Skip to main content
sharethis

วันนี้ (7 พ.ย.) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประธานดวงรัตน์ สภาทนายความ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ แถลงข่าวเรื่อง กรณีพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ผู้หลบหนีโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปราศรัยแก่ผู้สนับสนุนผ่านระบบการประชุมทางโทรศัพท์ทางไกลผ่านจอภาพ


 


นายเดชอุดม กล่าวเปิดการแถลงข่าวโดยยืนยันความเป็นกลางว่า ด้วยภารกิจและหน้าที่ของสภาทนายความ ในฐานะองค์กรวิชาชีพทนายความที่มีหน้าที่ต่อประชาชนคือการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายต่อประชาชน หลังจากได้สดับตรับฟัง ข้อเท็จจริงและข้อกล่าวอ้างทั้งหลายของอดีตนายกรัฐมนตรี คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งหมดแล้วเห็นว่ามีกรณีที่น่าสนใจเป็นกรณีศึกษา ซึ่งสภาทนายความมีมุมมองด้วยความเป็นกลาง และมองด้วยพฤติการณ์ในการกระทำเป็นหลักซึ่งจะเห็นได้จากแถลงการณ์ของสภาทนายความ ว่าได้วิเคราะห์และได้ดูลักษณะของการดำเนินการการจัดการทั้งหมด และรวมทั้งที่มาของถ้อยคำต่างๆ ค่อนข้างจะชัดเจน


 


จากนั้นนายเจษฎา นุจารี อุปนายกสภาทนายความ เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาโดยสรุป 4 ข้อ ประกอบด้วย 1 การกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการตระเตรียมล่วงหน้าไว้เป็นอย่างดีและหากการกระทำที่แสดงออกด้วยถ้อยคำปราศรัยที่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดทั่วไปแล้วนี้เป็นความผิดก็ต้องถือว่าเป็นความผิดที่ได้กระทำสำเร็จแล้ว


 


2 พ.ต.ท.ทักษิณ มีการวางแผนต่อเนื่องกันอย่างชัดเจนที่จะลดความน่าเชื่อถือของคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยพยายามจะให้มีความเกี่ยวพันหรือโยงไปถึงเรื่องของการปฏิวัติรัฐประหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งความพยายามที่ยังดำเนินอยู่นั้นต้องการแสดงเพื่อให้เห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยการให้ร้ายศาลยุติธรรมด้วยการใช้คำพูดกล่าวลบหลู่หรือหมิ่นดุลพินิจในการพิจารณาโทษจำคุกของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ซึ่งผู้ที่สั่งหรือพิพากษาลงโทษก็คือศาลยุติธรรมนั่นเอง ดังนั้นเมื่อประมวลข้อความทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นพฤติกรรมส่อไปถึงการแสดงเจตนาที่ดูหมิ่นคำพิพากษาของศาล ซึ่งถ้าเป็นการเขียนหรือใช้ถ้อยคำเช่นนี้ของจำเลยในคำอุทธรณ์คำพิพากษา ก็จะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย


 


 ในแถลงการณ์ข้อ 2 ระบุด้วยว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ย่อมเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานที่มีอำนาจบังคับการตามกฎหมายไม่อาจที่จะละเว้นที่จะไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้มาซึ่งความกระจ่างชัดจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้จ้างวานใช้ ผู้ประกาศโฆษณา ทั้งนี้เพื่อให้ความเสื่อมเสียของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไม่ต้องเสื่อมคลายโดยเพียงวาจาของผู้ต้องคำพิพากษาจำคุกที่อ้างว่าตนเองเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีได้


 


