Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับ "ผลการศึกษาของคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับกรณีปัญหาเขาพระวิหาร" โดยคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกรณีปัญหาเขาพระวิหาร นำโดย ร้อยตรีวิจิตร อยู่สุภาพ ประธานคณะทำงาน นายราชันย์ วีระพันธุ์ สมาชิกคณะทำงานฯ นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม สมาชิกคณะทำงานฯ นายปริญญา ศิริสารการ สมาชิกคณะทำงานฯ นายธีรวัจน์ นามดวง สมาชิกคณะทำงานฯ


 


ทั้งนี้ในการแถลงข่าว นายปริญญา เป็นผู้บรรยายเอกสารแถลงข่าวที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกรณีปัญหาเขาพระวิหาร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวการได้รับขึ้นทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหาร โดยตั้งข้อสังเกตถึงความโปร่งใสของ ICOMOS สากล ในประเมินให้ปราสาทพระวิหารมีคุณค่าสากลที่โดดเด่น (Outstanding Universal Value) ตามเกณฑ์มรดกโลกทางวัฒนธรรมข้อ 1  2  และ 4  โดยไม่ต้องขอจดทะเบียนมรดกโลกร่วมกับไทยในลักษณะข้ามพรมแดน (Transboundary nomination) ทั้งที่พื้นที่บริเวณรอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชายังไม่สามารถตกลงเรื่องเขตแดนระหว่างกันได้ และความไม่โปร่งใสของมติคณะกรรมการมรดกโลกที่อนุมัติให้จดทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร


 


ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ ประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า คณะทำงานฯ จะเสนอเรื่องในการศึกษาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ทางทะเลในอ่าวไทย เนื่องจากมีพลังงานก๊าซ และน้ำมันเป็นแสนล้านบาท โดยคณะทำงานเป็นห่วงว่าหากไทย จะเกิดเพลี่ยงพล้ำคดีเขาพระวิหาร จะทำให้เราสูญเสียพื้นที่ดังกล่าวไปด้วย ดังนั้นคณะทำงานจะศึกษาว่าเรื่องดังกล่าวมีใครได้และเสียประโยชน์ หรือไปเอื้อให้กลุ่มธุรกิจใด โดยเฉพาะของไทยและคนในพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าจะมีคนไทยอยู่เบื้องหลังทั้งในทางนโยบาย การปฏิบัติการและในท้องถิ่น


 


นายปริญญา กล่าวถึงกรณีที่ประเทศกัมพูชาเสนอให้ประเทศไทยใช้คำเรียกชื่อปราสาท "พระวิหาร" ว่า "เพรียวีเหียะ" ตามประเทศกัมพูชาว่า ตนเชื่อว่าคำว่าเพรียวีเหียะ ไม่ใช่คำศัพท์ของประเทศกัมพูชาแต่เป็นศัพท์ที่ประเทศฝรั่งเศสใช้ ต่อมาสากลก็ใช้ทับศัพท์ด้วย ซึ่งเราน่าจะแย้งไปแม้จะเป็นศัพท์ที่ใช้มานานแล้ว เราน่าจะพิจารณาว่าสากลจะเปลี่ยนตามเราไหม


 


"เอกสารทุกฉบับที่เราศึกษา แม้แต่รายงานของคณะทำงาน เราก็ยืนยันเรียกว่าปราสาทพระวิหาร ดังนั้นเชื่อว่ารัฐบาลไทยก็คงต้องยืนยันใช้คำภาษาไทยว่า ปราสาทพระวิหาร" นายปริญญากล่าว


 


ด้านนายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม สมาชิกคณะทำงานฯ กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทย ดังนั้นโดยข้อเท็จจริงเราควรเรียกว่าปราสาทพระวิหารเพราะถือเป็นของไทย ถ้าเราไปยอมรับว่าเรียก"เพรียวีเหียะ" ก็เท่ากับยอมรับว่าเป็นของกัมพูชาแล้วเรียกตามเขา ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่า เอกสารต่างๆ ที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยใช้ติดต่อกับกัมพูชาจะใช้คำว่า "พระวิหาร" แต่เมื่อกัมพูชาติดต่อกับไทยจะใช้คำว่า "เพรียวีเหียะ"


 


นายธีรวัจน์ นามดวง สมาชิกคณะทำงานฯ กล่าวว่า การเสนอเรื่องคำเรียกชื่อปราสาทให้เรียกตามกัมพูชานั้นเป็นการเล่นการเมืองเชิงรุกของกัมพูชาที่ต้องการสร้างให้เกิดความสับสน ดังนั้นประเทศไทยไม่ควรจะไปหลงกลวิ่งตามกัมพูชา


 


นายปริญญากล่าวถึงกรณีภรรยาของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เดินทางมาทอดกฐินในเขตไทย ว่า กระทรวงการต่างประเทศควรจะยืนยันว่าฝ่ายกัมพูชาเข้ามาทอดกฐินในเขตไทยไม่ได้


 


เมื่อซักว่ากรณีดังกล่าวกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำการประท้วงกัมพูชาไปแล้ว ดังนั้น ทหารควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อการลุกล้ำเข้ามาของกัมพูชาหรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่าทหารและกระทรวงการต่างประเทศรู้ดี แต่ภาคการเมืองของเราอ่อนแอ ทำให้ภาคปฏิบัติซึ่งต้องทำตามนโยบายอึดอัดมากเพราะไม่มีการสั่งการมา ทั้งนี้ ฝ่ายไทยต้องไม่ถอนกำลังทหาร เพราะเรายืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของไทย แต่คนไทยกลับเข้าไปไม่ได้ ขณะที่ชาวกัมพูชากลับมาสร้างวัดและชุมชน


