฐประหารครั้งสุดท้าย" พร้อมเป็นกำลังใจให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน เพื่อสถาปนาประชาธิปไตยเสรีสมบูรณ์ต่อไป

(19 ก.ย.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จัดการเสวนาเรื่อง 3 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549: ทิศทางของการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาและแรงงานไทย ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ โดยมีนักศึกษาและคนงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย เข้าร่วมกว่า 70 คน

อนุธีร์ เดชเทวพร เลขาธิการ สนนท. กล่าวว่า หลังรัฐประหารเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบการเมือง ซึ่งเกิดจากรัฐธรรมนูญ 2550 เห็นการกลับมาของฝ่ายอำมาตย์ และเห็นความขัดแย้งที่ชัดเจนขึ้นระหว่างแนวคิดที่ต้องการประชาธิปไตย มีกลไกให้ประชาชนใช้งานได้เต็มที่ ผ่านการเลือกตั้งให้นักการเมืองเข้าไปผลักดันนโยบายกับแนวคิดที่ต้องการให้นักการเมืองถูกควบคุม เพราะมองว่านักการเมืองคอร์รัปชั่นอยู่ตลอด โดยกลุ่มหลังที่เป็นขบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี้ คือคนในทุกขบวนการทั้งนักศึกษา แรงงานหรือเอ็นจีโอ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก่อน 19 ก.ย. โดยคนเหล่านี้ใช้ทุกวิถีทางเพื่อกำจัดนักการเมืองออกไป ไม่ว่าการเสนอแนวทางรัฐประหารหรือเรียกร้องอำนาจนอกระบบ ทั้งที่สุดท้ายจะพบว่า ฝ่ายอำมาตย์นั้นคอร์รัปชั่นหนักกว่านักการเมืองเสียอีก เพราะไม่สามารถตรวจสอบหรือวิพากษ์การทำงานของพวกเขาได้

เลขาฯ สนนท.กล่าวว่า รัฐประหารทำให้ได้บทเรียนว่า ฝ่ายอำมาตย์ไม่ได้หวังพึ่งพิงได้ และการยึดโยงกับฝ่ายนักการเมืองอย่างชัดเจนก็มีปัญหาเช่นกัน เช่น กลุ่มคนเสื้อแดงที่มีนักการเมืองที่เข้าไปเกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่ก็มีอีกด้านที่เป็นประชาชนคนธรรมดาที่มีสำนึกประชาธิปไตยและใช้ทักษิณเป็นเครื่องมือ ขณะที่ทิศทางการนำยังแยกเป็นหลายทาง การจะไปสู่แนวทางที่ถูกต้องนั้นก็คงต้องกลับไปทำงานทางความคิดให้คนรักประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการให้มาต่อสู้ในทิศทางที่ถูกต้อง

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบของการรัฐประหารต่อขบวนการแรงงานว่า ตั้งแต่รัฐประหาร 2534 ก็มีการแก้กฎหมายแรงงาน ให้ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานต้องได้ผ่านการอบรมและรับการรับรองจากกระทรวงแรงงานก่อน หากใครไม่มีบัตรต้องจำคุก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เอาไว้เบรคคนที่เคยเข้ามาช่วยเหลือกรรมกรอย่างนักศึกษา หรือรัฐวิสาหกิจออกไป ซึ่งจนตอนนี้กฎหมายนี้ก็ยังไม่ถูกแก้

จิตรา กล่าวว่า พอรัฐประหาร 19 ก.ย. พวกตนก็ขาดเสรีภาพ โดยกรรมกรที่จะยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทหรือการจัดกลุ่มศึกษาให้ความรู้กับกรรมกรก็ทำไม่ได้ เพราะมีการประกาศกฎอัยการศึก นอกจากนี้คณะรัฐประหารยังฉวยโอกาสฉีกรัฐธรรมนูญและร่างใหม่ โดยมีแรงงานกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมร่างด้วย โดยในขณะนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกกรรมกรกว่า 3 หมื่นคนให้เข้าร่วมกิจกรรมสามัคคีรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเองและพวก 4 คนได้ไปคัดค้านการรับร่างรัฐธรรมนูญก็ถูกคนทำร้าย ซึ่งก็อาจเป็นนายจ้างหรือผู้มีอำนาจทางการเมือง ผู้นำกรรมกรที่ต้านรัฐประหารก็ถูกค้นบ้าน กอ.รมน.จังหวัดบางแห่งก็ออกจดหมายเวียนไม่ให้สหภาพแรงงานทำกิจกรรมเพราะกลัวว่าจะมีการต่อต้าน