3 พ.ต.ท.ทักษิณ มีเจตนาก้าวล่วงพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องของการอภัยโทษโดยชัดเจน โดยคำปราศรับที่พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่พูดว่า "แน่นอนครับ พี่น้องครับ ไม่มีใครที่จะเอาผมกลับประเทศไทยได้หรอกครับนอกจากพระบารมีที่จะทรงมีพระเมตตา หรือไม่ก็ด้วยพลังของพี่น้องประชาชนเท่านั้น จริงไหมครับ" ซึ่งเป็นการแสดงออกมาโดยใช้คำพูดเยินยอกลุ่มประชาชนที่มาชุมนุมเป็นการต่อรองในกรณีที่ตนเองพึ่งหวังในการพระราชทานอภัยโทษขององค์พระประมุขไม่ประสบผลสำเร็จ กรณีจึงไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ก็คือว่าพลังของประชาชนที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรอ้างจะเท่ากับพระราชอำนาจในการอภัยโทษขององค์พระประมุขซึ่งเป็นการใช้ถ้อยคำที่มีเจตนาก้าวล่วงพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องของการอภัยโทษโดยชัดเจน เพราะเท่าที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร พูดเสนอนั้นมีอยู่สองทางเท่านั้น ผู้พูดจึงจงใจใช้คำว่า "หรือ"


 


 


ผู้พูดหาได้มีความรู้สึกหรือสำนึกในการกระทำที่จะขออภัยโทษ ซึ่งตามข้อเท็จจริงพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรก็ยังปฏิเสธไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาตัดสินนั้นอยู่ การกระทำดังกล่าวนี้ถือได้ว่าไม่ใช่เป็นกรณีมิบังควรเท่านั้น แต่เป็นการกระทำที่ "ก้าวล่วง" และรุกไปถึงพระบรมราชวินิจฉัยในกรณีอภัยโทษที่มีลักษณะการใช้คำถามแบบเป็นคำถามปิดพระบรมราช วินิจฉัยโดยสิ้นเชิง เพราะหากองค์พระประมุขไม่ทรงวินิจฉัยเป็นอย่างเช่นที่เขาต้องการคือกลับประเทศไทยได้ เขาก็จะใช้พลังของประชาชนตามถ้อยคำที่เรียบเรียงไว้ถัดจากคำว่า "หรือ" แทน


 


4 พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการหลีกเลี่ยงอาญาของตนให้พ้นจากคำพิพากษาของศาลยุติธรรมโดยไม่คำนึงถึงข้อปฏิบัติทางจริยธรรม การรีบด่วนขอพระราชทานอภัยโทษในขณะที่คดียังไม่ถึงที่สุด การริเริ่มใช้กลุ่มประชาชนที่สนับสนุนตนเองเป็นเครื่องต่อรองโดยเจตนาที่จะขอพระราชทานอภัยโทษเชิงบังคับให้องค์พระประมุขทรงมีพระเมตตา ซึ่งไม่เคยปรากฏเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นในประเทศไทยที่ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง สภาทนายความเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนและผู้ที่สนใจในการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงกับการปรับใช้บทกฎหมายที่ถูกต้อง


 


ทั้งนี้ย่อหน้าสุดท้ายของแถลงการณ์ ระบุว่า สภาทนายความขอแถลงย้ำยืนยันว่า ผู้ที่ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการแถลงข่าวการปราศรัยผ่านระบบการประชุมทางโทรศัพท์ทางไกลผ่านจอภาพอย่างที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 โดยการทำซ้ำอีก ไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ นั้น เข้าข่ายการสนับสนุน เข้าข่ายการสมรู้ร่วมคิดให้เกิดการกระทำความผิด หรืออาจเข้าข่ายเป็นผู้กระทำความผิดในการนำเทปดังกล่าวมาเปิดเผยแพร่โฆษณาอีก ซึ่งเป็นกรณีต่างกรรมต่างวาระที่ผู้จัดรายการ เจ้าของรายการ ผู้อำนวยการสถานีจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ หากเป็นความผิดครบองค์ประกอบตามกฎหมาย รวมตลอดถึงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาที่ให้การสนับสนุนผู้กระทำความผิดย่อมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งวุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้ตามมาตรา 270 และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน ตามมาตรา 164 ก็มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งเพราะเหตุอย่างเดียวกันนั้นได้ด้วย


 