 


นายธีรวัจน์ นามดวง กล่าวว่า เราไม่ตำหนิทหารที่อยู่ในพื้นที่ เพราะปัญหาอยู่ที่รัฐบาลไม่ดำเนินนโยบายที่ชัดเจน เราต้องตำหนิฝ่ายที่ต้องดูแลด้านนโยบายที่ไม่ออกคำสั่ง


 


นายราชันย์ วีระพันธุ์ คณะทำงานฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานได้ศึกษาตามกรอบการทำงานที่จะสรุปเสนอให้รัฐบาลถึงมาตราการที่เร่งด่วนในการทำความเข้าใจกับประชาชนและประเทศกัมพูชา และหลังจากนี้คณะทำงานจะศึกษาต่อในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนในเขตแดนที่ยังเป็นข้อพิพาท ทั้งนี้ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา มีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่าการบริหารบ้านเมืองของไทยเป็นความอ่อนด้อยของรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาด้านชายแดน เขาพระวิหาร ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการชี้แจงบนเวทีโลกอย่างจริง และเวทีในภูมภาคเอเชียนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพรมแดนที่ใช้ตามหลักสากลว่าอยู่ตรงไหน และทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริง ขอเรียกร้องให้รัฐบาล ข้าราชการประจำ เจ้าหน้าที่ต้องสนใจปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อนำสู่การแก้ปัญหาต่อไป โดยต้องดำเนินการให้ทันเกมรัฐบาลกัมพูชา รัฐบาลต้องกล้าประกาศ เพราะเราต้องการเห็นความอ่อนโยนในการเจรจา แต่ไม่ใช่อ่อนแอ โดยต้องทำด้วยเหตุผลไม่ใช้อารมณ์ ดำเนินนโยบายด้วยความเข้มแข็งแต่ไม่ใช่แข็งกร้าว นอกจากนี้จะขออนุมัติจากสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อขอศึกษาผลพวงจากชายแดนพื้นที่เขาพระวิหารว่าจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ทับซ้อนในทางทะเลหรือไม่ เพราะในพื้นที่ดังกล่าวมีทรัพยากรณ์ธรรมชาติอย่างมากมาย


 


นายราชันย์ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าจากการศึกษาตั้งแต่ศาลโลกมีคำพิพากษา 5 ก.ค. 2545  เป็นเวลา 45 ปีแล้ว ที่ในทางปฏิบัติรัฐบาลทุกสมัยได้ปล่อยปละละเลย โดยเฉพาะพื้นที่ของไทยบริเวณเขาพระวิหาร ซึ่งทำให้กัมพูชาเข้ามาทำประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน และในพื้นที่ของไทย  แม้จะมีการทำเอกสารชี้แจงให้รัฐบาลกัมพูชาผลักดันคนของเขาออกไป แต่ก็ได้รับการเพิกเฉย จนทำให้เกิดเหตุบานปลายถึงขณะนี้


 


นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม กล่าวว่า ในอนาคตหากมีการเลือกตั้ง ฝ่ายการเมืองของไทย โดยพรรคการเมืองต่างๆ ต้องนำเรื่องพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหารมาเป็นนโยบายหาเสียงเพื่อเรียกร้องดินแดนซึ่งเป็นสิทธิประเทศไทยคืนมาและเชื่อว่า ประชาชนชาวไทยจะให้ความสนใจ เหมือนที่รัฐบาลกัมพูชาเคยนำเรื่องปราสาทพระวิหารในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว ขั้นตอนในการอ้างสิทธิดินแดนไทยคืนต้องใช้ตามหลักสากลและความถูกต้อง


 


นายธีรวัจน์ นามดวง กล่าวว่า หากฝ่ายกัมพูชายังยึดถือเอาแผนที่ของฝรั่งเศสอยู่ ตามความคาดการณ์ เชื่อว่ากัมพูชาจะผนวกพื้นที่ทับซ้อน อุบล สุรินทร์ เป็นจำนวน 1.5 ล้านไร่  เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการจดทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ดังนั้นรัฐบาล ต้องเร่งทำความเข้าใจ และยกเลิกแผนที่ดังกล่าวแล้วให้มายึดแผนที่ตามหลักสากลโดยยึดแนวสันปันน้ำ มิเช่นนั้นในอนาคตหากปล่อยปละละเลยไว้เราจะถูกกลืนดินแดนดังกล่าวไปโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้สถาบันไทยคดศึกษาได้จุดประเด็นพื้นที่ชายแดนไทยกัมพูชา ที่จ.อุบลราชธานี 1.5 แสนตารางกิโลเมตร โดยระบุว่า มีความพยายามจะเสนอให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันถือเป็นสิ่งใหม่ไม่เคยปรากฎเป็นการดึงทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นข้ออ้างหรือไม่


 






การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน


กรณีศึกษาปัญหาเขาพระวิหาร


 


โดย


คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกรณีปัญหาเขาพระวิหาร


สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


วันที่  17  พ.ย.  2551


 


 


            จากการดำเนินการศึกษาจนถึงปัจจุบัน  คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกรณีปัญหาเขาพระวิหาร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวการได้รับขึ้นทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหาร ดังนี้


 