“นับแต่ 19 ก.ย. เป็นต้นมา ไม่เคยรู้สึกเลยว่า รัฐประหารหายไป เหมือนอยู่ในช่วงรัฐประหารตลอดเวลา” จิตรา กล่าวและว่า 3 ปีรัฐประหารจนถึงตอนนี้ ไม่มีอะไรดีขึ้น ข้าวของก็แพงขึ้น เสรีภาพความเป็นคนก็น้อยลง แม้แต่วันนี้ก็ยังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในกรุงเทพฯ

ต่อประเด็นเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างขบวนการนักศึกษากับขบวนการแรงงาน เธอบอกว่า ปัจจุบัน นักศึกษามาร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการแรงงานน้อยมาก บางครั้งเป็นเพราะไม่ใช่ประเด็นที่องค์กรที่ให้ทุนกับนักศึกษาสนใจ จึงเสนอให้เก็บเงินทำกิจกรรมกันเอง จะได้ทำในประเด็นที่อยากทำได้ นอกจากนี้ ยังเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ไปรณรงค์ร่วมกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ที่ฟิลิปปินส์ว่า ที่นั่น นักศึกษาพอเลิกเรียนจะมาชุมนุมและกินนอนกับสหภาพแรงงาน โดยช่วยเหลือกิจกรรมของคนงานในส่วนต่างๆ อาทิ แปลงาน เทคนิคคอมพิวเตอร์ เป็นฝ่ายศิลป์ พอวันหยุดก็จะมาช่วยสอนหนังสือ สอนดนตรีให้กับลูกๆ ของคนงาน ทำให้เกิดกิจกรรมร่วมกันระหว่างนักศึกษา คนงานและลูกของคนงาน จึงอยากเสนอให้นักศึกษาลองมาร่วมชุมนุมกับคนงานแบบนี้บ้าง

เทวฤทธิ์ มณีฉาย นักกิจกรรมกลุ่มประกายไฟ กล่าวว่า ถ้านักศึกษามีจุดมุ่งหมายจะเปลี่ยนแปลงสังคม ต้องดูความเป็นจริงของสังคมไทยขณะนี้ด้วย เพื่อจะกำหนดได้ว่านักศึกษาจะทำงานด้านไหน เพราะสังคมไทยไม่ใช่สังคมเกษตรกรรมหรือกึ่งเกษตรกรรมแบบที่หลายคนเข้าใจอีกต่อไปแล้ว โดยจีดีพีในภาคเกษตร มีเพียง 10% ของจีดีพีในประเทศ ขณะที่มีงานวิจัยของสุชาย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พบว่า ชาวนาที่สุพรรณบุรี 60% รับจ้างทำนาในนาของคนอื่น ขณะที่อีก 40% ทำนาในที่ของตัวเอง แต่แทบจะเป็นลูกจ้างของบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตร ที่เอาวัตถุดิบมาให้และมารับซื้อไป

ต่อมา เวลาประมาณ 19.00น. นักศึกษาและคนงานกว่า 70 คน ได้เดินไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 โดยมีการจุดเทียนเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ร้องเพลงร่วมกัน และอ่านแถลงการณ์

อนุธีร์ เดชเทวพร เลขาธิการ สนนท. ได้อ่านแถลงการณ์เพื่อรำลึกครบรอบ 3 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ระบุ การรัฐประหารเมื่อ 3 ปีที่แล้วได้ทำลายสิทธิเสียงของประชาชนลงในชั่วข้ามคืนและสร้างฐานระบอบอำมาตยาธิปไตยขึ้นมา ประชาธิปไตยกลายเป็นเพียงเครื่องมือของฝ่ายชนชั้นนำ ที่จะบงการประเทศ ผ่านผู้แทนของพวกเขาในวุฒิสภาและข้าราชการชั้นสูง สร้างความทุกข์ให้กับประชาชน โดยประชาชนต่างต้องการสิทธิของพวกเขาคืนจึงดำเนินการต่อสู้ผ่านพลังมวลชน และการต่อสู้ทางความคิดกับฝ่ายที่ต่อต้านและบิดเบือนประชาธิปไตย

แถลงการณ์ สนนท.ระบุต่อว่า การต่อสู้ที่กล้าหาญและทรงพลังของประชาชนที่กำลังดำเนินอยู่นั้น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าประเทศนี้ไม่ต้อนรับการรัฐประหารอีกต่อไปแล้ว โดยการต่อต้านของประชาชนเหล่านี้ได้กลายเป็นพลังที่มีสำนึก ที่มุ่งขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ประชาธิปไตยเสรีสมบูรณ์ต่อไปในอนาคต สนนท.และองค์กรภาคีจึงขอร่วมกันรำลึกและตอกย้ำประณามเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในฐานะจุดเริ่มต้นของการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยต่อประชาชน และในฐานะบทเรียนที่สำคัญของไทย โดยหวังให้เป็นการ "รัฐประหารครั้งสุดท้าย" ทั้งนี้ สนนท. ขอเป็นกำลังใจให้กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน เพื่อเปลี่ยนแปลงสถาปนาประชาธิปไตยเสรีสมบูรณ์ต่อไปในอนาคตด้วย

