Skip to main content
sharethis



ท่ามกลางข้อเสนอมากมายเพื่อหาทางออกทางการเมืองจากกลุ่มต่างๆ ในสังคม กลุ่มหนึ่งที่เรามักละเลย หรือแทบไม่เคยได้ยินเสียงของพวกเขาก็คือ แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ วันนี้ (5 ต.ค.51) จึงมีการจัดเวทีเสวนา "ขบวนการแรงงานและประชาธิปไตย" บนสถานการณ์ความร้อนแรงของทั้งแวดวงแรงงานและการเมือง ได้รับความสนใจจากแรงงาน นักศึกษา เข้าฟังอยู่ไม่น้อย โดยเวทนี้ไม่ได้มุ่งเน้นต่อการเสนอทางออกเฉพาะหน้า หากพูดถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานที่สัมพันธ์กับกระบวนการประชาธิปไตย รวมถึงมุมมองทางการเมืองของพวกเขา

 


ในช่วงต้นของการเสวนา มีการเปิดวีซีดี "ไทรอัมพ์สู้ !" จัดทำโดย โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC)เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ของสหภาพไทรอัมพ์ 46 วันกับนายจ้างและรัฐ ในประเด็นการเลิกจ้างประธานสหภาพ ความพยายามล้มสหภาพ ด้วยข้อหาทางการเมือง ซึ่งถูกปลุกปั่นโดยสื่อเครือผู้จัดการ จบการฉายวีดีซี เห็นหลายคนยังคงนั่งปาดน้ำตากับเรื่องราวที่ปรากฏในจอและเรื่องราวจริงๆ ที่ยังไม่จบจนขณะนี้


 


 


"ต้องทำความเข้าใจว่าความหมายของประชาธิปไตยคืออะไร


ที่ผ่านมาความเข้าใจพื้นฐานคือ การเลือกตั้ง


แต่วันนี้มีคนบางกลุ่มบอกให้ย้อนหลังกลับไป มีการสรรหาด้วย


เพราะมองว่าการตัดสินใจของประชาชนไม่ถูกต้อง คนชนบทโง่


ขาดโอกาสในการเรียนรู้ แนวคิดเช่นนี้ถือว่าเป็นการดูถูกคนจนอย่างมาก"


 


 


"บุญยืน สุขใหม่"  เลขาธิการ กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ซึ่งมีประสบการณ์การกับสหภาพแรงงานมาตั้งแต่ปี 2536 และปัจจุบันได้รับการดูแลอย่างดีจากนายจ้าง "ตอนนี้มีกล้องวงจรปิดสองตัวที่โต๊ะทำงาน กระดิกตัวทำอะไรไม่ได้เลย"


 


บุญยืนกล่าวถึงเริ่มต้นถึง "วัฒนธรรม"ในขบวนการแรงงาน โดยระบุว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เขาไม่เห็นประวัติศาสตร์ของแรงงานเท่ากับประวัติศาสตร์ของผู้นำ ขณะที่เมื่อมองในภาพใหญ่ของการเมือง แม้แรงงานจะมีจำนวนถึง 36 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 11-12 ล้านคน แต่กลับไม่มีตัวแทนของคนงานในการเมืองเลย  ที่ผ่านมาขบวนการแรงงานมีการเรียกร้องให้มี กระทรวงแรงงาน สภาองค์กรลูกจ้าง เป็นต้น แต่หน่วยงานเหล่านั้นก็ไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของแรงงาน ดังนั้น หนทางในการต่อสู้ต่อไปจึงไม่เฉพาะเรื่องการรวมกลุ่ม การตั้งสหภาพ แต่ต้องเป็นการต่อสู้ที่เชื่อมโยงสู่มิติและประเด็นอื่นๆ ที่กว้างขวางขึ้น โดยสร้างตัวแทนของตนเองในการเมืองเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายของแรงงานเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้นอย่างแท้จริง


 