นายเดชอุดม กล่าวด้วยว่าจะเห็นได้ชัดจากสิ่งที่เราชี้แจงและให้เหตุผลแล้วว่าสิ่งต่างๆ ที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้นในบ้านเมืองในยุคนี้มันก็เกิดขึ้น ให้เราเห็น เป็นเรื่องที่สร้างประวัติศาสตร์ของถ้อยแถลงผ่านระบบจอภาพทางไกล เป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นคดีแรกหรือเรื่องแรกของนักการเมืองที่สามารถที่จะพูดตำหนิศาลหรือก้าวล่วงสถาบันได้ทางวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ทั้งๆ ที่กำลังต้องโทษอยู่ ก็ไม่รู้จะอธิบายยังไงว่าเป็นไปได้ยังไง แต่เราก็ปล่อยให้เกิดมาได้


 


"ผมทำงานด้านกฎหมายมา 41 ปี ยังไม่เคยเห็นมีใครอาจหาญที่จะพูดต่อสาธารณะชนว่า กระผมถูกยัดเยียดคุกให้ ไม่มี ไม่มีจำเลยที่ไหน ซึ่งถามทนายความได้ว่า มีใครบ้างที่จะบอกว่าศาลยัดเยียดคุกให้ หลังจากพิพากษาจำคุกแล้ว แม้กระทั่งพิพากษาประหารชีวิตแล้วนะครับ เราไม่ค่อยได้ยิน แต่นี่ได้ยินเต็มหูเลย แล้วก็ไม่ใช่ได้ยินธรรมดา แต่ได้ยินผ่านจอภาพ ได้ยินผ่านทุกอย่าง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดูแล้วมันค่อนข้างจะเป็นอันตรายสำหรับสังคมนี้ นั่นคือเหตุผลที่เรานำมาชี้แจงนะครับ เหตุผลของนักกฎหมายภาคประชาชน ที่อยากจะเรียนเสนอต่อประชาชนว่าบ้านนี้เมืองนี้กำลังเป็นอะไรไป บ้านนี้เมืองนี้กำลังทำอะไรต่อระบบการตรวจสอบต่อระบบการถ่วงดุล เช็คแอนด์บาลานซ์ คุณอยู่ฝ่ายบริหารเมื่อคุณถูกจับคุณถูกฟ้อง ฝ่ายยุติธรรมก็ย่อมมีอำนาจตัดสิน อยู่ฝ่ายสภานิติบัญญัติก็เหมือนกัน ทุกคนไม่มีสิทธิ์ที่จะพ้นไปจากกฎหมายไทยได้นะครับ ท่านจะมาอ้างว่าท่านเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรี เป็นประธานรัฐสภา ซึ่งอดีตรัฐมนตรีเราก็ติดคุกก็มีแล้ว ก็อย่าทำผิดสิครับ ทำผิดก็ต้องรับโทษ" นายเดชอุดมกล่าว


 


ถามว่าสภาทนายความจะฟ้องร้องหรือไม่ นายเดชอุดม กล่าวว่า สภาทนายความเป็นที่ปรึกษากฎหมายภาคประชาชน มีหน้าที่เป็นทนายความและให้คำปรึกษา


 


"ทราบว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีมติว่าไม่ผิด อันนี้ก็มองต่างมุมไม่เป็นไร เพราะตำรวจถ้าจะมองตำรวจด้วยกันที่ทำผิด ก็เป็นเรื่องของตำรวจ แต่เรามองตำรวจที่ทำผิดในอีกมุมหนึ่ง หรืออดีตตำรวจที่ทำผิดในอีกมุมหนึ่ง" นายเดชอุดม กล่าว


 


นายเดชอุดม กล่าวว่า ผู้ที่เผยแพร่ซ้ำข้อความดังกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา แต่ถ้าเผยแพร่เพื่อประสงค์ให้ความรู้หรือผู้สื่อข่าวเผยแพร่ข้อเท็จจริงก็สามารถทำได้


 


 


 


 


แถลงการณ์ของสภาทนายความ


 


เรื่อง กรณีพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ผู้หลบหนีโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล


ฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปราศรัยแก่ผู้สนับสนุนผ่านระบบ


การประชุมทางโทรศัพท์ทางไกลผ่านจอภาพ


 


-------------------------------------


สภาทนายความในฐานะเป็นองค์กรของวิชาชีพกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน ได้พิเคราะห์คำปราศรัยของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่พูดผ่านระบบการประชุมทางโทรศัพท์ทางไกลผ่านจอภาพไปยังสนามราชมังคลากีฬาสถานเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ที่ถูกจัดให้เป็นที่ชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรแล้ว มีความเห็นที่จะเสนอต่อประชาชน หน่วยราชการ และผู้ที่มีหน้าที่บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนี้


