Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อ วันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานประชุมวิชาการเรื่อง “ถอดมายาคติ สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ : กรณีบังคับทำหมันผู้หญิงพิการ” ซึ่งในตอนหนึ่งของการประชุม นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย หัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้กล่าวถึงรายงานขององค์การอนามัยโลกว่า “ปัจจุบันมีหญิงพิการทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคน หรือประมาณ 10% ของ ผู้หญิงทั่วโลก หญิงพิการในประเทศกำลังพัฒนาได้ถูกเลือกปฏิบัติเป็น 3 เท่าของหญิงพิการในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดย 2 ใน 3 คน จะเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศและละเมิดสิทธิ ซึ่ง น้อยรายที่ปกป้องสิทธิตัวเองได้ เพราะขาดความรู้ในกระบวนการยุติธรรม และผู้กระทำส่วนใหญ่คือคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน ส่งผลให้เกิดปัญหาการถูกบังคับทำแท้งตามมา ซึ่งบางครั้งผู้ที่แนะนำการทำแท้งคือเจ้าหน้าที่รัฐ” (คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2552)
            จาก สภาพของโลกปัจจุบันที่หลายพื้นที่ได้ก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่และทุนนิยมส่ง ผลให้ การทำงาน และประสิทธิภาพในการทำงาน กลายมาเป็นสิ่งที่สังคมหลายแห่งล้วนให้คุณค่า เนื่องมาความเชื่อที่ว่าหากคนทำงานมีประสิทธิภาพก็จะนำมาสู่ผลของงานหรือ ผลผลิตที่ดีและคุ้มค่ากับทุนและเวลาที่เสียไป โลกสมัยใหม่จึงเป็นโลกที่เสรีและสะดวกสบายสำหรับคนไม่พิการ แต่สำหรับคนพิการแล้ว โลกสมัยใหม่และทุนนิยมกลับยิ่งไปเพิ่มให้เกิดกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) ผ่านกลไกการผลิตแบบสมัยใหม่ เทคโนโลยีและความรู้สมัยใหม่
            ใน ทางเดียวกันก็เป็นเรื่องยากปฏิเสธอีกเช่นเดียวกันว่าการทำงานที่มี ประสิทธิภาพนั้นเป็นสิ่งที่เชื่อกันว่าเชื่อมโยงกับสภาพของร่างกายที่ “สมบูรณ์” “ปกติ” และมีอวัยวะที่ครบถ้วน ซึ่งหากมองในแง่นี้แล้วบรรดาคนพิการทั้งหลายดูจะถูกกีดกันให้พ้นจากขอบเขต ของ “การทำงานที่มีประสิทธิภาพ” คนพิการจึงเป็นผู้ที่ “ไม่ปกติ” ตามกรอบคิดของโลกทุนนิยมสมัยใหม่ที่ต้องถูกกีดกันออกจากพื้นที่ “ปกติ” ของคนทั่วไป และเป็น “ปัญหา” ของสังคมแบบหนึ่งที่รัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ผ่านการจัด พื้นที่พิเศษต่างๆ
            นอกจาก จะถูกมองว่าเป็นคนไม่ปกติตามมาตรฐานทางร่างกายแล้ว คนพิการยังถูกมองว่ามีชีวิตที่ไม่เหมือนกับคนปกติ โดยเฉพาะในเรื่องของความสัมพันธ์ทางเพศ ความรัก และชีวิตคู่ ที่สังคมไม่อยากให้คนพิการยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางเพศเพราะเกรงว่าจะมีภาระ ตามมาหลังจากนั้น สังคมจึงจัดวางให้คนพิการเป็นคน ที่ไม่มีเพศ ไม่มีความรัก ไม่มีความสามารถในการมีความสัมพันธ์ทางเพศ และไม่สามารถใช้ชีวิตคู่แบบคนปกติได้ หรือถ้ามีชีวิตคู่ได้จริงก็จะไม่ยั่งยืน รวมถึงการมองว่าคนพิการไม่ควรมีลูกเพราะลูกอาจมีความพิการเช่นเดียวกับ พ่อ/แม่ หรือหากมีแล้วก็จะไม่สามารถเลี้ยงดูเองได้และจะกลายเป็นปัญหาของสังคมตามมา ทั้งที่ในความเป็นจริงคนพิการจำนวนมากก็สามารถทำงานในหลายประเภทได้มี ประสิทธิภาพเท่าเทียมหรือดีกว่าคนปกติ และสามารถแต่งงานใช้ชีวิตคู่มีลูกได้เฉกเช่นคนปกติโดยทั่วไป
