Skip to main content
sharethis

กองบรรณาธิการโลคัลทอล์ค
และสำนักข่าวประชาธรรม


"เราต้องเข้าใจอาเซียนในเบื้องต้น เข้าใจหลักการและกลไกการทำงาน เพื่อที่จะได้สามารถเข้าไปร่วมกำหนดทิศทางได้ โดยเน้นที่การเปิดให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ต้องวางแผน ตลอดจนจะสร้างกลไกการผลักดันให้ข้อเสนอของภาคประชาชนเป็นจริงได้อย่างไรต่อไป" สุมิตรชัย หัตถสาร เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือ กล่าว


อาเซียน ตลาดเดียว ฐานการผลิตเดียว


ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ หนึ่งในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียนในความฝัน ซึ่งบัญญัติไว้ในข้อตกลงบาหลีฉบับที่สอง (Bali Concord II) โดยอาเซียนคาดว่า ภายในปี พ.. 2558 อาเซียนจะกลายเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว ไม่แยกกันเป็นของแต่ละประเทศอีกต่อไป ซึ่งหมายความว่า เมื่อถึงเวลานั้น อาเซียนทุกประเทศจะเปิดให้สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนและแรงงานที่มีฝีมือข้ามพรมแดนของกันและกันได้อย่างเสรีเต็มที่ ส่วนเงินทุนนั้นก็เปิดจะไหลได้อย่างเสรีมากขึ้นกว่าเดิมโดยมีข้อจำกัดน้อยลง เป้าหมายหลักคือ การยกเลิกข้อจำกัดและข้อยกเว้นทั้งหมด เพื่อให้สมาชิกทั้งหมดผูกพันที่จะเปิดเสรีเท่าเทียมกัน


การทำให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว โดยพื้นฐานหมายความว่า แทนที่จะมองตลาดและทรัพยากรบุคคล ทุนและวัตถุดิบ ภายในเขตพรมแดนประเทศเป็นของแต่ละประเทศ ซึ่งต่างมีผู้เล่นและผู้กำกับเฉพาะของตน ให้มองทั้งภูมิภาคหลอมรวมกัน หมายถึงแต่ละประเทศจะต้องถือว่าสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศสมาชิกอื่นๆเป็นเสมือนของตนเอง ต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกันหมด สิทธิประโยชน์ใดที่ให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนภายในประเทศตนก็ต้องให้แก่คนต่างชาติในอาเซียนด้วย นอกจากนี้ แรงงานวิชาชีพและแรงงานที่มีทักษะมีอิสระที่จะสามารถเคลื่อนย้ายไปประกอบอาชีพที่ใดก็ได้ภายในอาเซียน


เพื่อที่จะช่วยเร่งรัดการหลอมรวมตลาดและฐานการผลิตของประชาคมอาเซียน แผนประชาคมเศรษฐกิจได้เน้น 2 เรื่องเป็นพิเศษ คือ รายการสาขาการผลิตที่จะเร่งลดภาษีนำเข้าเป็นอันดับแรก (Priority Integration Sectors) และอาหาร การเกษตร และ ป่าไม้


ซึ่งภาคการผลิตที่จะลดภาษีนำเข้าเป็นอันดับแรก นั้นมีอยู่ 12 สาขา คือ ผลิตภัณฑ์เกษตร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ประมง ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม ผลิตภัณฑ์จากไม้ การเดินทางทางอากาศ สินค้าและบริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-ASEAN) บริการสุขภาพ การท่องเที่ยว และงานพลาธิการ (การจัดการด้านธุรการ) สินค้าและบริการทั้งสิบสองประเภทนี้เป็นสิ่งที่สมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่มีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากที่สุด


