Skip to main content
sharethis

ปาฐกถา ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ในงานมอบรางวัล "วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์" สำหรับวิทยานิพนธ์ เพื่อคนจน โดย สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับ กองทุนวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ณ ห้องประชุมประภาศน์ อวยชัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 51


 


 


00000


 


ปาฐกถาในงานวันนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าผมมีความนับถือกับคุณวนิดาโดยส่วนตัวเป็นอย่างยิ่งเพียงอย่างเดียว แต่ผมคิดว่ารางวัลที่ให้แก่วิทยานิพนธ์ เพื่อคนจนมีความสำคัญอย่างมากทีเดียว เพราะว่าความรู้เกี่ยวกับคนจนและความยากจนในสังคมไทย ที่จริงผมควรจะพูดว่าทั้งโลกเลยก็ว่าได้ ผมว่ามันมีน้อย โดยเฉพาะในสังคมไทยอยากจะพูดว่ามันขาดแคลนอย่างยิ่ง และในเรื่องความรู้ในด้านนี้ คุณวนิดามีส่วนอย่างมากทั้งในทางอ้อมและทางตรง ในการผลักดันให้วงวิชาการให้ความสำคัญ และหันมาศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวกับคนจนและความยากจนในสังคมไทยมากขึ้น


 


ผมขอเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถาม ทุกครั้งที่มีการพูดถึงคนจนก็จะมีคนพูดเสมอว่าจนอยู่ที่ใจ หรืออะไรต่างๆ นา นา แต่คนจนคือใครในสังคมไทย มันน่าอัศจรรย์อยู่พอสมควรนั้นคือว่าคนจนคือใคร ผมคิดว่าคำตอบที่เราได้มันเป็นคำตอบที่รัฐเป็นคนสร้างทัศนะขึ้นมาครอบงำเรา เพราะรัฐใช้มาตรฐานอันเดียวคือมาตรฐานทางเศรษฐกิจ ที่จะบอกว่าคนมีรายได้ต่ำกว่าเท่านั้นเท่านี้ ก็จะถือว่าเป็นคนจน คือมีมิติเดียวคือมิติทางเศรษฐกิจเท่านั้นเอง และมีมิติทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวที่จะนิยามว่า ใครคือคนจนนี้ผมคิดว่ามันครอบงำการมองปัญหาของคนจนและความยากจนในสังคมไทยค่อนข้างมาก กล่าวคือ เมื่อไหร่ที่เราพูดถึงว่าคนจนมีปัญหาอะไร มันจะไปติดอยู่ตรง ปัญหาของเขาคือปัญหาของการไม่มีเงินเป็นหลัก


 


ถ้าเราตั้งต้นด้วยปัญหาความไม่มีเงินแล้ว คำตอบของคำถามก็จะถูกจำกัดไปโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ เมื่อคุณไม่มีเงินก็ต้องหาทางให้คุณมีเงิน จบแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นคำถามและคำตอบเกี่ยวกับคนจนและความยากจนของสังคมไทยมันจึงค่อนข้างแคบ เพราะเราเริ่มต้นด้วยการนิยามว่าคนจนคือคนที่มีรายได้เป็นตัวเงินต่ำกว่าเท่านั้นเท่านี้ และคำตอบที่มักจะได้รับเสมอในการแก้ปัญหาของคนจนก็คือว่า เมื่อคุณไม่มีเงินก็ต้องเอาคุณเข้ามาสู่เศรษฐกิจตลาด คุณยิ่งเข้ามาสู่เศรษฐกิจตลาดได้มากเท่าไหร่ คุณก็จะมีเงินได้มากเท่านั้น เพราะอย่าลืมว่าในการนิยามว่าคนจนคือคนที่ไม่มีสตางค์ หรือมีสตางค์น้อยกว่าระดับที่กำหนดไว้ ในเศรษฐกิจตลาดเราแลกเปลี่ยนกันโดยผ่านเงินตรา เพราะฉะนั้นก็ลากคุณ ดึงคุณ ถีบคุณ เข้ามาสู่เศรษฐกิจตลาด เมื่อนั้นคุณก็น่าจะค่อยๆ มีเงินทีละนิดที่ละหน่อย ถ้าคุณไม่มี ผมก็นิยามคำใหม่ให้คุณว่าคนจนดักดาน คือจนทำอย่างไรก็ไม่รวยซักที อย่างนี้เป็นต้น


 


เพราะฉะนั้น เวลาคนจับปลาในแม่น้ำ แล้วคุณไปทำลายแม่น้ำจนเขาจับปลายต่อไปไม่ได้ แต่ต้องมาเลี้ยงปลากระชัง คุณก็จะมองภาพของการเลี้ยงปลากระชังว่ายังดีกว่าการจับปลาตามธรรมชาติ เพราะปลากระชังเป็นผลิตผลเพื่อการตลาดโดยตรง ในขณะที่การจับปลาตามธรรมชาติในแม่น้ำมันเป็นทั้งผลิตผลเพื่อการตลาด และเป็นผลิตผลเชิงสังคมและวัฒนธรรมอีกหลายต่อหลายอย่าง ไม่ได้เป็นผลิตผลเพื่อการซื้อขายแต่เพียงอย่างเดียว


 


