Skip to main content
sharethis

ถึงเวลาต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับสุขภาพและสิทธิมนุษยชน

คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) มาตราที่ 24 ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานความเป็นอยู่ที่พอเพียงเพื่อให้สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเขาและครอบครัว ซึ่งรวมทั้ง อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล และ การบริการทางสังคมที่จำเป็น และสิทธิในความมั่นคงแม้จะอยู่ในช่วงว่างงาน, เจ็บป่วย, พิการ, เป็นม่าย, ชรา หรือ ขาดซึ่งวิถีชีวิตที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเขา” 

แต่ในความเป็นจริง ขณะที่ยาไม่มีให้ผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำ แม้จะรู้ว่ากำลังทำผิดกฎหมายที่คุมขังคนเหล่านี้นานเกินความผิด รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมรัสเซียในขณะนั้นออกมาระบุว่า วัณโรคเชื้อดื้อยาไม่สามารถรักษาได้ในบริบทเช่นนี้ ฉะนั้นต้องขังคนเหล่านี้ต่อไปไม่มีกำหนด

สิทธิทางการเมืองในบริบทนี้ แม้ว่าจะถูกละเมิดอย่างตรงไปตรงมาที่สุด แต่มีแค่นักสิทธิมนุษยชนเท่านั้นที่กังวลใจ ขณะที่วงการแพทย์ไม่เคยใส่ใจที่จะเข้าไปวิเคราะห์ถึงความเกี่ยวโยงระหว่างสุขภาพของผู้ป่วยในเรือนจำกับเงื่อนไขทางสังคมที่เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

ไม่มีการปรับปรุงทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณสภาพในเรือนจำ ทำให้นักโทษทยอยตายอย่างเงียบๆ ระหว่างนั้นผู้บริหารเรือนจำก็รอเงินทุนสนับสนุนและการปรับโครงสร้าง เราสามารถชี้ว่า สิทธิมนุษยชนในจุดนี้ล้มเหลว

ในทางตรงกันข้าม ถ้าความเสี่ยงต่อการติดวัณโรค (ยังไม่ต้องพูดถึงเชื้อดื้อยา) ถูกมองว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง การรักษาก็ควรจะมีเข้าไปให้ และการใช้ยุทธศาสตร์อย่างเป็นองค์รวมในการแก้ปัญหาก็คงจะได้รับการใส่ใจมากกว่านี้

ในมาตร 27 ของคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และผลประโยชน์” ขณะที่ผู้ป่วยวัณโรคถูกรักษาด้วยยาที่ไม่ได้ผล หนทางที่เหมาะสมคือการต่อสู้เพื่อให้นักโทษรัสเซียต้องเข้าถึงยาสูตรสำรอง การบอกว่าไม่ควรรักษาด้วยยาต้านสูตรสำรองโดยดูที่ “ความคุ้มทุน” จากตัวอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงนโยบายที่ผิดพลาดแต่ยังแสดงให้เห็นถึงการละเมิดกฎหมาย

กลับไปที่ประสบการณ์ของชาวเฮติ พอล ฟาร์เมอร์ ทบทวนอย่างเศร้าๆว่า นักสิทธิมนุษยชนล้มเหลวในการประณามความไม่เป็นธรรมครั้งใหญ่ บทบาทของกองทัพ และชาติตะวันตกผู้หนุนหลัง การใช้กระบวนการยุติธรรมควรถูกนำมาใช้ เพื่อไม่ให้พวกนี้รอดจากการทำความผิด แต่ไม่เพียงพอ

อย่างที่ Pierre Bourdieu นักเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย พูดว่า เพื่อบรรเทาทุกข์ให้ผู้ที่ถูกเบียดขับ ต้องเข้าใจกลไกเพื่อที่จะแก้ปัญหามัน พูดง่ายๆก็คือ ความเข้าใจในปัญหา มันขาดหายไปในแวดวงวิชาการและนักสิทธิมนุษยชน

Michael Ignatieff กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนจึงเหมือนกลายเป็นภาษาของจักรวรรดินิยมที่อ้างเรื่องจริยธรรม จนไปลดการทำความเข้าใจอย่างจริงจัง ทำให้คนที่อยู่ในอันตราย (โลกเถื่อนๆตามความเข้าใจของคนทั่วไป) ไม่ยอมรับการเข้ามาขององค์กรนานาชาติ เช่น สหประชาชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนบางส่วน ที่ยอมประนีประนอมกับอำนาจความรุนแรง จึงไม่มีความชอบธรรม ตัวอย่างใน ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลดูวาริเยร์ของเฮติ และองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ

การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจึงควรท้าทายกับอำนาจความรุนแรง และไปไกลกว่า เรื่องการฟ้องร้องดำเนินคดี จะต้องไม่มองข้ามพลวัตรที่ถ่างช่องว่างของรายได้และความไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกัน วงการแพทย์ ทุกๆวัน คุณต้องมุ่งมั่นกับการขจัดปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชากร คือ ให้การรักษา ส่วนนักวิจัยและนักกิจกรรมต้องดูให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน แม้จะไม่มีการสนับสนุนจากรัฐก็ตาม