แนวคิดที่จะหลอมรวมเศรษฐกิจเข้าด้วยกันกันมาจากความเชื่อว่า ถ้าเปิดเสรีภาคการผลิตทั้งหมดนี้อย่างเต็มที่ ก็จะมีการหลอมรวมการผลิตเข้าด้วยกัน ภูมิภาคอาเซียนก็จะสามารถพัฒนาความได้เปรียบเหนือภูมิภาคอื่นๆ จากการดึงดูดการลงทุนและการค้าขายข้ามประเทศภายในอาเซียนด้วยกันเพิ่มขึ้น เพราะจะสามารถผลิตสินค้าและบริการได้ในราคาที่ถูกลง และขายได้มากขึ้น (เช่น ใช้วิธีการจ้างเหมาภายนอก (Outsourcing) หมายถึงการลดต้นทุนการผลิต โดยการมองหาแหล่งวัตถุดิบและแหล่งแรงงานที่ราคาถูกกว่า และระดมนำมาใช้ โดยการจ้างเหมาบริษัทอื่นให้ผลิตให้แทนที่จะทำเอง หรือการจ้างแรงงานภายนอกให้ผลิตสิ่งที่ตนเองไม่มีความถนัด) พร้อมกับสามารถพัฒนาสินค้าและบริการที่ "ผลิตในอาเซียน" ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันขึ้นมา


การเน้นเป็นพิเศษถึงสาขาอาหาร การเกษตร และป่าไม้ นั้น คือการพูดถึงว่าจะพัฒนาภาคการผลิตที่ที่ความอ่อนไหวมากที่สุดนี้ได้อย่างไรในกระบวนการการหลอมรวมเป็นตลาดเดียว พิมพ์เขียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นพูดถึงวิธีการที่จะเปิดเสรี (ลดภาษี และยกเลิกข้อจำกัด) ในการค้าขายสินค้าเหล่านี้ภายในภูมิภาค และวิธีการพัฒนามาตรฐานของสินค้าร่วมกัน อีกทั้งยังกล่าวถึงความร่วมมือและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยการขอความช่วยเหลือจากองค์กรระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค เช่นองค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติ และภาคธุรกิจเอกชน พร้อมกันนั้นมีการเรียกร้องให้มีการเชื่อมโยงผู้ผลิตทางด้านการเกษตรเข้าด้วยกัน โดยการส่งเสริมการรวมตัวเป็นสหกรณ์ และการสร้างเครือข่ายระหว่างสหกรณ์การเกษตรด้วยกัน


นอกจากเป้าหมายการหลอมรวมเป็นตลาดเดียวแล้ว แผนประชาคมเศรษฐกิจยังมีวิสัยทัศน์ของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคให้สูงขึ้น และหลอมรวมเข้ากับเศรษฐกิจของโลกอย่างเต็มรูปในที่สุด


การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค ในด้านการค้าระดับภูมิภาคจะกระทำโดยการจัดทำนโยบายร่วมของภูมิภาคในบางเรื่อง และการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น นโยบายที่จะมีการจัดปรับให้กลมกลืนกัน ได้แก่ นโยบายด้านการแข่งขัน (คือการป้องกันการผูกขาด) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ด้านการเก็บภาษี และด้านการค้าขายทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะมีการผสมผสานข่ายใยการคมนาคมขนส่งทางอากาศ น้ำ และบก พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เชื่อมต่อกันและใช้ร่วมกันทุกประเทศในภูมิภาค จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าและท่อก๊าซ ส่งเสริมการทำเหมืองแร่เป็นภาคการผลิตหนึ่ง และดึงดูดนักลงทุนภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนในโครงการเหล่านี้


ภาคเกษตรกรรมรายย่อยตกอยู่ชายขอบ


ข้อสังเกตคือ พิมพ์เขียวนี้ไม่ได้กล่าวถึงเกษตรกรรายย่อยและชาวประมงรายย่อยเลย แต่กล่าวถึงนักวิชาชีพ และแรงงานที่มีความชำนาญและมีทักษะสูงเท่านั้น ส่วนที่กล่าวถึงการส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรก็จะเน้นเฉพาะเรื่องการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าต้องการให้รวมตัวกันให้มีขนาดใหญ่เป็นหลัก ไม่มีความชัดเจนว่าสหกรณ์เหล่านี้จะพัฒนาตัวเองและปกป้องการผลิตของตนไว้พร้อมกับเพิ่มรายได้ของตนเองไปด้วยได้อย่างไร


แผนการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดูเหมือนจะมองการหลอมรวมเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคว่าเป็นเพียงการเปิดตลาดทั้งหมดอย่างรวดเร็วให้ลงทุนผลิตและค้าขายกันอย่างเสรีเท่านั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าผลประโยชน์จะเกิดขึ้นภายในในภูมิภาคนี้มากเท่าใด การกำหนดเป้าหมายที่จะปรับข้อตกลงให้สอดคล้องกับกฎกติกานานาชาติพร้อมกันไปด้วย ทำให้ตีความได้ว่าประชาคมอาเซียนเป็นเพียงเวทีสำหรับการเร่งให้สมาชิกประเทศเปิดเสรีเร็วขึ้น


พิมพ์เขียวดูจะมีความแข็งขันในความพยายามที่จะเสาะแสวงหาตลาดภายนอกเพิ่มขึ้น (ซึ่งดูได้จากการกล่าวถึงการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน และการเปิดเสรีทุกภาคของเศรษฐกิจพร้อมๆกัน) มากกว่าการพัฒนาตลาดภายในของภูมิภาคเอง มีแต่เพียงรายการสาขาที่จะหลอมรวมเป็นอันดับแรกเท่านั้นที่พูดถึงการหนุนเสริมซึ่งกันและกันและการพัฒนาตลาดภายใน ("ผลิตในอาเซียน") ซึ่งก็จะต้องรอดูกันต่อไปว่าการริเริ่มดังกล่าวจะสำเร็จผลเพียงใด รายการสาขาที่จะหลอมรวมอันดับแรกนี้จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2547 แต่จนบัดนี้ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าเป็นล่ำเป็นสันแต่ประการใด


ปัญหา 108 ที่รออยู่ข้างหน้า


ในขณะเดียวกัน มีหลักฐานชี้ว่าการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนอาจส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในท้องถิ่นได้ มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่ทักท้วงความเชื่อและข้ออ้างที่ว่าการเปิดเสรีจะเพิ่มปริมาณการค้าขายและนำไปสู่การเพิ่มพูนสวัสดิการทางเศรษฐกิจ


รายงานการศึกษาเหล่านี้มีข้อสรุปว่า การเปิดเสรีทางการค้าไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเติบโตโดยอัตโนมัติ อีกทั้งวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศในเอเซียตะวันออกก็เป็นตัวอย่างที่พึงสังวรณ์ไว้อย่างยิ่ง เพราะแสดงให้เห็นว่ามาตรการเปิดเสรีอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะด้านการเงิน อาจก่อความผันผวนในการไหลเข้าออกของทุนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคการผลิตที่แท้จริงได้ การเปิดตลาดสินค้าและบริการภายในให้มีการแข่งขันกับภายนอกอย่างเสรีก็อาจส่งผลกระทบในทำนองเดียวกัน


ส่วนการส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ เช่นโครงข่ายสายส่งไฟ้ฟ้าข้ามแดน โครงการผลิตพืชเชื้อเพลิง หรือการให้สัมปทานทำเหมืองแร่ อาจส่งผลกระทบหลายด้าน ได้แก่


) การขับใสไล่ที่ชุมชนท้องถิ่นในเขตโครงการ ข) เพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคงด้านอาหาร เพราะเป็นการส่งเสริมให้บุกเบิกพื้นที่และเปลี่ยนที่ดินการเกษตรไปใช้ทำไร่ขนาดใหญ่และทำอุตสาหกรรมสกัดเชื้อเพลิงจากพืช ค) สร้างมลภาวะในแหล่งน้ำและทำลายสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนว่าแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะไม่ได้คำนึงถึงอันตรายจากผลกระทบดังกล่าวอย่างจริงจัง เพราะไม่มีการวางแผนหรือมาตรการใดๆในอันที่จะแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดเสรี และจากโครงการขนาดใหญ่ไว้เลย