ที่น่าตกใจกลัวในทางวิชาการอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมคิดว่าการมองคนจนมิติเดียว คือเป็นมิติด้านเศรษฐกิจเช่นนี้ มันครอบงำการแสวงหาความรู้ หรือด้านวิชาการที่เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องของคนจนและความยากจนในสังคมไทยด้วย คือมันมีงานศึกษาเกี่ยวกับคนจนมากมาย เป็นร้อยๆ เรื่องก็ว่าได้ ที่เริ่มต้นจากการมองคนจนจากมิติที่รัฐเป็นคนกำหนดขึ้น ก็คือว่าคนจนคือคนที่มีเงินน้อยหรือไม่มีเงินเป็นหลัก และในแง่นี้ผมคิดว่าคุณวนิดามีส่วนอย่างมากที่เดียวในการเสนอคนจนในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณวนิดาเข้าไปร่วมทำงานกับสมัชชาคนจน โดยเฉพาะทางด้านวัฒนธรรม จะพบว่าการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนจะเน้นเรื่องของวัฒนธรรมค่อนข้างสูงมาก


 


สรุปก็คือ ทำให้คนจนเป็นคนที่มันมีหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านวัฒนธรรม มิติทางด้านสังคม ในสมัชชาคนจนจะมีการพูดถึงเรื่องการสร้างเครือข่ายในเชิงสังคม ระหว่างคนที่ปลูกข้าวกับคนจับปลา ระหว่างคนที่ต่างอำเภอ ต่างท้องถิ่น กับคนในท้องถิ่นที่อยู่ใกล้กันกับแม่น้ำมูล เป็นต้น มันจะมีมิติของคนที่เต็มคน พูดง่ายๆ


 


พวกเราก็เหมือนกัน ถ้าวันหนึ่งเขาจัดให้เราเป็นแค่สัตว์เศรษฐกิจ ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าเราไม่เป็นสัตว์เศรษฐกิจด้วย แต่ว่านอกจากเราเป็นสัตว์เศรษฐกิจแล้ว เรายังเป็นสัตว์วัฒนธรรม สัตว์สังคม เป็นสัตว์อื่นๆ อีกหลายอย่างด้วยกัน แต่คนจนตามที่รัฐไทยชี้ทางเอาไว้ กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว มันไม่มีมิติอื่นๆ ของชีวิต เพราะฉะนั้นส่วนนี้ผมคิดว่าคุณวนิดามีส่วนอย่างค่อนข้างมากในการทำให้คนจนกลายเป็นคนเต็มคนขึ้นมา เจ็บปวดเป็น สนุกก็ได้ สร้างสรรค์ก็ได้ ทำงานที่มีคุณค่าแก่ตนเองและสังคมก็ได้ และที่สำคัญก็คือคุณได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกันกับคนอื่นที่ไม่ใช่คนจนด้วย ประเด็นเรื่องความยุติธรรมเป็นสิ่งที่คุณวนิดาเน้น ให้ความสำคัญอย่างมาก ดูได้จากปาฐกถาของคุณวนิดาเอง เมื่อครั้งที่รับรางวัลโกมล คีมทองเป็นต้น


 


ส่วนใหญ่ของงานวิชาการเกี่ยวกับคนจน เท่าที่ผมได้สำรวจอย่างคราวๆ ตรงนี้ ผมคิดว่ามันเริ่มต้นด้วยการใช้กรอบเรื่องคนจนของรัฐเป็นหลัก คือมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นคนจน งานศึกษาในระยะแรกๆ จะสนใจไปดูว่าคนกลุ่มที่ว่านี้ตอบสนองต่อการพัฒนาของรัฐอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองเมื่อรัฐสร้างถนน เมื่อรัฐส่งทีวีไปถึง เมื่อรัฐเอาไฟฟ้าไปต่อให้ที่บ้าน หรืออะไรก็แล้วแต่ ไปดูในแง่อาชีพมันเปลี่ยนอย่างไร ที่อยู่อาศัยมันเปลี่ยนอย่างไร รับสื่อมากหรือน้อย รับสื่อแล้วเป็นอย่างไร การศึกษาเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง แล้วต่อมาอาจจะแยกกลุ่มคนจนเหล่านี้ เป็นผู้หญิงรับสื่อมากกว่าผู้ชาย หรือว่าผู้ชายรับมากกว่าผู้หญิง เด็กเป็นอย่างไร คนแก่เป็นอย่างไร คือแยกแต่เริ่มจากกรอบคิดของคนจนแบบเดียวกับที่รัฐไทยเป็นคนนิยามเอาไว้


 


ในระยะเวลาต่อมาอาจจะเป็นผลงานของเอ็นจีโอบวกกับราษฎรอาวุโส คือภาพของคนจนจะเริ่มเปลี่ยนไปในวงวิชาการบางกลุ่ม ในช่วงนี้จะมีการเน้นภาพความมีพลังของคนจนขึ้นมา ผมถึงได้บอกว่ามันอาจจะเป็นผลงานของราษฎรอาวุโสหรือเอ็นจีโอก็ได้ ไอ้พลังที่ว่านี้อาจจะเป็นพลังที่ตกทอดมาจากอดีตหรืออาจจะเป็นพลังที่ชี้ให้เห็นว่าคนจนสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของปัจจุบันได้ ดีด้วย อาจจะพูดถึงพลังทางวัฒนธรรม พลังของการจัดองค์กรในสังคมแบบประเพณีว่าเดิมที่การจัดองค์กรแบบนี้มันทำให้เขาเข้มแข้งอย่างไร เขาสามารถอยู่ในความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ได้อย่างไร


 