 


1. ที่มาของการปราศรัยดังกล่าว เมื่อพิเคราะห์จากกรอบของการเตรียมการที่มีการประชาสัมพันธ์มาก่อนหน้านี้ การประชาสัมพันธ์ รูปแบบของการตั้งคำถาม ลักษณะของการตอบคำถามซึ่งเป็นคำถามและคำตอบที่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว จะมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็เพียงแต่เป็นช่วงที่มีการเว้นวรรค โห่ร้อง และปรบมือตามจังหวะของผู้ตอบแล้ว เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการตระเตรียมล่วงหน้าไว้เป็นอย่างดีและหากการกระทำที่แสดงออกด้วยถ้อยคำปราศรัยที่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดทั่วไปแล้ว นี้เป็นความผิดก็ต้องถือว่าเป็นความผิดที่ได้กระทำสำเร็จแล้ว


 


2. ข้อเท็จจริงที่นำมาสู่การพิจารณาว่าเป็นการกระทำผิดหรือไม่นั้น จึงควรดูพฤติกรรมย้อนหลังเริ่มตั้งแต่การสร้างกลุ่มพลัง การเตรียมสถานที่ เครื่องมือสื่อสาร และการเช่าใช้สัญญาณโทรคมนาคม ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะทำได้ในวันเดียว ต้องลงทุนมหาศาล ดังนั้นผู้จัดจึงต้องมีเจตนาที่จะแสดงออกต่อสาธารณชนให้เห็นว่าผู้ที่ยังเชื่อและรักในตัวพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ยังมีอยู่มาก สามารถที่จะสำแดง ประกอบกับคำถามที่กระทบถึงกระบวนการยุติธรรมแล้วจะเห็นได้ว่ามีการวางแผนต่อเนื่องกันอย่างชัดเจนที่จะลดความน่าเชื่อถือของคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยพยายามจะให้มีความเกี่ยวพันหรือโยงไปถึงเรื่องของการปฏิวัติรัฐประหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งความพยายามที่ยังดำเนินอยู่นั้นต้องการแสดงเพื่อให้เห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยการให้ร้ายศาลยุติธรรมด้วยการใช้คำพูดว่า


 


ทักษิณ : ผมยังไปไม่ได้ ทั้งที่คิดถึง เพราะเขาสั่งจำคุกผม 2 ปี อายุความ 10 ปี แสดงว่าเขาอยากให้ผมอยู่ข้างนอก 10 ปี … ผมไม่ใช่หัวหน้าม็อบนะครับ ถึงจะโดนยัดเยียดคุกให้ ก็เป็นอดีตนายกฯ นะครับ ที่ห่วงบ้านเมือง...


 


วีระ : ที่มีปัญหา คือกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการกับท่านใช้ไม่ได้เลย


 


ทักษิณ : ไม่ใช่ครับ เขาใช้กระบวนการยุติความเป็นธรรมครับ (โห่ร้อง)


 


วีระ : ที่เราพิจารณากันวันนี้ คือความแตกแยกมันเกิดเพราะการปฏิวัติเมื่อ 19 กันยายน 49


 


ทักษิณ : ใช่ครับ มันต้องการจัดการกับคนๆ เดียว โดยเอากระบวนการยุติธรรมให้ยุติความเป็นธรรมทั้งหมด" นั้น ไม่อาจจะแปลความหมายเป็นอย่างอื่นได้นอกจากเป็นการกล่าวลบหลู่หรือหมิ่นดุลพินิจในการพิจารณาโทษจำคุกของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ซึ่งผู้ที่สั่งหรือพิพากษาลงโทษก็คือ ศาลยุติธรรมนั่นเอง ดังนั้นเมื่อประมวลข้อความทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นพฤติกรรมส่อไปถึงการแสดงเจตนาที่ดูหมิ่นคำพิพากษาของศาล ซึ่งถ้าเป็นการเขียนหรือใช้ถ้อยคำเช่นนี้ของจำเลยในคำอุทธรณ์คำพิพากษา ก็จะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ย่อมเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานที่มีอำนาจบังคับการตามกฎหมายไม่อาจที่จะละเว้นที่จะไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้มาซึ่งความกระจ่างชัดจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้จ้างวานใช้ ผู้ประกาศโฆษณา ทั้งนี้เพื่อให้ความเสื่อมเสียของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไม่ต้องเสื่อมคลายโดยเพียงวาจาของผู้ต้องคำพิพากษาจำคุกที่อ้างว่าตนเองเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีได้


 


3. สำหรับคำปราศรัยของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ในอีกตอนหนึ่งที่พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่พูดว่า "แน่นอนครับ พี่น้องครับ ไม่มีใครที่จะเอาผมกลับประเทศไทยได้หรอกครับ นอกจากพระบารมีที่จะทรงมีพระเมตตา หรือไม่ก็ด้วยพลังของพี่น้องประชาชนเท่านั้น จริงไหมครับ" ซึ่งกำลังพึ่งประชาชนคงจะหมายถึงกลุ่มผู้สนับสนุนตน ถ้อยคำที่แสดงออกดังกล่าวนี้ เห็นได้ชัดว่าผู้พูดได้เตรียมคำพูดไว้แล้วเพราะรู้ว่าประชาชนที่มาให้กำลังใจนั้นจะมีจำนวนเป็นหมื่นคน จึงกล้าแสดงออกมาโดยใช้คำพูดเยินยอกลุ่มประชาชนที่มาชุมนุมเป็นการต่อรองว่าหากตามที่ตนเองพึ่งหวังในการพระราชทานอภัยโทษขององค์พระประมุขไม่ประสบผล กรณีจึงไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ก็คือว่าพลังของประชาชนที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรอ้างจะเท่ากับพระราชอำนาจในการอภัยโทษขององค์พระประมุข ซึ่งเป็นการใช้ถ้อยคำที่มีเจตนาก้าวล่วงพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องของการอภัยโทษโดยชัดเจน เพราะเท่าที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร พูดเสนอนั้นมีอยู่สองทางเท่านั้น ผู้พูดจึงจงใจใช้คำว่า "หรือ"


 


นอกจากนั้นที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า "ผมขนลุกเลยครับ ผมฟังแล้วขนลุกเหมือนที่บอกว่า เย็นศิระเพราะพระบริบาลฯ หละครับ" ก็พิเคราะห์ได้ว่าเป็นคำพูดที่เตรียมไว้ เพราะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันกับการกระทำความผิดของตน และการขออภัยโทษแค่เป็นการเรียบเรียงคำพูดที่นำมาเพื่อมุ่งประสงค์จะเรียกร้องและขอความเห็นใจจากกลุ่มผู้สนับสนุนเท่านั้น หาได้มีความรู้สึกหรือสำนึกในการกระทำที่จะขออภัยโทษ ซึ่งตามข้อเท็จจริงพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรก็ยังปฏิเสธไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาตัดสินนั้นอยู่ กรณีดังกล่าวนี้จึงไม่อาจที่จะวิเคราะห์เป็นอย่างอื่นได้นอกจากว่าคำถามและคำพูดที่ได้เรียบเรียงทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ได้เตรียมการไว้ก่อนแล้ว และมุ่งประสงค์ที่จะแสดงพลังของผู้สนับสนุนที่ผู้พูดคิดว่ามีอยู่ให้เท่ากับพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเป็นดุลพินิจขององค์พระประมุขแต่เพียงผู้เดียว การกระทำดังกล่าวนี้ถือได้ว่าไม่ใช่เป็นกรณีมิบังควรเท่านั้น แต่เป็นการกระทำที่ "ก้าวล่วง" และรุกไปถึงพระบรมราชวินิจฉัยในกรณีอภัยโทษที่มีลักษณะการใช้คำถามแบบเป็นคำถามปิดพระบรมราชวินิจฉัยโดยสิ้นเชิง เพราะหากองค์พระประมุขไม่ทรงวินิจฉัยเป็นอย่างเช่นที่เขาต้องการคือกลับประเทศไทยได้ เขาก็จะใช้พลังของประชาชนตามถ้อยคำที่เรียบเรียงไว้ถัดจากคำว่า "หรือ" แทน


