Skip to main content
sharethis

ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลในไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.77 แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ พบถึงแม้ประชาชนขอสินเชื่อเพิ่มแต่การชำระคืนหนี้รายงวดน้อยลง ส่วนโรงจำนำรัฐเปิดโครงการช่วยชาวบ้าน 6 เดือน ประกาศปลอดดอกเบี้ยเดือนแรก ในวงเงินจำนำไม่เกิน 3 พันบาท พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยจำนำตามอัตราวงเงินที่ต่างกันไป

ประชาไท - ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลในไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.77 แต่จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าถึงแม้ประชาชนขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น แต่การชำระคืนหนี้รายงวดน้อยลง ส่วนโรงจำนำรัฐเปิดโครงการช่วยชาวบ้าน 6 เดือน ประกาศปลอดดอกเบี้ยเดือนแรก ในวงเงินจำนำไม่เกิน 3 พันบาท พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยจำนำตามอัตราวงเงินที่ต่างกันไป โดยโครงการนี้อาจจะทำให้รายได้ของสถานธนานุเคราะห์ลดลงบ้าง แต่ไม่น่าจะสร้างความเสียหายอะไรมากโดยประมาณว่าจะสูญเสียรายได้จากดอกเบี้ยประมาณ 1 ล้านเศษต่อเดือน

 

 

ที่มาภาพ: thaionlinemarket.com และ news.buddyjob.com

 

 

สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูล การเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลในไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่า สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมี ทั้งสิ้น 1,424,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,826 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.77 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่มี 1,413,883 ล้านบาท โดยสินเชื่อทั้งหมดนี้ แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการซื้อที่ดิน 39,251 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อ การจัดหาที่อยู่อาศัย 741,375 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อ ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอื่น 1,723 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 307,551 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อการศึกษา 267 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำงาน 1,533 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการบริโภคเพื่อการอื่นๆ หรือสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ไม่ชัดเจน 333,009 ล้านบาท ซึ่งถือว่าขยายตัวในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ ธปท.เก็บในส่วน ของสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับดูแลจะพบว่า ณ สิ้นเดือน พ.ค. ปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 10,984,036 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 191,654 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.77 เมื่อเทียบกับ ม.ค. ที่มี 10,792,382 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มสถาบันการเงิน ที่ขยายสินเชื่อนี้ได้มากที่สุดคือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์

 

มรสุมเศรษฐกิจรุมเร้า...กระทบความสามารถการผ่อนชำระสินเชื่อ

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย " พฤติกรรมการใช้สินเชื่อและผลกระทบต่อผู้บริโภคในภาวะค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น" ในระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน -17 กรกฎาคม 2551 โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 812 ชุด ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกเจาะจงเฉพาะผู้ที่ใช้บริการสินเชื่อทางการเงินประเภทต่างๆ ในระบบ เช่น สินเชื่อเงินสด สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น กระจายไปตามห้างสรรพสินค้าและตามสถานที่ทำงานทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่าสถานการณ์ของผู้บริโภคที่ใช้บริการสินเชื่อในระบบอย่าง ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank กำลังเผชิญในปัจจุบันมีรายละเอียดดังนี้

 

มรสุมเศรษฐกิจกระทบหนัก...ผู้บริโภคปรับลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย - นับตั้งแต่ต้นปี 2551 ผู้บริโภคต้องเผชิญกับปัจจัยรุมเร้านานัปการ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาการปรับตัวของราคาน้ำมัน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 67 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประกอบกับราคาสินค้าหลายประเภทต่างปรับตัวสูงขึ้นและสินค้าบางรายการได้ปรับขึ้นกว่าร้อยละ 70 ของราคาสินค้าที่ขายในช่วงปีก่อนหน้า ทั้งนี้ได้ทำการสอบถามถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือไม่ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ประเมินว่าตนเองได้รับผลกระทบ คิดเป็นร้อยละ 87.9 ของกลุ่มตัวอย่าง ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามที่ประเมินตนเองว่าไม่ได้รับผลกระทบ คิดเป็นร้อยละ 12.1 ของกลุ่มตัวอย่าง

 

เมื่อสอบถามถึงการปรับตัวของผู้บริโภคท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามโดยส่วนใหญ่มีการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยลง เช่น ดูหนัง ทานข้าวนอกบ้าน เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 48.5 ของกลุ่มตัวอย่าง รองลงมา คือ ผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมในการซื้อสินค้า เช่น ซื้อจำนวนน้อยลง เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 42.4 ของกลุ่มตัวอย่าง สำหรับผู้บริโภคที่ยังคงมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เหมือนเดิมแต่ได้หันมาพึ่งพาสินเชื่อมากขึ้น เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต คิดเป็นร้อยละ 6.1 ของกลุ่มตัวอย่าง

 

ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้บริการสินเชื่อ - ในการสำรวจถึงการใช้บริการสินเชื่อของผู้บริโภค พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีการใช้บริการสินเชื่อประเภทต่างๆ อาทิ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 57.9 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้ใช้บริการสินเชื่อ คิดเป็นร้อยละ 42.1 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม

 

สำหรับประเภทสินเชื่อที่ผู้บริโภคใช้บริการมากที่สุด คือ สินเชื่อบัตรเครดิต คิดเป็นร้อยละ 36.6 ของจำนวนผู้ที่ใช้บริการสินเชื่อ รองลงมา คือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ คิดเป็นร้อยละ 21.1 ของจำนวนผู้ที่ใช้บริการสินเชื่อ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย คิดเป็นร้อยละ 18.7 ของจำนวนผู้ที่ใช้บริการสินเชื่อ ในขณะที่ผู้ใช้บริการสินเชื่อเงินสด คิดเป็นร้อยละ 17.9 ของจำนวนผู้ที่ใช้บริการสินเชื่อ โดยในจำนวนนี้มีผู้ใช้บริการสินเชื่อมากกว่า 1 ประเภท คิดเป็นร้อยละ 44.7 ของจำนวนผู้ที่ใช้บริการสินเชื่อ

 

มรสุมรุมเร้า: ผู้บริโภคขอสินเชื่อเพิ่ม...เพื่อหมุนเงิน - ในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการขยายตัวของสินเชื่อของผู้บริโภค เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มีการเติบโตที่ชะลอลง ทั้งนี้สาเหตุน่าจะมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์และ Non-Bank ชะลอการทำแคมเปญการตลาดในสินเชื่อบางประเภท นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์และ Non-Bank มีการเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น จะเห็นได้ว่ายอดการปฏิเสธสินเชื่อในช่วงนี้มีจำนวนที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต ที่มียอดการปฏิเสธสินเชื่อสูงกว่าร้อยละ 30-40 ของจำนวนผู้ขอสินเชื่อ

 

ในขณะเดียวกันผู้บริโภคมีการระมัดระวังการก่อหนี้มากขึ้น ผู้บริโภคบางกลุ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของตน อย่างไรก็ตามผู้บริโภคบางกลุ่มกำลังเผชิญกับสภาพคล่องลดลง เนื่องมาจากภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่เร่งตัวสูงขึ้น ในขณะที่รายรับคงเดิม ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องหันมาพึ่งพาสินเชื่อมากขึ้น จากผลสำรวจ พบว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำหรับผู้ที่ไม่ได้ขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นมีประมาณร้อยละ 70.9 ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการสินเชื่อ ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการสินเชื่อ

 

ถึงแม้ว่าสัดส่วนการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นจะมีจำนวนน้อยก็ตาม แต่เมื่อสอบถามถึงสินเชื่อที่ผู้บริโภคมีการขอเพิ่มขึ้นมากที่สุด และสาเหตุของการขอนั้น พบว่า สินเชื่อที่มีการสมัครเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ สินเชื่อบัตรเครดิต คิดเป็นร้อยละ 30.7 ของผู้ที่มีการสมัครสินเชื่อเพิ่มขึ้นในปีนี้ สำหรับจุดประสงค์ของการขอสินเชื่อบัตรเครดิต ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่สมัครเพื่อ สำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน คิดเป็นร้อยละ 38.2 ของผู้ขอสินเชื่อบัตรเครดิต ในขณะที่รองลงมา คือ มีการสมัครเพิ่มขึ้นเพื่อการหมุนเงิน คิดเป็นร้อยละ 31.2 ของผู้ขอสินเชื่อบัตรเครดิต ในขณะที่การสมัครสินเชื่อบัตรเครดิตเพื่อ สิทธิประโยชน์แตกต่างกัน คิดเป็นร้อยละ 15.8 ของผู้สมัครสินเชื่อบัตรเครดิต

 

ในขณะที่สินเชื่อที่มีการสมัครเพิ่มขึ้นในปีนี้ รองลงมา คือ สินเชื่อเงินสด คิดเป็นร้อยละ 26.7 ของผู้ที่มีการสมัครสินเชื่อเพิ่มขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้บริโภคที่สมัครสินเชื่อเงินสดโดยส่วนใหญ่สมัครเพื่อนำไปชำระสินเชื่อประเภทอื่น หรือหนี้อื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 39.4 ของผู้ขอสินเชื่อเงินสด รองลงมา คือ สมัครเพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน คิดเป็นร้อยละ 36.4 ของผู้ขอสินเชื่อเงินสด นอกจากนี้ผู้ที่สมัครสินเชื่อเงินสด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน คิดเป็นร้อยละ 15.2 ของผู้ขอสินเชื่อเงินสด

 