บุญยืนยังกล่าวถึงภาครัฐว่า ทุกวันนี้แรงงานก็ยังต้องต่อสู้กับภาครัฐด้วยนอกเหนือจากนายจ้าง ล่าสุด สหภาพแรงงานโฮย่า จังหวัดลำพูน ถูกยกเลิก ถอดถอนทะเบียนการเป็นสหภาพแรงงานโดยไม่มีการสอบสวน และลูกจ้างไม่ทราบเรื่องมาก่อน รู้อีกทีก็ถูกเลิกจ้างหมดแล้ว


 


ในเรื่องประชาธิปไตย เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาแรงงานก็มีส่วนในการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตย ถามว่าถึงวันนี้เข้าใจเรื่องประชาธิปไตยดีแค่ไหน


 


"ในประเทศไทย มีนักกฎหมายเยอะ ร่างรัฐธรรมนูญมา 20 กว่าฉบับ สงสัยกลัวประชาชนจะจำมาตราในรัฐธรรมนูญได้ มันสะท้อนให้เห็นปัญหาเหมือนกันว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ ขบวนการภาคประชาชนกำลังเรียกร้องอะไร โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีการแบ่งขั้ว ต้องทำความเข้าใจว่าความหมายของประชาธิปไตยคืออะไร ที่ผ่านมาความเข้าใจพื้นฐานคือ การเลือกตั้ง แต่วันนี้มีคนบางกลุ่มบอกให้ย้อนหลังกลับไป มีการสรรหาด้วย เพราะมองว่าการตัดสินใจของประชาชนไม่ถูกต้อง คนชนบทโง่ ขาดโอกาสในการเรียนรู้ แนวคิดเช่นนี้ถือว่าเป็นการดูถูกคนจนอย่างมาก เพราะคนจน คนชนบทเป็นคนส่วนใหญ่ของประทศ ต้องเคารพการตัดสินใจของเขาด้วย ทุกคนมีหนึ่งเสียงต้องมีสิทธิเท่ากัน ไม่ใช่จะมีอภิสิทธิ์ชนขึ้นมา" บุญยืนกล่าว


 


เรื่องรัฐธรรมนูญ บุญยืนแสดงความเห็นว่า รัฐธรรมนูญอาจมีบทบัญญัติอันสวยหรูแต่ไม่เคยได้รับใช้แรงงานอย่างแท้จริง ดังนั้น ไม่อยากให้ไปยึดกับตัวหนังสือ แต่ควรเน้นกระบวนการที่จะทำให้แรงงานรวมตัวและลุกขึ้นสู้ เน้นการจัดตั้งความคิด ให้การศึกษากับผู้คนทั้งในโรงงานและชนบทว่า ประชาธิปไตยคืออะไร เพราะทุกวันนี้คนเริ่มสับสนว่ามันยังใช่เสียงส่วนใหญ่หรือเปล่า


 


 


 


"เราต้องมีข้อเสนอที่ชัดเจนในการปฏิรูปการเมือง


ควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย"


 


"เจษฎา โชติกิจภิวาทย์"จากกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของทั้งกลุ่มเกษตรกรและแรงงานหลายกลุ่ม ให้ความเห็นว่า สำหรับเขาแล้วสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตย" ต้องมีการเลือกตั้ง ตรวจสอบได้ ถ่วงดุลได้ เป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตาม จากเงื่อนไขประวัติศาสตร์ที่เป็นอยู่ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแม้ไม่ถูกใจทั้งหมด แต่ไม่อาจปฏิเสธการเลือกตั้งได้ เพียงแต่กลุ่มที่สูญเสียอำนาจพยายามบอกว่าการเลือกตั้งมีการซื้อเสียง คนจนโง่ นี่เป็นการเมืองของวาทกรรมที่ต้องการทำลายล้างนักการเมือง พรรคการเมือง ถามว่าถ้าผู้ใช้แรงงานตั้งพรรคการเมืองเอง ไม่มีการเลือกตั้ง แล้วจะเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้อย่างไร


