Skip to main content
sharethis

เครือข่ายวิถีชนคนพอเพียง ได้มีการจัดค่ายเยาวชนกับการเรียนรู้ฐานทรัพยากรธรรมชาติผ่านงานวรรณกรรมท้องถิ่น ณ หน่วยจัดการต้นน้ำดอยผาแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำได้เรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานของเยาวชนในรูปแบบต่างๆได้ เช่น ความเรียง บทกวี หรือนิทาน

 
 

 

 

 
  
เมื่อวันที่ 29-31 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา เครือข่ายวิถีชนคนพอเพียง ได้มีการจัดค่ายเยาวชนกับการเรียนรู้ฐานทรัพยากรธรรมชาติผ่านงานวรรณกรรมท้องถิ่น ณ หน่วยจัดการต้นน้ำดอยผาแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีเยาวชนลุ่มน้ำแม่ป๋ามเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จำนวน 30 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกองทุนไทย ธนาคารไทยพานิชย์ มูลนิธิสยามกัมมาจล และหน่วยจัดการต้นน้ำดอยผาแดง                           
วัตถุประสงค์ของการจัดค่ายเยาวชนในครั้งนี้ เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำได้เรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานของเยาวชนในรูปแบบต่างๆได้ เช่น ความเรียง บทกวี หรือนิทาน โดยมีนักคิดนักเขียนท้องถิ่น ‘องอาจ เดชา’ หรือนามปากกา ‘ภู เชียงดาว’ นักเขียนรางวัลงานเขียนสารคดีคนค้นคน และ ‘สุวิชานนท์ รัตนภิมล’ หรือนามปากกา ‘หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง’ นักเขียนรางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งมีผลงานออกมามากมาย ได้มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ความเข้าใจ ผ่านประสบการณ์บนถนนนักเขียน เพื่อให้เป็นการกระตุ้นให้เยาวชนได้เกิดแรงบันดาลใจในงานเขียน
สุวิชานนท์ รัตนภิมล บอกกับเยาวชนว่า เรื่องบันดาลใจที่ทำให้ต้องมาเป็นคนเขียนหนังสือนั้น เริ่มต้นมาจากการอ่าน จนอยากจะเขียน ซึ่งคนรักการเขียน เขามักเขียนไว้ข้างในก่อนแล้ว จากเฝ้าสังเกต คิดกับสิ่งที่สงสัย อยากรู้ เห็นความงาม ประทับใจ รู้สึกรัก สะเทือนใจและเขียนไว้ข้างใน ตัวหนังสือจะอยู่ในใจ พอวันหนึ่งอยากจะเขียน สิ่งที่เราสังเกตมานาน ตอบความสงสัยมานานก็จะกลายมาเป็นความคิด ความเห็น ความประทับใจผ่านตัวหนังสือ
 
“แต่กว่าจะมาเป็นตัวหนังสือนั้น ต้องผ่านการฝึกฝนด้วย หมายถึงต้องหมั่นฝึกเขียน เขียนในสิ่งที่เรารู้สึกและอยากจะบอก เขียนไปเถอะ อะไรก็ได้ เขียนเยอะจะได้ความชำนาญ อย่างหนึ่งของงานเขียน คือความสุขของผู้เขียน ได้รับก่อนผู้อ่านอย่างแน่นอน ดังนั้น ถ้าเราเขียน เขียนไว้อ่านเองหรือเขียนให้เพื่อนอ่าน ความสุขในใจเราจะได้รับมาก่อนเสมอ แต่ถ้าอยากมีชื่อเสียงในงานเขียน ก็ต้องเขียน ไม่มีอะไรมากไปกว่าเขียน เชื่อเถอะว่า เรื่องของเรานี่แหละ แปลกกว่าเรื่องคนอื่นอย่างแน่นอน ไม่เหมือนใครอย่างแน่นอน เพราะคนอื่นจะเหมือนเราได้อย่างไร เรื่องที่เขียน ก็คือเรื่องในตัวเรา ถ้าเริ่มได้อย่างนี้ งานเขียนก็ไม่ยาก เรื่องที่เขียนมีเยอะแยะ แล้วเราค่อยรู้จักเขียนถึงคนอื่นต่อไป”
 
สุวิชานนท์ บอกอีกว่า งานเขียนน่าจะเปิดสอนวิชาหู วิชาตา วิชาจมูก วิชาลิ้น วิชาใจ วิชาสัมผัส ซึ่งเป็นสัญชาตญาณพื้นๆ แต่จำเป็นมากในโลกงานเขียน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเขียน คนเขียนหนังสือ เพราะเป็นการฝึกเรียนรู้จากข้างใน
 
“ทำอย่างไรให้วิชาจมูกที่ดมกลิ่น สัมผัสโลกได้ทั้งมวล วิชาหูได้ฟังเสียงแล้วถ่ายทอดออกมา วิชาอื่นๆก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น แรงบันดาลใจในงานเขียน จึงเริ่มต้นด้วยความใฝ่รู้มาจากตัวเรา คนอื่นเป็นแรงเสริมเข้ามาเท่านั้น ถ้าเรารักทำงานเขียน แรงบันดาลใจจะมาเอง”
 