ในทุกกรณี ความซับซ้อนและการติดกับอยู่กับงานวิเคราะห์จะถูกขจัดไปได้ด้วยการอยู่กับคนยากจนอย่างแท้จริง เพราะจะทำให้เห็นภาพที่แท้จริง ไปมีประสบการณ์ตรงร่วมกันตามแนวทางเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย จึงเป็นการสมานฉันท์ในทางปฏิบัติ

ข้อวิจารณ์ต่อแวดวงสิทธิมนุษยชนอีกประการหนึ่ง คือ การขาดความเชื่อมโยงระหว่างการวิเคราะห์และยุทธศาสตร์ นี่ควรผลักดันให้เป็นวาระเพื่อความยุติธรรม

Aryeh Neier อดีตผู้อำนวยการ Human Rights Watch สรุปขั้นตอนการทำวิจัยว่า “ใครทำอะไร ต่อใคร เมื่อไร” แต่คุณหมอพอล ฟาร์เมอร์ มองว่า ควรอยู่ที่คำถามอีกลักษณะหนึ่ง คือ “อะไรที่ถูกทำไปแล้ว” “อะไรที่ต้องทำบ้าง?”   ยิ่งไปกว่านั้น คำถามว่า ต่อใคร เมื่อไร มีผลน้อยมากต่อคนอีกเป็นล้านที่ต้องเผชิญชะตากรรมอยู่

คุณหมอพอล ฟาร์เมอร์ เรียกร้องวาระที่ไปไกลกว่าการวิเคราะห์ และสร้างยุทธศาสตร์ที่กว้างกว่าประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยสิทธิการเข้าถึงการรักษาจะต้องเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิดไม่ได้เช่นเดียวกับสิทธิพื้นฐานอื่นๆ “เพื่อที่เราจะไม่ได้ศึกษาแค่การละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เราจะต้องไม่ล้มเหลวที่จะรักษามัน”

ในมุมมองเช่นนี้ แพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขจึงมีอำนาจที่ยิ่งใหญ่ เพราะมีความสำคัญกับคนไข้ และยังคงไม่ค่อยถูกสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต่างจากทนายความที่เหมือนจะเข้าไปขวางงานของพวกเขา ดังนั้น ในการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของหมอและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จึงควรถือธงนำเพื่อที่จะหยุดยั้งความรุนแรงเหล่านี้

คุณหมอพอล ฟาร์เมอร์ จบลงที่ข้อเสนอแนะ 6 ประการเพื่อสนับสนุนความพยายามที่มุ่งมั่นของนักสิทธิมนุษยชนและวงการแพทย์ในการแก้ปัญหาให้ประชาชนผู้ทุกข์ทน

1 ทำให้เรื่องสุขภาพและการรักษาเป็นแกนกลางของวาระ การต่อสู้กับความทุกข์ยากของมนุษย์เป็นเรื่องที่โต้แย้งไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่มากขึ้นคือ ต้องพาบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้องมากๆในกระบวนการนี้

2 ทำให้การรักษาพยาบาลเป็นหัวใจของวาระ การทำข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานใช้ได้ก็จริง แต่การทรมานต้องการการรักษาก่อนเป็นสำคัญ สำหรับยุทธศาสตร์ใหม่ เราต้องการการจัดกองกำลังที่รวดเร็วที่สามารถท้าทายบทบาทที่เพิ่มขึ้นของบริษัทเหนือรัฐ และเรียนรู้ที่จะลงทุนซ้ำในรัฐชาติ เพราะรัฐชาติเป็นองค์กรเดียวที่จะสามารถบังคับใช้การเคารพสิทธิมนุษยชนได้

3 สร้างวาระใหม่ ศึกษา และรวมโรคร้ายของอำนาจในรูปแบบต่างๆ เช่น ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม การเหยียดผิว ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ช่องว่างระหว่างรายได้ นี่ต้องการความเชื่อมโยงในหลักการที่แตกต่างออกไป และการศึกษาวิจัยแบบใหม่ๆ

4 วางภาพการศึกษาแนวใหม่ ต้องให้สาธารณชนในวงกว้างขึ้นได้เรียนรู้ โดยเฉพาะสาธารณชนในท้องถิ่น ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์ที่เชื่อมกับสิทธิมนุษยชน

5 เป็นอิสระจาก รัฐและข้าราชการที่มีอำนาจ

6 มีทุนและทรัพยากรมากพอสำหรับเรื่องสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชน การเชื่อมงานวิจัยกับการบริการต้องใช้หลักปฏิบัติมากซึ่งองค์กรอิสระไม่มากนักที่สามารถทำได้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยควรเป็นแกนนำ อันที่จริงควรพยายามเลี่ยงรัฐ แต่ควรใช้เป็นแผนสำรองเมื่อต้องใช้สู้กับบริษัทข้ามชาติ

รายงานชุด ‘Power & Health’

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net