 


สำหรับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เขาเห็นว่าต้องแก้ เพราะรัฐธรรมนูญ 50 เป็นรัฐธรรมนูญของอำมาตย์ เพื่ออำมาตย์ และโดยอำมาตย์ แต่จะแก้อย่างไร ตั้ง สสร.3 หรืออื่นๆ ก็ต้องขบคิดกันในแนวทางที่จะให้มีพื้นที่ให้กับความคิดของประชาชน ของผู้ใช้แรงงานด้วย


 


"ผมชื่นชม สนนท. ประกายไฟ ไทรอัมพ์ ที่เสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล นายกมาจากการเลือกตั้ง การสร้างรัฐสวัสดิการ นี่เป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าในภาคประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย เราต้องมีข้อเสนอที่ชัดเจน ในการปฏิรูปการเมืองควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย" เจษฎากล่าว


 


นอกจากนี้ภาคประชาชนยังจำเป็นต้องปฏิรูปองค์กรตนเองด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสหภาพแรงงาน เครือข่ายเกษตรกร ทำให้มีประชาธิปไตยในองค์กรมากขึ้น ตรวจสอบได้ มีผู้นำเป็นหมู่คณะ ส่วนการจัดตั้งนั้นมีอยู่ 3 ระดับ คือ 1. เรื่องในชีวิตประจำวัน ปัญหาเฉพาะหน้า 2.การต่อสู้ระดับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มตนเอง 3. การต่อสู้โดยรวมทั้งหมด ต่อสู้เพื่อสังคมที่อยากให้เป็น เช่น เรื่องรัฐสวัสดิการ


 


ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ต้องอาศัยการจัดการเรียนรู้ การศึกษาที่เข้มข้น ดังเช่นตัวอย่างในละตินอเมริกาที่ขบวนการแรงงานมีความเข้มแข็งมากเพราะมีการจัดการศึกษากันเองอย่างทั่วถึง การขาดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนให้การศึกษาระหว่างกันและเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ คือจุดที่ทำให้ภาคประชาชนสับสนเรื่องประชาธิปไตยอยู่ในปัจจุบัน


 


 


 


"ถ้าเราอยากมีประชาธิปไตย เสรีภาพที่แท้จริง


เราต้องเข้าสู่กระบวนการทางการเมือง ถ้าเรามีพรรคการเมืองของตัวเอง


คนงานเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกฯ เอง


เราสามารถกำหนดนโยบายได้ ชีวิตของแรงงานจะดีขึ้น"


 


 


"จิตรา  คชเดช" จากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ที่เพิ่งเคลื่อนไหวอย่างเหนียวแน่นเป็นข่าวร้อนเมื่อไม่นานนี้ กล่าวถึงการจัดโครงสร้างของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ว่า มีความเป็นประชาธิปไตยสูง  โดยประธานสหภาพนั้นมากจาการเลือกตั้งโดยตรงจากที่ประชุมใหญ่ และกรรมการสหภาพก็จะกระจายมาจากแต่ละไลน์การผลิต ล้อไปกับระบบผลิตของโรงงาน ซึ่งจะต้องรับฟังความเห็นจากสมาชิกเพื่อเอาเข้าสู่ที่ประชุมในทุกเรื่อง และมีกระบวนการตัดสินใจร่วมกัน ไม่ว่าเรื่องข้อเรียกร้อง หรือเรื่องใดๆ  นอกจากนี้ยังมีการจัดกลุ่มศึกษาให้สมาชิกอย่างต่อเนื่อง


 


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโครงสร้างองค์กรจะเป็นประชาธิปไตยเพียงไหน ก็ต้องสิ้นสุดที่กฎหมาย ความขัดแย้งต่างๆ ชี้ขาดกันโดยข้อกฎหมาย ซึ่งที่สุดแล้วไม่ได้ให้ประโยชน์กับคนงาน เช่น ถ้านายจ้างใช้สิทธิ์ปิดงาน คนงานก็ไม่ได้รับค่าจ้าง การนัดหยุดงานของคนงานเองก็ไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งเรื่องปากท้องเป็นจุดอ่อนที่สุดของแรงงาน