            1.   มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2505 ในเรื่องการกำหนดบริเวณปราสาทพระวิหารเพื่อที่กัมพูชาจักได้มีอำนาจอธิปไตยตามคำพิพากษาของศาลโลก  รัฐบาลต้องถือว่าเขตที่กั้นรั้วลวดหนามตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเพียงเขตที่กำหนดสำหรับการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อที่กัมพูชาจักได้มีอำนาจอธิปไตยต่อปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษาโลกเท่านั้น ไม่ใช่เขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา  นอกจากนี้รัฐบาลต้องประกาศ ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ทั่วถึงทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ปัจจุบันได้ยึดถือว่าเขตที่กั้นรั้วลวดหนามดังกล่าวเป็นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา


 


            2.   แผนที่ภาคผนวก 1 (Annex I map) ต่อท้ายคำฟ้องคดีปราสาทพระวิหารของกัมพูชาต่อศาลโลก  รัฐบาลไทยต้องไม่รับรองแผนที่ดังกล่าว รวมทั้งไม่ใช้อ้างอิงอ้างเป็นทางการในการเจรจาใดๆ กับกัมพูชา  แต่ต้องเจรจาโดยใช้เส้นสันปันน้ำตามหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 13 ก.พ. ร.ศ. 122 (ค.ศ. 1904) และหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มี.ค. ร.ศ. 125 (ค.ศ. 1907) 


 


            3.   คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Communiqué) ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย. 2551  ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ  ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางอีกด้วย  ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง   และเพื่อประโยชน์ของประเทศและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดภายหน้า  รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ดังกล่าวอย่างเป็นทางการโดยเร็วต่อกัมพูชา  และต้องแจ้งให้นานาชาติรวมทั้ง UNESCO และคณะกรรมการมรดกโลก ได้รับทราบถึงการประกาศยกเลิกดังกล่าวอย่างเป็นทางการด้วย  พร้อมทั้งแจ้งเหตุผลของการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการออกคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ดังกล่าว


 


            4.   การจัดการให้ชุมชนกัมพูชาออกจากเขตไทยและเขตพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหาร  รัฐบาลต้องเร่งเจรจากับกัมพูชาให้ชุมชนของกัมพูชาที่ตั้งร้านค้าบริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหารในเขตไทย และที่ตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหาร ออกจากเขตดังกล่าวโดยเร็วและไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น  ทั้งนี้ต้องไม่ปรับลดกำลังทหารในเขตดังกล่าวหากชุมชนกัมพูชายังไม่ย้ายออกไป  โดยหากการเจรจาไม่ได้ผลให้รัฐบาลพิจารณาใช้มาตราการที่แข็งขึ้นเพื่อกดดันให้ชุมชนกัมพูชาออกไปจากเขตดังกล่าว


 


 


            5.   การดำเนินการต่อการได้รับขึ้นทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหาร  รัฐบาลต้องดำเนินการดังต่อไปนี้


                  5.1  เปิดเผยให้นานาชาติได้รับรู้ถึงความไม่โปร่งใสของ ICOMOS สากล ในประเมินให้ปราสาทพระวิหารมีคุณค่าสากลที่โดดเด่น (Outstanding Universal Value) ตามเกณฑ์มรดกโลกทางวัฒนธรรมข้อ 1  2  และ 4  โดยไม่ต้องขอจดทะเบียนมรดกโลกร่วมกับไทยในลักษณะข้ามพรมแดน (Transboundary nomination) ทั้งที่พื้นที่บริเวณรอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชายังไม่สามารถตกลงเรื่องเขตแดนระหว่างกันได้ ยิ่งไปกว่านั้นก่อนหน้านี้ทาง ICOMOS ประเทศไทย ได้ทำข้อโต้แย้งทางวิชาการต่อการประเมินของ ICOMOS สากล ไปยังประธาน ICOMOS สากล  โดยข้อโต้แย้งทางวิชาการดังกล่าวมีความชัดเจนตามหลักวิชาการและไม่อาจจะปฏิเสธข้อโต้แย้งดังกล่าวได้  แต่ทาง ICOMOS สากล ไม่ได้ทบทวนการประเมินดังกล่าวแต่อย่างใด 


                  5.2  เปิดเผยให้นานาชาติได้รับรู้ถึงความไม่โปร่งใสของมติคณะกรรมการมรดกโลกที่อนุมัติให้จดทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ในประเด็นสำคัญดังนี้


                        1)   มีการยกเว้นให้กัมพูชาส่งเอกสารเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคม 2551 ได้ ทั้งที่ใน Operational Guidelines for the Implementation of World Heritage Convention กำหนดตามข้อ 148 h) ว่าเอกสารที่ส่งหลังจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 จะไม่นำมาพิจารณาในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก และกำหนดเวลาดังกล่าวควรถือปฏิบัติอย่างเคร่งคัด


                        2)   คณะกรรมการมรดกโลกมีมติอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารได้โดยที่กัมพูชายังไม่มีการกำหนดเขตกันชน (Buffer Zone)  และแผนจัดการพื้นที่  ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่คำนึงว่าเขตกันชนที่จะต้องถูกกำหนดขึ้นจะอยู่ในพื้นที่พิพาทที่ไทยและกัมพูชายังไม่สามารถตกลงเรื่องเขตแดนระหว่างกันได้  ซึ่งเป็นการขัดอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ในมาตรา 11 ข้อ 3. ที่กำหนดว่าการบรรจุสิ่งใดในทะเบียนมรดกโลกต้องได้รับการยินยอมจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง  และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการสู้รบกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาในพื้นที่พิพาทดังกล่าว ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิต ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความขัดแย้งในพื้นที่พิพาทที่มีอยู่


