Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 8 ก.ย.51  เวลา 09.00. ที่ห้องประชุม 2 ตึกเกษมอุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มนิสิตปริญญาโท สาขาสังคมวิทยา ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเรื่อง วิกฤตการเมืองไทย ผ่านมุมมองคนรุ่นใหม่กับสถานการณ์ สองขั้วต่าง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับเยาวชน ภาควิชาการ และนิสิตให้สนใจในประเด็นดังกล่าวและมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน แสดงจิตสาธารณะต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว และเข้าใจสภาวะปัญหาในมิติที่หลากหลาย โดยมีนายทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ นายภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ นายวรภัทร วีรพัฒนาคุปต์ เป็นวิทยากรในการเสวนา


นายภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร นิสิตปริญญาตรี ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬา กล่าวว่า การไม่ลดทิฐิของแต่ล่ะฝ่ายจะนำไปสู่ปัญหา และการทำอารยะขัดขืนของพันธมิตรฯเป็นเรื่องที่ผิดไปจากอารยะขัดขืนที่แท้จริง การเอาผู้หญิงไปเป็นโล่มนุษย์ไม่ใช่การทำอารยะขัดขืน การนำเสนอของสื่อทีวีที่นำเสนอข่าวความรุนแรงอย่างสุดขั้วเป็นอีกสาเหตุที่เกิดความขัดแย้ง ส่วนการแก้ปัญหาของความขัดแย้งนั้นทุกฝ่ายต้องมานั่งคุยกันและให้ลดทิฐิมานะลง


นายทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ แฟนพันธุ์แท้การเมืองไทย บัณฑิตเหรียญทอง รัฐศาสตร์ จุฬา กล่าวว่าสถานการณ์การเมืองทุกวันนี้ทำให้คนเครียดในท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งในสังคมปัจจุบัน ทุกวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเราต้องย้อนมองถึงรากฐานของความคิดของเราว่าตกลงแล้วในความคิดของเราจะยอมรับในประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์หรือไม่ นายทศพลพูดถึงนิยามของประชาธิปไตยว่าเป็นระบอบการปกครองที่นักปราชญ์อภิปรายแต่ควายตัดสิน เป็นระบอบเดียวในโลกที่ทำให้ควายมาเจอกัน โดยที่ควายไม่ขวิดกันจนไส้ทะลัก เป็นระบบเดียวที่ทำให้คนฉลาดขึ้นและถ้าเราไม่ออกมาเรียกร้องอะไร สักวันพันธมิตรฯก็จะขึ้นมามีอำนาจ นายทศพล ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ให้พันธมิตรฯถอยออกไปก่อน และให้รัฐบาลบริหารประเทศ 6 เดือน ถ้ายังเหมือนเดิมก็ค่อยออกมาเคลื่อนไหวใหม่และเมื่อถึงตอนนั้นประชาชนก็จะเห็นด้วยในการออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง


นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ อดีตผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในส่วนของพันธมิตรฯที่ว่าเป็นสงครามครั้งสุดท้ายซึ่งมันไม่ถูกต้อง แล้วเราจะปล่อยให้ประเทศของเราไปอยู่ในมือพันธมิตรฯได้อย่างไร การแก้ปัญหาของสังคมต้องมองหามิติต่างๆ ด้วย และถ้าจะประณามก็ขอให้อย่าประณามมวลชนเพราะเขาเป็นกลุ่มที่รักชาติอย่างแท้จริงแต่ให้พุ่งเป้าไปที่แกนนำทั้ง9 เป็นกลุ่มตัวการสำคัญ เขากล่าวอีกว่าการเมืองนอกสภาเป็นการเมืองที่สำคัญเช่นกัน พันธมิตรฯสามารถเคลื่อนไหวได้แต่ต้องอยู่ในขอบเขตเพราะถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวนอกสภาเสียแล้วการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนก็จะถูกมองเป็นเรื่องที่ผิดไปด้วย และในเรื่องการเสียชีวิตในวิกฤตการการเมืองครั้งนี้ผมมองว่าไม่มีการเมืองใดสำคัญไปกว่าชีวิตของคน


ด้านจิตปภัทร นักมานุษยวิทยา ปริญญาโท จุฬา กล่าวถึงว่าการเกิดอารยะขัดขืนขึ้นนั้นมีเป้าหมายที่ชี้ให้เห็นว่าเกิดความอยุติธรรม การเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นในสังคม


จิตปภัทร เสนอทางออกว่าให้ผู้นำพันธมิตรฯเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพราะไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ให้ใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และให้มองข้อเสนอของ นปช.ด้วย อย่ามองข้อเสนอของพันธมิตรฯ เพียงอย่างเดียว ให้มองการเมืองในแง่มิติทางวัฒนธรรมและช่วยกลับทัศนคติที่ว่าชาวบ้านโง่ และมุมมองในสังคมศาสตร์ไม่เพียงพอที่จะหาทางออกของสังคมบ้านเราได้


นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ เลขาธิการประสานงานเยาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้กล่าวถึงประสบการณ์ทำงานของเขาที่ไปคลุกคลี่กับการรณรงค์ไม่ใช้ความรุนแรง เขาบอกว่าตำรวจได้ทำร้ายฝ่ายพันธมิตรฯ ทั้งที่ฝ่ายประชาชนพันธมิตรฯไม่ได้ต่อสู้แต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net