 


กระบวนการอื่นๆ ทางกฎหมายก็ไม่เอื้อต่อขบวนการแรงงาน เช่น จะมีสหภาพแรงงานได้ต้องจดทะเบียน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐในการรับรองสิทธิแรงงาน, สหภาพแรงงานถูกแบ่งเป็นผู้บังคับบัญชา กับไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ยังเขียนบังคับด้วยว่าต้องสร้างสัมพันธ์อันดีกับนายจ้าง รวมทั้งห้ามเกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย


 


"ถามว่าห้ามแรงงานเกี่ยวข้องการเมือง ถ้าไม่เกี่ยวกับการเมือง ให้คุยกับนายจ้างอย่างเดียวแล้วคุณภาพ สวัสดิการจะดีขึ้นไหม" จิตรากล่าว


 


อีกส่วนหนึ่งคือ โครงสร้างที่แรงงานไปเกี่ยวพันกับรัฐ เพราะสหภาพแรงงานจะมีสิทธิเป็นกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นผู้พิพากษาสบทบในศาลแรงงาน เป็นคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ คณะกรรมการประกันสังคม โดยเลือกผ่านสภาแรงงาน 1 สหภาพ ต่อ 1 เสียงเท่ากันหมด อย่างสหภาพไทรอัมพ์มีสมาชิก 3000 คนได้ 1 เสียงเท่ากับสภาพที่มีสมาชิก 30 คน อย่างนี้จึงมีความพยายามตั้งสหภาพเยอะๆ เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งเหล่านี้ ไปเป็นไม้ประดับ ไปสร้างความชอบธรรมให้กับการตัดสินใจของหน่วยงานเหล่านั้น


 


"ก่อนเข้าสู่ตำแหน่งเป็นคณะกรรมการก็ต้องผ่านการอบรมเพื่อให้ทุกคนเป็นกลาง นายจ้างหนึ่ง รัฐหนึ่ง ลูกจ้างเสือกเป็นกลางอีก แล้วมันจะเหลืออะไร หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้" จิตรากล่าว


 


จิตรายังกล่าวถึงรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องเลือกตั้งที่บ้านเกิด ซึ่งควรจะต้องเปลี่ยนให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในที่ทำงานได้ เรื่องเสรีภาพของคนงานก็ไม่มี เพราะห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง


 


"รัฐประหารคราวที่แล้วมีการแก้กฎหมายให้คนงานเข้าไปอยู่ในกรงขังมากกว่าเดิม มีรัฐประหารทีก็แก้กฎหมายที ปี 34 แก้เรื่องที่ปรึกษาสหภาพแรงงานต้องจดทะเบียน ถ้าเราอยากมีประชาธิปไตย เสรีภาพที่แท้จริง เราต้องเข้าสู่กระบวนการทางการเมือง ถ้าเรามีพรรคการเมืองของตัวเอง คนงานเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกฯ เอง เราสามารถกำหนดนโยบายได้ ชีวิตของแรงงานจะดีขึ้น" จิตรากล่าว


 


 


 


"การปฏิรูปการเมือง หรือการเมืองใหม่ ในขณะนี้


ข้อเสนอของพันธมิตรฯ ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนมากขึ้น


ที่ทำคือจัดการกับนักการเมืองที่มองว่าชั่วช้า


การปฏิรูปโดยส่วนอื่นไม่ว่านำโดยรัฐบาลหรือส่วนไหน


ก็ยังเป็นการปฏิรูปในส่วนการเมือง แต่ไม่มีในส่วนสังคม"


 


 


