Skip to main content
sharethis




 


ประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่ด้วยในอ่าวไทย ดังจะเห็นได้จากการที่มีบริษัทขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมเข้าไปวางแท่นขุดเจาะขึ้นแล้วหลายแห่ง โดยบางแห่งในปัจจุบันเริ่มมีปริมาณลดลง



ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงได้เปิดสัมปทานในแหล่งใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งหลายแห่งเริ่มขยับเข้ามาใกล้ฝั่งทุกที แน่นอนเมื่อขยับเข้ามาใกล้ ก็ย่อมต้องเผชิญกับกลุ่มชาวประมงจำนวนมากที่อาศัยพื้นที่ทะเลใกล้ชายฝั่งจับสัตว์น้ำหาเลี้ยงชีพ


 


เมื่อมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น การดำเนินโครงการก็ย่อมต้องยากขึ้นตามไปด้วย ดังจะเห็นได้จากกรณี บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับสัมปทานในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสัมปทานหมายเลข G5/43 นอกฝั่งจังหวัดสงขลาจากรัฐบาลไทยนั้น


 


จนถึงวันนี้ปัญหาเรื่องการพิจารณาเงินชดเชยให้กับชาวประมงใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ที่จะได้รับผลกระทบและเสียโอกาสจากการประกอบอาชีพในพื้นที่โครงการพัฒนาปิโตรเลียมแหล่งสงขลา เพื่อผลิตน้ำมัน รวมถึงแหล่งบัวบานในแปลงสัมปทานดังกล่าว ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นมาก็ยังไม่อาจตลกลงกันได้


 


แม้ว่า บริษัท นิวคอสตอล มีแผนที่จะเริ่มดำเนินการโดยนำเรือขนอุปกรณ์เข้าไปติดตั้งแท่นหลุมผลิตและแท่นผลิตปิโตรเลียมแหล่งสงขลา ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ให้ได้ในวันที่ 1 กันยายน 2551 นี้


 


ดูเหมือนจะเป็นหมากบังคับด้วย เนื่องจากแผนการติดตั้งแท่นดังกล่าวถูกเลื่อนมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เนื่องจากส่วนหนึ่งยังติดปัญหาเรื่องค่าชดเชยให้กับชาวประมงที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้


 


โดยในแผนเดิมนั้น ระบุว่าจะเริ่มผลิตปิโตรเลียมในเดือนมิถุนายน 2551 เป็นต้นไป และต่อเนื่องไปจนหมดอายุของแหล่งปิโตรเลียมในปี 2554 รวมระยะเวลา 3 ปี


 


 



 


เจริญ ทองมา จากกลุ่มชาวประมงในอำเภอเมืองสงขลา


 


 


ปมปัญหาหนึ่งที่ทำให้กลุ่มชาวประมงทั้งในส่วนกลุ่มประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ สิงหนคร สทิงพระ ระโนด กับชาวประมงพื้นบ้านบางส่วนในอำเภอเมืองสงขลานำโดยนายเจริญ ทองมา และกลุ่มประมงอวนลากอำเภอระโนด นำโดยนายบุญช่วย ฟองเจริญ ไม่อาจยอมรับข้อเสนอเรื่องเงินชดเชยของบริษัท นิวคอสตอลฯ ได้ ก็คือ โครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมและโครงการพัฒนาเพื่อผลิตปิโตรเลียมในแหล่งบัวบาน ในแปลงสัมปทานเดียวกัน


 


ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการหลังนี้กลุ่มชาวประมงได้รับทราบต่อมาในภายหลังว่า ประกอบด้วย แท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม 4 แท่น ตั้งวางในแนวเหนือ - ใต้ ห่างกันประมาณ 14 กิโลเมตร โดยจะมีการวางท่อส่งน้ำมันเชื่อมกันและท่อขนส่งน้ำมันจากแท่นผลิตกลางไปยังเรือเก็บกักปิโตรเลียม แต่ละแท่น รวมทั้งบริเวณจอดเรือเก็บกักปิโตรเลียมมีการกันพื้นที่ปลอดภัยไว้รอบๆ ระยะประมาณ 500 เมตร


 


โดยตำแหน่งที่ตั้งแท่นหลุมผลิตที่ใกล้ฝั่งอำเภอสทิงพระมากที่สุดเพียง 14 กิโลเมตร คือแท่นหลุมผลิตบัวบาน - ดี ส่วนแท่นที่อยู่ห่างฝั่งมากที่สุด 20 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมอีก 4 แห่ง


 


บริษัท นิวคอสตอลฯ คาดการณ์ว่าจะเริ่มดำเนินโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งบัวบานนี้ได้ในเดือนมีนาคม 2552 และเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาเพื่อผลิตปิโตรเลียมได้ในเดือนพฤษภาคม 2552 ถึง 2568 รวมระยะเวลา 16 ปี


 


