Skip to main content
sharethis

 


ประชาไท  รายงาน


 


 



กว่าที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ ในจังหวัดสงขลากับบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด เรื่องค่าชดเชยให้กับชาวประมงที่เสียโอกาส และจะได้รับกระทบจากโครงการขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา จะลงเอยกันด้วยดี ก็ต้องใช้เวลาเจรจากันหลายรอบ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550


 


นั่นคือ บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ยอมจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดสงขลารวม 25 ล้านบาทต่อปี เป็นเวลา 16 ปี


 


ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่บริษัท นิวคอสตอล(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานพัฒนาปิโตรเลียมในแปลงสัมปทาน G5/43 นอกฝั่งอำเภอสทิงพระ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาปิโตรเลียมแหล่งสงขลา และโครงการพัฒนาปิโตรเลียมแหล่งบัวบาน


 


แหล่งสงขลาจะติดตั้งแท่นหลุมผลิตและแท่นผลิตน้ำมันอย่างละ 1 แท่น ห่างฝั่งประมาณ 30 กิโลเมตร ตามแผนเดิมต้องมีการติดตั้งแท่น ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เริ่มผลิตเดือนมิถุนายน 2551 แต่ด้วยปัญหาเรื่องค่าชดเชย ทำให้บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด เพิ่งเริ่มติดตั้งแท่นได้ เมื่อเดือนตุลาคม 2551 คาดว่าจะผลิตน้ำมันได้ประมาณปีละ 1.2 ล้านบาเรล กำลังผลิตสูงสุด 5,000 บาเรลต่อวัน ต่อเนื่องไปจนหมดอายุแหล่งปิโตรเลียม ในปี 2554 รวมเวลา 3 ปี


 


ขณะที่แหล่งบัวบาน ประกอบด้วย แท่นหลุมผลิต 4 แท่น และแท่นผลิต 1 แท่น โดยแต่ละแท่นอยู่ในแนวเหนือ - ใต้ ห่างฝั่งประมาณ 14 - 21 กิโลเมตร คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในเดือนพฤษภาคม 2552 - 2568 รวม 16 ปี มีศักยภาพผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 22 ล้านบาเรลตลอดอายุการใช้งาน กำลังการผลิตสูงสุด 10,000 บาเรลต่อวัน


 


สำหรับแปลงสัมปทาน G5/43 บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด รับสัมปทานจากกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2546 ต่อมา โอนสิทธิประโยชน์และพันธะอัตราร้อยละ 50 ให้แก่บริษัท Petro World Corporation ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Coastal Energy Company


 


บริษัท PetroWorld Corporation จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายของ Cayman Island เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2547 จึงไม่แปลกที่นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย หนึ่งในแกนนำพันธมิตรสงขลาเพื่อประชาธิปไตย หยิบยกขึ้นโจมตีรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเชื่อว่าเกาะเคย์แมนเป็นแหล่งฟอกเงินผิดกฎหมายที่สำคัญของโลก


 


ประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตก็คือ ผู้ให้สัมปทานแก่ทั้งสองบริษัทชื่อ "นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนสนิทที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไว้ใจเป็นอย่างยิ่ง


 


ถึงวันนี้มีใครสักกี่คนรู้ว่า อ่าวไทยเต็มไปด้วยแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซุกซ่อนอยู่ใต้พื้นพิภพมากน้อยแค่ไหน และใครได้ประโยชน์บ้าง


 


จากรายงานปี 2550 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานระบุว่า ปี 2550 ไทยใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 1,602,000 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับปี 2549 สัดส่วนการใช้น้ำมันมากที่สุดร้อยละ 42 รองลงมาเป็นก๊าซธรรมชาติร้อยละ 38 ที่เหลือเป็นลิกไนต์/ถ่านหินนำเข้า และพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า


 


มีมูลค่าการนำเข้าพลังงานทั้งสิ้น 874,600 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.8 จากปี 2549 มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบ มีสัดส่วนสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 81 อยู่ที่ 716,000 ล้านบาท ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปมีมูลค่านำเข้า 47,000 ล้านบาท ก๊าซธรรมชาติ 79,000 ล้านบาท


