Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไท แปลและเรียบเรียงจากบทความ เรื่อง Paul Krugman: Crisis endgame
ใน นสพ.อินเตอร์เนชั่นแนลเฮรัล ทรีบูน


ที่มา: http://arayachon.org/sansab/20080920/671


 



เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน 2551 เฮนรี่ พอลสัน (Henry Paulson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ ได้พยายามขีดเส้นบนทราย ไม่ให้รัฐเข้าไปช่วยสถาบันการเงินที่ล้มเหลวอีกต่อไป


สี่วันถัดมา เมื่อเผชิญหน้ากับวิกฤติที่กำลังลุกลามออกไปนอกเหนือการควบคุม ผู้นำส่วนใหญ่ที่กรุงวอชิงตัน ก็ดูเหมือนได้ตัดสินใจว่ารัฐไม่ใช่ตัวปัญหาแต่คือผู้แก้ปัญหา มาตรการที่ไม่มีใครเคยคิดมาก่อน คือ การที่รัฐเข้าไปซื้อหนี้เสียส่วนใหญ่ของสถาบันการเงินเอกชน ก็ได้กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


สถานการณ์ที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบันคือ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐไม่ช่วยเลห์แมนบราเธอร์ การตกใจสุดขีดที่แท้จริง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะราคาหุ้นในตลาดดาวโจนส์หัวทิ่มลงมา แต่เป็นเพราะผลกระทบต่อเนื่องของตลาดสินเชื่อ


กล่าวโดยพื้นฐานคือ บรรดาผู้ให้กู้หยุดทำหน้าที่กันไปหมด พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นตราสารที่ปลอดภัยที่สุดของการลงทุนทั้งหมด (ถ้ารัฐบาลสหรัฐไม่สามารถชำระหนี้ได้ อย่างอื่นจะมีค่าเหลืออะไร ?) ได้ถูกซื้อไปจนหมดเกลี้ยง แม้ว่าแทบจะไม่มีผลตอบแทน ในขณะที่บรรดาผู้กู้เอกชนไม่สามารถหาสินเชื่อได้


ปกติบรรดาธนาคารพานิชย์ สามารถกู้ยืมระหว่างกันด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน 2551 อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของเงินกู้ระยะ 3 เดือนระหว่างธนาคารพานิชย์ ได้พุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 3.2 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ระยะเดียวกันเท่ากับร้อยละ 0.05 นี่ไม่ใช่การพิมพ์ตัวเลขผิด


การที่กระแสเงินไหลเข้าไปที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปลอดภัยกันหมด ทำให้ธุรกิจจำนวนมากไม่สามารถหาเงินกู้ได้ รวมทั้งสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในตลาดการเงิน ดังนั้น จึงนำไปสู่การล้มขนาดใหญ่และการแตกตื่นตามมา มันยังทำให้ธุรกิจลดการใช้จ่าย ซึ่งเป็นการซ้ำเติมให้เศรษฐกิจที่ซบเซา ตกต่ำลึกลงไปอีก 


ธนาคารกลางสหรัฐซึ่งในภาวะปกติ เป็นผู้นำในการต่อสู้กับสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ แต่ในเวลานี้ ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะได้ใช้บรรดาเครื่องมือมาตรฐาน ของการดำเนินนโยบายทางการเงินไปเกือบหมดแล้ว


โดยปกติ ธนาคารกลางจะแก้ไขสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ด้วยการซื้อตั๋วเงินคลังระยะสั้นคืนจากตลาดการเงิน เพื่อผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของตั๋วเงินคลังระยะสั้น ก็แทบจะเป็นศูนย์อยู่แล้ว เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ธนาคารกลางยังสามารถใช้มาตรการอะไรได้อีก ?


ธนาคารกลาง ยังสามารถให้เงินกู้แก่ภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งธนาคารกลางก็ได้ให้กู้ยืมไปแล้วในปริมาณที่มากจนน่ากลัว แต่การให้กู้ยืมเงินดังกล่าว ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งสถานการณ์ที่กำลังทรุดตัวลง


ในภาพรวม มีเรื่องที่สดใสอยู่เรื่องหนึ่ง คือ อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อจำนองอสังหาริมทรัพย์ได้ลดลงไปมาก นับตั้งแต่รัฐบาลกลางสหรัฐได้เข้าควบคุมกิจการของแฟนนี่ เมย์ (Fannie Mae)และเฟรดดี้ แมค (Freddie Mac) และได้ค้ำประกันหนี้สินของบริษัททั้งสอง


มีบทเรียนในเรื่องนี้สำหรับคนที่พร้อมจะรับฟัง คือ การที่รัฐบาลเข้าควบคุมกิจการ อาจเป็นทางเลือกเดียว ที่สามารถทำให้ระบบสถาบันการเงินทำงานได้อีกครั้งหนึ่ง


