Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มีเรื่องเล่าแนวตลกทางชนชั้นและชาติพันธุ์ที่ขำไม่ค่อยออก และน่าพิจารณาอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง เรื่องมีว่า มีคุณลุงคนหนึ่งไม่ค่อยสบายเลยไปหาหมอ หมอก็ตรวจอาการแล้วก็พอจะเข้าใจได้ทั้งจากสรีระที่ปรากฎของคุณลุงและจากการตรวจตามหลักวิชาแพทย์ ว่าอาการแบบนี้คืออาการที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบตามหลักโภชนาการ หมอจึงแนะนำคุณลุงว่า “ลุงต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่นะครับ แล้วลุงจะแข็งแรงขึ้นเอง”

คุณลุงหายไป 2 วัน แล้วกลับมาหาคุณหมอใหม่พร้อมกับคำพูดแบบยอมจำนนว่า “หมอครับ ลุงกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ไม่ไหวหรอก วันนึงคนเรากินข้าวแค่ 3 มื้อ ตอนเช้าลุงไปกินที่บ้านหมู่ 1 ตอนกลางวันกินที่บ้านหมู่
2 ตอนเย็นกินที่บ้านหมู่ 3 แล้วที่หมู่ 4 หมู่ 5 ลุงจะไปกินตอนไหน แล้วมันก็ไกลจากหมู่ 2 ที่ลุงอาศัยอยู่ด้วย”
 
อย่างนี้เราจะเข้าใจว่ายังไง ภาษาที่หมอพูด ไม่ได้แตกต่างจากภาษาที่ลุงพูดและเคยฟังมาทั้งชีวิต แต่ความหมายที่หมอพูดถึง มันแตกต่างจากความหมายที่ลุงรับรู้โดยสิ้นเชิง
 
เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ แต่มันเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรทำให้เราเข้าใจไม่เหมือนกัน จนถึงอาจไม่เข้าใจกัน ทั้งๆ ที่พูดบนพื้นฐานของเรื่องราวเดียวกัน ในภาษาเดียวกัน
 
ภาษาเป็นตัวกลางการสื่อสาร แต่วัฒนธรรมเป็นตัวกำกับความคิดและอุดมการณ์ของบุคคล แต่หากพูดตามแนวภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง การคิด-เราคิดบนพื้นฐานของภาษา นั่นหมายความว่า ภาษาก็ยังทำหน้าที่กำกับอุดมการณ์ความคิดไปด้วยในคราวเดียวกัน มันไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ตัวกลางอย่างเดียวเท่านั้น
 
ภาษาที่หมอใช้ กับภาษาที่ลุงใช้เป็นภาษาเดียวกัน แต่วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของหมอกับของลุง ไม่ใช่วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมเดียวกัน เมื่อภาษาที่หมอใช้เป็นภาษาที่มีกรอบคิดของความหมายภายใต้วิถีชีวิตแบบเมืองที่ไม่
ผูกพันอยู่กับ “หมู่” ที่เป็นหมู่บ้าน และคุณลุงก็ใช้ภาษาที่มีกรอบคิดทางวัฒนธรรมของความหมายภายใต้ชีวิตแบบบ้าน ๆ ที่ไม่สัมพันธ์อยู่กับหมวดหมู่ของอาหาร ภาษาเดียวกัน แต่กรอบคิดของความหมายทางวัฒนธรรม
ที่ต่างกัน จึงไม่ทำให้เข้าใจกัน และมีอาการขำเกิดขึ้น หากแต่หลายปรากฎการณ์ความไม่เข้าใจกันไม่ก่อให้เกิดอาการขำ แต่นำไปสู่ความรุนแรง!!
 
ความแตกต่างทางความคิดเป็นสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไป และนักวิชาการหลายท่านก็มองเห็นประโยชน์ของความแตกต่างทางความคิดและเสนอว่า มันอาจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวต้องยืนอยู่บนฐานคติปลายทางร่วมกันบางชุด และในบริบททางสังคมบางแบบที่ยืนอยู่บนฐานของข้อมูลและการตัดสินใจอย่างรอบด้าน และไม่อคติ
 
เมื่อความแตกต่างทางความคิดเคลื่อนย้ายยกระดับมาเป็นความแตกต่างทางอุดมการณ์ ความแตกต่างเหล่านั้นก็ยากที่จะประสานหรือพูดคุย เพราะถึงแม้จะคุยอยู่บนเรื่องเดียวกัน การกระทำแบบเดียวกัน ความ
รุนแรงใกล้เคียงกัน เรียกร้องแสดงตนด้วยวิธีการเดียวกันก็ตาม ก็ไม่มีทางที่จะเห็นหรือเข้าใจตรงกันได้ เพราะในระดับอุดมการณ์มันไม่อนุญาตให้มีการประนีประนอมยอมความกับความเป็นอื่น ซ้ำร้ายมันกลับบังคับให้
พวกเขาคิดว่าสิ่งที่พวกเขาทำไปนั้น “ถูกต้อง”
 
