Skip to main content
sharethis

2

 

‘’โรงไฟฟ้าในพื้นที่มีกำลังการผลิต 700 เมกกะวัตต์ ไฟที่ผลิตได้พวกนั้นไปที่ไหน ตนก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ว่าที่สำคัญนั้นเราไม่ได้ใช้ คนในหมู่บ้านหรือว่ารอบๆ บริเวณนี้ใช้เพียงนิดเดียว อย่างบ้านนี้ใช้ไฟเพียง 5 หลอด’’ 

 

ชายชราวัยกว่า 60 ปีกวาดสายตามองไปรอบๆ บ้านทำนองเชื้อเชิญ ผมมองตาม แล้วลองนับเอาในใจ 1,2,3,4 รวมทีวีด้วยพวกเขาทั้งบ้าน (3 คน) ใช้ไฟไปเพียง 5 หน่วยเท่านั้น

 

‘’ถ้าหากวันไหนมีคนมาบอกว่าถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าที่บ้านตนจะไม่มีไฟใช้ ก็อยากจะถามว่าเราลืมไปหรือเปล่าว่า บรรพบุรุษดั้งเดิมของเราอยู่กันอย่างไร ถามว่าโรงไฟฟ้าหรือว่าพลังงานแบบอื่นที่ไม่ใช่ก๊าซชีวภาพอย่างเช่นกังหันลมนั้นทำได้ไหม มันก็ทำได้แต่ถามว่าทำไมถึงไม่ทำ พลังการผลิตก็เยอะทำไมไม่ทำ’’เขาตั้งคำถามขึ้นในระหว่างบทสนทจนากับเรา

 

...เมื่อก่อนเราทำนา ทำไร่ เราไม่เคยใช้ปุ๋ย ถามว่ามาในเวลานี้ทำไมเราต้องใช้ เมื่อก่อนตนเคยใช้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้หันมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์เอง ใช้เอง เราไม่ได้เดือดร้อนเรื่องการหาอยู่หากิน นาข้าวกับสวนยางก็พออยู่พอกินได้ทั้งปีแล้ว หาเก็บผักเก็บหญ้าเอาก็พออยู่พอกินได้ไปวันๆ ทำสวนยางบ้าง เลี้ยง สัตว์บ้าง ทำนาบ้าง ทำเกี่ยวกับการเกษตร อาชีพหลักก็คือทำนา เป็นนามรดกของปู่ย่าตาทวด ประมาณ 10 กว่าไร่ สวนยางมีอยู่ประมาณ 10 กว่าไร่เหมือนกัน แพะ 20 กว่าตัว มีวัวบ้าง ทำทุกอย่าง คนที่เดือดร้อนไม่มีอะไรคือคนขี้เกียจ ถ้าไม่ขี้เกียจนั้นมีกินอยู่แล้ว นายก๊บ หลำโซ๊ะ ชาวบ้านวัย 61 บ้านป่างามหมู่ที่ 3 .ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ผู้มีหลังบ้านพิงกับรั้วโรงไฟฟ้าจะนะเล่าให้เราฟัง ในยามค่ำคืนที่ไฟจากโรงงานไฟฟ้าที่อยู่ด้านหลังสว่างชิตช่วงชัชวาล ราวกับว่ามันจะไม่มีวันมอดลง

 

‘’ชีวิตการเป็นเกษตรกรนั้น ขอแค่เพียงมีข้าวกิน มียารักษาโรค ปัจจัยสี่เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว พอใจแล้ว ถ้าหากไม่รู้จักคำว่าพอเราก็เหนื่อย ถ้าหากไม่ได้ออกไปไหน ตอนเช้าก็พาวัวออกไปล่าม แล้วก็ช่วยไปเอาน้ำยางจากที่ภรรยากับลูกสาวกรีดเพื่อที่จะไปขายในหมู่บ้าน ตอนเย็นก็กลับไปเลี้ยงแพะบ้าง หรือถ้าหากไม่เลี้ยงแพะก็ทำอะไรเล็กๆ น้อยภายในบ้านไป  มันเป็นงานที่ไม่จำกัดแน่นอน  มันก็เป็นฤดูของมันไป เมื่อถึงฤดูทำนา เราก็ทำนา หรือว่าถึงเวลาที่เกี่ยวข้าว เราก็เกี่ยวข้าวไป พอว่างก็ปลูกผักปลูกหญ้าไป’’เขาเล่าถึงวิถีชีวิตว่าในปีหนึ่งๆ เขาทำอะไรไปบ้าง

 

..........