 


การจัดหาปิโตรเลียมปี 2550 ประมาณ 1,586,000 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เป็นส่วนที่นำเข้า 977,500 บาร์เรลต่อวัน หรือร้อยละ 61.6 และจากในประเทศ 608,500 บาร์เรลต่อวัน หรือร้อยละ 38.4


 


ในส่วนนำเข้า ประกอบด้วย น้ำมันดิบปริมาณ 792,200 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน น้ำมันสำเร็จรูป16,600 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ก๊าซธรรมชาติ 157,900 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และคอนเดนเสท 10,800 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันตามลำดับ


 


ทั้งนี้ ในส่วนที่จัดหาจากแหล่งในประเทศเป็นน้ำมันดิบปริมาณ 128,600 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ก๊าซธรรมชาติ 421,100 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และคอนเดนเสท 58,800 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันตามลำดับ ส่วนใหญ่อยู่ในอ่าวไทย


 


และใครสักกี่คนจะรู้ว่า ประเทศไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป 142,900 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และน้ำมันดิบ 352,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันตามลำดับ


 


นอกจากนี้ ในรายงานระบุว่า ระยะ 5 ปีข้างหน้า ไทยยังต้องพึ่งพาน้ำมันดิบนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากความต้องการน้ำมันคงอยู่ในอัตราที่สูงกว่า 900,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปี 2550 ผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 133,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น โดยแหล่งผลิตน้ำมันดิบหลักของประเทศ ได้แก่ แหล่งสิริกิติ์ แหล่งทานตะวัน แหล่งจัสมิน


 


จากแผนการขยายโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งนโยบายรัฐบาลส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนน้ำมันในภาคอุตสาหกรรมและขนส่ง ส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะ 5 ปีข้างหน้า จากเฉลี่ยวันละ 3,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต ในปี 2550 เป็นวันละ 4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต ในปี2554


 


สำหรับการเปิดสัมปทานโดยกระทรวงพลังงานครั้งล่าสุด มีบริษัทได้รับสัมปทานปิโตรเลียม เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550  15 บริษัท 7 สัมปทาน 8 แปลงสำรวจ แยกเป็น 3 แปลงบนบก  5 แปลงในอ่าวไทย และสัมปทานปิโตรเลียม เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2551 มี 12 บริษัท 11 สัมปทาน 13 แปลงสำรวจ แยกเป็น 11 แปลงบนบก และ 2 แปลงในอ่าวไทย


 


เมื่อรวมกับบริษัทที่รับสัมปทานมาก่อน รวมแล้วกว่า 30 บริษัท ทั้งของไทยและต่างชาติ โดยไม่รวมแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย (JDA) ที่กำลังมีแผนผลิตและจัดส่งก๊าซเพิ่มจากแปลง A - 18 ในอัตราวันละ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตช่วงไตรมาส 2 ปี 2551 และแปลง B - 17 วันละ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตช่วงไตรมาส 4 ปี 2552 หรือต้นปี 2553


 


ขณะที่แผนการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ประกอบด้วย แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ ส่งก๊าซได้วันละ 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตช่วงไตรมาส 2 ปี 2551 แหล่งปลาทอง - โครงการปลาทองก๊าซ 2 ส่งก๊าซได้วันละ 330 ล้านลูกบาศก์ฟุต ในต้นปี 2554 แหล่งบงกช - โครงการบงกชใต้ จะจัดส่งก๊าซได้วันละ 330 ล้านลูกบาศก์ฟุต ช่วงไตรมาส 1 ปี 2554


 


แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่มีการผลิตแล้วได้แก่ แหล่งก๊าซของบริษัท ยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด (บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด) ประกอบด้วย แหล่งก๊าซเอราวัณ บรรพต สตูล ปลาทอง ปลาแดง กะพง ฟูนาน จักรวาล สุราษฎร์ ปลาหมึก โกมินทร์ ไพลิน และยะลา ผลิตตั้งแต่ปี 2524 ได้ก๊าซธรรมชาติวันละ 1,028 ล้านลูกบาศก์ฟุต ก๊าซธรรมชาติเหลววันละ 35,524 บาร์เรล น้ำมันดิบวันละ 1,197 บาร์เรล


