Skip to main content
sharethis

"การที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่เข้ามากำกับดูแลเรื่องสื่อได้ออกมาส่งสัญญาณให้มีการจับกุมวิทยุชุมชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างหรือคัดค้านการดำเนินงานของรัฐบาล คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) เห็นว่าเป็นท่าทีที่ผิดปกติของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย"

 

29 ม.ค.52   คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดส่งสัญญาจับกุมวิทยุชุมชน เนื่องจากที่ผ่านมา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ซึ่งเข้ามากำกับดูแลเรื่องสื่อได้ออกมาส่งสัญญาณให้มีการจับกุมวิทยุชุมชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างหรือคัดค้านการดำเนินงานของรัฐบาล ซึ่งนับเป็นท่าทีที่ผิดปกติของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น คปส.จึงเสนอให้ รัฐบาลมีความอดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็นคัดค้านรัฐบาล โดยคำนึกงถึงสิทธิพื้นฐานในการสื่อสารของประชาชน และเปิดโอกาให้กลไกอิสระได้ทำหน้าที่ รวมทั้งให้รัฐบาลสนับสนุนการกำกับดูแลกันเองของกลุ่มวิทยุขนาดเล็ก

 

 

 

 

แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.)

ขอให้รัฐบาลหยุดส่งสัญญาณจับกุมวิทยุชุมชน

 

การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของรัฐในอันที่จะสนับสนุนให้ประชาชนได้รับสิทธิพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

 

ดังนั้น การที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่เข้ามากำกับดูแลเรื่องสื่อได้ออกมาส่งสัญญาณให้มีการจับกุมวิทยุชุมชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างหรือคัดค้านการดำเนินงานของรัฐบาล คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) เห็นว่าเป็นท่าทีที่ผิดปกติของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลนี้มีนโยบายสำคัญที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ว่าจะสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าสาร และจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองให้สื่อมีเสรี ปราศจากการแทรกแซง และมีความรับผิดชอบกับสังคม ตลอดจนจะดำเนินการตามแนวนโยบายด้านกฎหมายอย่างถูกต้องเป็นธรรม

 

ประการสำคัญคือในขณะนี้มีกลไกที่เป็นอิสระจากรัฐบาล ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ คือ อนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ซึ่งมีอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์และออกใบอนุญาตชั่วคราวให้กับวิทยุชุมชนและกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่

 

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ จึงไม่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการสื่อวิทยุและโทรทัศน์โดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของกลไกอิสระตามกฎหมาย ซึ่งไม่ควรถูกแทรกแซงการทำหน้าที่จากทุกภาคส่วน

 

คปส. จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้

 

1.ให้รัฐบาลยุติการส่งสัญญาณจับกุมวิทยุชุมชน และมีความอดทน อดกลั้นต่อคำวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ออกมาคัดค้านการทำงานของรัฐบาล โดยให้คำนึงถึงสิทธิพื้นฐานในการสื่อสารของประชาชนภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย 

2. ให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้กลไกอิสระได้ทำหน้าที่ โดยไม่ถูกแทรกแซงทางการเมืองหรือถูกใช้เป็นเครื่องมือยับยั้งฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลให้ไม่สามารถใช้สิทธิที่จะสื่อสารความเห็นที่แตกต่างได้ และกระบวนการในการกำกับดูแลวิทยุชุมชนที่เกิดขึ้นให้เป็นหน้าที่ของกลไกอิสระตามที่กฎหมายบัญญัติ

3.ให้รัฐบาลสนับสนุนการกำกับดูแลกันเองในกลุ่มวิทยุขนาดเล็ก โดยเปิดเวทีให้วิทยุชุมชน วิทยุธุรกิจท้องถิ่น ทุกกลุ่มได้ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ กติกา จรรยาบรรณ ในการกำกับดูแลกันเอง หากรัฐบาลวิตกกังวลว่าจะมีการใช้สิทธิการสื่อสารที่กระทบต่อความมั่นคงของสังคมหรือเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญรองรับ

 

 

                                                                           คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ

                                                                                                     29 มกราคม 2552

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net