 

ผู้เฒ่าแห่งบ้านตลิ่งชัน ผู้มีชีวิตอยู่ในพื้นที่มานานเล่าให้เราฟังถึงการมาของพวกเขา‘’ตอนที่เขาเข้ามาใหม่นั้นเขาก็ชี้แจงว่ามันดีนั่นดีนี่ แต่ว่าในความจริงแล้วเขาเอากุ้งฝอยมาตกปลากะพง มาบอกว่าเราจะมีงานทำ หรือว่าเราจะมีไฟฟ้าใช้ สารพัดที่จะกล่าวอ้าง แต่ว่าเมื่อเสร็จแล้วเขาก็ไม่เอาเรา พวกที่เข้าไปทำงานในโรงงานนั้นต้องจบสูง ไม่ใช่ชาวบ้านที่แบกไม้ แบกฟืนอยู่ตามบ้านเสียเมื่อไหร่ ถามว่าภาษาอังกฤษของตนหรือว่าชาวบ้านคนอื่นๆ นั้นรู้หรือเปล่า แล้วชาวบ้านอย่างเราจะไปทำอะไรได้ หนังสือก็แค่พอเขียนได้เท่านั้นเอง…’’

 

...ถามว่าวิถีชีวิตของพวกเรานั้นอยู่กันมาอย่างไร ก็ทำไร่ทำนา มีอะไร เราก็ขอกันกินได้ เจ็บไข้ได้ป่วยก็พึ่งพาอาศัยกัน แต่ว่าเดี๋ยวนี้อย่าไปยุ่งกัน ก็เปรียบกับการก่อสร้างตึกนั่นแหละ ถามว่าเมื่อเขาก่อสร้างตึกเสร็จนั่งร้านเขาเอาไว้ไหม  เมื่อเขาสร้างเสร็จเขาก็เผาไฟทิ้งมันก็เหมือนแบบเดียวกับพวกเรานั่นแหละ ไปเป็นนั่งร้านให้เขา เมื่อสร้างเสร็จมันก็โละทิ้งไปเท่านั้นเอง ความเป็นชุมชนก็หมดไปแล้ว ทีแรกก็ดี ชาวบ้านจะมีงานทำ มีอะไรสารพัดนึก แต่ว่าชาวบ้านก็ไม่ได้คิดไปถึงในส่วนตรงนั้น จะคิดแต่เพียงว่ากูมีเงิน หรือว่ากูมีงานทำเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้คิดว่าจะได้ทำงานอยู่สักกี่วัน 

 

...ถามว่าอย่างตนนี่จะไปทำงานในโรงงานนั้นได้ไหม เขาก็ไม่เอา คนแก่อย่างนี้จะเอาไปทำอะไร ส่วนคนหนุ่มๆก็อย่างที่บอกว่าเป็นเพียงนั่งร้านของเขาเท่านั้น แต่ถ้าหากเราอยู่แบบวิถีชีวิตชาวบ้านนั้นคนอายุอย่างตนนั้นยังสามารถที่จะทำงานได้อยู่ ทำนาได้ กรีดยางได้ อยู่กับลูกหลานได้ อย่างน้อยที่สุดถ้าหากไม่มีอะไรทำก็อยู่บ้านเลี้ยงลูกได้ แต่ถ้าหากสมมติว่าเราไปอยู่กับโรงงานคนแก่เขาก็ไม่เอา

 

..........

