Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย นักปรัชญาชายขอบ




อาจารย์มารค ตามไท เคยพูดถึง "ประชาธิปไตยที่มีหัวใจ" เอาไว้กว่า 10 ปีมาแล้ว และผมก็จำไม่ได้แล้วว่าสาระสำคัญของ "ประชาธิปไตยที่มีหัวใจ" ตามคำอธิบายของอาจารย์มารคคืออะไรบ้าง ชื่อบทความนี้จึงเป็นเพียงการยืม "วลี" ของอาจารย์มารคมาอธิบายตามความเข้าใจของผมเอง


ตามนิยามในทางรัฐศาสตร์ "ประชาธิปไตย" หรือ democracy มีความหมายที่เป็น "ภววิสัย" ซึ่งสามารถเข้าใจตรงกันได้ในระดับที่แน่นอนหนึ่งว่า เป็นการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และใช้มติของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ในการตัดสินเลือก "ผู้แทนปวงชน" และหรือเลือกนโยบาย/แนวทางปฏิบัติต่างๆของรัฐที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม


แต่เมื่อ "ประชาธิปไตย" ถูกนำไปใช้ในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้ความหมายของประชาธิปไตยไม่ได้แน่นอนตายตัวเหมือน "2+2=4" จึงมีการพูดกันว่ามีประชาธิปไตยสากล ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ประชาธิปไตยเต็มใบ ประชาธิปไตยครึ่งใบ นอกจากนี้ประชาธิปไตยยังถูกอ้างถึงในสังคมซึ่งปกครองด้วยระบบที่ตรงกันข้าม เช่น มีประชาธิปไตยแบบประเทศเสรีนิยม ประชาธิปไตยแบบประเทศสังคมนิยม เป็นต้น


ยิ่งกว่านั้นความขัดแย้งทางการเมืองในหลายๆครั้งที่เกิดการแตกหักนองเลือดมักเป็นความขัดแย้งที่คู่ขัดแย้งต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่า ฝ่ายตนต่อสู้เพื่อรักษาหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เรียกกันว่า "ประชาธิปไตย" โดยเฉพาะความขัดแย้งของฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดงในเวลานี้ยิ่งชัดเจนว่าต่างฝ่ายต่างก็เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ทำไมคนสองสีจึงมองหน้ากันไม่ติด! (เมื่อคืนเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า พ่อของเขาไม่ได้ทานข้าวเย็นเพราะไปพูดเข้าข้างเสื้อแดงทำให้แม่ซึ่งอยู่ฝ่ายเสื้อเหลืองไม่พอใจเลยไม่ทำกับข้าวให้ทาน)


บางทีเราอาจจะต้องถามตนเองอย่างจริงจังมากขึ้นว่า ถ้าสิ่งที่เราเรียกร้องเป็นสิ่งซึ่งดีงามในตัวของมันเอง แต่ทำไมการจะได้มาซึ่งสิ่งที่ดีงามนั้นเราจึงจำเป็นต้องกระทำสิ่งที่ชั่วร้าย เช่น กระทำรุนแรงต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือแม้แต่ความรุนแรงที่นำไปสู่การนองเลือดเผาบ้านเผาเมือง (ซึ่งเกิดขึ้นในหลายๆประเทศ และเรื่องทำนองเดียวกันนี้ก็เกิดกับการต่อสู้ปกป้องสิ่งดีงามทางศาสนาด้วย)


เป็นไปได้ไหมว่า "ประชาธิปไตย" (หรือ "ประชาธิปไตยที่แท้จริง") ที่แต่ละฝ่ายเรียกร้องนั้นเป็น "ประชาธิปไตยที่ไร้หัวใจ" คือ เป็นหลักการหรือรูปแบบอะไรบางอย่างที่ดูสวยงามทว่ามีอยู่แต่ในจินตนาการ และบังเอิญว่าเราต่างไปให้คุณค่ากับ "สิ่งที่อยู่ในจินตนาการ" (เช่น ประชาธิปไตย, สังคมนิยม, เสรีภาพ, พระเจ้า ฯลฯ) เหนือคุณค่าของชีวิตมนุษย์ที่มีอยู่จริง จึงมีการพูดกันจนเป็น "สูตรสำเร็จ" ว่าการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยนั้นการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้ออาจเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องจ่าย แต่ในประวัติศาสตร์เราก็จ่ายต้นทุนเช่นนี้ไปมากแล้วทว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง (?) ก็ยังคงมีอยู่แต่ในจินตนาการเช่นเดิม


หรือว่าจินตนาการที่เราร่วมกันสร้างขึ้นผ่านการศึกษารัฐศาสตร์สมัยใหม่ทำให้ "ภาพ" ของประชาธิปไตยผิดเพี้ยนไป เนื่องจากเป็นจินตนาการที่อยู่บนฐานของการศึกษาการเมืองที่เน้นการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเชิงภววิสัย สถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองต่างๆที่สามารถถอดข้อเท็จจริงรูปธรรมออกมาได้เพื่อหาความหมายของประชาธิปไตยเชิงรูปธรรมที่คนเห็นตรงกัน หรือประชาธิปไตยที่เป็น "ภววิสัย" เช่น รูปแบบหรือกฎกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษร จึงทำให้ความหมายของการเรียกร้องประชาธิปไตย (ที่แท้?) เท่ากับการเรียกร้อง (การแก้ไข) รัฐธรรมนูญ หรือเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง เป็นต้น