"สมชาย ปรีชาศิลปกุล"  จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ถ้าดูสถานการณ์การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ที่ใครๆ ก็ให้ความสนใจ ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ กลุ่มคลื่อนไหวทางสังคมค่อนข้างฝ่อ สิ่งน่าดีใจคือ สหภาพแรงงานไทรอัพม์ยังเคลื่อนได้ นี่คือชัยชนะแล้ว และเป็นสิ่งทีสำคัญมาก


 


การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานมี 3 เรื่องใหญ่ที่ต้องคิดคือ 1. เสรีภาพในการรวมตัวเป็นหัวใจสำคัญในการเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ทำให้เรามีพลังขึ้นในการต่อรองกับกลุ่มคนอื่นๆ ที่ผ่านมา การรวมตัวของสหภาพแรงงานมีปัญหามาก ทำให้เสียงไม่ดัง เมื่อเทียบกับชนชั้นกลางที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ แต่ก็พูดได้ดังกว่า ดังนั้น บทเรียนในการจัดตั้งและบริหารองค์กรของไทรอัมพ์สำคัญมาก ต้องเรียนรู้ทั้งข้อเด่นและข้อด้อยว่าที่อื่นจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร


 


"ในอดีต สหภาพแรงงานเจอปัญหาเยอะ พอเข้มแข็ง ผู้นำก็ติดลมบน พูดคนละภาษากับแรงงาน หรือไม่ก็ถูกคุกคาม ดังนั้น ไทรอัมพ์จึงเป็นบทเรียนที่ดี ให้ที่อื่นเรียนรู้ให้ได้ ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบกันหมด แต่ต้องรู้ปัจจัยที่จะทำให้เรามีพลัง" สมชายกล่าว


 


2.ตัวระบบหรือโครงสร้าง เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้การรวมกลุ่ม ต้องทำความเข้าใจว่าระบบกฎหมายแรงงานมีปัญหาอะไรบ้าง เช่น การห้ามสหภาพแรงงานสัมพันธ์กับกิจกรรมทางการเมือง, โครงสร้างไตรภาคีที่สังคมยอมรับว่าดี ความจริงแล้วเป็นธรรมจริงไหม ต่อรองได้จริงไหม, ตัวกระบวนการยุติธรรมที่มักถูกทำให้เชื่อว่ามีเรื่องอะไรต้องไปตกลงในศาลเพื่อความยุติธรรม สิ่งเหล่านี้ต้องถูกท้าทาย ผู้ใช้แรงงานต้องเสนอว่ากลไกเหล่านี้รองรับผู้ใช้แรงงานได้จริงหรือไม่ แม้แต่ศาลแรงงานเองก็มีคดีเป็นจำนวนมากไม่ใช่หรือที่สะท้อนว่าไม่เป็นธรรม หลายคดีเนิ่นนานมากกว่าจะจบ, กระบวนการทางการเมืองที่ถูกตัดขาด เราสามารถจะผลักดันความต้องการเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน


 


3. ในการเคลื่อนไหวต่างๆ แรงงานมักมีปัญหาเฉพาะหน้า มีเพดานจำกัดอยู่ ทำให้แรงงานต้องเผชิญปัญหาในการดำรงชีวิต ไม่ว่า การศึกษาศึกษาของบุตร การรักษาพยาบาลคนในครอบครัว ดังนั้น การต่อสู้ในโรงงานอาจไม่พอที่จะโอบอุ้มชีวิตของเราและคนอื่นๆ ทั้งหมดให้อยู่ได้อย่างมั่นคงได้


 


ดังนั้น สิ่งที่ต้องคิดถึงจึงเป็นข้อเรียกร้องที่ต้องเรียกร้องกับรัฐ หรือสังคม เพราะคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมก็ตกอยู่สถานะเดียวกัน จึงต้องเรียกร้องกับรัฐด้วยว่าจะสร้างสวัสดิการทางสังคมให้เกิดขึ้นอย่างไร เช่น หลักประกันด้านการศึกษา สุขภาพ เรื่องนี้สำคัญไม่น้อยกว่าปัญหาเฉพาะหน้าอย่างค่าจ้าง และการจะผลักดันประเด็นนี้ ขบวนการแรงงานต้องประสานร่วมกับองค์กรประชาธิปไตยอื่นๆ ในการผลักหรือสร้างนโยบายให้มิติอื่นๆ ของเราให้ได้รับการประกันไว้โดยรัฐด้วย