 

’’...น้ำในคลองก็แห้งไปเพราะว่าถูกสูบเอาไปใช้ในโรงไฟฟ้าทั้งหมด น้ำยางจากสวนก็น้อยลง เสียงดัง ควันจากโรงไฟฟ้าที่มีกลิ่น น้ำท่วมพื้นที่ชาวบ้าน ตรงนี้ หมายถึงบ้านตน ในฤดูน้ำหลากท่วมขึ้นมาถึงหน้าต่างเพราะว่า เดิมทีพื้นที่โรงไฟฟ้าเป็นแอ่งเป็นแก้มลิงที่เก็บกักน้ำเอาไว้ น้ำจะไหลลงไปในพื้นที่ตรงนั้นทั้งหมด เป็นเหมือนกับพื้นที่พักน้ำ เมื่อตอนที่มีการสร้างพื้นที่โรงไฟฟ้า เขาก็ถมพื้นที่ตรงนั้นทั้งหมดความสูงประมาณ 8 เมตร ทำให้พื้นที่ตรงนี้น้ำท่วม แต่เมื่อก่อนมันก็เคยท่วมอยู่นั่นแหละเพียงแต่ว่าไม่รุนแรงเท่านี้... 

 

...ผลกระทบหลังจากที่มีการสร้างโรงไฟฟ้ามันก็เกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหง ปลาในลำคลองตายเป็นแพ พวกที่เลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาก็เลี้ยงไม่ได้แล้ว แต่ว่าผลสุดท้ายคำที่ว่าเห็นชัดนั้นก็ไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป แล้วชาวบ้านจะทำอย่างไร ชาวบ้านก็ทำได้แต่เพียงนั่งมองเท่านั้น เราไม่สามารถทำอะไรได้

 

เราถามต่อไปถึงเรื่องการชดเชย ‘’...ก็มีการชดใช้ แต่ว่ามันก็ไม่พอ ครอบครัวหนึ่งเขาให้มา3-40,000 บาท เท่านั้น  แต่ว่าสิ่งที่เราเคยหาอยู่หากินมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ บรรพบุรุษเราก็ไม่สามารถหากินได้อีกต่อไป ซึ่งจากเมื่อก่อนนั้นเรามองไม่เห็นผลกรทบ แต่ว่าในตอนนี้มันก็เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น’’

 

..........

 

‘’ผลประโยชน์เข้าไปที่ไหนพังทั้งหมด’’เขาย้ำ เราเห็นด้วยอย่างไม่มีข้อสงสัย ใครจะไม่รักไม่ชอบเงิน บางแห่งที่ได้ข่าวว่าโครงการจะขึ้นพระสงฆ์องค์เจ้าก็ยังไม่เว้นที่จะรับปัจจัยเหล่านั้น

 

‘’ก็มีทั้งกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านและกลุ่มชาวบ้านที่ไปสนับสนุน ชาวบ้านฝ่ายที่เห็นด้วยเขาก็เห็นด้วยส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ค้าน เราไม่ได้ต่อสู้กับเพียงทางบริษัทเท่านั้น เราสู้กับรัฐบาลกับคนในหมู่บ้าน ชาวบ้าน ที่สำคัญที่สุดก็คือว่าเราต่อสู้กับคนในหมู่บ้านของเราเอง ตอนนี้มันก็ยังมีในส่วนที่เข้ากันไม่ได้ ไม่ไว้วางใจกัน ในส่วนของปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าที่สำคัญคือชาวบ้านด้วยกันเอง แตกกันในหมู่บ้าน พี่ไม่ถูกกับน้อง พ่อกับลูก’’

 

‘’ชาวบ้านนั้นถ้าหากว่าเป็นผลประโยชน์แล้ว ใครๆ ก็อยากได้ทั้งนั้น ถ้าหากเราไปพูดไปคุยแบบนี้กว่าที่เขาจะรู้เรื่องมันก็สายไปเสียแล้ว แก้ไม่ได้เพราะว่ามันเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ว่าตอนนี้ชาวบ้านก็เริ่มรู้แล้วแต่ดูเหมือนว่ามันจะสายไป ที่เกิดขึ้นก็เกิดไป แต่ว่าทีนี้ในส่วนโครงการที่จะเกิดขึ้นมาใหม่อย่างเช่นท่าเรือน้ำลึก หรือว่าโรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นมาใหม่เราก็กำลังสู้อยู่... ‘’

 

……….