โดยต่างกับโครงการพัฒนาปิโตรเลียมแหล่งสงขลา ที่มีแท่นหลุมผลิตและแท่นผลิตอย่างละ 1 แท่น กับท่อส่งน้ำมันไปยังเรือเก็บกักน้ำมันระยะประมาณ 700 เมตรเท่านั้น


 


นายทวี เทพนะ รองประธานกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอบอกว่า ลำพังแค่เพียงการดำเนินโครงการในแหล่งสงขลาเพียง 3 ปี ไม่น่าจะมีผลกระทบกับชาวประมงมาก แต่เมื่อมารู้ทีหลังว่าจะดำเนินโครงการในแหล่งบัวบานด้วย ในยะเวลาถึง 16 ปี ตรงนี้เองที่เกรงว่าชาวประมงอาจได้รับผลกระทบมากจนถึงกับต้องเลิกอาชีพประมงไปเลย เช่น ชาวประมงพื้นบ้านบางลำ ขนาดความยาว 7 เมตรขึ้นไป ซึ่งสามารถออกทะเลไปจับสัตว์น้ำได้ไกลถึงประมาณ 40 กิโลเมตร ขณะที่พื้นที่ที่วางแท่นเป็นบริเวณที่มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์มาก


 


นายบุญช่วย ฟองเจริญ แกนนำกลุ่มอวนลาก บอกว่า ชาวประมงอวนลากต้องเปลี่ยนเครื่องมือประมงตามฤดูกาลของสัตว์น้ำ โดยเครื่องมือบางชนิดเป็นแบบคงที่ บางชนิดลอยไปตามกระแสน้ำ ซึ่งชนิดหลังอาจไปกระแทกกับแท่นขุดเจาะน้ำมันได้ ขณะเดียวกันการออกเรืออาจต้องอ้อมที่ตั้งแท่นดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุน


 


อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทนิวคอสตอลเองก็ได้เสนอเงินชดเชยให้ ปีละ 1,100,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี โดยอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนล่างในการคำนวณค่าชดเชย แต่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและอวนลากไม่ยอมรับ แต่ได้เสนอให้จ่ายชดเชยเป็นรายลำ โดยเมื่อคำนวณแล้วตกเรือประมงพื้นบ้านลำละ 700 บาทต่อวัน รวมจำนวนเรือ 1,200 ลำ ส่วนเรืออวนลากได้เสนอไปประมาณ 1,500 บาทต่อลำ รวมจำนวนเรือ 253 ลำ เมื่อรวมค่าชดเชยทั้งหมดแล้วตกประมาณ 800 ล้านบาท


แน่นอน บริษัท นิวคอสตอล ย่อมไม่เห็นด้วย ซึ่งแหล่งข่าวในบริษัท นิวคอสตอล บอกว่า การจ่ายเงินชดเชยในจำนวนดังกล่าวคงเป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะลำพังเพียงการขุดเจาะสำรวจอย่างเดียวยังต้องใช้เงินลงทุนสูงประมาณ 300 ล้านบาทต่อหลุม และถ้าเจาะแล้วยังต้องเสี่ยงกับการที่จะไม่พบน้ำมันอีกด้วย ซึ่งก็เท่ากับทิ้งเงินจำนวนนั้นไปเปล่าๆ ด้วย


 


เมื่อไม่อาจตกลงกันได้ แม้จะมีการประชุมร่วมกันในเรื่องนี้แล้วหลายครั้งก็ไม่อาจตกลงกันได้ จนกระทั่งล่าสุดทางจังหวัดสงขลาโดยนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องค่าชดเชยโดยเฉพาะ โดยเชิญ นายเริงชัย ตันสกุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เป็นประธาน มีตัวแทนฝ่ายบริษัท นิวคอสตอล และชาวประมงทั้งสองกลุ่ม


 


โดยล่าสุดมีการประชุมกันเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 11 สิงหาคม 2551 ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา แต่ที่ประชุมก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งนายอลัน อามิเทจ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิวคอสตอล ได้เสนอเงินชดเชยเพิ่มเป็นปีละ 5,000,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี แต่จะมอบให้ในนามกลุ่มโดยจะตั้งเป็นกองทุนพัฒนาการประมงขึ้นมา จึงขอให้ชาวประมงจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาด้วย


 


แต่ตัวแทนชาวประมง ทั้งนายเจริญ นายทวี และนายบุญช่วย ต่างคัดค้าน แต่ยังยืนยันที่จะให้จ่ายเงินชดเชยเป็นรายลำ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องต้องเป็นไปตามข้อเสนอเดิมของกลุ่มชาวประมงก็ได้


 


นายเจริญ บอกว่า ต้องตกลงให้ก่อนว่าจะให้ลำละเท่าไหร่ ส่วนชาวประมงปลอมที่หวังเงินชดเชยด้วยตามที่มีการพูดถึงก่อนหน้านี้นั้น สามารถตรวจสอบทีหลังได้ไม่ยาก


 