อาจพูดถึงพลังด้านอุดมการณ์ เช่น ศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรมต่างๆ ของคนจนว่ามันมีนัยสำคัญในเชิงสังคมอย่างไร ฉะนั้นอันนี้ก็เป็นความเข้มแข็งของเขา พลังของเขาในการจัดการใช้ทรัพยากรอย่างยังยืน ในวัฒนธรรมของเขา ในสังคมแบบเขา จริงๆ แล้วคนจนใช้ทรัพยากรได้อย่างยังยืนกว่าวิธีการที่เราใช้กันอยู่ในโลกสมัยใหม่ด้วยซ้ำไปอย่างนี้เป็นต้น


 


ทั้งหมดเหล่านี้ถ้ามองในแง่วิชาการมันมีจุดอ่อนเยอะมาก เช่นเป็นต้นว่า มันค่อนข้างสถิต คือคุณไปพูดถึงคนที่มันไม่เปลี่ยน เป็นอย่างนี้มาเป็นร้อยๆ ปี และจะเป็นเช่นนี้ต่อๆ ไปอีกเป็นร้อยๆ ปี ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่น่าจะมีอยู่ในโลกนี้ นอกจากนั้นแล้วเรากำลังพูดถึงคนกลุ่มหนึ่งซึ่งดูเหมือนประหนึ่งว่าไม่สัมพันธ์กับรัฐ ทั้งๆ ที่อย่างน้อยสุดรัฐไทยก็สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อยู่ๆ มันเป็นรูโหว่อยู่ในรัฐโดยไม่ร่วมสัมพันธ์อะไรกับรัฐเลย


 


คำว่าไม่สำพันธ์กับรัฐ มันอาจจะแปลหรือมันมีนัยโดยอาจไม่ได้ตั้งใจว่า เหตุดังนั้นรัฐก็ไม่ต้องไปรับสนใจ ช่างหัวมัน ไม่เกี่ยว มันก็อยู่ของมันไป รัฐก็อยู่ของมันไป รัฐไม่ต้องไปรับผิดชอบกับคนจนก็ได้เพราะว่าคนจนสามารถอยู่ได้เอง เวลาที่คุณพูดถึงพลังคนจนมากๆ นั้นแปลว่าให้มันอยู่ไป อย่าไปยุ่งอะไรกับมันก็ได้ เป็นแนวคิดแบบเดียวกับเรื่องของสาธารณรัฐ หมู่บ้าน ที่เคยใช้กันมาในยุคอนานิคมเลยก็ว่าได้


 


อันนี้เป็นข้อบกพร่องในเชิงวิชาการ แต่ว่าในขณะเดียวกัน ผมคิดว่ามีความจำเป็นในทางวิชาการด้วย กล่าวคือ คุณต้องผ่านยุคสมัย ผ่านความคิดแบบที่เชื่อในพลังของคนจนพลังของชาวบ้านเสียก่อน ก่อนที่คุณจะหลุดออกมาจากการครอบงำของรัฐว่าคนจนคือคนที่ไม่มีเงิน นอกจากนั้นแล้วมันไม่เกี่ยว คือไอ้ตรงระยะนี้ของวัฒนาการผมคิดว่ามันมีความจำเป็นในเชิงวิชาการอยู่เหมือนกัน เพราะว่ามันดึงความสนใจในทางวิชาการให้มาสู่การสนใจคนจนในแง่ที่มันเป็นคนเต็มคนมากขึ้น ผมมองเขาในแงอะไรที่มันมีในเชิงบวกด้วย ไม่ใช่จะมองเพียงในเชิงลบ แต่เพียงอย่างเดียว


 


แต่แม้ว่ามีการศึกษา มีการพูดถึงคนจนในแง่ที่พูดถึงที่ผ่านมา คือ มีพลัง มีความเข้มแข็ง และอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันนั้นเราก็พบว่ารัฐยิ่งกลายเป็นหัวหอกในการแย่งชิงทรัพยากรของคนจน หรือทรัพยากรที่คนจนใช้อยู่ เพื่อตอบสนองความเติบโตของกลุ่มมากขึ้นๆ ทุกที


 


แน่นอนตัวทุนเองก็เข้าไปแย่งชิงทรัพยากรโดยตรงโดยอาศัยกลไกรัฐ อาศัยตำรวจช่วยตีหัวชาวบ้านที่คัดค้านหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ทั้งสองฝ่ายกำลังเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรที่คนจนใช้อยู่มากขึ้นทุกทีตามลำดับ ในขณะที่เอ็นจีโอ ราษฎรอาวุโส นักวิหารการกำลัง พูดถึงความเข้มแข็งของชุมชน ความเข้มแข็งของคนจน ความเข้มแข็งของชาวบ้าน หรืออย่างอื่นแล้วแต่ แต่ชาวบ้านนี่กลวง ถูกล้วงตับ เอาทรัพยากรไปให้ทุนได้ใช้มากขึ้น


 


ไอ้พลังที่เคยเชื่อว่ามันมีเข้มแข็งหนักหน้านั้น มันมีคำถามว่าทำไมมันทำงานไม่ได้ ทำไมจึงถูกแย่งฐานทรัพยากรโดยที่คนจน หรือชาวบ้าน ไม่ได้สามารถตอบโต้อะไรได้สักเท่าไรนัก ในขณะเดียวกันคนจนก็ขาดฐานทรัพยากร คำว่าฐานทรัพยากรที่ผมใช้ในที่นี้หมายความถึง ฐานทรัพยากรที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมด้วย หมายความว่าเขามีเงินส่งลูกไปเรียนหนังสือ แต่ยิ่งเรียนมากเท่าไรก็ขาดจากฐานทางวัฒนธรรมของพ่อแม่มากขึ้นเท่านั้น เพราะรากฐานทรัพยากรในเชิงวัฒนธรรมนั้นมันไม่มี ก็เป็นฐานทรัพยากรทางนามธรรมอย่างหนึ่ง แน่นอน สูญเสียแม่น้ำ สูญเสียป่า สูญเสียที่ดินนั้นเห็นได้ชัดอยู่แล้ว