 

ผมถามถึงลูกสาววัย 20 กว่าของชายชรา ที่เวลานี้เธอไม่ได้เรียนอยู่ในระบบการศึกษาเฉกเช่นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน แสดงว่าเขา(ชายชราหรืออาจจะเป็นเธอเอง)ไม่ได้ประสงค์ที่ให้เธอเรียนรู้กับระบบการศึกษาที่จะนำคนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมพวกนั้น

‘’ไม่ได้หวังให้ลูกสาวไปทำงานที่นั่นเลย บอกเขาเลยว่าเมื่อโตขึ้นมาก็อยู่อย่างพ่อนี่แหละ พออยู่ พอกิน โรงงานนี่ไม่ให้ทำเด็ดขาด คือลูกผู้หญิงตนไม่อยากให้ออกไปนอกบ้าน อาจจะเป็นเพราะมุสลิมด้วย อาจจะไปให้กรุงเทพบ้างไปดูว่าโลกภายนอก หรือว่าสิ่งที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้านั้นคืออะไร คือเมื่อไหร่ที่วะไปไม่รอดแล้วก็จะให้ลูกสาวช่วยทำต่อไป ให้เขาสู้ต่อไป’’

 

‘’...เพราะถ้าเราอยู่ตามแบบภูมิปัญญาของชาวบ้านนั้นเราสามารถทำได้ทุกๆอย่าง แต่ว่าถ้าหากวันไหนเรากลายไปเป็นคนงานในโรงงานขึ้นมาแล้ว หรือว่าเป็นกรรมกรไปตัดหัวปลา ทำงานในโรงงานไก่ ทุกๆวันมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น เช้าขึ้นมาก็ปีก ปีก ปีก บ่ายก็ อก อก อก อก อก ทำเป็นอยู่เพียงอย่างเดียว นายทุนก็กุมหัวชาวบ้านได้ ทำให้คิดแต่เพียงว่าถ้าหากไม่ได้ทำงานในโรงงานก็จะอดตาย แต่ถามว่าแท้ที่จริงเราไม่ทำงานในโรงงานเราก็อยู่ได้...’’เขาว่าติดตลก

 

……….

 

สุดท้ายผมถามเขาถึงเส้นทางการต่อสู้ ถึงทุกวันนี้มันดำเนินยาวนานหลายปี และไม่ทีท่าว่าจะจบสิ้น ผู้เฒ่าว่าอย่างไม่เต็มเสียงว่าไม่เหนื่อย ‘’สิ่งที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้ก็คือว่าให้ครอบครัวนั้นเข้าใจกัน เราอยู่กันสามคนต้องเข้าใจกัน ถ้าหากไม่เข้าใจกันตีกันตาย ภรรยาก็เข้าใจ วันไหนที่ผมไม่มีตังเขาก็ไปหยิบยืมเขามาให้ผม สมมติว่าพรุ่งนี้ตนจะไปกรุงเทพแล้วไม่มีเงินเขาก็ไปหยิบยืมเขามาให้ การต่อสู้แบบนี้ต้องมีความอดทน และต้องทนอดด้วย เรามีรายได้ไม่เยอะ แต่ว่าบางครั้งมันก็ต้องขึ้นไปประชุมยื่นหนังสือ ก็ไปอาศัยนอนตามวัดบ้าง มัสยิดบ้าง หรือว่าที่ชายทะเลบ้างก็ตามแต่’’

 

‘’ทั้งหมดทั้งมวล เราต้องเข้าใจกัน’’เขาย้ำ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net