 


4. กรณีตามตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับการเรียนรู้ของประชาชนถึงความพยายามของนักการเมืองซึ่งอาสาเข้ามาบริหารประเทศที่ต้องการหลีกเลี่ยงอาญาของตนให้พ้นจากคำพิพากษาของศาลยุติธรรมโดยไม่คำนึงถึงข้อปฏิบัติทางจริยธรรม [1] การรีบด่วนขอพระราชทานอภัยโทษในขณะที่คดียังไม่ถึงที่สุด การริเริ่มใช้กลุ่มประชาชนที่สนับสนุนตนเองเป็นเครื่องต่อรองโดยเจตนาที่จะขอพระราชทานอภัยโทษเชิงบังคับให้องค์พระประมุขทรงมีพระเมตตา ซึ่งไม่เคยปรากฏเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นในประเทศไทยที่ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง สภาทนายความเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนและผู้ที่สนใจในการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงกับการปรับใช้บทกฎหมายที่ถูกต้อง


 


อนึ่ง สภาทนายความขอแถลงย้ำยืนยันว่า ผู้ที่ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการแถลงข่าวการปราศรัย ผ่านระบบการประชุมทางโทรศัพท์ทางไกลผ่านจอภาพอย่างที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 โดยการทำซ้ำอีก ไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ นั้น เข้าข่ายการสนับสนุน เข้าข่ายการสมรู้ร่วมคิดให้เกิดการกระทำความผิด หรืออาจเข้าข่ายเป็นผู้กระทำความผิดในการนำเทปดังกล่าวมาเปิดเผยแพร่โฆษณาอีก ซึ่งเป็นกรณีต่างกรรมต่างวาระที่ผู้จัดรายการ เจ้าของรายการ ผู้อำนวยการสถานีจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ หากเป็นความผิดครบองค์ประกอบตามกฎหมาย รวมตลอดถึงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาที่ให้การสนับสนุนผู้กระทำความผิดย่อมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งวุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้


ตามมาตรา 270 [2] และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน ตามมาตรา 164 [3] ก็มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งเพราะเหตุอย่างเดียวกันนั้นได้ด้วย


 


จึงขอแถลงการณ์มาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน


 


สภาทนายความ


7 พฤศจิกายน 2551


 


……………………………………………….


 


[1] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.. ๒๕๕๑ (แทนระเบียบฯ ปี ๒๕๔๓)


 


ข้อ ๖ ข้าราชการการเมืองมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย รักษาประโยชน์ส่วนรวม ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยจะต้องยึดมั่นในค่านิยมหลัก ดังนี้


 


() ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


() ยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม


() มีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์ สุจริต และรับผิดชอบ


() ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน


() ยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม และถูกกฎหมาย


() ให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัย และไม่เลือกปฏิบัติ


() ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง


() มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษามาตรฐาน มีคุณภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้


() ยึดมั่นในหลักจรรยาของการเป็นข้าราชการการเมืองที่ดี


 


ข้อ ๗ ข้าราชการการเมืองต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์และเป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพและรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


 


ข้อ ๙ ข้าราชการการเมืองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการเป็นพลเมืองดีการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด


 


ข้อ ๑๐ ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรมทั้งโดยส่วนตัวและโดยหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสาธารณชน ทั้งต้องวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน


 


ข้อ ๒๘ ข้าราชการการเมืองต้องไม่คบหาหรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมายหรือผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อในทางเสื่อมเสีย เช่น ผู้เปิดบ่อนการพนันหรือผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน


 


[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐


มาตรา ๒๗๐ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุดผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้


 


บทบัญญัติวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ด้วย คือ


 


() ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน


() ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต


 


[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐


มาตรา ๑๖๔ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา ๒๗๔ ให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา ๒๗๐ ออกจากตำแหน่งได้


 


คำร้องขอตามวรรคหนึ่งต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวกระทำความผิดเป็นข้อๆ ให้ชัดเจน


 


หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการที่ประชาชนจะเข้าชื่อร้องขอตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net