 


"สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย คือตัวระบบการเมืองที่ทำให้เรามีสิทธิกำหนดชะตากรรมหรือชีวิตของเราโดยที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันต่างๆ ให้เราตัดสินใจได้พอสมควร ทำให้อำนาจของคนตัวเล็กในสังคมมีมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ เวลาเราคิดถึงตัวระบบการเมืองใหญ่ ทั้งหมดต้องกลับมาว่าจะทำอย่างไรให้คนตัวเล็กมีพลังมากขึ้นในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง"


 


"การปฏิรูปการเมือง หรือการเมืองใหม่ ในขณะนี้ ข้อเสนอของพันธมิตรฯ ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนมากขึ้น ที่ทำคือจัดการกับนักการเมืองที่มองว่าชั่วช้า การปฏิรูปโดยส่วนอื่นไม่ว่านำโดยรัฐบาลหรือส่วนไหน ก็ยังเป็นการปฏิรูปในส่วนการเมือง แต่ไม่มีในส่วนสังคม สิ่งที่เราควรทำ คือ อย่าปล่อยให้การปฏิรูปการเมืองบนเรื่องของการจัดการโครงสร้างทางการเมืองอย่างเดียว ทำอย่างไรให้เกิดการปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ เพิ่มอำนาจของประชาชนมากขึ้นเพื่อจัดการกติกาต่างๆ ให้เป็นธรรมมากขึ้น จะมีพรรคการเมืองหรือไม่ ผมยังไม่ได้ข้อสรุป" สมชายกล่าว


 


 


 


"ข้อเสนอของภาคประชาชนไม่ใช่การขอในการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ


แต่ควรตั้งองค์กรเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับของภาคประชาชนเอง


จึงอยากเห็น กป.อพช. และขบวนการอื่นๆ ร่วมกันร่างเอง"


ใจ อึ๊งภากรณ์


 


ในช่วงท้ายการเสวนา มีผู้เข้าร่วมหลายคนร่วมแลกเปลี่ยน เช่น ใจ อึ๊งภากรณ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขอฟันธงว่าการเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นข้อเสนอเพื่อสร้างเผด็จการ ขบวนการนี้กลายเป็นขบวนการฟาสซิสต์ที่รับใช้อมาตยาธิปไตย และถ้าจะคุยว่าปัญหาอันดับหนึ่งของประชาธิปไตยคืออะไร มันคือการที่ประชาชนไม่มีการเมืองที่เป็นอิสระของตนเอง ไปอิงกับพันธมิตรฯ บ้าง พลังประชาชนบ้าง ตอนนี้หลายกลุ่มคุยเรื่องนี้ และพยายามกดดัน รณรงค์เรื่องรัฐสวัสดิการและประชาธิปไตย ซึ่งน่าจะนำไปสู่การตั้งพรรคการเมืองได้


 


เรื่องสภาร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ใจเห็นว่า ประวัติศาสตร์สอนว่าการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะปี 40 เราไว้ใจผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาเป็น สสร.ไม่ได้ ดังนั้น ข้อเสนอของภาคประชาชนไม่ใช่การขอในการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ควรตั้งองค์กรเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับของภาคประชาชนเอง จึงอยากเห็น กป.อพช. และขบวนการอื่นๆ ร่วมกันร่างเอง


 


