Skip to main content
sharethis


บรรยากาศการประชุม Social Dialogue หัวข้อ ภูมิปัญญาของการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กรภาครัฐ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมสยามซิตี้


โยชิโอ ซาโต (ขวา) เลขาธิการ ICEM ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก


จากซ้ายไปขวา ทิม เดอ เมเยอร์ สุวิทย์ สุมาลา และ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์

กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับสหพันธ์แรงงานนานาชาติ กิจการเคมีภัณฑ์, พลังงาน, เหมืองแร่, แรงงานทั่วไปในประเทศไทย (International Federation of Chemical, Energy, Mine and General Workers' Unions-Thai Affiliates: ICEM Thai) จัดการประชุมในรูปแบบการสนทนา (Social Dialogue) ภายใต้หัวข้อเรื่อง ภูมิปัญญาของการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กรภาครัฐ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมสยามซิตี้

ระวัย ภู่ผะกา เลขาธิการ ICEM ประเทศไทย กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการ ICEM ประเทศไทย ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 23-24 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อระบบแรงงานสัมพันธ์ทั้งในสถานประกอบการและระดับสากล ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการสื่อสารความเข้าใจที่แตกต่างกันระหว่างผู้ใช้แรงงานกับผู้แทนนายจ้าง ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้แทนจากบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย เป็นปัญหานำไปสู่ความขัดแย้ง เป็นข้อพิพาท มีการเลิกจ้าง ก่อให้เกิดบรรยากาศความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เป็นอุปสรรคต่อการจ้างงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและของโลก เนื่องจากระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมยุคโลกาภิวัตน์ ทุกส่วนมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์ต่อกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนย่อยอาจกระทบต่อส่วนใหญ่ในระบบการจ้างงาน หรือลุกลามไปถึงความมั่นคงของสังคมโดยรวมได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือ เพื่อความเข้าใจกันในเรื่องมาตรฐานแรงงานสากลและธรรมาภิบาลในระบบการจ้างงานด้วย ผ่านการ Social Dialogue ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

โยชิโอ ซาโต เลขาธิการ ICEM ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่างานในวันนี้ที่มีการจัดให้พูดคุยปรึกษาหารือด้านแรงงานสัมพันธ์แบบไตรภาคี จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการแรงงาน และจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากบรรษัทข้ามชาติ ทั้งนี้ในการประชุมของ ICEM ที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้มีมติร่วมกันที่จะมีการจะให้การสนับสนุนสมาชิกในประเทศไทย
 
ซาโต กล่าวว่า ในประเทศไทย คนงานในบริษัท ลินเด้, กู้ดเยียร์ และมิชลิน ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่มีความเป็นประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารของทั้ง 3 บริษัทกลับได้ละเมิดข้อตกลง ละเมิดสิทธิแรงงาน และละเมิดกฎหมายแรงงานของประเทศไทย รวมทั้งยังละเมิดข้อตกลงสากลเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงาน เช่น การปิดงาน การเลิกจ้าง การใช้แรงงานจ้างเหมาช่วง และการโยกย้ายตำแหน่งอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น
 
เขากล่าวว่า ดังนั้น ICEM ยืนยันที่จะสนับสนุนการต่อสู้ของสหภาพแรงงานทั้ง 3 บริษัท เพื่อร่วมกันสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งและเป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังมีการแจ้งต่อบริษัทแม่ของทั้ง 3 บริษัท ให้แก้ไขปัญหาและให้มีการสานเสวนา (social dialogue) ในการแก้ไขปัญหา โดย ICEM ได้จัดให้มีคณะตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงานลงมาตรวจสอบบริษัทข้ามชาติทั้ง 3 บริษัท
 
"ทั้งนี้ ผมเชื่อว่าวิธีการสานเสวนา ถือว่าเป็นวิธีการสำคัญวิธีการหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีได้ในอนาคต" ซาโต กล่าว

ทิม เดอ เมเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวในหัวข้อมาตรฐานแรงงานสากลว่า มาตรฐานแรงงานสากลไม่ได้เกิดจากฝ่ายแรงงานหรือรัฐบาล แต่เกิดจากบริษัทที่มีแนวคิดก้าวหน้าที่ต้องการทำกำไร ไปพร้อมกับการรับใช้สังคม ด้วยการผลิตสินค้าและบริการที่ดี โดยต้องพยายามไม่ให้การแข่งขันทางธุรกิจกระทบต่อการปรับปรุงวิถีชีวิตของคนงาน  ทั้งนี้ ILO เห็นว่า หากต้องการสร้างให้ทุกคนมีส่วนร่วมช่วยเหลือรับใช้สังคม ก็จะต้องมีกลไกที่ดีให้นายจ้างและลูกจ้างได้นั่งคุยกัน

ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า การจะเกิดการสานเสวนาได้นั้น ทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดตั้งกลุ่มตัวแทนเพื่อเจรจาหารือกับตัวแทนของสมาชิกอีกฝ่ายได้ ดังนั้น หลักการเรื่องเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ซึ่งตรงกับอนุสัญญาของ ILO ข้อ 87 และ 98 จึงสำคัญมาก โดยประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ได้ให้สัตยาบันหมดแล้ว ยกเว้นประเทศไทย  

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายต้องยินดีและเต็มใจที่จะสื่อสารซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะนายจ้างจะต้องช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้แก่คนงานในการปรึกษาหารือ รวมถึงต้องการันตีความปลอดภัยในการทำงานของผู้แทนคนงานที่ต้องทำงานให้กับสหภาพแรงงาน

ทิม กล่าวว่านอกจากนี้จะต้องสร้างเวทีให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยและยื่นข้อเสนอด้านสภาพการทำงาน ผลประโยชน์ สวัสดิการ เงินเดือน การคุ้มครอง ฯลฯ โดยหลังการพูดคุยจะต้องมีการสรุปเป็นเอกสาร ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องแสดงพันธกรณีตามกฎหมายว่าจะปฏิบัติตาม

นอกจากนั้น บริษัทต้องพร้อมให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เช่น สภาพการจ้างทั่วไป การโยกย้ายตำแหน่ง การให้คนงานออก การลงทุนของบริษัท ข้อมูลด้านสวัสดิการสังคมทั้งจากบริษัทและภายนอก ให้ลูกจ้างได้ทราบเพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจได้ รวมถึงต้องอธิบายการตัดสินใจที่จะสร้างผลกระทบต่อคนงานทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องการปิดกิจการ ที่คนงานจะต้องทราบการตัดสินใจจากบริษัทก่อนที่จะเกิดขึ้นด้วย

สุวิทย์ สุมาลา ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงหลักปฏิบัติของรัฐบาลไทยและแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบกิจการว่า รัฐมีหลักการบริหารแบ่งเป็น 1.เอกภาคี คือการที่รัฐกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่นายจ้างต้องทำ ปรากฎอยู่ในกฎหมายแรงงาน โดยยึดหลักโปร่งใส มีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมาย 2.ทวิภาคี คือการที่รัฐส่งเสริมการจัดตั้งคณะกรรมการทวิภาคีต่างๆ เช่น คณะกรรมการสวัสดิการ 3.ไตรภาคี คือการเจรจาทั้งสามฝ่าย ซึ่งภาครัฐจะเข้าไปร่วมด้วยเมื่อทวิภาคีไม่ได้ผล โดยเจ้าหน้าที่ด้านแรงงานสัมพันธ์ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด โปร่งใสเป็นธรรม และพยายามส่งเสริมทวิภาคีในสถานประกอบการให้ได้มากที่สุด

เขากล่าวว่า ภายใต้ความผันผวนทางเศรษฐกิจ แรงงานสัมพันธ์ต้องปรับปรุงรูปแบบและวัตถุประสงค์ไม่ใช่เพื่อแรงงานสัมพันธ์ที่ดี แต่ต้องสนองตอบต่อความต้องการของผู้ประกอบการและลูกจ้าง ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล เจรจาต่อรอง โดยเน้นที่ความสามารถในการอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและดำเนินธุรกิจไปได้

สุวิทย์เสนอด้วยว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องส่งเสริมองค์กรลูกจ้างให้เข้มแข็ง องค์กรลูกจ้างทุกระดับต้องสร้างการยอมรับจากสหภาพแรงงาน นักสหภาพแรงงานเองก็ต้องเป็นมืออาชีพ รอบรู้ทั้งเรื่องของสภาพองค์กร และสถานภาพเศรษฐกิจในประเทศและระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน นายจ้างก็ต้องสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ถูกกฎหมาย ยอมรับองค์กรของลูกจ้าง และเจรจาบนหลักสุจริตใจ  

แล ดิลกวิทยรัตน์ ศาสตราภิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับฝ่ายจัดการว่า เมื่อธุรกิจต่างชาติมาลงทุนที่ประเทศไทยแล้ว แม้จะสามารถควบคุมเทคโนโลยีและคุณภาพวัตถุดิบได้ แต่ไม่สามารถควบคุมคนได้ เพราะไม่รู้วัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น หัวหน้างานต่างชาติใช้เท้าชี้คนงาน หรือใช้มือลูบหัวเพราะเอ็นดู ก็ปรากฎว่าจะมีเรื่องกัน ดังนั้น จึงต้องใช้คนพื้นเมืองด้วยกันบริหาร เพราะเข้าใจวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม แลกล่าวว่า ฝ่ายบริหารไม่ใช่ตัวกลางที่โปร่งใสเพราะมีอัตตา มีตัวตนผลประโยชน์ มีความรู้สึก มีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะฝ่ายบริหารในประเทศด้อยพัฒนาที่ยังมีความเชื่อแบบเจ้าขุนมูลนาย ดังนั้นจึงไม่สามารถยอมรับให้คนอื่นมานั่งโต๊ะเจรจาด้วยได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net