 


แหล่งนางนวล เป็นแหล่งน้ำมันดิบในอ่าวไทย อยู่นอกชายฝั่งจังหวัดชุมพร ค้นพบและผลิตโดยบริษัท ไทยเชลล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น เริ่มผลิตปี 2531 ด้วยอัตราการผลิต 1,485 บาร์เรลต่อวัน


 


แหล่งบงกช เป็นแหล่งก๊าซในอ่าวไทย ผลิตโดยบริษัทโททาล ตั้งแต่กลางปี 2536 ปัจจุบันผลิตโดยบริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ผลิตก๊าซธรรมชาติ 584 ล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลว 16,208 บาร์เรล โดยเฉลี่ยต่อวัน


 


แหล่งทานตะวัน และเบญจมาศ เป็นแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ผลิตโดยบริษัทไทยโป จำกัด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2540 ปัจจุบันผลิตโดยบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยวันละ 36,810 บาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ 170 ล้านลูกบาศก์ฟุต


 


สำหรับแหล่งนางนวล อยู่ห่างฝั่งชุมพร 14 กิโลเมตร จัดสรรค่าภาคหลวงปิโตรเลียมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลด่านสวี, สวี และท่าหิน ทุก 4 เดือน โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2550 จัดสรรให้ 6,955,044.10 บาท เดือนมกราคม 2551 จัดสรรให้ 218,563.23 บาท


 


ผศ.ประสาท มีแต้ม แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) ได้ให้ข้อมูลว่า จำนวนน้ำมันปิโตรเลียมที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ เป็นจำนวนที่มากกว่าที่ประเทศบรูไนทั้งประเทศผลิตและส่งออกเสียอีก


 


ผศ.ประสาท ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เมื่อมีการผลิตน้ำมันจากอ่าวไทยมากขึ้น ประกอบกับทางประเทศมาเลเซียมีแผนที่จะตั้งโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ที่รัฐเคดาห์ ทางตอนเหนือของประเทศในอนาคต จึงเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการสร้างท่อน้ำมันจากอ่าวไทยเชื่อมต่อไปยังประเทศมาเลเซียขึ้นมา เนื่องจากจะเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่อยู่ใกล้ที่สุดจากแหล่งขุดเจาะในอ่าวไทยตอนล่าง เพราะหากต้องส่งน้ำมันดินไปกลั่นในที่ไกลก็ต้องเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้นนั่นเอง


 


ทุกวันนี้ ท้องทะเลอ่าวไทย นอกจากหมู่เหล่าชาวเรือขนส่งสินค้า ชาวเรือประมงแล้ว ยังอุดมไปด้วยแท่นเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของหลากหลายสัญชาติรวมอยู่ด้วย


 


..........................................


 


รายชื่อบริษัทที่ได้รับสัมปทานปิโตรเลียม ซึ่งออกให้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 ตุลาคม 2550 และ 11 ธันวาคม2550) จำนวน 7 สัมปทาน 8 แปลงสำรวจ (3 แปลงบนบก 5 แปลงในทะเลอ่าวไทย) และวันที่ 21 มกราคม 2551 (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 และ 18 ธันวาคม 2550)


จำนวน 11 สัมปทาน 13 แปลงสำรวจ (11 แปลงบนบก 2 แปลงในทะเลอ่าวไทย)


 




































































แปลงสัมปทาน


(อ่าวไทย)


ผู้ได้รับสัมปทาน  19 ธันวาคม 2550


 


G5/50


บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด


G6/50


บริษัท เชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด


บริษัท ปตท.สผ. โครงการไทย จำกัด


และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด


G7/50


บริษัท เชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด


บริษัท ปตท.สผ. โครงการไทย จำกัด


บริษัท เฮสส์ เอ็กซ์โพลเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด


และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด


G8/50


บริษัท ปตท.สผ. โครงการไทย จำกัด


บริษัท เชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด


และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด


 


G4/50


บริษัท เชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด


และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด


(บนบก)


L7/50,L13/50


บริษัท Twinza Oil Limited


L26/50


บริษัท Salamander Energy (E&P) Limited


แปลงสัมปทาน


(อ่าวไทย)


ผู้รับสัมปทาน21 มกราคม 2551


G2/50


บริษัท เพิร์ล ออย (ปิโตรเลียม) จำกัด


G3/50


บริษัท Sita Oil Exploration House, Inc.