นอกจากนี้ แผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังไม่มีการอภิปรายถึงบทเรียนจากประสบการณ์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกที่ก้าวหน้ากว่า เช่นไม่ได้กล่าวถึงมาตรการปกป้องการผลิตภายในที่ประเทศมาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซียใช้มาแล้วอย่างได้ผลดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในแต่ละประเทศ หรือการที่รัฐบาลสิงคโปร์ลงทุนไปอย่างมากในการจัดบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาตลาดภายในประเทศ ตรงกันข้ามแผนนี้กลับพูดถึงแต่การขจัดกลไกและมาตรการปกป้องประเภทนี้ออกไปให้หมด เพราะถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนของภาคเอกชน


ถึงแม้จะมีการพูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภคและนโยบายป้องกันการผูกขาด แต่ยังไม่มีรายละเอียดอะไร ทั้งที่ความโปร่งใส การเข้าถึงข้อมูล และการมีส่วนร่วมของพลเมืองย่อมเป็นหลักการพื้นฐานของมาตรการการคุ้มครองที่ว่า แต่ไม่มีการกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้แต่ประการใด


พิมพ์เขียวที่ไร้ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชน


ในพิมพ์เขียวมีการระบุรายการปฏิบัติการ พร้อมกับมีกำหนดเวลากำกับไว้สำหรับนโยบายการเปิดเสรีบางเรื่อง แต่ไม่มีการกล่าวถึงเงื่อนไขปัจจัยที่จะช่วยให้ประเทศสมาชิกหลอมรวมเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม เงินลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการจัดทำโครงการต่างๆที่ระบุไว้ แต่ไม่มีการพูดถึงว่าประเทศที่ขาดแคลนงบประมาณอย่างกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม จะหาทุนได้จากแหล่งใด มีแต่การพูดถึงกองทุนพัฒนาอาเซียน ซึ่งจำกัดเฉพาะเรื่องของความช่วยเหลือเทคนิคและการฝึกอบรมเสริมศักยภาพ ไม่ได้พูดว่าประเทศอาเซียนที่ร่ำรวยกว่าจะช่วยเหลือร่วมลงทุนในโครงการของประเทศที่ยากจนกว่าได้อย่างไร


ที่ผ่านมาเป็นที่รู้กันว่าเงินทุนในการพัฒนามาจากภายนอกอาเซียนมากกว่าจากภายในอาเซียนเอง เช่นมาจากธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเซีย และจากรัฐบาลประเทศตะวันตก ซึ่งการมาพึ่งแหล่งทุนจากภายนอกเช่นนี้อาจทำให้สมาชิกอาเซียนที่ขาดแคลนต้องคล้อยตามความต้องการของแหล่งทุน แทนที่จะเลือกแนวทางการพัฒนาของตนเองได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังไม่มีการกล่าวถึงว่าแต่ละประเทศจะสามารถจัดการและปกป้องผลประโยชน์ของตนเองได้อย่างไรในบริบทของการเปิดเสรีตามกฎกติการะหว่างประเทศ


แต่ทว่าพิมพ์เขียวที่ออกมานี้ยังไม่ใช่แผนการสร้างประชาคมเศรษฐกิจในแนวดังกล่าว การจะปรับให้แผนนี้สอดคล้องกับแนวทางนี้ จำเป็นจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและการดำเนินงานมากกว่านี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีความหมายต่อประชาชนก็ต่อเมื่อมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนธรรมดาสามัญให้ดีขึ้น และการเพิ่มพูนความร่วมมือและสมานฉันท์ระหว่างประชาชนด้วยกันเท่านั้น


เขตการค้าเสรีอาเซียน กับอนาคตเกษตรกร


แผนงานหลักทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียนคือการจัดทำข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า (ASEAN Free Trade Agreement - AFTA) เมื่อปี พ.. 2546 ซึ่งมีการดำเนินงานตามโครงการลดภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากประเทศอาเซียนด้วยกัน โดยมีเป้าหมายที่จะขจัดภาษีศุลกากรให้หมดไปภายในปี พ.. 2553 (.. 2010) สำหรับประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ และภายในปี พ.. 2558 (.. 2015) สำหรับสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ คือกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม รายการสินค้าอ่อนไหวทั้งหมดที่ยกเว้นไว้จะต้องนำมาเข้าโครงการนี้ทั้งหมดภายในปี พ.. 2561 (.. 2018)


