Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จรัล  ดิษฐาอภิชัย


ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์สิทธิประชาชน หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ 30 ก.ย. 51


 


ภายใต้ภาวะวิกฤติทางการเมืองที่ดำรงมาหลายเดือน มีผู้คนแสดงความคิดเห็นและพยายามมีบทบาทคลี่คลายภาวะดังกล่าวมาตลอด ในนั้นมีที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศด้วย และองค์กรนี้ลงชื่อโดยอธิการบดี 24 คน ได้ออกแถลงการณ์เสนอให้มีการปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งหลายฝ่ายสนับสนุน ผมจึงขอตั้งข้อสังเกตสัก 2-3 ประการ


 


ประการแรก ข้อเสนอของที่ประชุมอธิการบดี 24 คน ให้แก้วิกฤติด้วยการปฏิรูปทางการเมือง ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษาค้นคว้าหาแนวทางและวิธีการปฏิรูปทางการเมือง โดยเสนอให้ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน มีขั้นตอนดำเนินการเหมือนกับสมัยปฏิรูปทางการเมืองรอบแรก พ.ศ.2537 มิได้มีอะไรใหม่ สะท้อนสติปัญญาของอธิการบดี 24 คนว่ามีเท่านี้เอง ไม่สมกับเป็นปัญญาชนชั้นสูงผู้ทรงภูมิรู้เลย ยิ่งเสนอให้ นพ.ประเวศ วะสี ผู้เพิ่งเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชน ยกยอปอปั้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่าเป็นขบวนการประชาภิวัตน์ และขยายแนวความคิดการเมืองใหม่อย่างนั้นอย่างนี้ และที่สำคัญเห็นว่าการยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นการกระทำความผิดเล็กน้อย ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าอธิการบดีเหล่านี้ถ้าไม่หลงงมงาย นพ.ประเวศ วะสี ก็เป็นพวกเดียวกัน


 


ประการที่สอง บรรดาอธิการบดีทั้งที่มาประชุมและลงชื่อกันกับที่ไม่มาส่วนใหญ่แสดงความคิดสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ มาตลอด กระทั่งการยึดทำเนียบรัฐบาล เรียกว่า เป็นฝ่ายพันธมิตรฯ องค์กรนี้เคยมีมติเรียกร้องให้ นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหมือนกับคณะแพทย์อาวุโส บุคคลเหล่านี้อยู่ฝ่ายพันธมิตรฯ มาตั้งแต่ขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เนื่องจากเป็นผู้อาวุโสเป็นนักวิชาการ ปัญญาชนชั้นสูง จึงไม่กล้าออกมาขับไล่นายกรัฐมนตรีโดยตรง หากขอให้ลาออกเพื่อแก้วิกฤติของชาติ นับเป็นความตอแหลของผู้อาวุโส คราวนี้ก็เช่นกัน 24 อธิการบดี ใช้มุกปฏิรูปทางการเมือง คงเพื่อให้ดูว่าเป็นนักวิชาการระดับบริหารมหาวิทยาลัย และไม่กล้าแสดงท่าทีสนับสนุนการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ด้วยมีกระแสไม่เห็นด้วยค่อนข้างมาก


 


ประการที่สาม ข้อเสนอให้มีการปฏิรูปทางการเมือง มิได้เรียกร้องต่อพันธมิตรฯ เลย ทั้งๆ ที่รู้ว่าวิกฤติทางการเมืองนี้สาเหตุสำคัญมาจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ของพันธมิตรฯ โดยเฉพาะการยึดทำเนียบรัฐบาล ราวกับว่ารัฐบาลเป็นต้นตอของวิกฤติอย่างเดียว แล้วก็ไม่พูดถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเมืองมีปัญหาหนักหน่วงรุนแรง ข้อเสนอหรือเรียกร้องต่อฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่เรียกร้องต่อพันธมิตรฯ มีมาตลอด เช่น กลุ่มสันติวิธี กลุ่มสิทธิมนุษยชน ไม่เคยวิจารณ์ เรียกร้องต่อพันธมิตรฯ ที่บุกยึดสถานีโทรทัศน์ NBT ยึดทำเนียบรัฐบาล มีอาวุธปืน มีด ไม้กระบอง ไม้ตีกอล์ฟ และฝึกทหารกันในทำเนียบ ว่าเป็นการกระทำที่รุนแรง แต่พอเกิดการปะทะในคืนวันที่ 2 กันยายน มีคนเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บกว่า 40 คน นักสันติวิธี นักสิทธิมนุษยชนเรียงหน้ากันออกมาประณามฝ่ายประชาธิปไตยว่าใช้ความรุนแรง


 


กลับไปที่ข้อเสนอปฏิรูปทางการเมืองของอธิการบดี ถ้าบรรดาเหล่าผู้ทรงภูมิมีแนวความคิดเห็นว่าการปฏิรูปทางการเมืองจะเป็นทางออกของวิกฤติและทางออกถาวร ทำไมไม่อ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นแบบอย่างการปฏิรูปทางการเมือง หากนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กลับมาใช้ โดยยกเลิกฉบับปัจจุบันที่เป็นอำมาตยาธิปไตย จะเป็นการเริ่มต้นการปฏิรูปทางการเมืองได้ดีกว่าการตั้งคณะกรรมการอิสระมาศึกษา และเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภาให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนการปฏิรูปทางการเมืองรอบแรก


 


การที่อธิการบดี 24 คนไม่พูดถึงรัฐธรรมนูญ 2540 เลย ก็เพราะพวกท่านเหล่านั้นเห็นด้วยกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ฉีกรัฐธรรมนูญดังกล่าวทิ้ง และลึกๆ คงเห็นด้วยกับการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ นั่นเอง


 


ข้อเสนอของ 24 อธิการบดี เป็นยุทธวิธีหนึ่งในการสนับสนุนพันธมิตรฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net