เราใช้ภาษาเป็นตัวแทน “ความจริง” ของโลกภายนอก แต่ถ้าโลกภายนอกที่เราเข้าใจมันเป็นคนละเรื่องกัน ภาษาเดียวกันที่เราใช้ก็ไม่อาจแทนความจริงให้เข้าใจกันได้ เช่น “หมู่” ของคุณหมอกับของคุณลุง
 
การอยู่ในโลกแห่ง “สี” ที่แตกต่างกันถือเป็นการรับรู้ความจริงของโลกที่เป็นโลก(ทัศน์)ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเพื่อเสพกันเอง ทั้งการผูกเรื่อง สร้างเรื่อง การตีความพฤติกรรมความรุนแรงในเชิงบวก (ช่วยชาติประชาธิปไตย) การกระทำและการอธิบายของพวกเขาจึงไม่สามารถทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ เพราะความจริงที่คนทั่วไปรับรู้ เป็นความจริงคนละเรื่องอันเกิดจากโลกทัศน์คนละชุดกัน คนทั่วไปเข้าใจโลกความจริงตามที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ โดยไม่ได้ปรุงแต่งเพื่อการส่งผ่านให้สาวกรับรู้ในลักษณะหวังผลแบบที่คนขั้วต่างๆ ปฏิบัติกันอยู่ คนทั่วไปมองภาพบุคคลว่ามีอยู่ 2 ด้านทั้งด้านบวกและด้านลบ และแบ่งแยกพฤติกรรมพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป แต่คนที่อยู่ในอำนาจแห่ง “สี” ที่ต่างกันต่างแย่งกันให้ภาพบุคคลบางคนเพียงด้านเดียว คือบวกอย่างเดียวหรือลบอย่างเดียว ซึ่งมัน “เหนือจริง”
 
การนำเสนอความคิดที่เป็น “ตัวแทนความจริง” อย่างเหมาะสมจึงหาได้ยากยิ่งในภาวการณ์ขณะนี้
 
ความแตกต่างทางความคิดของบุคคล กลุ่มคน ที่เป็นอยู่จึงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ เพียงแค่การได้รับข้อมูล การวิเคราะห์จากประสบการณ์ หรือความเชื่อที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่มันยังห้อมล้อมไปด้วยสำนึกทางชนชั้น อคติทางชาติพันธุ์ การกำหนดความเป็นกลุ่ม/พวก และผลประโยชน์ เมื่อความแตกต่างทางความคิดทำงานโดยมีปัจจัยประกอบร่วมหลายอย่าง ผลของการตัดสินใจเชื่อ ยอมรับหรือปฏิเสธ จึงเป็นการตัดสินใจที่ไม่บริสุทธิ์ และมีอคติที่แวดล้อมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก
 
เราจึงพบว่า การตัดสินใจแบ่งข้างแยกขั้วที่เกิดขึ้น ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ เพราะไม่ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ต้องนำมาแสดงต่อกัน แต่ตัดสินใจบนพื้นฐานของอุดมการณ์ความเป็นพวกซึ่งมันอุดมไปด้วยอคติของการไม่ยอมรับความถูกผิด สิ่งที่พบได้บ่อยคือ เมื่อกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามของอุดมการณ์เสนอสิ่งใดมา มักจะไม่เป็นที่ยอมรับและมีปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรงจากอีกกลุ่มหนึ่ง แต่หากข้อมูลชุดเดียวกันการกระทำอย่างเดียวกันแต่เปลี่ยนมาเสนอจากฝ่ายเดียวกัน กลับได้รับการยอมรับอย่างเปิดเผย ตัวอย่างมีให้เห็นอย่างดาษดื่นทั้งท้องถนน และรัฐสภา
 
เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมืดบอดของความคิดอันเกิดขึ้นจากการครอบงำของอุดมการณ์ และการสร้างจิตสำนึกที่ผิดพลาดเข้าครอบครองความเป็นกลุ่มจนไม่สามารถเปิดโอกาสให้มีการแตกแถวทางความคิด อันจะนำไปสู่ความสร้างสรรค์ หรือสมานฉันท์ได้
 
การสร้างกรงขังทางความคิดให้กับกลุ่มอาจทำให้สมาชิกมีความรู้สึกถึงความเป็นพวกและมีพื้นที่ที่มั่นคงก็จริง แต่มันก็ทำให้เราต้องแลกกับความ “แตกแยก และ ไม่เข้าใจกัน” เราจะพัฒนาสังคมของเราไปในทิศทางนั้นหรือ?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net