                        3)   คณะกรรมการมรดกโลกมีมติร้องขอให้กัมพูชาโดยความร่วมมือกับ UNESCO จัดประชุมคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ (International Coordinating Committee) เพื่อการดูแลคุ้มครองและการพัฒนาปราสาทพระวิหารใม่ช้ากว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยเชิญรัฐบาลไทย และผู้มีส่วนในระดับนานาชาติ (International partners) อื่นๆ ที่เหมาะสมอีกไม่เกิน 7 ชาติ  ซึ่งไม่เคยมีมรดกโลกแห่งใดเลยที่ใช้กลไกเช่นนี้เพื่อการอนุรักษ์  และการใช้กลไกเช่นนี้จะยังผลให้ผู้มีส่วนในระดับนานาชาติดังกล่าวสามารถเข้าแทรกแซงปกป้องกัมพูชา และกดดันไทยเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนไทยที่ต้องใช้เป็นเขตกันชน


                  5.3  ไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ  และไม่ให้ความร่วมมือกับกัมพูชาในการจัดทำเขตการกันชนและแผนจัดการพื้นที่  จนกว่าจะมีการตกลงเรื่องเขตแดนบริเวณเขาพระวิหารได้


 


           


 


 


 


เหตุผลและข้อเท็จจริงประกอบความเห็น


 


            คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกรณีปัญหาเขาพระวิหาร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสัวคมแห่งชาติ มีเหตุผลและข้อเท็จจริงประกอบความเห็นดังนี้


 


            1.   มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2505 ในเรื่องการกำหนดบริเวณปราสาทพระวิหารเพื่อที่กัมพูชาจักได้มีอำนาจอธิปไตยตามคำพิพากษาของศาลโลก  รัฐบาลต้องถือว่าเขตที่กั้นรั้วลวดหนามตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเพียงเขตที่กำหนดสำหรับการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อที่กัมพูชาจักได้มีอำนาจอธิปไตยต่อปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษาโลกเท่านั้น ไม่ใช่เขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา  นอกจากนี้รัฐบาลต้องประกาศ ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ทั่วถึงทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ปัจจุบันได้ยึดถือว่าเขตที่กั้นรั้วลวดหนามดังกล่าวเป็นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา


 


เหตุผลและข้อเท็จจริง: มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2505 ได้มีการกำหนดบริเวณซึ่งมีเนื้อที่บริเวณปราสาทพระวิหารประมาณ 0.25 ตารางกิโลเมตรและทำรั้วลวดหนามกั้นเขต  หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้จะเกิดความชัดเจนว่า เขตที่กั้นรั้วลวดหนามตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเพียงเขตที่กำหนดสำหรับการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อที่กัมพูชาจักได้มีอำนาจอธิปไตยต่อปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษาโลกเท่านั้น ไม่ใช่เขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา 


1)   คำปราศรัยของจอมพล สฤษดิ์  ธนะรัชต์ นายรัฐมนตรีในขณะนั้น ทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2505 มีข้อความในคำปราศรัยดังกล่าวตอนหนึ่งว่า "แม้ว่ากัมพูชาจะได้ปราสาทพระวิหารนี้ไป  ก็คงได้ไปแต่ซากสลักหักพังและแผ่นดินเฉพาะที่รองรับพระวิหารนี้เท่านั้น" 


2)   หนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีของ จอมพลประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เรื่องการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร ลงวันที่ 6 ก.ค. 2505 มีข้อความในหนังสือดังกล่าวตอนหนึ่งว่า "เพื่อพิจารณาปรึกษากำหนดแนวเขตบริเวณปราสาทพระวิหาร  ที่ฝ่ายไทยมีพันธะจะต้องถอนกำลังตำรวจ คนเฝ้า หรือยามรักษาการณ์ให้พ้นจากบริเวณปราสาทพระวิหาร  โดยยึดหลักการที่จะให้กัมพูชาได้ไปซึ่งซากปราสาทพระวิหาร และพื้นที่รองรับปราสาทเท่านั้น"  


3)   คณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจทางกฏหมายที่จะมีมติเปลี่ยนแปลงเขตแดนของประเทศได้


แต่ปัจจุบันหน่วยงานราชการต่างๆ  ได้ยึดถือว่าเขตที่กั้นโดยรั้วลวดหนามดังกล่าวเป็นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาดังปรากฏในแผนที่มาตรา 1: 50,000 ลำดับชุด  L 7017 ของกรมแผนที่ทหาร และแผนที่ที่ตีพิมพ์ใน Foreign Affairs Bulletin ของกระทรวงการต่างประเทศ ตามข้อเท็จจริงที่กล่าวข้างต้นเขตที่กั้นโดยรั้วลวดหนามดังกล่าวเป็นเพียงเขตที่กำหนดสำหรับการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อที่กัมพูชาจักได้มีอำนาจอธิปไตยต่อปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษาโลกเท่านั้น ไม่ใช่เขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา  ดังนั้นรัฐบาลควรประกาศ ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ทั่วถึงทั้งในประเทศและต่างประทศ


 


            2.   แผนที่ภาคผนวก 1 (Annex I map) ต่อท้ายคำฟ้องคดีปราสาทพระวิหารของกัมพูชาต่อศาลโลก  รัฐบาลไทยต้องไม่รับรองแผนที่ดังกล่าว รวมทั้งไม่ใช้อ้างอิงอ้างเป็นทางการในการเจรจาใดๆ กับกัมพูชา  แต่ต้องเจรจาโดยใช้เส้นสันปันน้ำตามหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 13 ก.พ. ร.ศ. 122 (ค.ศ. 1904) และหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มี.ค. ร.ศ. 125 (ค.ศ. 1907)  


