Skip to main content
sharethis

ในโลกที่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจรุดหน้าอย่างมาก ทำให้ความเข้าใจของคนทั่วไปยังเชื่อว่า โลกจะสามารถเอาชนะความยากจน หรืออย่างน้อยก็น่าจะยกระดับสาธารณสุขที่ย่ำแย่ให้ดีขึ้นได้ แต่นั่นเป็นเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อที่ยังดูห่างไกลจากความเป็นจริง ในขณะที่คนจนไม่ว่าอยู่มุมไหนของโลกยากจนลง สถานการณ์สาธารณสุขที่หวังนวัตกรรมใหม่ๆมาช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และย่านคนจนในประเทศพัฒนาแล้วกลับเสื่อมถอยในระดับที่เลวร้ายกว่าเดิม ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากเอชไอวี/เอดส์ และโรคติดเชื้อบังเกิดใหม่อื่นๆ รวมถึงโรคไม่ติดต่อที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น

25 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอัตราเร่งสูง ชั่วเวลาเพียง ๒๕ ปี คอมพิวเตอร์พีซีก็ถือกำเนิดขึ้น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ พันธุวิศวกรรมเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป  ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้รับการเกื้อหนุนจากการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเตอร์เนทนับเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่จะนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพมนุษย์ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกภายใต้การนำขององค์กรโลกบาลต่างๆ โดยเฉพาะ คู่แฝดสถาบันแบรดตัน วูด อย่างธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ก็มุ่งเน้นปรัชญาเสรีนิยมใหม่ ที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า "ตลาด" จะเป็นตัวผลักดันทุกอย่างทั้งการแก้ปัญหา และความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงของโลกกลับสะท้อนภาพที่ต่างออกไป

การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มของโรค

ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจของโลกและเทคโนโลยีต่างๆ เราก็พบว่ามีการระบาดของเอชไอวี/เอดส์เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งผสมโรงด้วยการกลับมาใหม่ของวัณโรค และโรคมาลาเรีย ในประเทศกำลังพัฒนาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีตัวชี้วัดหลายตัวที่แสดงผลกระทบของแนวโน้มเหล่านี้ เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อ อัตราการระบาด แต่ก็ไม่มีตัวชี้วัดใดที่เห็นได้ชัดเท่าอายุของประชาชนในประเทศที่ได้รับผลกระทบลดต่ำลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศต่างๆในแอฟริกาและยุโรปตะวันออกที่อัตราตายในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น อัตราการตายในช่วงอายุระหว่าง 15 ถึง 60 ปีในแอฟริกาก็ถีบตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1990 ทั้งเพศชายและเพศหญิง ส่วนใหญ่เนื่องมาจากเอชไอวี/เอดส์ ขณะที่ส่วนอื่นๆของโลก (ยกเว้นยุโรปตะวันออก) นั้น อัตราตายยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ

ทั้งๆที่ โรคเหล่านี้ เป็นโรคที่สามารถรักษาหายได้ แต่จากตัวเลขในปี 2004 มีผู้ติดเชื้อ 40 ล้านคนทั่วโลก และตายมากกว่า 3 ล้านคนต่อปี และดูเหมือนโลกไม่มีปัญญาหยุดยั้งตัวเลขนี้  ความก้าวหน้าในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของวัณโรคก็แทบจะไม่ดีไปกว่ากัน ถึงแม้ว่าจะกำลังดำเนินการอย่างกว้างขวางในแอฟริกาเหนือ เอเชียตะวันตก ละตินอเมริกาและแถบคาริบเบียน แต่ก็ยังมีผู้คนล้มตายด้วยวัณโรคถึงปีละ 2 ล้านคน หลายคนเป็นผลมาจากการติดเชื้อฉวยโอกาสเนื่องจากมีเชื้อเอชไอวี  สำหรับมาลาเรียนั้น หนทางวิบากยังอีกยาวไกลที่จะบรรลุเป้าหมายในการจัดการกับปัญหา ท่ามกลางการระบาดของเชื้อดื้อยาและปัจจัยอื่นๆ