สวี สุดารัตน์ กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ซึ่งมาร่วมกิจกรรมนี้ด้วยกล่าวว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เห็นว่า รัฐประหารที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยให้ประเทศชาติหรือเศรษฐกิจดีขึ้นเลย และตลอด 35 ปีที่ผ่านมา ผ่านการรัฐประหารมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรก้าวหน้าขึ้น การรัฐประหารเหมือนเป็นการดูถูกประชาชนและลิดรอนสิทธิประชาชน

 


0000

แถลงการณ์ สนนท.

เมื่อ 3 ปีที่แล้วในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ได้เกิดเหตุการณ์รัฐประหารที่ทำลายสิทธิเสียงของประชาชนไทยลงไปในชั่วข้ามคืนและได้ก่อร่างสร้างฐานระบอบอำมาตยาธิปไตยขึ้นมา นำประเทศไทยเข้าสู่ยุคมืดที่ประชาธิปไตยถูกจำกัดลงให้เหลือเป็นเพียงเครื่องมือของฝ่ายชนชั้นนำ ที่จะบงการประเทศนี้ได้ตามใจชอบ ผ่านผู้แทนของพวกเขาในวุฒิสภาและตำแหน่งราชการชั้นสูง ที่สามารถล้มผู้แทนประชาชนจากการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่าลงไปและสรรหาผู้แทนของเขาขึ้นมาอย่างไม่ชอบธรรม สร้างความทุกข์เข็ญไปทั่วหัวระแหง ประชาชนต่างโหยหาเรียกร้องสิทธิของพวกเขาคืน และกำลังดำเนินการต่อสู้ผ่านพลังมวลชน และการต่อสู้ทางความคิดกับฝ่ายที่ต่อต้าน และบิดเบือนประชาธิปไตยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อย่างกล้าหาญและทรงพลัง

ณ เวลานี้ ผลพวงจากการรัฐประหารที่กระทำโดยคณะทหาร ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย และผู้สนับสนุนทั้งหลายเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ได้แสดงออกมาให้เห็นชัดเจนในปัจจุบัน ประเทศไทยและผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมได้บทเรียนและมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนแล้วในปัจจุบัน ว่าการรัฐประหารไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ไม่ได้พัฒนาประชาธิปไตยและไม่ใช่การถอยหนึ่งก้าวเพื่อก้าวไปข้างหน้าสองก้าว มันกลับเป็นการดึงฉุดรั้งประชาธิปไตยให้ล้มลุกคลุกคลานอีกครั้ง หลังจากถูกดึงรั้งให้ล้มลงครั้งแล้วครั้งเล่าในประวัติศาสตร์กว่า 77 ปีของประชาธิปไตยไทย อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชน ในทางกลับกัน มันกลายเป็นของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ที่มองเห็นประชาชนเป็นเพียงไพร่ตัวเล็กๆ ของพวกเขา ภายใต้อุ้งเท้าของพวกเขาโดยตลอดเวลาเพียงเท่านั้น

แต่การต่อสู้ที่กล้าหาญและทรงพลังของประชาชนที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าประเทศนี้ไม่ต้อนรับการรัฐประหารอีกต่อไปแล้ว ในอดีตประชาชนเคยขลาดกลัวการรัฐประหารและอยู่นิ่งเฉยไม่ต่อต้าน แต่วันนี้ประชาชนได้เปลี่ยนความกลัวให้กลายเป็นความชิงชังต่อความไม่เป็นธรรมและต่อต้านการรัฐประหารอย่างเปิดเผยในทุกที่ วีรกรรมของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เป็นตัวอย่างที่ดี การต่อต้านของประชาชนเหล่านี้ ปัจจุบันได้กลายเป็นพลังที่มีสำนึก ที่มุ่งขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ประชาธิปไตยเสรีสมบูรณ์ต่อไปในอนาคต

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและองค์กรภาคี ขอร่วมกันรำลึกและตอกย้ำประณามเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในฐานะจุดเริ่มต้นของการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยต่อประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรม และในฐานะบทเรียนที่สำคัญที่ประเทศไทยจะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ด้วยความคาดหวังให้เป็นการ "รัฐประหารครั้งสุดท้าย" ทั้งนี้ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยขอเป็นกำลังใจให้กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนไทย เพื่อก่อการเปลี่ยนแปลงสถาปนาประชาธิปไตยเสรีสมบูรณ์ต่อไปในอนาคต

ประชาธิปไตยเสรีสมบูรณ์จะต้องปรากฎเป็นจริง
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
19 กันยายน 2552

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท