Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภัควดี  วีระภาสพงษ์ 

แปลจาก
Ian Angus, "FOOD CRISIS (Part Two): Capitalism, Agribusiness, and the Food Sovereignty Alternative," Socialist Voice; May, 15 2008.
http://www.zcommunications.org/znet/viewArticle/17642


 


"ไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งไหน ไม่มีสงครามที่ไหนในโลก ที่ประชาชนจำนวนมากต้องเสียชีวิตทุก ๆ นาที ทุกๆ ชั่วโมงและทุกๆ วัน มากเท่ากับประชาชนที่ต้องตายเพราะความหิวโหยและความยากจนบนโลกของเรา"


--ฟิเดล คาสโตร 1998


 


เมื่อจลาจลเพราะอาหารปะทุขึ้นในเฮติเมื่อเดือนที่แล้ว ประเทศแรกที่ขานรับปัญหาคือเวเนซุเอลา ในเวลาแค่ไม่กี่วัน เครื่องบินก็บินขึ้นจากกรุงคารากัส บรรทุกอาหารจำนวน 364 ตันส่งไปให้


 


ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซแห่งเวเนซุเอลากล่าวว่า ประชาชนชาวเฮติ "กำลังประสบชะตากรรมจากการโจมตีของระบบจักรวรรดิทุนนิยมโลก....เราทั้งหมดจึงต้องสร้างความสมานฉันท์ที่แท้จริงและลึกซึ้งขึ้นมา   นี่คือความช่วยเหลือน้อยนิดที่เราพอจะทำให้เฮติได้"


 


การกระทำของเวเนซุเอลาถือเป็นจารีตดีงามของความสมานฉันท์ในหมู่มนุษย์ เมื่อประชาชนหิวโหย เราควรช่วยเหลือพวกเขาเท่าที่ทำได้ ตัวอย่างของเวเนซุเอลาควรได้รับการสรรเสริญและเอาเยี่ยงอย่าง


กระนั้นก็ตาม ถึงแม้ความช่วยเหลือมีความจำเป็นแค่ไหน แต่มันก็แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาความอดอยากในโลกอย่างแท้จริง เราต้องเข้าใจและเปลี่ยนแปลงระบบที่เป็นต้นเหตุ


 


อาหารไม่ได้ขาดแคลน


 


การวิเคราะห์ของเราต้องเริ่มต้นที่จุดนี้ นั่นคือ อาหารในโลกไม่ได้ขาดแคลนเลย


 


ตรงกันข้ามกับคำขู่ของโธมัส มัลธัสและสาวกของเขาในสมัยศตวรรษที่ 18 งานศึกษาชิ้นแล้วชิ้นเล่าชี้ให้เห็นว่า การผลิตอาหารของโลกล้ำหน้าการเติบโตของประชากรเสมอมา และมีอาหารเหลือเฟือที่จะเลี้ยงดูทุก ๆ คน ตามข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติ โลกผลิตอาหารเพียงพอที่จะทำให้คนทุกคนได้รับอาหารมากกว่า 2800 แคลอรีต่อวัน ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำสุด และมากกว่าที่เคยผลิตได้ในสมัยทศวรรษ 1960 ถึง 18% แม้ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมากก็ตาม [1]  


 


ดังที่สถาบัน Food First กล่าวว่า "ปริมาณอาหารในโลกทุกวันนี้ เราต้องใช้คำว่าเหลือเฟือ ไม่ใช่ขาดแคลน" [2]


 


กระนั้นก็ตาม เวลามีความอดอยากเกิดขึ้นในโลก หนทางแก้ไขที่มีการนำเสนอมากที่สุดกลับเป็นการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตอาหาร


 


องค์กรพันธมิตรเพื่อการปฏิวัติเขียวในแอฟริกา ซึ่งได้รับเงินทุนจากมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์กับมูลนิธีร็อกกีเฟลเลอร์ มีเป้าหมายที่จะพัฒนา "สายพันธุ์พืชอาหารหลักของแอฟริกาที่ให้ผลผลิตและมีความทนทานมากกว่าเดิม....เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยของแอฟริกาสามารถผลิตพืชผลมากขึ้น หลากหลายขึ้นและพึ่งพิงตัวเองได้มากขึ้น" [3]