มีบางคนได้โต้แย้งข้อเสนอดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ นายพอล โวคเกอร์ (Paul Volcker) ประธานธนาคารกลางสหรัฐคนก่อน และผู้มีประสบการณ์จากวิกฤติการเงินที่ผ่านมา 2 คน ได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอร์นัล


ประกาศว่าทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยง สาเหตุหลักของบรรดาสภาวะสินเชื่อหดตัวทั้งหมด คือ การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจใหม่เพื่อซื้อตราสารที่มีปัญหา ซึ่งก็คือการใช้เงินภาษีของประชาชน ไปซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นจากฟองสบู่ที่แตกกระจายของตลาดสินเชื่อและตลาดอสังหาริมทรัพย์


เมื่อเสนอโดยนายพอล โวคเกอร์ ทำให้มันเป็นข้อเสนอที่ได้รับความเชื่อถืออย่างมาก


บรรดาสมาชิกที่มีบทบาทของสภาคองเกรส รวมทั้งวุฒิสมาชิกฮิลลารี่ คลินตัน (Hillary Clinton)และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนายบาร์นี่ แฟรงค์ (Barney Frank) ประธานคณะกรรมาธิการการเงินของสภาฯ ได้นำเสนอในทำนองเดียวกัน


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน 2551 วุฒิสมาชิกชาร์ล ชูเมอร์ (Charles Schumer) ประธานคณะกรรมาธิการการเงินของวุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนให้จัดตั้งรัฐวิสาหกิจใหม่เพื่อแก้ไขวิกฤติการเงิน ได้แถลงว่า "ธนาคารกลางและกระทรวงการคลัง ได้ยอมรับว่า เราต้องการมาตรการแก้ปัญหาที่ครอบคลุม"


นั่นคือเหตุที่ประธานธนาคารกลางเบ็น เบอร์นานเก้ (Ben Bernanke) และนายพอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประชุมร่วมกับผู้นำของสภาคองเกรสเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน 2551 เพื่อปรึกษามาตรการที่ครอบคลุมในการแก้ไขปัญหา" ในเวลานี้ เรายังไม่รู้ว่ามาตรการที่ครอบคลุมในการแก้ไขปัญหาคืออะไร


มีการเปรียบเทียบมาตรการช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาลสวีเดน ในการแก้ปัญหาวิกฤติการเงินเมื่อต้นปีคศ.1990 โดยรัฐบาลสวีเดนได้ช่วยเหลือด้วยการเข้าไปควบคุมสถาบันการเงินส่วนใหญ่ของประเทศเป็นการชั่วคราว


อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า ผู้กำหนดนโยบายในกรุงวอชิงตัน ได้เตรียมการในการเข้าไปควบคุมในระดับเดียวกันหรือไม่ และถ้าไม่ มาตรการนี้อาจกลายเป็นการช่วยเหลือที่ผิดพลาด คือการช่วยเหลือบรรดาผู้ถือหุ้นและตลาด ซึ่งผลก็คือการช่วยเหลือภาคสถาบันการเงิน ซึ่งได้รับผลร้ายจากทำธุรกิจด้วยความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวของพวกเขา


ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ว่าโครงการช่วยเหลือ จะออกแบบให้ดีอย่างไร มันก็มีต้นทุนในการใช้เงินภาษีอากรของประชาชนจำนวนมหาศาล


รัฐบาลสวีเดนได้วางแผนว่า จะต้องใช้เงินประมาณร้อยละ 4 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ซึ่งสำหรับอเมริกา หมายถึงเงินจำนวน 600 พันล้านเหรียญสหรัฐ


แม้ว่าในที่สุด ภาระที่ประชาชนชาวสวีเดนผู้เสียภาษีรับผิดชอบ ไม่ถึงจำนวนดังกล่าว เพราะรัฐบาลสวีเดนสามารถขายทรัพย์สินที่ซื้อมา ได้ในราคาพอสมควร และสำหรับทรัพย์สินบางรายการ สามารถทำกำไรได้มาก 


แต่ในเวลานี้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะคาดการณ์ ถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน


ระบบการเมืองในวันนี้ ไม่สนใจที่จะทำตามคำแนะนำที่น่าขายหน้าของนายแอนดรู เมลลอน(Andrew Mellon) ต่อประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) ที่ว่า "ชำระสะสางปัญหาแรงงาน ชำระสะสางปัญหาหุ้น ชำระสะสางปัญหาเกษตรกร ชำระสะสางปัญหาอสังหาริมทรัพย์ "


การจัดซื้อทรัพย์สินที่มีปัญหาขนาดใหญ่ของรัฐ กำลังจะเกิดขึ้น


คำถามที่เหลืออยู่คือ การจัดซื้อนั้น จะทำกันอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด


 


 


...................................


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://arayachon.org/sansab/20080920/671

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net