 


เพราะฉะนั้น งานวิชาการในช่วงหลังจากนี้ ผมถึงได้พบว่ามันค่อนข้างจะหันไปสู่เรื่องของการต่อสู้ของคนจนมากขึ้น คือไปให้ความสนใจในเรื่องของการที่คนจนก็ไม่ได้เป็นคนที่เสถียรอย่างที่พูดถึง ไม่ใช่คนที่มีพลังเข้มแข็งแต่ว่านิ่งๆ แต่คนเหล่านี้กำลังเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้ รักษา ตัวฐานทรัพยากรของเรา ก็มีการศึกษางานที่เป็นการประท้วงของคนจนบ้าง การจัดองค์กรในการประท้วงของคนจนบ้าง ศึกษานโยบายที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบ้าง มีการศึกษาการตีความกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมว่า โดยธรรมชาติของมันเอง ไม่ได้อยู่ที่ตัวตุลาการหรือผู้พิพากษา เป็นธรรมชาติของระบบกฎหมาย ระบบความยุติธรรมในสังคมไทยมันค่อนข้างลำเอียง เป็นอริกับคนจนโดยธรรมชาติของมันเองอยู่แล้ว เป็นต้น


 


มีการศึกษาผู้นำในความขัดแย้งเช่นคุณจินตนา แก้วขาว เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ถูกบางคนใช้เป็นตัวศึกษา เยอะแยะไปหมด แล้วก็เลยจากการศึกษาอันนี้ ในกรอบคิดเรื่องของการต่อสู้ ก็มีงานวิเคราะห์ในทางรัฐศาสตร์ เช่น พูดถึงการช่วงชิงทรัพยากรทางการเมือง ยกตัวอย่างในเรื่องของสื่อ สื่อก็เป็นทรัพยากรทางการเมืองที่มีความสำคัญมาก มาศึกษาดูว่าคนจนมีเข้าไปแย่งใช้ทรัพยากรตรงนี้ได้มากน้อยไหน และใช้กลวิธีอย่างไรอย่างนี้เป็นต้น ถือว่านี่เป็นกระบวนการศึกษาในเชิงรัฐศาสตร์


 


พบว่า ทรัพยากรทางการเมืองในสังคมเรานี้ ฝ่ายคนจนจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เข้าไม่ถึงทรัพยากรทางการเมืองเหล่านี้ คือถ้าไม่นุ่งกระโจมอกอาบน้ำที่ลานพระบรมรูปทรงม้าก็จะไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนให้ความสนใจคนจน ถ้าไม่กระโดดไปจับปลาในคลองหลอดก็ไม่มีคนให้ความสนใจ แต่ความเดือดร้อนของคนจนที่มาล้อมทำเนียบในเรื่องของโครงการของรัฐจำนวนมากมายเป็นร้อยๆ โครงการที่ไปรังแกคนจน สื่อกลับไม่สนใจ เพราะฉะนั้นโดยรวมๆ แล้วคนจนเข้าไม่ถึงทรัพยากร ถ้ามีโอกาสเข้าถึง ก็เข้าถึงแล้วก็ไม่มีสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางการเมืองนั้นได้อย่างภูมิใจ


 


มีการศึกษาถึงการไม่ตอบสนองของกลไกทางการเมือง ของระบอบประชาธิปไตยด้วย อันนี้เราพูดถึงความล้มเหลวของประชาธิปไตยกันเยอะแยะไปหมด แต่นี่คือตัวอย่างที่เห็นชัดเจน กลุ่มพี่น้องที่ปากมูลยึดหัวเขื่อนมาเป็นเวลาไม่รู้กี่เดือน ถามเขาว่าเคยมีผู้แทนเข้ามาหากี่สักครั้งไหม เขาบอกว่าไม่มีเลย ตลอดเวลาไม่กี่เดือนไม่เคยมีผู้แทนมาเยี่ยมเลยซักครั้ง คำถามก็คือว่า ถ้าอย่างนั้นพรรคการเมืองจะเป็นตัวแทนของการต่อสู้ เพื่อให้ทรัพยากรกลางเปิดให้ทุกๆ ฝ่ามีโอกาสใช้อ่างยุติธรรมได้อย่างไร ถ้าเกิดพรรคการเมืองไม่สนใจแม้แต่เรื่องที่ชาวบ้านพร้อมจะจากบ้านตัวเองมาได้ ระยะทางตั้งเท่าไหร่ไม่รู้ มานอนอยู่ที่หัวเขื่อน โดยที่นักการเมืองไม่ได้สนใจเลย คือถ้าดูกลไกของประชาธิปไตยไทยที่ไม่ทำงานมีเยอะมาก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีการศึกษากันมากพอสมควรเหมือนกัน


 