เหตุผลและข้อเท็จจริง:             เนื่องจากแผนที่ดังกล่าวเป็นแผนที่ที่ประเทศฝรั่งเศสทำขึ้นฝ่ายเดียว  ถึงแม้นว่าฝ่ายไทยในคณะกรรมการผสมปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนได้เป็นผู้ร้องขอให้ฝ่ายฝรั่งเศสจัดทำแผนที่ดังกล่าว ด้วยเหตุที่ฝ่ายไทยมีข้อจำกัดของความรู้และเครื่องมือเครื่องใช้ที่จะร่วมจัดทำแผนที่  แต่ในรายงานการประชุมคณะกรรมการผสมชุดดังกล่าวในวันที่ 7 ก.พ. 2448 (ค.ศ. 1905) ปรากฎว่า พันตรีแบร์นาร์ด ประธานฝ่ายฝรั่งเศส ได้เตือนให้ พลเอกหม่อมชาติเดชอุดม ประธานฝ่ายไทย ระลึกถึงวิธีการดำเนินการซึ่งกำหนดขึ้นในการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2448 (ค.ศ. 1905) โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า "เมื่อได้มีการตกลงกัน  จะถือว่าได้มีการกำหนดเส้นเขตแดนขึ้นแน่นอน  เมื่อได้ให้สมาชิกคณะกรรมการทั้งสองฝ่ายลงนามในแผนที่ที่แสดงเส้นเขตแดนนั้นแล้ว"  เนื่องจากคณะกรรมการผสมปักปันเขตแดนระหว่างสยามและอินโดจีนไม่เคยให้ความเห็นชอบและลงนามในแผนที่หรือแม้นกระทั้งได้เห็นแผนที่ดังกล่าวในการประชุมใดๆ ของคณะกรรมการผสมดังกล่าว  นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสยังดำเนินการเองแต่โดยลำพังในการพิมพ์แผนที่ดังกล่าวเผยแพร่  และแจกจ่ายแผนที่โดยมิได้ขอความเห็นหรือความเห็นชอบด้วยจากฝ่ายไทย  ยิ่งไปกว่านั้นแผนที่ดังกล่าวยังสามารถถูกพิสูจน์ได้ว่าไม่ถูกต้องตามภูมิประเทศของพื้นที่จริง   เส้นเขตแดนที่ลากในแผนที่ดังกล่าวได้หันเหเป็นอย่างมากจากเส้นสันปันน้ำจริงเนื่องจากข้อผิดพลาดที่เกิดจากการกำหนดที่ตั้งอย่างผิดๆ ของแม่น้ำโอตาเซม  ส่งผลให้เส้นเขตแดนที่แสดงผิดและออกไปนอกแนวเส้นสันปันน้ำจริง โดยทำให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนกัมพูชา


 


            3.   คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Communiqué) ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย. 2551  ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ  ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางอีกด้วย  ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง   และเพื่อประโยชน์ของประเทศและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดภายหน้า  รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ดังกล่าวอย่างเป็นทางการโดยเร็วต่อกัมพูชา  และต้องแจ้งให้นานาชาติรวมทั้ง UNESCO และคณะกรรมการมรดกโลก ได้รับทราบถึงการประกาศยกเลิกดังกล่าวอย่างเป็นทางการด้วย  พร้อมทั้งแจ้งเหตุผลของการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการออกคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ดังกล่าว


 


เหตุผลและข้อเท็จจริง: ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2551 ว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หรือ  Joint Communiqué  ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ  ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางอีกด้วย  ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง   ถึงแม้นในการประชุมที่เมืองเสียมราฐ วันที่ 28 ก.ค. 2551 ระหว่างรับประทานอาหารเที่ยง นายฮอ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา ได้กล่าวกับ นายเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้นว่า กัมพูชาไม่ถือว่าคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ  สภาวการณ์หลังการลงนาม และข้อจำกัดที่เป็นผลตามมา ทำให้คำแถลงการณ์ร่วมเองนั้นเป็นเอกสารที่สิ้นผลแล้ว โดยนายเตช บุนนาค ได้ทำหนังสือถึงนายฮอ นัมฮง ลงวันที่ 25 ส.ค. 2551 เพื่อยืนยันคำกล่าวดังกล่าวของนายฮอ นัมฮง และนายฮอ นัมฮง ได้มีหนังสือตอบ ลงวันที่ 1 ก.ย. 2551 โดยได้ยืนยันคำกล่าวนั้น แต่เพื่อประโยชน์ของประเทศและป้องกันปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่อาจเกิดภายหน้า  รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ดังกล่าวอย่างเป็นทางการโดยเร็วต่อกัมพูชา และแจ้งให้นานาชาติรวมทั้ง UNESCO และคณะกรรมการมรดกโลก ได้รับทราบถึงการประกาศยกเลิกดังกล่าวอย่างเป็นทางการด้วย  พร้อมทั้งแจ้งเหตุผลของการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการออกคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ดังกล่าว


 


            4.   การจัดการให้ชุมชนกัมพูชาออกจากเขตไทยและเขตพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหาร  รัฐบาลต้องเร่งเจรจากับกัมพูชาให้ชุมชนของกัมพูชาที่ตั้งร้านค้าบริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหารในเขตไทย และที่ตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหาร ออกจากเขตดังกล่าวโดยเร็วและไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น  ทั้งนี้ต้องไม่ปรับลดกำลังทหารในเขตดังกล่าวหากชุมชนกัมพูชายังไม่ย้ายออกไป  โดยหากการเจรจาไม่ได้ผลให้รัฐบาลพิจารณาใช้มาตราการที่แข็งขึ้นเพื่อกดดันให้ชุมชนกัมพูชาออกไปจากเขตดังกล่าว