ดังนั้น ประชาธิปไตยที่เราเรียกร้องต้องการจึงเป็นประชาธิปไตยที่แห้งแล้ง ไร้ชีวิตจิตใจ และจึงกลายเป็นเงื่อนไขของความรุนแรงได้เสมอ หรือกระทั่งเป็นสิ่งที่ต้องแลกด้วยต้นทุนที่สูงยิ่งคือชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนผู้บริสุทธิ์


หากย้อนกลับไปดูปรัชญาการเมืองยุคคลาสสิก จะเห็นได้ว่าประเด็นการวิเคราะห์ไม่ใช่แค่เรื่องข้อเท็จจริงเชิงภววิสัยหรือที่เป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากแต่ประเด็นหลักของการวิเคราะห์เป็นเรื่องของ "คุณค่า" (values) เช่น รัฐในอุดมคติควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร ผู้นำในอุดมคติควรมีคุณสมบัติอย่างไร ธรรมชาติอันเป็นแก่นแท้ของมนุษย์คืออะไร สิ่งที่ดีสำหรับมนุษย์คืออะไร ธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งที่ดี และรัฐที่ดีสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นต้น ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องการเมืองจึงไม่ใช่แค่เพียงการเรียนรู้ข้อเท็จจริงของเกมชิงอำนาจรัฐ การออกแบบกติกาทางการเมืองอะไรทำนองนั้น หากแต่เน้นการเรียนรู้อุดมการณ์ทางการเมือง จิตสำนึกในความเป็นพลเมืองที่ตระหนักในการใช้การเมืองเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาบ้านเมืองให้สมาชิกของรัฐอยู่ร่วมกันอย่างมีความเป็นธรรมและสันติสุข


นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยบนวิถีทางแห่งสันติวิธีที่สำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็น มหาตมะ คานธี เฮ็นรี เดวิด ธอโร มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ ล้วนแต่เป็นบุคคลที่ได้รับอิทธิพลจากการศึกษาการเมืองในเชิงอุดมคติ และสามารถแปรอุดมคติทางการเมืองมาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมทั้งในแง่ชีวิตส่วนตัวและชีวิตในทางสังคมการเมือง ดังนั้น ประชาธิปไตยที่นักต่อสู้เหล่านี้เรียกร้องจึงเป็น "ประชาธิปไตยที่มีหัวใจ" คือ เป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนจิตวิญญาณที่รักสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม ภราดรภาพ ความยุติธรรม และความเคารพต่อคุณค่าของชีวิตมนุษย์อย่างแท้จริง


ในขณะที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทยปัจจุบันกลับประสบ "วิกฤตศรัทธา" ในอุดมการณ์ประชาธิปไตย นักต่อสู้ที่อ้างประชาธิปไตยทั้งหลายนั้นล้วนแต่ถูกสังคมสงสัยว่าเขามีสปิริตของนักประชาธิปไตยหรือไม่ อุดมการณ์ประชาธิปไตยของเขาคืออะไร (นอกจากการบอกว่าเอาไม่เอาระบอบนั้นระบอบนี้) ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยของเขาน่าไว้วางใจเพียงใด ฯลฯ


และที่สำคัญประชาธิปไตยที่แต่ละฝ่ายเรียกร้องนั้นมันเป็นประชาธิปไตยที่มี "หัวใจ" ที่รู้ร้อนรู้หนาวต่อความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆที่คนชั้นกลางระดับล่างและคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ประสบอยู่อย่างยาวนานหรือไม่? เป็นประชาธิปไตยที่มีหัวใจรักความเป็นธรรมหรือไม่? เป็นประชาธิปไตยที่สามารถทลายโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรมธรรมที่ครอบงำสังคมไทยลงได้ และสามารถกำหนดโครงสร้างใหม่ที่ยุติธรรมสำหรับคนระดับล่างได้มากขึ้นแค่ไหนเพียงไร?


ถึงวันนี้สังคมไทยคงเบื่อเต็มทีกับความขัดแย้งที่เอาแต่โจมตีด่าทอกันไปมา หากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองใน พ..นี้ จะมีความหมายในเชิงเป็นขั้นตอนการพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง ก็ต่อเมื่อประวัติศาสตร์ความขัดแย้งนี้สามารถสร้าง "ประชาธิปไตยที่มีหัวใจ" หรือประชาธิปไตยที่มีจุดยืนอยู่บนอุดมการณ์แห่งการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมให้เกิดขึ้นในการตระหนักรู้และมโนสำนึกของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง


ซึ่งแน่นอนว่า ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ของทุกฝ่ายจำเป็นต้องเน้นการนำเสนอให้สังคมได้เห็นโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่ไม่เป็นธรรม และเสนอแนวทางการปรับรื้อโครงสร้างเก่า และการออกแบบโครงสร้างใหม่ที่เป็นธรรมมากกว่า โดยต้องเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้ที่มุ่งปลุกมโนสำนึกของคนส่วนใหญ่ให้รักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ความยุติธรรม และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนยากจนหรือคนเล็กคนน้อยในสังคมมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net