มาถึงระยะปัจจุบันนี้ ผมคิดว่าตัวกรอบคิดเรื่องการต่อสู้ก็ยังปรากฏอยู่ในงานวิชาการเหมือนเดิม แต่หันไปสู่การต่อสู้เรื่องที่ลึกไปกว่าที่ยกตัวอย่างไปเมื่อสักครู่ คือไม่ใช่แค่ผู้นำ ไม่ใช่แค่เรื่องขบวนการจัดองค์กร แต่ลึกไปสู่ที่เป็นเรื่องของนามธรรมมากขึ้น เช่นเป็นต้นว่า การต่อสู้ทางวาทกรรม และหนึ่งในงานวิทยานิพนธ์ที่ได้รับรางวัลในวันนี้พูดถึงสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Social construction "สิ่งสร้างทางสังคม" อะไรก็ตาม คนจนก็เป็นสิ่งสร้าง ความยากจนก็เป็นสิ่งสร้างในทางสังคม อะไรทั้งหลายที่ทำให้เราเข้าใจได้ จริงๆ มันไม่ได้มีมาเองตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่สังคมสร้างมันขึ้นมา เพราะฉะนั้นถ้าคุณมีสิทธิเข้าไปช่วยสร้าง เข้าไปขัดขวางการสร้าง หรือเข้าไปสร้างเอาเองใหม่ได้เท่าไร มันก็เป็นเรื่องของอำนาจนั่นเอง


 


ถ้าคุณเป็นคนสร้างว่าประชาธิปไตยคืออะไร รัฐบาลคืออะไร ความซื่อสัตย์คืออะไร คนดีคืออะไร คนสวยคืออะไร คุณมีอำนาจสูงสุด ถ้าคุณสร้างคนเดียวแล้วคนอื่นเชื่อหมด เพราะฉะนั้นสิ่งสร้างทางสังคมหรือ Social construction ก็มาวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นหนึ่งในงานที่ได้รับรางวัลในวันนี้ ที่บอกว่าเอาเข้าจริงคนจนไม่ได้มีโอกาสเท่าไหร่นัก ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดสิ่งสร้างทางสังคมเหล่านี้ โดยดูจากเกมโชว์ต่างๆ ทางทีวี มันมีศึกษาที่ประมวลความเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมของคนจนในภาพรวมๆ นี้อยู่อีกพอสมควรเหมือนกัน


 


ศึกษาลึกลงไป ย่อยลงไปได้ในเรื่องของเพศภาพ เพศวิถี อะไรก็แล้วแต่ในขบวนการคนจน และอื่นๆ อีกหลายต่อหลายอย่าง ก็ยังเป็นกรอบคิดเรื่องของการต่อสู้ แต่ว่ามองลึกลงไปมากกว่าการต่อสู้ที่เราเห็นเป็นรูปธรรมข้างหน้า แบบว่าล้อมทำเนียบหรือไม่ล้อมทำเนียบ แต่ว่าลึกไปกว่านั้นคือการต่อสู้ในเชิงของการครอบงำกันทางความคิด ความรู้สึก ว่าอะไรดีอะไรชั่ว มันถูกกำหนดด้วยวิธีที่แยบยลอย่างไรในสังคมไทย


 


ทั้งหมดเหล่านี้ผมว่ามีประโยชน์เกี่ยวกับคนจนและความยากจนทั้งสิ้น อย่างน้อยที่สุดที่ผมมองเห็นมี 3 ประการด้วยกัน คือ 1 มันเปลี่ยนนิยามปัญหาของคนจน อะไรคือปัญหาของคนจน มันไม่ได้ถูกนิยามง่ายๆ แต่เพียงว่าคนมีสตางค์น้อย กว่าเท่านั้น เท่านี้บาท มีรายได้น้อยกว่าแค่นั้น แคนี้บาทต่อวัน แต่มันมีความหมายที่ครอบคลุ่มชีวิตของคนได้บริบูรณ์มากขึ้น ซึ่งผมคิดว่านี่คือหัวใจสำคัญในการที่เราจะศึกษาเรื่องคนจนก็ตาม จะแก้ปัญหาคนจนก็ตามต้องมองเขาเป็นคนเต็มคนให้มากขึ้น ไม่ใช่มองแต่เงินในกระเป๋าแต่เพียงอย่างเดียว


 


ฉะนั้นโดยอัตโนมัติ ประการที่ 2 เมื่อคุณเริ่มนิยามปัญหาแตกต่างกัน แน่นอนว่าตำตอบมันก็เริ่มจะแตกต่างออกไป การดึงคนจนเข้าไปสู่เศรษฐกิจตลาดแต่เพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่คำตอบอันแรก พระราชดำหริเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่นี่ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งว่า คำตอบเกี่ยวกับคนจนไม่ใช่เรื่องการดึงคนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะเข้าไปยืนขาเดียว เข้าไปครึ่งขา หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นคำตอบได้ คือเริ่มนิยามปัญหาที่แตกต่างออกไปจากจำนวนเงินในกระเป๋า คำตอบมันเริ่มกว้างขึ้น ไม่ได้แคบอย่างที่เคยเป็นมา


 


ประโยชน์ประการที่ 3 คือ โดยอัตโนมัติ ผมคิดว่ามันเพิ่มพลังต่อรองให้กับคนจนด้วย เพราะสังคมเริ่มจะมองเห็นปัญหาของคนจนซับซ้อนมากขึ้นกว่าเก่า ไม่ใช่เพียงคนที่ไม่มีเงินด้วยเหตุแห่งกรรมเก่า ขี้เกียจ เล่นการพนัน อะไรก็ตามแต่ที่ทำให้มีเงินในกระเป๋าน้อย ไม่ได้มองอะไรแคบๆ อย่างนั้น การที่คนจนจะมาร้องว่าอย่ามาสร้างโรงไฟฟ้าที่บ้านฉัน ฉันหากินทางการท่องเที่ยวอยู่ ฉันหากินทางด้านการประมงทะเลอยู่ ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่สนใจแต่ว่าก็มีคนจำนวนมากขึ้นที่ไม่ได้เกี่ยวพันธ์กับท้องทะเลฟัง เอาแค่ฟังก็มีความสำคัญแล้ว เป็นต้น เพราะฉะนั้นพลังต่อรองของคนจนมันเพิ่มขึ้น เมื่อวงวิชาการก็ตาม เอ็นจีโอก็ตาม หรือคนจนเองก็ตามเริ่มเปลี่ยนคำนิยามปัญหาเกี่ยวกับคนจนขึ้นมา