            “คน พิการ” จึงถูกผลักให้ไปอยู่ที่ “ชายขอบ” ของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และที่ยิ่งไปกว่านั้นภายใต้สังคมทุนนิยมสมัยใหม่ที่ส่วนใหญ่ให้คุณค่าความ สำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หรือมีลักษณะแบบ “สังคมชายเป็นใหญ่” ก็ดูจะทำให้หญิงพิการถูกผลักไปอยู่ที่ “ชายขอบ ของ ชายขอบ” ของสังคมไปเลยทีเดียว ในแง่นี้ได้ส่งผลให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศและสิทธิทางเพศของหญิงพิการทั้ง ทางตรงและทางอ้อมตามมาดังที่สามารถพบเห็นได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ
            นอกจาก นี้การช่วยเหลือคนพิการและกรอบคิดทางการแพทย์บางด้านก็ดูเหมือนจะส่งผลให้ เกิดการล่วงละเมิดสิทธิทางเพศของหญิงพิการผ่าน “ความหวังดี” ของคนโดยรอบได้ด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากประเด็นการทำหมันหญิงพิการที่กำลังกลายเป็นประเด็นที่ถก เถียงกันในหมู่นักวิชาการ แพทย์ ครู และคนที่ทำงานกับกลุ่มคนพิการว่า “การทำหมันที่กระทำโดยแพทย์หรือได้รับคำแนะนำจากแพทย์ต่อเด็กหญิงและหญิง พิการซึ่งส่วนใหญ่ อาจจะได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง หากแต่ตัวคนพิการส่วนใหญ่กลับไม่รู้เรื่อง” นั้นเป็นกระบวนการแก้ปัญหาที่ถูกทางหรือไม่? และ ผลของความรักและความปรารถนาดีนั้นจะออกมาในทาง “ดี” หรือ “ร้าย” ต่อชีวิตของหญิงพิการ เพราะการทำหมันคนพิการส่วนใหญ่ล้วนเกิดมาจากความหวังดีและความคิดชุดหนึ่ง ของ “กลุ่มผู้รู้” บางส่วนซึ่งทำงานเกี่ยวข้องคนพิการที่แนะนำกับผู้ปกครองว่า หากทำหมันหญิงพิการตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็กจะทำให้หญิงพิการเหล่านี้ไม่ต้อง ประสบกับปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และปัญหาการดูแลเวลามีประจำเดือน ซึ่งความคิดนี้ดูเหมือนจะตั้งอยู่บนฐานคิดว่าหญิงพิการคือคนที่ “ไม่มีความสามารถ” ในการดูแลชีวิตตัวเองตามปกติได้ ตลอดจนอาจเป็น “ปัญหา” ของคนรอบข้างได้ดังนั้นจึงควรแก้ปัญหาด้วยการป้องกันแต่ต้น   
นอกจาก ความคิดการทำหมันหญิงพิการจะตั้งอยู่บนฐานคิดของความสามารถที่ไม่เท่าเทียม กันระหว่างคนปกติกับคนพิการแล้ว การกระทำดังกล่าวยังตั้งอยู่บนฐานคิดแบบ “ชายเป็นใหญ่” ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะการทำหมันส่วนใหญ่จะกระทำกับหญิงพิการมากกว่าชายพิการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ชายไม่ว่าจะพิการหรือไม่พิการก็ดูจะมีความสามารถใน การดูแลปกป้องชีวิตมากกว่าผู้หญิง
สำหรับสังคมไทยดูจะน่าตั้งคำถามอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติการ “ทำหมัน” หญิงพิการว่า ถึงที่สุดแล้วเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดจริงหรือ? เพราะการตั้งครรภ์ไม่พึ่งประสงค์เกือบทั้งหมดล้วนมาจากการถูกล่วงละเมิดทาง เพศจากคนรอบข้างในสังคม การแก้ไขปัญหานี้จึงควรมองในประเด็นความปลอดภัยทางสังคมแทนหรือไม่? รวมถึงกระบวนสอบสวนทางกฎหมายและความยุติธรรมที่ปัจจุบันนั้นแทบไม่เอื้อต่อ การให้ปากคำและความเป็นธรรมกับหญิงพิการที่ถูกละเมิด โดยเฉพาะหญิงพิการทางสติปัญญา ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนหรือไม่? อย่างไร?
            สุดท้าย ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเพศวิถีของคนพิการ การล่วงละเมิดทางเพศ และการทำหมันหญิงพิการดูจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าจะชี้ชัด “ถูก” “ผิด” ลงไปได้อย่างชัดเจน เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องแต่ละกลุ่มก็ล้วนอยู่ในเงื่อนไขและฐานคิดที่แตกต่าง กันออกไป ในแง่นี้บรรดาคนที่ทำงานเกี่ยวกับคนพิการจะทำอย่างไรให้ “ความหวังดี” ของตนเป็น “ความหวังดีที่แท้จริงและปฏิบัติการได้” ดูจะเป็นสิ่งที่น่าคิด?
 
 ตีพิมพ์ครั้งแรกใน
มุมมองบ้านสามย่าน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net