 


ในทำนองเดียวกัน สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติที่ตั้งอยู่ในกรุงมะนิลา ก็ริเริ่มโครงการหุ้นส่วนรัฐกับเอกชน  "เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวทั่วทั้งทวีปเอเชีย โดยอาศัยการพัฒนาอย่างเร่งรัดและการนำเทคโนโลยีข้าวสายพันธุ์ผสมมาใช้" [4]


 


ประธานธนาคารโลกสัญญาว่าจะช่วยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถ "เข้าถึงเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิต" [5]


 


การวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนาในภาคเกษตรกรรม แต่การริเริ่มที่ทึกทักไว้ล่วงหน้าว่า เมล็ดพันธุ์ใหม่กับสารเคมีคือสิ่งที่จำเป็น เป็นการทึกทักที่ไม่น่าเชื่อถือและไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์เลย ข้อเท็จจริงที่อาหารในโลกเพียงพอต่อการเลี้ยงดูประชากรทั้งหมดอยู่แล้ว ชี้ให้เห็นว่าวิกฤตการณ์อาหารไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิค แต่เป็นปัญหาทางสังคมและการเมืองต่างหาก


 


แทนที่จะตั้งคำถามว่า จะเพิ่มผลผลิตอย่างไร คำถามแรกของเราควรถามอย่างนี้มากกว่าว่า ในเมื่อมีอาหารมากมายอยู่แล้ว ทำไมคนกว่า 850 ล้านถึงยังหิวโหยและประสบภาวะทุโภชนาการ? ทำไมมีเด็ก 18,000 คนอดตายทุกๆ วัน?


 


ทำไมอุตสาหกรรมอาหารโลกไม่มีปัญญาเลี้ยงดูผู้หิวโหย?


 


ระบบกำไร


 


เราสามารถสรุปคำตอบด้วยประโยคเดียว นั่นคือ อุตสาหกรรมอาหารโลกไม่ได้ดำเนินงานเพื่อเลี้ยงดูผู้หิวโหย แต่มันดำเนินงานเพื่อสร้างกำไรแก่บรรษัทธุรกิจเกษตรต่างหาก


 


ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจเกษตรบรรลุเป้าหมายของตนเป็นอย่างดี กำไรของภาคธุรกิจเกษตรในปีนี้พุ่งกระฉูดกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่ประชาชนอดอยากตั้งแต่เฮติจนถึงอียิปต์และเซเนกัลต้องพรั่งพรูออกสู่ท้องถนนเพื่อประท้วงราคาอาหาร ตัวเลขต่อไปนี้นับเฉพาะสามเดือนแรกของปี ค.ศ. 2008 [6]


 


การค้าข้าว


 


*       บริษัทอาร์เชอร์ แดเนียลส์ มิดแลนด์ (เอดีเอ็ม) กำไรขั้นต้น: 1.15 พันล้านดอลลาร์  มากกว่าปีก่อน 55%


*       บริษัทคาร์กิลล์ รายได้สุทธิ:  1.03 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าปีก่อน 86%


*       บริษัทบุงเก กำไรขั้นต้นรวม:  867 ล้านดอลลาร์ มากกว่าปีก่อน 189%


 


การค้าเมล็ดพันธุ์และยากำจัดวัชพืช


 


*       บริษัทมอนซานโต กำไรขั้นต้น:  2.23 พันล้านดอลลาร์  มากกว่าปีก่อน 54%


*       บริษัทดูปองท์ รายได้ประกอบการก่อนเสียภาษี:  786 ล้านดอลลาร์ มากกว่าปีก่อน 21%


 


การค้าปุ๋ย


 


*       บริษัทโปแตช รายได้สุทธิ:  66 ล้านดอลลาร์ มากกว่าปีก่อน 185.9%


*       บริษัทโมเสค กำไรสุทธิ:  520.8 ล้านดอลลาร์ มากกว่าปีก่อน 1,200%


 