 


เหตุผลและข้อเท็จจริง: ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ได้มีชุมชนกัมพูชามาตั้งร้านค้าและแผงลอยบริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหารในเขตไทยเพื่อขายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยว  จนถึงปัจจุบันมีร้านค้าและแผงลอยประมาณ 40 ร้าน  ในปี 2542 กัมพูชาได้สร้างวัดบริเวณฝั่งตะวันตกของปราสาทพระวิหารซึ่งอยู่นอกเขตที่กั้นรั้วลวดหนามตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2505  และในช่วงปี 2547-2548 มีการขยายตัวของชุมชนกัมพูชา มีการก่อสร้างอาคารถาวรเพื่อเป็นที่ทำการเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของกัมพูชา และมีการสร้างถนนจากบ้านโกมุยของกัมพูชาขึ้นมายังเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนของไทย  โดยกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ทำหนังสือประท้วงต่อกัมพูชาหลายฉบับ  แต่กัมพูชานิ่งเฉยโดยอ้างว่าบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา  ฝ่ายไทยเองก็ไม่ได้ใช้มาตราการที่เข้มแข็งในการระงับกิจกรรมต่างๆ ของกัมพูชาดังกล่าว  ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งเจรจากับกัมพูชาให้ชุมชนของกัมพูชาที่ตั้งร้านค้าบริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหารในเขตไทย และที่ตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหาร ออกจากเขตดังกล่าวโดยเร็วและไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น  ทั้งนี้ต้องไม่ปรับลดกำลังทหารในเขตดังกล่าวหากชุมชนกัมพูชายังไม่ย้ายออกไป  โดยหากการเจรจาไม่ได้ผลให้รัฐบาลพิจารณาใช้มาตราการที่แข็งขึ้นเพื่อกดดันให้ชุมชนกัมพูชาออกไปจากเขตดังกล่าว


 


5.         การดำเนินการต่อการได้รับขึ้นทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหาร  รัฐบาลต้องดำเนินการดังต่อไปนี้


                  5.1  เปิดเผยให้นานาชาติได้รับรู้ถึงความไม่โปร่งใสของ ICOMOS สากล ในประเมินให้ปราสาทพระวิหารมีคุณค่าสากลที่โดดเด่น (Outstanding Universal Value) ตามเกณฑ์มรดกโลกทางวัฒนธรรมข้อ 1  2  และ 4  โดยไม่ต้องขอจดทะเบียนมรดกโลกร่วมกับไทยในลักษณะข้ามพรมแดน (Transboundary nomination) ทั้งที่พื้นที่บริเวณรอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชายังไม่สามารถตกลงเรื่องเขตแดนระหว่างกันได้ ยิ่งไปกว่านั้นก่อนหน้านี้ทาง ICOMOS ประเทศไทย ได้ทำข้อโต้แย้งทางวิชาการต่อการประเมินของ ICOMOS สากล ไปยังประธาน ICOMOS สากล  โดยข้อโต้แย้งทางวิชาการดังกล่าวมีความชัดเจนตามหลักวิชาการและไม่อาจจะปฏิเสธข้อโต้แย้งดังกล่าวได้  แต่ทาง ICOMOS สากล ไม่ได้ทบทวนการประเมินดังกล่าวแต่อย่างใด 


                  5.2  เปิดเผยให้นานาชาติได้รับรู้ถึงความไม่โปร่งใสของมติคณะกรรมการมรดกโลกที่อนุมัติให้จดทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ในประเด็นสำคัญดังนี้


                        1)   มีการยกเว้นให้กัมพูชาส่งเอกสารเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคม 2551 ได้ ทั้งที่ใน Operational Guidelines for the Implementation of World Heritage Convention กำหนดตามข้อ 148 h) ว่าเอกสารที่ส่งหลังจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 จะไม่นำมาพิจารณาในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก และกำหนดเวลาดังกล่าวควรถือปฏิบัติอย่างเคร่งคัด


                        2)   คณะกรรมการมรดกโลกมีมติอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารได้โดยที่กัมพูชายังไม่มีการกำหนดเขตกันชน (Buffer Zone)  และแผนจัดการพื้นที่  ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่คำนึงว่าเขตกันชนที่จะต้องถูกกำหนดขึ้นจะอยู่ในพื้นที่พิพาทที่ไทยและกัมพูชายังไม่สามารถตกลงเรื่องเขตแดนระหว่างกันได้  ซึ่งเป็นการขัดอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ในมาตรา 11 ข้อ 3. ที่กำหนดว่าการบรรจุสิ่งใดในทะเบียนมรดกโลกต้องได้รับการยินยอมจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง  และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการสู้รบกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาในพื้นที่พิพาทดังกล่าว ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิต ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความขัดแย้งในพื้นที่พิพาทที่มีอยู่


                        3)   คณะกรรมการมรดกโลกมีมติร้องขอให้กัมพูชาโดยความร่วมมือกับ UNESCO จัดประชุมคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ (International Coordinating Committee) เพื่อการดูแลคุ้มครองและการพัฒนาปราสาทพระวิหารไม่ช้ากว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยเชิญรัฐบาลไทย และผู้มีส่วนในระดับนานาชาติ (International partners) อื่นๆ ที่เหมาะสมอีกไม่เกิน 7 ชาติ  ซึ่งไม่เคยมีมรดกโลกแห่งใดเลยที่ใช้กลไกเช่นนี้เพื่อการอนุรักษ์  และการใช้กลไกเช่นนี้จะยังผลให้ผู้มีส่วนในระดับนานาชาติดังกล่าวสามารถเข้าแทรกแซงปกป้องกัมพูชา และกดดันไทยเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนไทยที่ต้องใช้เป็นเขตกันชน


