Skip to main content
sharethis

นับถอยหลังอีกเจ็ดวันประชาชนชาว กทม.ก็จะได้เห็นโฉมหน้าผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ที่จะเข้ามาบริหารจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกมุมของสังคมเมือง คนจนเมืองในชุมชนแออัดต่างจับตามองบรรดาผู้สมัครในเรื่องของวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาให้กับพวกเขา จึงนำไปสู่การจัดงาน เปิดอภิปรายสาธารณะ "เปิดพื้นที่คนจนเมือง เปิดวิสัยทัศน์ด้านชุมชนแออัด" จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้มีคนจนเมืองในชุมชนแออัดมากกว่าหนึ่งล้านคน แต่ที่ผ่านมาผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังไม่ได้นำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มนี้ชัดเจนนัก ดังนั้นเวทีอภิปรายนี้จะได้ทำให้เกิดพื้นที่นำเสนอปัญหาของชุมชน และข้อเสนอแนวทางในการพัฒนาชุมชนแออัด และจะได้เป็นเวทีให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ด้านชุมชนแออัดด้วย


 


การจัดอภิปรายในครั้งนี้มีกลุ่มชุมชนสลัมที่ประสบกับปัญหาต่างๆ เข้าร่วมรับฟัง โดยเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 14.10 . เป็นการนำเสนอปัญหาและข้อเสนอนโยบายด้านชุมชนแออัดโดยตัวแทนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค จำนวน 7 คนได้แก่ นางประทิน เวคะวากยานนท์ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค นายสมชาย มินสาร ประธานชุมชนเพชรคลองลั่น นางวิมล แดงสะอาด เครือข่ายสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคนจนเมือง นางหนูเกณ อินทจันทร์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค นางทองเชื้อ วรยชุน เครือข่ายสลัม 4 ภาค นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ กลุ่มคนไร้บ้าน และนางณีรมล สุทธิพรรณพงศ์ ตัวแทนแรงงานนอกระบบ


 



 


 


ข้อเสนอคนจนเพื่อพื้นที่ของคนจนเมือง


นางประทิน เวคะวากยานนท์ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวถึงปัญหาการไล่รื้อคนจนไปนอกเมืองรวมทั้งการใช้กฎหมายบังคับไล่รื้อชุมชนอย่างไม่เป็นธรรม ว่าเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารทั้งในระดับรัฐบาลและท้องถิ่น ที่มักมองคนจนในชุมชนแออัดเป็นผู้บุกรุกที่ต้องรื้อย้ายออกไปเพื่อนำพื้นที่มาพัฒนาเมือง รูปธรรมล่าสุดของวิสัยทัศน์ดังกล่าวก็คือ แนวคิดของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการย้ายสลัม 1,700 แห่ง ในเขต กรุงเทพฯ เพื่อสร้างให้กรงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่


 


นางประทิน มีข้อเสนอต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ว่า ไม่ต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ สนับสนุนวิสัยทัศน์ในการย้ายสลัมไปนอกเมือง และต้องการให้มีนโยบายปรับปรุงและพัฒนาชุมชนแออัดในพื้นที่เดิมให้พ้นจากความเป็นสลัม


 


นอกจากนั้น ปัญหาการใช้กฎหมายบังคับไล่รื้อชุมชนอย่างไม่เป็นธรรม ตัวอย่างการเกิดปัญหาในชุมชนริมคูครอง ซึ่งนอกจากการใช้กฎหมายอาญาข้อหาบุกรุกแล้ว กรุงเทพฯ ยังใช้กฎหมายอื่นๆ ในการไล่รื้อชุมชน เช่นการใช้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 44.. 2502 ที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการรื้อถอนบ้านเรือนได้หลังครบกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ประกาศ และมีสิทธิ์เรียกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนจากประชาชนได้ โดยเสนอต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ ไม่ให้ใช้กฎหมายมาเป็นมาตรการหลักหรือตัวนำในการแก้ปัญหาชุมชนแออัด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญา ปว.44 หรือ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร


 


นายสมชาย มินสาร ประธานชุมชนเพชรคลองลั่น กล่าวถึงปัญหาการพัฒนาชุมชนริมคลองและการอนุรักษ์ชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมโดยชุมชนมีส่วนร่วม เช่น ปัญหาการจำกัดสิทธิการพัฒนาของชุมชนริมคลองที่ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมริมคลองเน่าเสียว่า ต้องการให้ผู้ว่ากรุงเทพฯ คนใหม่ มีนโยบายอนุญาตให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) นำงบประมาณด้านการพัฒนาและด้านสาธารณูปโภคสู่ชุมชนได้โดยยังไม่เพิกถอนสภาพพื้นที่สาธารณะ


 