บริษัทที่ระบุชื่อข้างต้นและนอกเหนือจากนี้อีกไม่กี่บริษัท คือกลุ่มบริษัทที่ผูกขาดหรือเกือบผูกขาดการซื้อขายผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรทั่วโลก การค้าข้าวในโลก 85% อยู่ในความควบคุมของ 6 บริษัท มี 3 บริษัทควบคุมการค้าโกโก้ 83% 3 บริษัทควบคุมการค้ากล้วย 80% [7] เอดีเอ็ม คาร์กิลล์และบุงเกควบคุมข้าวโพดทั่วโลกไว้ในมือ หมายความว่าสามบริษัทนี้เท่านั้นที่เป็นผู้ตัดสินว่าในแต่ละปี จะแบ่งสัดส่วนพืชผลมากแค่ไหนไปผลิตเอธานอล น้ำตาล อาหารสัตว์หรืออาหารมนุษย์


 


ดังที่คณะบรรณาธิการขององค์กร Hungry for Profit เขียนไว้ว่า "อำนาจมหาศาลของบรรษัทธุรกิจเกษตร/อาหารยักษ์ใหญ่ทำให้พวกนั้นสามารถควบคุมต้นทุนวัตถุดิบที่ซื้อจากเกษตรกร ในขณะเดียวกันก็ดันราคาอาหารที่ขายต่อประชาชนทั่วไปให้อยู่ในระดับสูงจนกอบโกยกำไรเป็นกอบกำ" [8]


 


ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา บรรษัทธุรกิจเกษตรข้ามชาติได้ผ่าตัดและปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรมโลกอย่างขนานใหญ่ โดยอาศัยอำนาจเหนือตลาดโดยตรงและใช้รัฐบาล ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟและองค์การการค้าโลกเป็นเครื่องมือโดยอ้อม บรรษัทเหล่านี้เข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีการเพาะปลูกและการจัดจำหน่ายทั่วโลก ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดกำไรอย่างน่ามหัศจรรย์ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ความอดอยากในโลกเลวร้ายลงและวิกฤตการณ์กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


 


การโจมตีวิถีเกษตรแบบดั้งเดิม


 


วิกฤตการณ์อาหารในวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดดๆ มันเป็นรูปการหนึ่งของวิกฤตการณ์ภาคเกษตรที่สั่งสมมาหลายทศวรรษ


 


ดังที่เราเห็นมาแล้วในตอนที่ 1 ของบทความนี้ ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มประเทศร่ำรวยในซีกโลกเหนือบังคับให้กลุ่มประเทศยากจนเปิดตลาด จากนั้นก็ทุ่มตลาดด้วยอาหารที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล  สร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ภาคเกษตรกรรมในโลกที่สาม


 


แต่การปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรมโลกเพื่อผลประโยชน์ของบรรษัทธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่ไม่ได้ยุติแค่นั้น ในช่วงเวลาเดียวกัน กลุ่มประเทศซีกโลกใต้ก็ถูกโน้มน้าว ชักจูงและข่มขู่ให้หันมาใช้นโยบายเกษตรกรรมที่ส่งเสริมการเพาะปลูกเพื่อการส่งออกแทนที่การผลิตอาหารบริโภคในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ผลาญน้ำอย่างไม่บันยะบันยัง ทั้งยังใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงอย่างหนัก วิถีเกษตรกรรมดั้งเดิมที่เคยดำเนินไปโดยชุมชนและเพื่อชุมชน ถูกเบียดขับออกไปและแทนที่ด้วยระบบอุตสาหกรรมเกษตรที่ดำเนินโดยและเพื่อธุรกิจเกษตร


 


ความเปลี่ยนแปลงนี้คืออุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการทำเกษตรกรรมอย่างมีเหตุผล ซึ่งจะช่วยขจัดความอดอยากให้หมดสิ้นไป


 