                  5.3  ไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ  และไม่ให้ความร่วมมือกับกัมพูชาในการจัดทำเขตการกันชนและแผนจัดการพื้นที่  จนกว่าจะมีการตกลงเรื่องเขตแดนบริเวณเขาพระวิหารได้


 


เหตุผลและข้อเท็จจริง:    


5.1  กัมพูชาได้ส่งเอกสารเพื่อขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกสำหรับปราสาทพระวิหารให้ศูนย์มรดกโลกเมื่อเดือน ม.ค. 2549 เมื่อเรื่องได้ส่งต่อมาถึง ICOMOS สากล จึงได้มีการพิจารณาหาผู้ที่เหมาะสมที่จะมาประเมินโดยได้มีการเชิญ ICOMOS ไทย ตั้งแต่ มิ.ย. 2549 ให้เสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินปราสาทพระวิหารในนาม ICOMOS สากล แต่ยังไม่มีการส่งเอกสารรายละเอียดมาให้ และในที่สุดก็ได้ขาดการติดต่อจาก ICOMOS สากล ไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ  ต่อมา Nomination File No. 1224 ในชื่อว่า "The Sacred Site of the Temple of Preah Vihear" ได้ผ่านการประเมินโดย ICOMOS สากล ตามเอกสาร WHC-07/31.COM/INF8B.I ทำให้ได้รับการบรรจุเข้าวาระการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ณ เมืองไครสท์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ในเดือน มิ.ย. 2550 โดยข้อมูลที่ทางกัมพูชานำเสนอได้แสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบทั้งหมดของปราสาทพระวิหารนั้นพื้นที่ที่เป็นส่วนของการบริหารจัดการเพื่อรักษาคุณค่าของแหล่งตั้งอยู่ในเขตของกัมพูชาเท่านั้น ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงในเรื่องพื้นที่พิพาท และสร้างข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับโบราณสถานขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ในการนี้  โดยได้ผ่านการประเมินของ ICOMOS สากล ไปอย่างน่าสงสัย  อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ได้มีมติให้เลื่อนการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหารไปในการประชุมสมัยที่ 32 ในปี 2551 เนื่องจากแผนผังกำหนดพื้นที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในบริเวณพื้นที่พิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา  ในเดือน ม.ค. 2551 ทางกัมพูชาได้เชิญให้ผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมประชุมกับผู้เชี่ยวชาญนานาชาติในการจัดทำแผนบริหารจัดการโดยมอบให้ทำแผนในเขตกันชนในประเทศไทย  ผู้แทนฝ่ายไทยได้กล่าวย้ำในที่ประชุมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการตกลงกันในเรื่องเขตแดนก่อน  และเสนอทางออกว่าควรเสนอเป็นมรดกโลกร่วมกันระหว่างกัมพูชากับไทย แต่ก็ไม่เป็นที่รับฟังของที่ประชุมรวมทั้งไม่ได้บันทึกความเห็นนี้ในรายงานความก้าวหน้า นอกจากนั้นยังประกาศว่าการแก้ไขข้อมูลใดๆ หลังจากที่ ICOMOS สากล ประเมินแล้วไม่สามารถทำได้นอกจากจะถอนเรื่องออกมาก่อน เหตุการณ์นี้ทำให้ฝ่ายไทยต้องประกาศแยกตัวไม่ร่วมทำงานร่วมด้วย  หลังจากนั้น ICOMOS ไทย ได้มีหนังสือไปถึง Mr. Michael Petzet ประธาน ICOMOS สากล เพื่อโต้แย้งการประเมินของ ICOMOS สากล ใน 5 ประเด็นดังนี้


1)      เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาคุณค่าสากลที่โดดเด่น (Outstanding Universal Value) ในความเป็นมรดกโลกของประสาทพระวิหาร ในรายงานของ ICOMOS สากล มีความแตกต่างไปจากเอกสาร Nomination File โดยไม่มีเหตุผลชี้แจงการเปลี่ยนแปลง


2)      ICOMOS สากล มีความเห็นสอดคล้องตามเอกสารข้อมูลนำเสนอของกัมพูชาว่า ปราสาทพระวิหารเป็นผลงานชิ้นเอกที่มีความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมเขมร ทั้งในการวางผังและรายละเอียดการตกแต่ง ทั้ง ๆ ที่ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่มีความสำคัญ แสดงถึงภูมิปัญญาในการออกแบบวางผัง การใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม ที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กับปราสาทพระวิหาร แต่ไม่ได้มีการนำมาพิจารณาในฐานะโบราณสถานและพื้นที่ที่อยู่เชื่อมต่อกัน ซึ่งถือว่าเป็นการนำเสนอพื้นที่โบราณสถานที่ไม่สมบูรณ์


3)      การพิจารณาของ ICOMOS สากล ไม่ได้คำนึงถึงปราสาทพระวิหารในมิติของความสัมพันธ์ระหว่างศาสนสถานและชุมชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ทั้งในแง่ของการเป็นผู้ดูแลเทวาลัย และความผูกพันทางจิตใจ ซึ่งถือเป็นคุณค่าแบบ Intangible และเป็นหัวใจสำคัญที่บ่งชี้ถึง Spirit of the place