(บนบก)


L2/50


บริษัท นอร์ธเทิร์น กัลฟ์ ออย(ประเทศไทย) จำกัด


L15/50


บริษัท Salamander Energy (E&P) Limited


L18/50


บริษัท อ่าวสยามมารีน จำกัด


L19/50


บริษัท Sita Oil Exploration House, Inc.


L20/50


บริษัท Carnarvon Petroleum Limited และบริษัท Sun Resources NL


L21/50


บริษัท เพิร์ล ออย (รีซอสเซส) จำกัด


L22/50


บริษัท Adani Welspun Exploration Limited


L45/50,L46/50


บริษัท Mitra Energy Limited


L16/50


บริษัท Tatex Thailand, LLC


 


 



 


    


 


เจริญ ทองมา


ผู้กล้าเผชิญหน้ากลุ่มทุนข้ามชาติ


 


            ใครจะนึกว่า ในวัย 52 ปี ของนายเจริญ ทองมา แห่งบ้านบ่อแดง ตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา จะกลับมามีบทบาทเป็นแกนนำชาวประมงพื้นบ้านต่อสู้กับบรรษัทยักษ์ใหญ่ขุดเจาะน้ำมันอีกครั้ง หลังจากได้ลุกขึ้นนำชาวประมงพื้นบ้านประท้วงเรือพาณิชย์ปั่นไฟจับปลากะตักที่สร้างผลสะเทือนทั้งทะเลภาคใต้ในช่วงประมาณปี 2539 - 2542


 



ด้วยเพราะฐานะทางบ้านยากจน หลังจากจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบ่อแดง ก็ต้องออกมาช่วยทางบ้านทำอาชีพประมง ด้วยการออกเรือหาปลาบริเวณชายฝั่งเขตใกล้บ้าน ตั้งแต่อายุแค่ 12 ปี



เมื่อย่างสู่วัย 18 ปี นายเจริญ ทองมา ก็ออกเผชิญโลกไปเป็นลูกเรือประมงพาณิชย์อยู่หลายปี จนได้รับการยกระดับขึ้นเป็นไต้ก๋งเรือ ออกหาปลาในน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน


 



กระทั่ง ฐานะดีขึ้น จึงยุติบทบาทการเป็นไต้ก๋งเรือประมงพาณิชย์ ด้วยเพราะการออกไปหาปลาในเขตน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน เสี่ยงต่อการถูกจับกุม หรือถูกทำร้ายถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้ง่ายๆ


 



จากนั้น นายเจริญ ทองมา ก็หันมาทำประมงเรือเล็กเป็นของตัวเอง นี่คือ จุดเริ่มต้นของการเป็นผู้นำชาวประมง โดยเริ่มจากการเป็นแกนนำจัดตั้ง กลุ่มประมงพื้นบ้าน


 



ในการจัดตั้งกลุ่มประมงพื้นบ้าน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลาคราวนั้น มีนายสนั่น ลิ้มวัฒนกุล ประมงอำเภอสทิงพระ คอยให้คำปรึกษาให้คำแนะนำด้านต่างๆ จนจัดตั้งกลุ่มได้สำเร็จในปี 2536


 



แน่นอน นายเจริญ ทองมา คือผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่ม โดยทางประมงอำเภอสทิงพระจัดงบประมาณให้กับกลุ่มจำนวน 100,000 บาท


 