พิษเศรษฐกิจ...ความสามารถในการผ่อนชำระลดลง - ส่วนสัดส่วนการผ่อนชำระสินเชื่อทุกประเภทต่อรายได้นั้น พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ผ่อนชำระสินเชื่อที่ประมาณร้อยละ 31-40 ของรายได้ คิดเป็นร้อยละ 33 ของกลุ่มตัวอย่าง รองลงมา คือ ผ่อนชำระสินเชื่อที่ประมาณร้อยละ 21-30 ของรายได้ คิดเป็นร้อยละ16.3 ของกลุ่มตัวอย่าง และผ่อนชำระสินเชื่อที่ประมาณร้อยละ 10-15 ของรายได้ คิดเป็นร้อยละ16 ของกลุ่มตัวอย่าง

 

เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมการชำระสินเชื่อเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผ่อนชำระสินเชื่อ คิดเป็นร้อยละ 53.7 ของกลุ่มตัวอย่าง ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชำระสินเชื่อของตนคิดเป็นร้อยละ 46.3 ของกลุ่มตัวอย่าง

 

สำหรับผู้ตอบแบบสอบถามที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผ่อนชำระสินเชื่อเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามโดยส่วนใหญ่มีการผ่อนชำระสินเชื่อบางตัวต่องวดน้อยลง เนื่องจากภาระรายจ่ายเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.8 ของผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงการผ่อนชำระสินเชื่อ รองลงมา คือ ผ่อนชำระเท่าเดิม แต่ไม่ตรงวันที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 30.9 ของผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงการผ่อนชำระสินเชื่อ และผ่อนชำระมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการเป็นหนี้ คิดเป็นร้อยละ 22 ของผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงการผ่อนชำระสินเชื่อ

 

โรงจำนำรัฐเปิดโครงการช่วยชาวบ้าน 6 เดือน ประกาศปลอดดอกเบี้ยเดือนแรก ในวงเงินจำนำไม่เกิน 3 พันบาท

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.การพัฒนาสังคมฯ แถลงข่าวเปิดโครงการรับจำนำดอกเบี้ยร้อยละ 0 ว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ทำให้ประชาชนต้องเผชิญปัญหาอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงินของประชาชนที่มีรายได้น้อย และช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุน 6 มาตรการรัฐบาลในการลดภาระค่าครองชีพระยะสั้นให้ประชาชน โดยคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์หรือบอร์ดโรงรับจำนำ ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ก.ค.51 เห็นชอบให้สำนักงานธนานุเคราะห์ ที่รับผิดชอบการรับจำนำทรัพย์สินของประชาชน คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทั้ง 32 แห่งใน กทม.และ 1 แห่งใน จ.ระยอง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้มีรายได้น้อย

 

โดยสถานธนานุเคราะห์จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรับจำนำ คือ

 

1.       เงินต้นไม่เกิน 3,000 บาท จำนำ 3 เดือน เดือนแรก ดอกเบี้ยร้อยละ 0 หากเกินกว่า 1 เดือนแต่ไม่เกิน 3 เดือน ดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ต่อเดือน จำนำเกินกว่า 3 เดือน ดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ต่อเดือน

2.       เงินต้น 3,001-5,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ต่อเดือน

3.       เงินต้น 5,001-10,000 บาท ดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน และ

4.       เงินต้น 10,001-60,000 บาท ดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน โดยจะดำเนินโครงการเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 51-15 ก.พ.52

 

โดยสำนักงานธนานุเคราะห์ ได้เตรียมเงินหมุนเวียนไว้รองรับโครงการนี้ จำนวน 600 ล้านบาท สามารถให้บริการประชาชนได้ประมาณ 654,446 ราย เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติประมาณ 54,036 ราย ในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นผู้ใช้บริการในวงเงินต้นไม่เกิน 3,000 บาท ประมาณ 105,169 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมด เป็นเงินรับจำนำจำนวนประมาณ 226.714 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้อาจจะทำให้รายได้ของสถานธนานุเคราะห์ลดลงบ้าง แต่ไม่น่าจะสร้างความเสียหายอะไรมาก โดยประมาณว่าจะสูญเสียรายได้จากดอกเบี้ยประมาณ 1 ล้านเศษต่อเดือน

 

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สถานธนานุเคราะห์จะปรับลดดอกเบี้ยช่วงเปิดเทอม (พ.ค.-ก.ค.) เกือบทุกปี เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ล่าสุดปี 2551 กำหนดอัตราดอกเบี้ยวงเงินรับจำนำ 1,000-5,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ต่อเดือน 5,000-10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน และ 10,000-60,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 ต่อเดือน

 

…….............

เรียบเรียงจาก

สินเชื่อบุคคลเดี้ยง รณรงค์ 'คิดก่อนเป็นหนี้' (โพสต์ ทูเดย์, July 28, 2008)

มรสุมเศรษฐกิจรุมเร้า...กระทบความสามารถการผ่อนชำระสินเชื่อ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, July 30, 2008)

โรงตึ๊งรัฐอุ้มคนจน ดอกเบี้ย 0% วงเงินจำนำ3 พันบ. (เว็บไซต์ข่าวสด, July 31, 2008)

 

 

* ที่มาภาพประกอบหน้าเวบ www.thaionlinemarket.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net