ส่วนปัญหาการมีส่วนร่วมของชุมชนเก่าดั้งเดิมในการอนุรักษ์วิถีชุมชน อย่างเช่นชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ซึ่งได้มีข้อพิพาทในการรื้อย้ายกับ กทม.มากกว่า 15 ปีนั้น ควรจัดให้มีชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนโดยไม่ต้องรื้อย้ายชุมชนออกไปนอกเมือง


 


ในประเด็นปัญหาการออกทะเบียนบ้านให้แก่ชุมชน นางวิมล แดงสะอาด เครือข่ายสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคนจนเมือง ได้แจกแจงถึงปัญหาการออกทะเบียนบ้านชั่วคราวให้แก่ชุมชนที่ยังไม่มีสิทธิในที่ดินว่า การขอทะเบียนบ้านชั่วคราวของชาวบ้านเพียงต้องการอยู่ในสถิติข้อมูลของภาครัฐเพื่อที่จะมีสิทธิต่างๆ และได้เสนอให้มีนโยบายออกเลขที่บ้านชั่วคราวให้กับบ้านเรือนในชุมชนในที่ดินเอกชนและที่ดินรัฐวิสาหกิจ โดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องให้เจ้าของที่ดินยินยอมก่อน เพราะทะเบียนบ้านชั่วคราวเป็นเพียงหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ หาใช่ใบกรรมสิทธิ์ยึดครองที่ดินของเจ้าของ


 


ส่วนปัญหาการออกทะเบียนบ้านปกติให้กับชุมชนที่ได้รับสิทธิในที่ดินแล้ว แต่ขนาดที่ดินที่ชุมชนเหล่านี้ได้รับนั้นมักจะมีขนาดเล็กกว่าแปลงมาตรฐาน นางหนูเกณ อินทจันทร์ เครือข่ายสลัม 4ภาค กล่าวถึงข้อเสนอว่า ขอให้มีนโยบายผ่อนปรนการออกเลขที่บ้านแบบปกติให้กับชุมชนที่ได้รับสิทธิความมั่นคงในที่ดินแม้ว่าระยะร่นอาจจะน้อยกว่ามาตรฐานกฎหมายควบคุมอาคาร เพราะเป็นโครงการที่ชุมชนร่วมมือกันพัฒนาชุมชนบนมาตรฐานความสามารถที่ชุมชนปฏิบัติได้ ไม่ใช่เป็นโครงการที่มุ่งวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ


 


ต่อมา นางทองเชื้อ วรยชุน เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวถึงประเด็นปัญหาการสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาและสวัสดิการผู้สูงอายุว่า ในปัญหาการสนับสนุนด้านการศึกษาฟรี ยังพบเด็กนักเรียนในโรงเรียนบางแห่งมีสมุดหนังสือไม่เพียงพอ นอกจากนี้ผู้สมัครผู้ว่าฯ หลายคนมีนโยบายที่ส่งเสริมการเรียนการสอนเป็นระบบ 2-3 ภาษา ดังนั้นชุมชนจึงไม่แน่ใจว่าหลักสูตรการเรียนการสอนที่เพิ่มขึ้นจะฟรีหรือไม่ ได้มีข้อเสนอให้มีนโยบายการศึกษาฟรีในเรื่อง ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียน ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าใช้จ่ายในทุกรายการที่เกี่ยวข้อง


 


ส่วนปัญหาเรื่องการสนับสนุนสวัสดิการผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งมีผู้สูงอายุในชุมชนที่ตกหล่นจากกระบวนการการสำรวจขึ้นทะเบียนทำให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นไม่ได้รับสิทธิในการรับความช่วยเหลืองบสวัสดิการประจำเดือน จึงควรให้มีนโยบายสนับสนุนงบประมาณด้านสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุในชุมชนแออัดอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม


 


นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ กลุ่มคนไร้บ้าน กล่าวถึงปัญหาของกลุ่มคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือถูกกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (กรมประชาสงเคราะห์เดิม) และเทศกิจกวาดจับอยู่เป็นประจำ เป็นการสร้างความทุกข์ยากเพิ่มเติม และมีข้อเสนอคือ ต้องการให้มีนโยบาย หยุดการกวาดจับคนไร้บ้าน ต้องมีห้องน้ำสาธารณะให้กับคนไร้บ้าน จัดให้คนไร้บ้านมีกิจกรรมการพบแพทย์เคลื่อนที่บริการด้านสุขภาพ และสนับสนุนพื้นที่กรุงเทพฯในการสร้างศูนย์พักคนไร้บ้าน


 