ในขณะที่ ภู เชียงดาว บอกกับน้องๆ เยาวชน ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่คนเราจะต้องหมั่นใช้สมองซีกขวาให้มากๆ เข้าไว้ เพราะอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ก็เคยบอกเอาไว้ว่า ที่สุดแล้ว จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ โดยเฉพาะน้องเยาวชนรุ่นนี้ วัยนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่กำลังเติบโตและก้าวต่อไปข้างหน้า หากทุกคนมัวแต่ใช้สมองซีกซ้าย มุ่งไปที่เทคโนโลยี แสวงหาวัตถุ หลงไปกับระบบทุนนิยม ซึ่งที่สุดแล้ว มันจะทำให้เรากลายเป็นคนโลภ เห็นแก่ตัว แล้วก็ไปทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
 
“ล่าสุด เพิ่งอ่านหนังสือของ นพ.ประสาน ต่างใจ ชื่อหนังสือ ‘เมื่อโลกนี้ไม่ต้องการมนุษย์อีกแล้ว’ ในตอนหนึ่ง ผู้เขียนบอกว่า ถ้าอยากรู้อนาคตของโลกอีกสิบปียี่สิบปี ก็ขอให้ดูเด็กเยาวชนรุ่นนี้ ว่าจะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคมไปในทางใด ดีหรือร้าย เพราะฉะนั้น จึงอยากให้น้องเยาวชนหันมาใส่ใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันให้มากยิ่งขึ้น และถ้าเก็บบันทึกเรื่องราวออกมาเป็นงานเขียนก็ยิ่งดีและจะได้นำเผยแพร่ในวงกว้างต่อไปได้”
 
ภู เชียงดาว บอกกับน้องๆ อีกว่า จริงๆ แล้ว การเขียนหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นความเรียง นิทาน หรือบทกวี นั้น น้องๆ เยาวชนสามารถฝึกฝนเรียนรู้กันได้อยู่แล้ว เพียงแต่ให้ใช้ใจสัมผัส มองและครุ่นคิด แล้วลงมือเขียนออกมา ทั้งนี้ ได้หยิบยกตัวอย่างงานเขียนนิทานเยาวชนและความเรียงของเยาวชนปว่าเก่อญอจากบ้านแม่ป่าเส้า ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่ได้รางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทความเรียงเยาวชน เมื่อปี 2551 มาให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้ศึกษาวิธีการเขียนด้วย
           
หลังจากเยาวชนได้เรียนรู้เทคนิควิธีการต่างๆ เช่น การหลับตา การฟัง การสัมผัส การสังเกต และการเรียนรู้จากผลงานของนักเขียน โดยมีงานเขียนที่รวมเล่มจำนวนหนึ่ง วางตรงมุมอ่านหนังสือ ไว้ให้เยาวชนได้ศึกษาด้วยตนเอง และหลังจากนั้น วิทยากรได้พาเยาวชนไปศึกษาระบบนิเวศต้นน้ำและเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ โดยหัวใจสำคัญเยาวชนจะต้องมีการจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ และถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้เรียนรู้ออกมาเป็นงานเขียนต่อไป
 
ทั้งนี้ ในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศต้นน้ำนั้น ได้แบ่งออกเป็น 5 ฐาน โดยมีวิทยากรจากหน่วยต้นน้ำดอยผาแดงและวิทยากรชาวบ้านผู้รู้ในพื้นที่ ได้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ฐานแรกจะเป็นเรื่องฝายต้นน้ำ ฐานหญ้าแฝก ฐานนักสืบสายน้ำ ฐานศิลปะเพื่อการอนุรักษ์ และฐานสุดท้ายคือความพออยู่พอกิน ระหว่างทางเยาวชนได้มีการจดบันทึกเรื่องราวที่ได้ผ่านพบมา
 
หลังจากการเดินศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศต้นน้ำ ได้ให้เยาวชนได้เรียบเรียงงานเขียนของตนเอง ก่อนที่จะส่งต่อให้ทีมพี่เลี้ยงนักเขียนได้แสดงความคิดเห็นและให้คำปรึกษาแนวทางการเขียนต่อไป โดยผลงานที่ผ่านนักเขียนจะถูกนำไปทำเป็นหนังสือรวบรวมผลงานของเยาวชนไว้เพื่อเป็นการเผยแพร่ต่อไปในวงกว้าง
           
ในวันสุดท้ายของกิจกรรม ได้มีวงคุยกันถึงเรื่อง “บทบาทของเยาวชนในการมีส่วนร่วมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำ” เป็นการให้เยาวชนได้มีการแสดงความคิดเห็นการมีส่วนร่วมในการรักษาป่าต้นน้ำ โดยมี ‘ภาคภูมิ โปธา’ แกนนำเยาวชน เป็นผู้นำกระบวนการเชื่อมร้อยให้เกิดความร่วมมือของเยาวชน ในรูปแบบเครือข่ายเยาวชนฯ และได้ถือว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นของเครือข่ายเยาวชนต้นน้ำแม่ป๋าม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนกลุ่มเยาวชนของแต่ละหมู่บ้าน ในการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำแม่ป๋ามขึ้น โดยให้เยาวชนได้คิดและเสนอโครงการที่อยากจะทำ เป็นการสร้างบทบาทให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยเยาวชนเอง
 
“ทำอย่างไรถึงจะให้เยาวชนได้เป็นผู้กำหนดหนทางของตัวเอง ให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วม คิดและนำเสนอกิจกรรมด้วยตัวของเขาเอง” แกนนำเยาวชน กล่าวทิ้งท้าย
                                                                       
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net