Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

  

รู้จัก “กะปิ” กันดีทุกคนใช่ไหม?
และรู้ไหมว่า “กะปิ” ได้มาจากไหน ทำอย่างไรจึงเป็นกะปิ??
 
 
 
 
ตั้งแต่จำความได้และรู้จักลิ้มรสชาติความอร่อยของอาหาร น้ำพริกกะปิเป็นเมนูหนึ่งของอาหารมื้อเย็น ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่เคยรู้ว่ากะปินั้นทำมาจาก “กุ้ง” ...กุ้งตัวเล็กมากที่เรียกว่า “กุ้งเคย”
 
วัตถุสีเทาดำบ้าง สีเทาๆ ออกม่วงแดงบ้างกลิ่นแรงนั้นเมื่อเป็นส่วนประกอบหนึ่งของอาหารเพิ่มรสชาติให้อร่อยไม่น้อยเลยทีเดียว
 
คงไม่แปลกสำหรับคนเมืองที่เป็นผู้บริโภคเพียงอย่างเดียวที่ไม่เคยรู้ที่มาที่ไปของสินค้าที่กำลังบริโภค
 
เช้ามืดวันหนึ่งเราขอติดเรือแจวลำเล็กๆ ของจ๊ะเซียะ (จ๊ะแปลว่าพี่สาว) หรือ มีเซียะ ทองแก้ว ชาวประมงพื้นบ้าน หมู่บ้านในหงบ จ.พังงา โดยปกติจ๊ะเซียะออกทำประมงเพียงลำพัง ในเรือมีอวนปลากระบอก และสลิง(มีลักษณะเป็นคันรุนทำจากไม้ไผ่และผ้ามุ้งสีฟ้าเย็บเป็นถุงประกอบเข้ากับคันไม้ไผ่) หรือบางแห่งจะเรียกว่า “ละวะ” หรือ “อีลู่” (เครื่องมือประมงพื้นบ้านสำหรับรุนกุ้งเคย) บางครั้งจะติดแหไปด้วยเผื่อทอดแหได้ปลาหรือกุ้ง
 
จ๊ะเซียะแจวเรือด้วยไม้พายคู่ด้วยท่าทางทะมัดทะแมง แจวกับไปคุยกันไปจนแสงแรกของวันแย้มมาทักทายเรา แม้จะรับรู้มาตลอดทางว่า ลำคลองในหงบที่แจวเรือมาตลอดทางนั้นขนาบด้วยป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งใน จ.พังงา
 
เมื่อถึงที่หมายจ๊ะเซียะมองเห็นกุ้งเคยฝูงเล็กๆ ริมชายฝั่งป่าชายเลน จึงหยิบเครื่องมือละวะ (จะเรียกละวะ, สลิง หรืออีลู่แล้วแต่ละพื้นที่) ออกมารุนกุ้งเคย เดินรุนตามริมชายฝั่งป่าชายเลน หรือบริเวณปากคลอง ก่อนจะรุนกุ้งเคยนั้นจะต้องดูว่ากุ้งเคยขึ้นเป็นฝูงหรือไม่ ถ้ามีจึงเดินรุน
 
จ๊ะเซียะบอกว่า วันนี้กุ้งไม่ขึ้น หมายถึง ไม่มีกุ้งเคย ถ้าได้กุ้งเคย อย่างต่ำประมาณ 5 กิโลกรัม นำมาทำเป็นกะปิ ได้ 2.5 กิโลกรัม ขายส่ง กิโลกรัมละ 80 บาท ราคาขายปลีก กิโลกรัมละ 100 บาท และเคยได้กุ้งเคยมากที่สุด 30 กิโลกรัมต่อวัน
 
วันที่เราลงเรือแจวไปนั้นเป็นช่วงฤดูร้อน อากาศดีมากท้องฟ้าแจ่มใส แต่เอาแน่นอนอะไรกับฝนพังงา ฟ้าภูเก็ตไม่ได้หรอก
 
ฤดูฝน คือช่วงที่ได้กุ้งเคยมาก อยู่ระหว่างเดือน พฤษภาคม – ธันวาคม และ ช่วงที่ได้กุ้งเคยน้อย คือฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือน มกราคม – เมษายน
 
เป็นความตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็น “กุ้งเคย” ที่รุนกันซึ่งหน้า แม้จะเคยเห็นกุ้งเคยมาก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่เคยได้ร่วมกระบวนการได้มาของกุ้งเคย
 
กุ้งเคย เป็นกุ้งขนาดเล็กมากถึงมากที่สุด แทบจะมองไม่เห็นตัว เห็นแต่ตาสีดำๆ
 
จ๊ะเซียะบอกว่า “กุ้งจะอยู่ตามแนวป่าชายเลน มีป่าชายเลนก็มีกุ้ง ยิ่งช่วงหน้าฝนจะได้กุ้งเยอะ”
 
เห็นจะเป็นจริงอย่างที่จ๊ะเซียะบอก แนวป่าชายเลนที่ขนานไปตามแนวลำคลองนั้นค่อนข้างสมบูรณ์ ลำต้นอวบใหญ่เหยียดตรงใบสีเขียวเข้ม
 
ลองถามจ๊ะเซียะเล่นๆ ว่า “ถ้าป่าชายเลนเหลือนิดเดียวหรือมีใครสักคนมาลักลอบตัดไม้ไป จะเป็นอย่างไรบ้างหนอ”
 
จ๊ะเซียะหัวเราะและตอบแบบไม่ต้องคิด “ก็ไม่มีเคย” (เคย คือกุ้งเคย)
 
เมื่อก่อนรู้เพียงแค่ ...คุณค่าของป่าชายเลนนั้นนำไม้มาเผาเป็นถ่านคุณภาพดี แต่แท้ที่จริงป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของชายฝั่ง และมีค่ามากกว่าเป็น “ถ่าน”
 
แม้เช้าวันนั้นจะได้กุ้งเคยเพียงแค่ 1 กิโลกรัม จ๊ะเซียะบอกว่า ก็ไม่เป็นไร คิดเสียว่ามาแจวเรือเล่นให้สบายใจ
 
...เพราะตราบใดที่ป่าชายเลนยังอยู่ วันพรุ่งนี้ ก็ต้องได้ “เคย” แน่นอน
แต่... “เคย” ที่ได้มาเพียงน้อยนิดจะนำกลับไปทำอะไรดี??? …
 
(โปรดติดตามตอนที่ 2)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net