 


อย่างไรก็ตามแต่ ในทัศนของผมซึ่งอาจจะผิดก็ได้ ผมคิดว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ขาดหายไปขององค์ความรู้เกี่ยวกับคนจน มี 2-3 อย่างซึ่งขออนุญาตพูดถึงก็คือว่า ผมคิดว่ามีงานศึกษาที่เป็นทางเลือกเชิงนโยบายค่อนข้างน้อย จริงอยู่ที่ว่ามันอาจจะยังไม่ถึงเวลาอันนี้ผมก็ไม่ทราบ หมายความว่าเราเริ่มมีความเข้าใจคนจนดีขึ้น ลึกขึ้น สลับซับซ้อนมากขึ้น แต่งานศึกษาเพื่อจะเสนอทางเลือกเชิงนโยบายเกี่ยวกับคนจน ผมคิดว่าค่อนข้างน้อย หรือว่ามันมีแต่ผมไม่เจอก็ไม่ทราบ


 


อันที่สองต่อมา ที่ผมคิดว่ามันขาดหายไป ก็คือความสัมพันธ์ของคนจนกับอะไรอื่นที่กว้างกว่านั้น คือการศึกษาจำนวนมากค่อนข้างจะเจาะลึกไปที่ตัวกลุ่มคนจนที่จะศึกษา ไม่ค่อยมีงานศึกษาที่มองเรื่องของคนจนสัมพันธ์กับสังคมไทยทั้งหมด จะเป็นส่วนใดของสังคมก็แล้วแต่ ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ เกี่ยวกับสิทธิที่คนจนพูดถึงมากแต่มีงานวิชาการเข้ามาศึกษาตามค่อนข้างน้อยมาก


 


ชาวประมงชายฝั่ง การต่อสู่ของชาวบ้านที่จะนะ สงขลาเป็นตัวอย่าง ประมงชายฝั่งเขาบอกเลยว่าปลาทะเลที่คุณไปกินตามเหลาอร่อยๆ นั้นมันต้องได้จากประมงชายฝั่ง เพราะว่าประมงชายฝั่งเท่านั้นจึงจะได้ปลาสดเช่นนั้นมา ประมงที่ไปจับถึงแอฟริกา คุณแช่แข็งเทราดฟอร์มาลีนมาด้วยซ้ำไป เนื้อของมันถ้าหากจะแข็งก็แข็งกระด้าง ไม่ได้แข็งแบบปลาสด เพราะฉะนั้นเหลาดีๆ จะเสิร์ฟสิ่งเหล่านี้ได้มันต้องมาจากประมงชายฝั่งเท่านั้น เพราะว่าประมงชาฝั่งเมื่อจับได้เขาก็ขายเลย แล้วมันก็ถูกเสิร์ฟ ถูกเก็บ โดยใช้เวลาไม่กี่นาที เป็นต้น


 


ปัญหาก็คือว่า บทบาทของฟูดซับพลาย (Food supply) ของการผลิตอาหารในสังคมไทยของประมงชายฝั่งมันมีมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ยังไม่มีคำตอบ รวมถึงการประเมินต้นทุน ประเมินอื่นๆ ร้อยแปดพนประการด้วย อันนี้พูดนิดหน่อยเพื่อเห็นปัญหากรประมง ทุกครั้งที่มีการขึ้นราคาน้ำมัน ประมงก็จะหยดหาปลามิเช่นนั้นก็ประท้วงหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่ผมไม่เคยเข้าใจเลยจนมาถึงนาทีนี้ก็คือว่าทำไมไม่ผลักภาระให้ผู้บริโภค แท็กซี่หรืออะไรก็แล้วแต่น้ำมันขึ้นราคาเค้าก็เก็บเงินคุณแพงขึ้นทุกครั้ง ทำนองเดียวกัน ทำไมการทำประมงจึงไม่สามารถผลักภาระแก่ผู้บริโภคได้ ทั่งที่การประมงชายฝั่งมีคำตอบหลายอย่างมาก ผมเจอที่ปัตตานีเริ่มใช้เรือใบเมื่อตอนน้ำมันแพงเพื่อการจับปลา มันเป็นไปได้เป็นไปไม่ได้อย่างไร งานศึกษาเกี่ยวกับคนจนที่สัมพันธ์เชื่อมโยงไปในส่วนอื่นๆ ของสังคม ผมว่าค่อนข้างน้อย


 


อีกตัวอย่างหนึ่ง แรงงานของชุมชนแออัด ชุมชนแออัดหรือสลัมถูกดูถูกเหยียดหยามตลอดมาในสังคมไทย วิธีต่อสู้ของคนจน คนไร้อำนาจ คนชายขอบทั้งหลายก็คือว่า คุณต้องเปลี่ยนอัตลักษณ์ตนเองในสังคมนี้ ถ้าคุณบอกว่าคุณเป็นชาวเขา เป็นอะไรคุณจะถูกเหยียดหยามอยู่ตลอดเวลา วิธีหนึ่งของคนสลัมก็คือว่า ผมคือผู้รักษาความสะอาดของเมืองเอาไว้ ผมคือแรงงานที่เมืองขาดไม่ได้ สร้างคุณค่าต่อสังคมให้กับตัวเอง อันนี้คืออีกอันที่ผมคิดว่าน่าศึกษามากว่าบทบาทของคนจนในเชิงเศรษฐกิจ ในเชิงอื่นๆ ในสังคมในเมืองเรานี้เป็นอย่างไร ตรงนี้งานศึกษาเกี่ยวกับคนจนที่เชื่อมโยงไปถึงส่วนอื่นๆ ของสังคมผมคิดว่ายังค่อนข้างน้อย เป็นข้อที่ผมเสนอเอง