4)      การบรรยายลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปราสาทพระวิหารที่ปรากฏอยู่ในรายงานของ ICOMOS สากล แสดงให้เห็นถึงการตีความและการนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงหลายประการ ที่ชวนให้สงสัยถึงความไม่ตรงไปตรงมาทางวิชาการเพื่อเหตุผลบางประการ


5)      รายงานของ ICOMOS ให้ความเห็นชอบกับการกำหนดเขตในการปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์ และจัดการ พื้นที่ของปราสาทพระวิหาร โดยให้ข้อแม้เกี่ยวกับการตกลงร่วมกันระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาในเรื่องเส้นเขตแดน แต่ความจริงแล้วปัญหามิได้มีเพียงแต่เฉพาะเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนเท่านั้น เนื่องจากยังมีความไม่เหมาะสมทางวิชาการที่ควรให้มีการปรับปรุงการกำหนดเขตด้วย


แต่ทาง ICOMOS สากล ไม่ได้ทบทวนการประเมินดังกล่าวแต่อย่างใด  ในที่สุดเพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องเขตแดนกับไทย  กัมพูชาจึงยอมรับการต่อรองของฝ่ายไทยและเปลี่ยนเป็นการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้นตามคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Communiqué) ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย. 2551  ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนข้อมูลหลังจากที่ผ่านการประเมินของ ICOMOS สากล  แต่กรณีนี้กลับทำได้  สำหรับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32   ICOMOS สากล จึงได้ทำรายงานการประเมินใหม่ตามเอกสาร WHC-08/32.COM/INF.8BI..Add.2  โดยมีการอ้างความตกลงระหว่างกัมพูชากับไทยในการเปลี่ยนขอบเขตของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกซึ่งทำให้ต้องเปลี่ยนผลการประเมินให้ผ่านเกณฑ์มรดกโลกทางวัฒนธรรมเฉพาะข้อ 1 เท่านั้น


ICOMOS ไทย ได้แถลงถึงความไม่โปร่งใสของการดำเนินการประเมินของ ICOMOS สากล โดยเห็นว่าได้มีปัจจัยอื่นเข้ามามีอิทธิพลเหนือเหตุผลทางวิชาการ ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดความน่าเชื่อถือของ ICOMOS สากล ในที่สุด


 


5.2  Operational Guidelines for the Implementation of World Heritage Convention ได้กำหนดตามข้อ 148 h) ว่าเอกสารที่ส่งหลังจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 จะไม่นำมาพิจารณาในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก และกำหนดเวลาดังกล่าวควรถือปฏิบัติอย่างเคร่งคัด  แต่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกกลับมีการยกเว้นพิจารณาเอกสารเพิ่มเติมที่กัมพูชาส่งในเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งน่าจะมีเหตุผลเบื้องหลังการให้การยกเว้นดังกล่าว


      คณะกรรมการมรดกโลกมีมติอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารได้โดยที่กัมพูชายังไม่มีการกำหนดเขตกันชน (Buffer Zone)  และแผนจัดการพื้นที่  แต่เป็นที่ทราบดีว่าเขตกันชนที่จะต้องถูกกำหนดขึ้นจะอยู่ในพื้นที่พิพาทที่ไทยและกัมพูชายังไม่สามารถตกลงเรื่องเขตแดนระหว่างกันได้  ซึ่งเป็นการขัดอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ในมาตรา 11 ข้อ 3. ที่กำหนดว่าการบรรจุสิ่งใดในทะเบียนมรดกโลกต้องได้รับการยินยอมจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง  และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการสู้รบกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาในพื้นที่พิพาทดังกล่าว ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิต ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความขัดแย้งในพื้นที่พิพาทที่มีอยู่  รัฐบาลจึงควรยกประเด็นการเหตุการณ์สู้รบในพื้นที่พิพาทดังกล่าวเพื่อเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าคณะกรรมการมรดกโลกมีมติอย่างไม่รอบคอบและควรให้มีการทบทวนมติดังกล่าว


      คณะกรรมการมรดกโลกมีมติร้องขอให้กัมพูชาโดยความร่วมมือกับ UNESCO จัดประชุมคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ (International Coordinating Committee) เพื่อการดูแลคุ้มครองและการพัฒนาปราสาทพระวิหารใม่ช้ากว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยเชิญรัฐบาลไทย และผู้มีส่วนในระดับนานาชาติ (International partners) อื่นๆ ที่เหมาะสมอีกไม่เกิน 7 ชาติ   ดร. อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกไทย ได้ยืนยันว่าไม่เคยมีมรดกโลกแห่งใดเลยที่ใช้กลไกเช่นนี้เพื่อการอนุรักษ์  และการใช้กลไกเช่นนี้จะยังผลให้ผู้มีส่วนในระดับนานาชาติดังกล่าวสามารถเข้าแทรกแซงปกป้องกัมพูชา และกดดันไทยเพื้อใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนไทยที่ต้องใช้เป็นเขตกันชน


 


5.3  เนื่องจากไทยและกัมพูชายังไม่สามารถตกลงเรื่องเขตแดนบริเวณเขาพระวิหารได้  รัฐบาลจึงต้องเจรจาตกลงเรื่องเขตแดนบริเวณเขาพระวิหารกับกัมพูชาให้ได้ขอสรุปก่อนที่จะให้ฝ่ายไทยเข้าร่วมในคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ  และก่อนที่จะให้ความร่วมมือกับกัมพูชาในการจัดทำเขตการกันชนและแผนจัดการพื้นที่  เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net