การมุ่งเน้นเกษตรกรรมเพื่อการส่งออกก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าเศร้าและไร้สาระ ประชาชนหลายล้านคนในประเทศที่ส่งออกอาหารกลับไม่มีจะกิน อาทิเช่น ในอินเดีย หนึ่งในห้าของประชากรต้องอดมื้อกินมื้อและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีถึง 48% ประสบภาวะทุโภชนาการ ทั้ง ๆ ที่อินเดียส่งออกข้าวสารมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์และข้าวสาลีมูลค่า 322 ล้านดอลลาร์ใน ค.ศ. 2004 [9]


 


ในประเทศอื่นๆ ที่ดินเพื่อการเกษตรที่เคยใช้ผลิตอาหารบริโภคภายในประเทศ เดี๋ยวนี้กลับนำไปใช้ปลูกของฟุ่มเฟือยสำหรับซีกโลกเหนือ ในประเทศโคลอมเบีย มีประชากร 13% ประสบภาวะทุโภชนาการ แต่โคลอมเบียเป็นผู้ผลิตและส่งออกดอกไม้ตัดแต่งถึง 62% ของดอกไม้ทั้งหมดที่ส่งไปขายในสหรัฐอเมริกา


ในหลายกรณี ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนไปเพาะปลูกเพื่อการส่งออก ก่อให้เกิดผลกระทบที่คงน่าหัวเราะหากมันไม่ใช่เรื่องเสียหายร้ายแรงขนาดนี้ ประเทศเคนยาเคยผลิตอาหารเพียงพอเลี้ยงตัวเองมาจนกระทั่งราว 25 ปีก่อน แต่ในปัจจุบัน เคนยาต้องนำเข้าอาหารถึง 80% ในขณะที่สินค้าส่งออกของเคนยา 80% เป็นผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหาร [10]


 


การเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรเสือกไสประชาชนหลายล้านคนออกจากที่ดินทำกิน กลายเป็นแรงงานว่างงานที่ต้องใช้ชีวิตยากจนในสลัมขนาดมหึมาที่รายล้อมรอบเมืองใหญ่ๆ ในโลก


 


ประชาชนที่รู้จักที่ดินดีที่สุดกลับต้องพรากจากผืนดิน ไร่นาถูกปิดล้อมกลายเป็นโรงงานกลางแจ้งขนาดยักษ์ที่ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น คนหลายร้อยล้านต้องพึ่งพิงอาหารที่เพาะปลูกห่างออกไปหลายพันไมล์   เพียงเพราะภาคเกษตรกรรมในประเทศถูกปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองความต้องการของบรรษัทธุรกิจเกษตร   ช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ระบบนี้เปราะบางเพียงใด การตัดสินใจของอินเดียที่จะสะสมปริมาณข้าวสำรองถึงกับทำให้คนหลายล้านคนที่อยู่ห่างออกไปครึ่งซีกโลกเข้าถึงอาหารไม่ได้เลยทีเดียว


 


หากจุดประสงค์ของภาคเกษตรกรรมคือการเลี้ยงดูประชาชน ความเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรกรรมโลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องไร้เหตุผล อุตสาหกรรมเกษตรในโลกที่สามผลิตอาหารได้มากขึ้นเรื่อย ๆ   แต่ด้วยต้นทุนที่ต้องขับไสประชาชนหลายล้านออกจากที่ดินทำกินไปใช้ชีวิตอดมื้อกินมื้อ รวมทั้งต้นทุนของการสร้างมลภาวะต่ออากาศและน้ำ รวมทั้งทำลายหน้าดินอย่างต่อเนื่องเพื่อผลิตอาหารตามความพอใจของเรา


 


ตรงกันข้ามกับข้ออ้างของธุรกิจเกษตร การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกษตรล่าสุด รวมทั้งประสบการณ์ของจริงยาวนานเป็นทศวรรษในคิวบา พิสูจน์ให้เห็นว่า ไร่นาขนาดเล็กและขนาดกลางที่ใช้วิธีการนิเวศเกษตรกรรมแบบยั่งยืน สามารถให้ผลผลิตมากกว่าและทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่  [11]