สุดท้ายประเด็นด้านกลุ่มแรงงานนอกระบบ นางณีรมล สุทธิพรรณพงศ์ ตัวแทนแรงงานนอกระบบ กล่าวถึงความไม่มั่นคงในอาชีพและรายได้ของแรงงานนอกระบบ เพราะไม่มีสวัสดิการและนายจ้าง นอกจากนี้แรงงานนอกระบบที่อาศัยอยู่ใน กทม.ประมาณ 1.3 ล้านคน ประสบปัญหาไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ การไม่ได้รับงานทำที่ต่อเนื่อง ได้รับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมเช่นอาชญากรรม จึงต้องการที่จะให้ ผู้ว่าฯ คนใหม่ มีนโยบายที่ชัดเจนต่อกลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น การจัดพื้นที่ตลาดให้กับบุคคลเหล่านี้ได้ประกอบอาชีพอย่างถาวร ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานนอกระบบ


 


 


ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยันไม่รื้อถอนสลัมออกจากเมือง


หลังจากการเปิดประเด็นปัญหาของกลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค มีการภิปรายสาธารณะ "เปิดวิสัยทัศน์ด้านชุมชนแออัด" โดยผู้สมัครผู้ว่า กทม.จำนวน 4 คน ได้แก่ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และนางลีน่า จังจรรจา ดำเนินรายการโดย อ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 2 กล่าวถึงความตั้งใจที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.ว่า เพื่อต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนยากจน และเชื่อในเรื่องความเป็นธรรม เมื่อใครเสียเปรียบมากๆ ก็จะยืนข้างคนเสียเปรียบเสมอ ซึ่งเวทีนี้เป็นเวทีที่เป็นประโยชน์ที่สุดของทุกคนที่จะกดดันนักการเมืองให้มีจิตสำนึกว่าต้องนึกถึงคนตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งนโยบายของตนเป็นนโยบายที่ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายบุบเฟ่ต์การเดินทางสำหรับคนจน เด็ก คนพิการ ส่วนปัญหาการไล่ที่เขาจะทำหน้าที่ในการเป็นเจ้าภาพในการหาทางออกที่มีการเจรจากันเพื่อข้อสรุปในเรื่องนี้ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้


 


นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 5 กล่าวถึงนโยบายเรื่องที่อยู่อาศัยว่า ต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่สามารถทำให้คนจนอยู่ร่วมกับเมืองได้ โดยประชาชนต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการออกทะเบียนบ้าน เรื่องการศึกษาฟรี 5 อย่าง สวัสดิ์การคนชรา การรักษาพยาบาล ในภาพรวมจะดำเนินการสำรวจจำนวนผู้อยู่อาศัยภายในชุมชนอย่างชัดเจน และพูดคุยรับทราบปัญหาที่แท้จริง เพื่อแยกแยะได้ว่าชุมชนไหนมีปัญหาเรื่องอะไรก็จะทำเรื่องนั้นให้เป็นระบบเพื่อการแก้ไขปัญหา


 


นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 กล่าวถึงนโยบายแรกในเรื่องการไล่รื้อโดยชู พ.ร.บ.พิเศษสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนว่า รัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ โดยให้มีการออกกฎหมายหรือ พ.ร.บ.กำหนดมาว่าชุมชนควรมีลักษณะแบบไหน ควรจัดระเบียบชุมชนอย่างไร นโยบายต่อมาก็คือ พ.ร.บ.พิเศษสำหรับอนุรักษ์ชุมชน ก็คือชุมชนต่างๆ ต้องมีการอนุรักษ์ไว้ ในความคงอยู่ไว้ลักษณะความเป็นตัวตนของชุมชน และในเรื่องของทะเบียนบ้านชั่วคราวซึ่งสมควรออกให้กับคนงานก่อสร้าง คนที่อยู่ในกรงเทพฯ นานแล้วไม่จำเป็นต้องใช้ทะเบียนบ้านชั่วคราว


 


นางลีน่า จังจรรจา ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 7 ได้พูดถึงนโยบายของตนในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มสลัมว่าจะมีการสอนอาชีพ และให้เงินทุนในการประกอบอาชีพ จะทำให้คนจนมีฐานะ ส่วนในเรื่องที่อยู่อาศัยจะมีการปลูกบ้านให้คนจนเช่าเดือนละ 300 บาท การศึกษาฟรีในทุกรายการที่เกี่ยวข้อง จะมีการบำบัดน้ำเสียในทุกๆ คูคลอง ส่วนในเรื่องทะเบียนบ้านจะผลักดันกฎหมายในเรื่องนี้ และยังฝากให้ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเองก่อนในการขยันทำงาน


 


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนการอภิปรายตามกำหนดการมีรายชื่อผู้ร่วมอภิปราย เพียงแค่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 2 หมายเลข 5 หมายเลข 8 และหมายเลข 10 เท่านั้น ซึ่งทีมงานหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 7 ได้มาตะโกนร้องประณามการจัดงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาธิปไตย และไม่ได้รับเชิญเข้ามาร่วมงาน ในที่สุดผู้จัดต้องยอมให้ขึ้นเวทีด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net