นายทวี บอกด้วยว่า หลังจากนี้ตัวแทนชาวประมงจะไม่เข้าร่วมประชุมอีกแล้ว แต่จะหาวิธีต่อต้านไม่ให้บริษัท นิวคอสตอล มาขุดเจาะน้ำมัน แต่คงจะไม่ปิดอ่าวขวางการวางแท่นขุดเจาะน้ำมัน เพราะกลัวว่าจะทำให้คนที่อื่นและผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามองว่าชาวประมงที่นี่เกเรเกินไป ส่วนจะทำอย่างไรนั้นจะหารือกันอีกครั้ง


 


ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่า ชาวประมงได้นำเครื่องมือประมงจำนวนมาก เช่น อวน ไซ ไปวางไว้ในบริเวณที่จะต้องแท่นขุดเจาะเพื่อหวังเรียกเงินค่าเสียหายหากบริษัทนิวคอสตอล นำเครื่องมือไปติดตั้งนั้น นายทวี บอกว่า ขอยืนยันว่า เป็นการวางเครื่องมือประมงเพื่อหากินตามปกติและไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมายจนผิดปกติแต่อย่างใด


 


สิ่งที่จะต้องติดตามก็คือ ในวันที่ 1 กันยายน 2551 นี้ หากบริษัท นิวคอสตอล ลงมือขุดเจาะจริงแล้วจะเกิดอะไรขึ้น หากกลุ่มชาวประมงนำเรือไปปิดอ่าวต่อต้าน


 


โดยเฉพาะบริษัทขุดเจาะปิโตรเลียมทั้งหลายในอ่าวไทย อย่างเช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งมีฐานสนับสนุนและท่าเรือขนถ่ายอุปกรณ์อยู่ที่ชายฝั่งอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา


 


"หากมีการปิดอ่าว ปตท.สผ. ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะไม่สามารถขนถ่ายอุปกรณ์รวมทั้งบุคลากรสนับสนุนทางเรือได้" แหล่งข่าวใน ปตท.สผ.ระบุ


 


ซึ่งนั่นแน่นอนว่า อาจส่งผลไปถึงการผลิตปิโตรเลียมด้วย


 


ไม่เพียง ปตท.สผ.เท่านั้น ที่จับตามมองเรื่องนี้อยู่ บริษัทขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศรวมทั้งในภูมิภาคหรืออาจทั่วโลก เช่น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ต่างก็จับตามมองเรื่องนี้เช่นกัน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องค่าชดเชยให้กับชาวประมง


 


ที่เป็นเช่นนั้น แหล่งข่าวในบริษัท เชฟรอนฯ ระบุว่า เป็นเพราะแหล่งสัมปทานในทะเลส่วนใหญ่จะขยับเข้าใกล้ชายฝั่งเข้าไปทุกที ซึ่งพื้นที่ชายฝั่งเป็นพื้นที่หากินของชาวประมง ดังนั้นการเผชิญหน้าระหว่างบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกับชาวประมงจึงมีมากขึ้นไปด้วย


 


ดังนั้น หากบริษัท นิวคอสตอล สามารถตกลงกับชาวประมงในจังหวัดสงขลาได้ ข้อตกลงดังกล่าวก็จะถูกนำไปเป็นมาตรฐานในการคิดคำนวณค่าชดเชยให้กับชาวประมงหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่อื่นๆ ไปด้วย


 


สอดคล้องกับนายสมชัย ถาวรวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานภูมิภาคที่ 12 สงขลา ระบุว่า ต้องกำหนดให้เป็นมาตรฐานให้ได้ แต่ในรายละเอียดอาจแตกต่างกันไป เพราะพื้นฐานรวมทั้งทัศนคติของประชาชนในแต่ละแห่งแตกต่างกัน


 


เมื่อพื้นที่สัมปทานทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของชาวประมงชายฝั่งมากขึ้น การเตรียมงบประมาณสำหรับการชดเชยให้กับชาวประมงหรือผู้ที่ได้รับกระทบก็จะกลายเป็นต้นทุนหนึ่งของโครงการไปด้วย ซึ่งเป็นการลงทุนในส่วนที่ไม่ได้สร้างผลกำไรที่บริษัท


 


เมื่อพื้นที่หากินของบริษัทขุดเจาะปิโตรเลียมทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านมากขึ้น จึงทำให้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียงเพิ่มขึ้นไปด้วย การลงทุนทางด้านสังคมก็ต้องสูงตามไปด้วย


 


นอกจากนี้การเข้ามาของบริษัท นิวคอสอล ได้ถูกหยิบยกไปเป็นประเด็นทางการเมืองด้วย เมื่อนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้นำไปปราศรัยในเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมุ่งเป้าโจมตีนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นผู้ลงนามในหนังสือสัมปทานเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2547 โดยบริษัท นิวคอสตอล(ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือบริษัท NuCoastal Corporation แห่งประเทศสหรัฐเมริกา


นับเป็นงานที่ท้าทายมาก สำหรับบริษัทข้ามชาติแห่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net