นอกจากนี้ อาเซียนยังมีการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ อีก ดังนี้




  • ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-จีน มีการดำเนินการระยะเริ่มแรกแล้ว ซึ่งเป็นการยกเลิกภาษีสินค้าผลไม้ ผัก ระหว่างจีนกับ ฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศไทย และการเจรจาเกี่ยวกับสินค้าประเภทอื่นนั้นก็กำลังจะเสร็จเรียบร้อย



  • ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี ได้มีการลงนามกันแล้ว ยกเว้นประเทศไทยที่ยังไม่ได้ลงนาม



  • ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น การเจรจาเสร็จสิ้นแล้ว และคาดว่าจะมีการลงนามในต้นปี พ..2551



  • เขตการค้าและการลงทุนระดับภูมิภาคอาเซียน-อินเดีย การเจรจาด้านสินค้าคาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม พ..2551



  • ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ อยู่ในระหว่างการเจรจา



  • ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน- สหภาพยุโรป มีการลงนามในคำประกาศร่วมในเดือน พฤศจิกายน พ.. 2550 แต่ยังไม่ได้เริ่มเจรจา



  • เขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก ยังคงอยู่ในขั้นของการหารือและศึกษาข้อมูล


ประเด็นสำคัญสำหรับเกษตรกรก็คือ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเหล่านี้จะมีผลกระทบอย่างไรต่อการเกษตรในท้องถิ่นแต่ละประเทศ งานศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปิดเสรีกับประเทศจีนแสดงให้เห็นว่าได้เกิดผลทางด้านลบขึ้นแล้วกับเกษตรกรในประเทศไทยและอินโดนีเซีย


การเกษตรยังคงเป็นภาคการผลิตที่สำคัญและอ่อนไหวในเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนเกือบทุกประเทศ หากไม่นับสิงค์โปร์และบรูไน การผลิตในภาคเกษตรมีมูลค่าต่างกันไปตั้งแต่ 7.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในประเทศมาเลเซีย จนถึง 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศสปป.ลาว, ปริมาณแรงงานงานในภาคเกษตรอยู่ที่ 16% - 78% ของการจ้างงานทั้งหมดในแต่ละประเทศ อีกทั้งการเกษตรยังคงเป็นอาชีพสำคัญยิ่งสำหรับการหาเลี้ยงชีพและเป็นแหล่งรายได้ของประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท


ถึงแม้ภาคเกษตรจะยังคงมีความสำคัญในเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน แต่เกษตรกรชายและหญิงตัวเล็กๆเช่นพวกเรา ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของภาคเกษตร ยังคงยากจนอยู่เช่นเดิม ในภูมิภาคอาเซียน เขตชนบท ซึ่งมีการเกษตรเป็นอาชีพหลักของคนส่วนใหญ่ เป็นเขตที่มีอัตราความยากจนสูงสุดและกว้างขวางที่สุด ความยากจนของเรามีสาเหตุหลักมาจากการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียม การไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆทางเศรษฐกิจได้ และการขาดการเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ


การเปิดเสรีทางการเกษตรในประเทศอาเซียนนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อย มีแต่ธุรกิจรายใหญ่และบริษัทข้ามชาติเป็นผู้ได้รับประโยชน์ การหลอมรวมภาคเกษตรอย่างเสรี โดยปราศจากการกำกับดูแล จะทำให้เราต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานมากยิ่งขึ้น ทำลายวิถีการทำมาหากินของเรา และสลายมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมของชุมชนเกษตรกรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มลายไปในที่สุด เกษตรกรหญิงนั้นจะเป็นผู้ที่รับภาระหนักที่สุด เนื่องจากเป็นผู้ทำงานมากกว่า 50% ของงานเกษตรแทบทุกสาขา หากพวกเธอได้รับรายได้ลดลง ก็หมายความว่าทั้งครอบครัวจะมีเงินน้อยลงที่จะจ่ายค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าเล่าเรียนของเด็กๆ.


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net