อีกอันหนึ่งก็คือ ข้อมูลสถิติในภาพรวม เราพูดถึงคนจนแยะมากแต่เรามีสถิติเกี่ยวกับคนจนน้อยมาก รู้จำนวนคนจนโดยที่ถือนิยามคนจนที่มีความหมายแบบสภาพัฒน์ฯ มีรายได้ต่ำกว่าเท่านั้นเท่านี้ เรามันมีตัวเลขแต่ในเรื่องของจำนวน ตัวเลขการกระจาย แต่ยังมีตัวเลขทางสถิติอื่นๆ อีกเยอะ ที่เรายังไม่มีงานศึกษา ไม่มีการเก็บสิ่งเหล่านี้ ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่วางแผนไม่ได้เพราะว่าเราไม่มีสถิติที่จะไปวางแผน นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งซึ่งจริงๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะความรู้เกี่ยวกับคนจนหรือความยากจนเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นกับความรู้ทุกอย่างในสังคมไทย เราเป็นสังคมที่ไม่มีข้อมูลทางสถิติเพียงพอแม้แต่ในการที่จะเถียงกัน เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ต้องเถียงกันต้องโกหกเยอะมาก



ประเด็นสุดท้ายก็คือว่า การเผยแพรความรู้เกี่ยวกับเรื่องคนจนถึงแม้ว่ามันดีขึ้น แต่ว่ามันก็ยังค่อนข้างน้อย ผมคิดว่าในสังคมไทยโดยรวมๆ โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองทั้งหลายคนจนคือคนจากดาวพระอังคาร เป็นคนแปลกหน้า เป็นคนที่เราไม่รู้จักโดยสิ้นเชิงเลย เพราะฉะนั้นในแง่นี้มีความสำคัญว่าจะทำอย่างไรเราจะได้เผยแพร่ให้คนในสังคมไทยเข้าใจ อาจจะไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของคนจน แต่ก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ต้องรู้จักเขาก่อนว่าเขาอยู่ในเงื่อนไขอะไร ผมคิดว่าในเรื่องนี้ยังทำค่อนข้างน้อย อันนี้อาจไม่ใช่งานวิชาการโดยตรง แต่ก็อาจเป็นงานวิชาการด้วยก็ได้ในการศึกษาว่าทำไมมันถึงน้อย และการเผยแพร่อย่างไรจึงจะมีผลดี


 


ถ้าอย่างนั้นการทำความเข้าใจเรื่องคนจนในสังคมวงกว้าง มันจึงเป็นเรื่องของคนที่เดือดร้อนเฉพาะกลุ่ม เดือดร้อนเฉพาะคราว เดือดร้อนเฉพาะเรื่องเท่านั้น ทำให้คนจนเองรวมทั้งเอ็นจีโอ นักวาการ และอื่นๆ ทั้งหมดไม่ค่อยมีพลังในการผลักดันความเดือดร้อนนั้นไปสู่นโยบายสาธารณะ คุณต่อต้านโรงไฟฟ้ามาผมว่าเกิน 10 โรงแล้วในประเทศไทย แต่ว่าเราไม่มีพลังพอที่จะทำให้รัฐทบทวนนโยบายพลังงานกันใหม่ เพราะฉะนั้นเมื่อคุณต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่ายหิน ไม่เป็นไรเดี่ยวผมสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ให้คุณเอง เพราะเราไม่ได้มีพลังพอในการผลักดันให้ความเดือดร้อนเหล่านั้น ซึ่งที่จริงมันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสาธารณะนั่นเอง


 


เรามีการยึดที่ดิน ในวิทยานิพนธ์ที่เสนอในการประกวดในครั้งนี้ มีเรื่องการยึดที่ดินที่จังหวัดลำพูน อันนั้นก็ประสบความล้มเหลว วิทยานิพนธ์นี้ก็ชี้ให้เห็น ประสบความล้มเหลวในการที่จะทำให้ทำให้การเคลื่อนไหวในครั้งนั้นไม่ใช้แก้ปัญหาความเดือดร้อนที่มีเศรษฐีมายึดที่ดินสาธารณะโดยผิดกฎหมายด้วยซ้ำไป แต่ว่าท่านไปฟอกให้มันถูกกฎหมายนะครับแล้วชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน นี่คือปัญหาเรื่องของการจัดการและการถือครองที่ดินในประเทศไทยซึ่งเป็นปัญหาที่หนักหน่วงที่สุด ซึ่งไม่มีซักรัฐบาลเดียว ไม่มีกลุ่มประท้วงสักกลุ่มเดียวในสังคมไทยสนใจจะพูดถึง ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่มากๆ แล้วสังคมเราไปไม่รอดนะครับถ้าปล่อยให้ที่ดินของเรากลายเป็นสินค้าเก็งกำไรอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้


 