จากการบริหารกลุ่มประมงพื้นบ้านอำเภอสทิงพระ ภายใต้การนำของนายเจริญ ทองมา จนมาจนถึงตอนนี้ ทางกลุ่มมีเงินหมุนเวียนประมาณ 2,040,000 บาท


 



นอกจากเป็นประธานกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านอำเภอสทิงพระแล้ว นายเจริญ ทองมา ยังได้รับเลือกเป็นสมาชิกองศ์การบริหารส่วนตำบลบ่อแดง ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแดง และเป็นคณะกรรมการการศึกษาโรงเรียนวัดบ่อแดง


 



ในฐานะแกนนำชาวประมงพื้นบ้าน ส่งผลให้นายเจริญ ทองมา ต้องลุกขึ้นมานำชาวประมงพื้นบ้าน ประท้วงเรือพาณิชย์ปั่นไฟจับปลากะตัก ที่ประท้วงเพราะการปั่นไฟจับปลากะตัก ติดปลาตัวเล็กไปด้วย


 



ทว่า การต่อสู้คราวนั้น ชาวประมงพื้นบ้านสงขลากลับพลาดท่าพ่ายแพ้ นายเจริญ ทองมา เชื่อว่า เป็นเพราะชาวประมงพื้นบ้าน ไม่มีเงินทุนในการต่อสู้มากพอ ขณะที่เรือปั่นไฟจับปลากะตัก ล้วนแล้วแต่มีนักการเมือง และนายทุนระดับชาติอยู่เบื้องหลัง


 



ถึงแม้การต่อสู้คราวนั้น ชาวประมงพื้นบ้านจะสามารถต่อสู้ได้ยืดเยื้อยาวนานนับตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปี 2542 แต่ก็เอาชนะนายทุนไม่สำเร็จ


 



สำหรับการต่อสู้ครั้งใหม่ สืบเนื่องมาจาก นายเจริญ ทองมา มองเห็นถึงผลกระทบที่ชาวประมงจะได้รับจากการขุดเจาะน้ำมันชายฝั่ง จึงออกมานำทัพเรียกร้องให้ บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้


 



ส่วนเรื่องค่าชดเชย นายเจริญ ทองมา บอกว่าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ด้วยเพราะที่ประชุมกลุ่มประมงพื้นบ้านเห็นร่วมกันแล้วว่า พื้นที่ทำมาหากินที่มีมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย จะต้องรักษาเอาไว้ให้ลูกหลาน ได้มีโอกาสใช้ทำมาทำกินต่อไป


 



ตอนนี้ กล่าวได้ว่าการต่อสู้ของชาวประมงพื้นบ้าน ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ส่วนความขัดแย้งภายในกลุ่มที่มีอยู่บ้าง มาถึงขณะนี้ได้ปรับความเข้าใจกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สาเหตุมาจากความเข้าใจผิดเพราะสมาชิกในกลุ่มคิดว่า มีผู้นำบางคนไปรับเงินจากบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด มาแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง


 



สำหรับการลุกขึ้นเป็นแกนนำครั้งนี้ เริ่มต้นจาก นายเจริญ ทองมา รู้มาก่อนว่ามีการให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันบริเวณใกล้ชายฝั่งอำเภอสทิงพระ โดยไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ก่อน จึงทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ช่วยจัดหาเอกสารการให้สัมปทาน และเอกสารการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ



ที่ผ่านมา ทางบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด พยายามโน้มน้าวชาวบ้านว่า จะมีเงินเข้าหมู่บ้าน แต่ในที่สุดชาวบ้านไม่เอาด้วย เพราะเกรงผลกระทบที่จะตามมามากมายในภายหลัง เลยรวมตัวกันปกป้องพื้นที่ทำมาหากินแทนที่จะเห็นแก่ผลประโยชน์ ตามที่บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด โปรยยาหอมเอาไว้ โดยเริ่มรวมตัวกันมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550


 



ปัจจุบัน นายเจริญ ทอง สมรสกับนางสมบูรณ์ ทองมา มีบุตรด้วยกัน 4 คน จนถึงวันนี้ ยังคงทำอาชีพประมงพื้นบ้าน อันเป็นฐานอาชีพดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net