บุญผิน สุนทรารักษ์ จากสหภาพกรุงเทพฯ ผลิตเหล็กกล่าวว่า แม้สหภาพแรงงานไทรอัมพ์จะชนะในการต่อสู้ครั้งนี้และครั้งอื่นๆ ที่มีข้อเรียกร้อง แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมไว้ เพราะทั้งลูกจ้างและนายจ้างต่างก็เรียนรู้กระบวนการที่ผ่านมา ดังนั้น จึงเสนอให้ไทรอัมพ์พัฒนาตนเองไปสู่การยกระดับสหภาพแรงงานอื่น เป็นผู้นำและแหล่งเรียนรู้ให้กับแรงงานที่อื่นๆ ที่ยังไม่มีการจัดตั้งที่เข้มแข็ง รวมถึงยกระดับไปสู่การมีบทบาทในการเมืองด้วย


 


กุลนิภา พันตน สหภาพแรงงานไก่สดเชนทาโก กล่าวว่า กรรมการสหภาพสู้คดีมาตั้งแต่ปี 2548 ตอนนี้มี 14 คดี สิ่งที่น่าคิดคือ ดูเหมือนกระบวนการยุติธรรมใช้ "เวลา" เป็นตัวฆ่าแรงงาน ขณะที่กระบวนการไตรภาคีนั้น แรงงานปฏิเสธมาตลอดแต่จะทำอย่างไรต่อก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ขณะที่ขบวนการแรงงานเองพยายามผลักดันให้รัฐบาลไทยเป็นภาคีอนุสัญญา  ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ยังไม่สำเร็จ คาดว่ากลไกสากลนี้ก็น่าจะเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งให้แรงงานได้


 


 


ยอด วรดุลย์ คนตกงานจากต่างจังหวัด กล่าวว่า ในเรื่องรัฐสวัสดิการ สังคมเราคิดเรื่องนี้เฉพาะส่วนที่รัฐบาลต้องอุดหนุน แตจ่ก่อนที่รัฐจะจ่ายเงินมาเป็นสวัสดิการได้ต้องเก็บรายได้จากที่ใดที่หนึ่ง พรรคไทยรักไทยทำดีในการสร้างหลักประกันต่างๆ ได้บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้เก็บเงินจากคนรวยอย่างแท้จริง ดังนั้น สิ่งที่จะต้องพูดเป็นอันดับแรกในเรื่องรัฐสวัสดิการคือการกระจายรายได้ เก็บภาษีก้าวหน้าจะทำได้อย่างไร ไม่ใช่พูดว่ารัฐต้องจ่ายให้เราอย่างไร


 


ชุติมา ไชยสงค์  ตัวแทนแรงงานรับเหมาช่วงในจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงประสบการณ์ที่เจอว่า เคยขอประกันสังคมกับโรงงาน ยอมจ่ายด้วยคนละครึ่งก็ยังไม่ได้ ที่หมู่บ้านที่ขอนแก่นรับทำแห อวน ก็ไปทำกัน 12 คนได้แค่ค่าแรงรายวัน ค่ารถจ่ายคนละครึ่งกับโรงงาน ตอนนี้เดือนหนึ่งได้เดือนละ 5,000 บาท ทำ 8 ชั่วโมงต่อวัน


 


บุญยืน สุขใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาแรงงานของไทย 12 สภา แต่ไม่มีบทบาทช่วยลูกจ้าง บางแห่งได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทญี่ปุ่นและรับลูกจ้างที่ปลดเกษียณเป็นสมาชิก ดังนั้น ถ้ายังอยู่ในกรอบเดิมๆ และไม่เรียนรู้เรื่องอื่นๆ จะอยู่ลำบาก นอกจากนี้ในเรื่องบทบาทของตัวแทนสหภาพที่ได้มีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ นั้นพบว่า ผู้นำแรงงานเมื่อได้หัวโขนแล้วก็มักเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดตอนนี้คือศาลแรงงานภาค 2 ได้นำระบบเดิมมาใช้ คือการตั้งผู้ไกล่เกลี่ยในศาลแรงงาน จำนวน 52 คน โดยจะมีสัดส่วนผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง 3  ฝ่ายนายจ้าง 13 ที่เหลือเป็นผู้บริหารสมาคม ชมรมบริหารงานบุคคลในภาคตะวันออก


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net