 


อุตสาหกรรมเกษตรเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่เพราะมันให้ผลผลิตมากกว่า แต่เพราะมันให้ผลผลิตชนิดเดียวกันในปริมาณที่คาดการณ์ได้ อีกทั้งเป็นผลผลิตที่ทนทานต่อการขนส่งไปสู่ตลาดห่างไกล นั่นคือจุดที่กำไรเกิดขึ้น และกำไรเท่านั้นที่สำคัญ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดต่อดิน น้ำและอากาศ  หรือแม้กระทั่งผู้คนที่หิวโหย


 


การต่อสู้เพื่ออธิปไตยทางอาหาร


 


ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการยัดเยียดของบรรษัทธุรกิจเกษตรข้ามชาติและตัวแทนของมัน มิใช่ดำเนินไปโดยปราศจากแรงต่อต้าน พัฒนาการที่สำคัญที่สุดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาคือ การเกิดองค์กร La Vía Campesina (องค์การชาวนาโลก) ซึ่งเป็นองค์กรร่มที่ครอบคลุมองค์กรของเกษตรกรรายย่อยและชาวนามากกว่า 120 องค์กรใน 56 ประเทศ นับตั้งแต่ขบวนการแรงงานไร้ที่ดินหรือ MST ในบราซิลไปจนถึงสหภาพเกษตรกรแห่งชาติในแคนาดา


 


โครงการแรก ๆ ของ La Vía Campesina คือการท้าทาย "การประชุมสุดยอดอาหารโลก" ซึ่งเป็นการประชุมที่สหประชาชาติจัดขึ้นใน ค.ศ. 1996 เกี่ยวกับปัญหาความอดอยากในโลก โดยมีตัวแทนเข้าร่วมจาก 185 ประเทศ ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนั้นสัญญา (แต่หลังจากนั้นก็ไม่ทำอะไรเลย) ว่าจะขจัดความอดอยากและทุโภชนาการด้วยการสร้างหลักประกันให้แก่ "ความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนสำหรับประชาชนทุกคน" [12]


 


ดังเช่นการจัดประชุมแบบนี้ทุกครั้ง ชนชั้นแรงงานผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงกลับถูกกีดกันออกจากการประชุม นอกห้องประชุม องค์กร La Vía Campesina เสนอ "อธิปไตยทางอาหาร" เป็นทางเลือกสำหรับความมั่นคงทางอาหาร La Vía Campesina บอกว่า เพียงแค่การเข้าถึงอาหารยังไม่เพียงพอ สิ่งที่จำเป็นยิ่งกว่านั้นคือการเข้าถึงที่ดินทำกิน น้ำและทรัพยากร ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องมีสิทธิที่จะรับรู้และตัดสินใจในนโยบายเกี่ยวกับอาหาร อาหารเป็นสิ่งสำคัญเกินกว่าจะปล่อยให้อยู่ในกำมือของกลไกตลาดโลกและการชักใยของธุรกิจเกษตร ความหิวโหยในโลกจะยุติได้ก็ด้วยการฟื้นฟูวิถีเกษตรครอบครัวขนาดเล็กและขนาดกลางขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มันเป็นองค์ประกอบหลักในการผลิตอาหาร [13]


 


หัวใจสำคัญในข้อเรียกร้องของขบวนการอธิปไตยทางอาหารก็คือ อาหารควรเป็นแหล่งโภชนาการสำหรับชุมชนและประเทศที่เป็นแหล่งเพาะปลูกเป็นอันดับแรก ตรงกันข้ามกับนโยบายการค้าเสรีที่เน้นการส่งออก   อธิปไตยทางอาหารเน้นการบริโภคภายในประเทศและการเลี้ยงตัวเอง


 