แต่ว่าการยึดที่ดินนายทุนของชาวบ้านที่ลำพูนนั้นไม่สามารถนำไปสู่การผลักดัน การแพ้โดยติดคุก โดนศาลพิพากษานั้นไม่สำคัญเท่ากับว่า เมื่อแพ้แล้วต้องผลักนโยบายสาธารณะไปสู่การปฏิรูปที่ดินทั้งประเทศให้ได้ อย่างน้อยที่สุดกลายเป็นญัตติสาธารณะที่พรรคการเมือง ที่พวกเรา ที่กลุ่มประท้วงต้องพูดถึง ว่าจะจัดการอย่างไรกับเรื่องที่ดิน นี่เป็นตัวอย่าง ไม่ว่าเรื่องป่า เรื่องน้ำ หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ มันไม่สามารถที่จะผลักนโยบายสาธารณะออกไปจากประเด็นปัญหาของคนจนได้


 


เพราฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดนโยบายสาธารณะอะไรก็แล้วแต่ คนจนจะซวยไปทุกที ไม่มีโอกาส เพราะว่าจากจุดยืนของเขามันผลักไปไม่ถึง ไอ้ที่เรามาแต่ละครั้งไม่มีเขา ไม่เกี่ยวกับเขา เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐเป็นผู้จัดการน้ำแต่เพียงผู้เดียวอย่างที่กำลังจะออก พ.ร.บ.น้ำในขณะนี้ คนจนกลัวเพราะคุณจะเข้าไม่ถึงน้ำเป็นต้น เพราะนโยบายน้ำไม่ได้ผลักมาจากความเดือดร้อนและชีวิตจริงของคนจน


 


ทั้งหมดเหล่านี้ ผมเชื่อว่าความรู้เกี่ยวกับคนจนและความยากจนทั้งโลกไม่ใช่เฉพาะเมืองไทยมีน้อยมาก แล้วเวลาที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยพูดถึงความเป็นเลิศทางวิชาการ ให้มีความหมายแต่เพียงว่าเราจะตามฮาร์เวิร์ดอย่างไร หรือจะตามอ็อกฟอร์ดอย่างไร ไม่ได้คิดว่ามันมีประเด็นปัญหาที่เราจะเป็นผู้นำของโลกที่ฮาร์เวิร์ดจะต้องมาเรียนกับเราอย่างไร เช่น เรื่องคนจนและความยากจน ถ้าคุณเก่งจริงคุณต้องสร้างความรู้อันนี้ให้แก่โลก ไม่ใช้ให้แก่ตัวเองอย่างเดียวด้วยซ้ำไป และเชื่อผมว่าถ้าคุณเก่งได้จริงทั่วทั้งโลกต้องเรียนกับคุณเรื่องของคนจน ไม่ได้มองแต่เพียงเฉพาะประเทศรวยๆ ที่มีเงินจะมาเรียน ความยากจนเป็นปัญหากว่าครึ่งโลก คุณเก่งอย่างเดียวเท่านั้นเอง ผมคิดว่าจะเป็นเลิศทางวิชาการจริงๆ ไม่ใช่คุณเก่งเท่าอ็อกฟอร์ด คุณเก่งกว่าอ็อกฟอร์ด ไม่ใช่เก่งทุกเรื่อง เก่งในเรื่องคนจนเป็นต้น แต่เราไม่ได้ทำ


 


เพราะฉะนั้นการที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้รางวัล วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ แก่วิทยานิพนธ์เพื่อคนจนในวันนี้ ผมคิดว่ามีความสำคัญและเป็นเกียรติที่แท้ด้วย ที่ใช้ชื่อของวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ในเมืองไทยคนที่มีเกียรติยศที่แท้จริง ที่ไม่ได้เกิดจากการปั่นหุ้นในระบบให้มีเกียรติยศมีน้อยมาก และหนึ่งที่น้อยมากนั้นคือคุณวนิดา การใช้ชื่อคุณวนิดาเป็นชื่อของรางวัลในวันนี้ ผมคิดว่ามีความสำคัญ ทั้งแก่การเป็นแบบอย่างให้แก่การเป็นคนมีเกียรติที่แท้จริงไม่ใช่มีเกียรติเฉพาะที่สังคมมันปั่นให้คุณมีเกียรติ และในขณะเดียวกันผมหวังว่ารางวัลอันนี้และการกระทำแบบนี้จะช่วยผลักดันให้เราเป็นความเป็นเลิศในทางวิชาการจริงๆ ให้เราให้ความสนใจศึกษาสิ่งที่มีคนรู้น้อยมากในโลกนี้ คือเรื่องนี้ของคนจนและความยากจน ขอบพระคุณมากครับ


 


00000


 


หมายเหตุ: งานมอบรางวัล วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ สำหรับวิทยานิพนธ์ เพื่อคนจน ไม่มีวิทยานิพนธ์ที่ได้รับรางวัลที่ 1 ส่วนรางวัลที่ 2 เป็นของ น.ส.กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น วิทยานิพนธ์เรื่อง "พลวัตรของยุทธวิธีการต่อสู้ของขบวนการทางสังคม : ศึกษากรณีขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน จังหวัดลำพูน" รางวัลที่ 3 นายขวัญฟ้า ศรีประพันธ์ วิทยานิพนธ์เรื่อง "ภาพตัวแทนคนจนในรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์"


 


รางวัลชมเชยมี 2 รางวัล ได้แก่ นายเอกพล เสียงดัง วิทยานิพนธ์เรื่อง "ผลสะเทือนจากการต่อสู้ของขบวนการคนจนและคนด้อยอำนาจในสังคมไทย ตั้งแต่ปี 2531-2549" และ น.ส.กมลวรรณ ชื่นชูใจ วิทยานิพนธ์เรื่อง "การจับกุมชนกลุ่มน้อยบ้านปางแดง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่"


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net