เราเรียกโรคกลุ่มนี้ว่า โรคของความจน (เช่น โรคติดต่อ, โรคที่เกี่ยวกับแม่, โรคที่เกิดขณะคลอด และโรคทางโภชนาการ) มีอยู่มากกว่าร้อยละ 50 ของภาระโรคในประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วถึงเกือบสิบเท่า แต่จากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก ชี้ว่า ภาระโรคในปี 2015 คนจนจะต้องผจญกับโรคที่ไม่ติดต่อทับถมใส่บ่าลงไปอีก

ในทุกๆปี จะมีแม่ที่ต้องเสียชีวิต 529,000 ราย และมีทารกคลอดเสียชีวิตทันทีไม่น้อยกว่า 3.3 ล้านราย อีก 4 ล้านรายตายภายใน 28 ชั่วโมงหลังคลอด และอีก 6.6 ล้านรายตายก่อนครบรอบวันเกิด 5 ขวบ

ในปัจจุบัน คนไข้มาลาเรียร้อยละ 58 อยู่ในประเทศที่ยากจนที่สุดที่คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วนแล้ว มากกว่าโรคอื่นๆที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา และในกลุ่มคนจนนั้น โรคยอดฮิตก็คือ โรคเด็กและโรคในหญิงตั้งครรภ์

ในขณะที่ ไวรัสโรต้า (Rotavirus) เป็นสาเหตุของโรคท้องเสียธรรมดาที่สุดในเด็กทั่วโลก แต่ร้อยละ 82 ของเด็กที่ตายด้วยไวรัสโรต้าทั้งหมดอยู่ในกลุ่มประเทศยากจนที่สุดในโลก  ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 80 ของคนไข้มะเร็งปากมดลูกอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในกลุ่มประเทศเหล่านี้นั้น มะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงตายมากที่สุดในบรรดามะเร็งทั้งหมด แต่มีการประมาณการว่า มีผู้หญิงเพียงร้อยละ 5 ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้นที่ได้รับการตรวจคัดกรองค้นหาเนื้องอกปากมดลูก( Cervical dysphasia) เมื่อเทียบกับผู้หญิงในประเทศพัฒนาแล้วที่ได้รับการตรวจคัดกรองถึงร้อยละ 40-50

สภาพความแตกต่างที่เป็นอยู่มีลักษณะที่ใกล้เคียงเมื่อดูในประเทศที่ร่ำรวยมากๆ ก็ยังมีกลุ่มคนที่มีสภาพย่ำแย่กว่าคนอื่นๆอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ความแตกต่างระหว่าง ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันและชาวอเมริกันเชื้อสายสเปน หรือที่เรียกว่า ฮิสปานิค เมื่อเทียบกับชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรป หรือความแตกต่างระหว่างคนผิวขาว และชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย

แสดงว่า ไม่มีข้อสงสัยเลย ว่ามีองค์ความรู้ด้านวิชาการที่สามารถใช้แก้ปัญหาสาธารณสุขเหล่านี้ได้ เพราะมีคนบางกลุ่มที่ได้รับการรักษา แล้วปัญหาคืออะไร ทำไมโรคจึงยังคงระบาดในคนบางกลุ่ม

 

เรียบเรียงจาก

  1. Infections and Inequality: The Modern Plagues โดย Paul Farmer, 1999.
  2. Pathologies of Power: Health, Human Rights, and the New War on Poor โดย Paul Farmer, 2005.
  3. Public Health Innovation and Intellectual Property Right โดย คณะกรรมาธิการนวัตกรรมด้านทรัพย์สินทางปัญญา และการสาธารณสุข ของ องค์การอนามัยโลก, เมษายน 2006
  4. 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าว, นิตยสาร a day weekly ฉบับที่ 23, 22-28 ตุลาคม 2547

รายงานชุด ‘Power & Health’

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net