อธิปไตยทางอาหารไม่ใช่การเรียกร้องให้ปิดประเทศทางเศรษฐกิจหรือย้อนกลับไปสู่ชนบทในอุดมคติอย่างที่นักวิจารณ์บางคนกล่าวหา อันที่จริง อธิปไตยทางอาหารคือโครงการปกป้องและขยายสิทธิมนุษยชน การปฏิรูปที่ดิน และการคุ้มครองโลกจากการฆ่าล้างผลาญทางนิเวศวิทยาของระบบทุนนิยม   นอกเหนือจากเรียกร้องการเลี้ยงตัวเองและสร้างความเข้มแข็งให้วิถีเกษตรกรรมแบบครอบครัวแล้ว ข้อเรียกร้องอธิปไตยทางอาหารของ La Vía Campesina ยังครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้ด้วย:


 


*       สร้างหลักประกันให้ทุกคนเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่าและเหมาะสมทางวัฒนธรรมในปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอ เพื่อดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาพดีเหมาะสมต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


*       เกษตรกรไร้ที่ดิน โดยเฉพาะผู้หญิง ควรเป็นเจ้าของและควบคุมที่ดินที่ตนทำกิน รวมทั้งคืนดินแดนแก่ชาวพื้นเมือง


*       ดูแลการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะที่ดิน น้ำและเมล็ดพันธุ์ ยุติการพึ่งพิงสารเคมี การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขาย และการผลิตเข้มข้นแบบอุตสาหกรรม


*       คัดค้านนโยบายขององค์การการค้าโลก ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ที่เอื้อให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาควบคุมภาคเกษตร ต้องกำกับดูแลและเก็บภาษีทุนเก็งกำไร รวมทั้งบังคับให้บรรษัทข้ามชาติรักษาจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจอย่างเคร่งครัด


*       ยุติการใช้อาหารเป็นอาวุธ ยกเลิกการเบียดขับให้ประชาชนพลัดถิ่น การอพยพเข้าเมืองโดยไม่เต็มใจและการกดขี่รังควานเกษตรกร


*       สร้างหลักประกันให้ชาวนาและเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะผู้หญิงในชนบท สามารถมีสิทธิ์มีเสียงโดยตรงในการวางนโยบายการเกษตรทุกระดับ [14]


 


ข้อเรียกร้องอธิปไตยทางอาหารของ La Vía Campesina ถือเป็นโครงการเกษตรที่ทรงพลังสำหรับศตวรรษที่ 21 ขบวนการแรงงานและฝ่ายซ้ายทั่วโลกควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ตลอดจนสนับสนุนการรณรงค์ของเกษตรกรและชาวนาในการปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งต่อต้านการทำให้อาหารและการเกษตรกลายเป็นอุตสาหกรรมและโลกาภิวัตน์


 


ยุติการทำสงครามต่อเกษตรกรในโลกที่สาม


 


ภายในกรอบข้างต้น ประชาชนในซีกโลกเหนือควรเรียกร้องให้รัฐบาลของตนยุติการกระทำใด ๆ ที่สร้างความอ่อนแอหรือทำลายวิถีเกษตรกรรมในโลกที่สาม


 


ยุติการนำอาหารมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง ดังที่ La Vía Campesina ชี้ให้เห็นด้วยคำพูดง่ายๆ และชัดเจนว่า  "อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงเกษตรคือความไร้สาระทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เราควรหยุดพัฒนามันเสียที ผลิตผลทางการเกษตรควรนำมาใช้เป็นอาหารเป็นอันดับแรก" [15]


 


ยกเลิกหนี้สินของโลกที่สาม เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา แคนาดาประกาศให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนอาหารในเฮติเป็นเงิน 10 ล้านดอลลาร์แคนาดา [16] ถึงแม้นี่เป็นการกระทำเชิงบวก แต่ในปี ค.ศ. 2008 เฮติต้องจ่ายเงินอีก 5 เท่าของเงินช่วยเหลือเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศที่สูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ หนี้สินเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในยุคเผด็จการทหารของรัฐบาลดูวาลิเยร์ที่กลุ่มประเทศจักรวรรดินิยมให้การสนับสนุน


 


สถานการณ์หนี้สินของเฮติก็ไม่ต่างจากประเทศโลกที่สามอื่นๆ ทั้งยังไม่ใช่กรณีร้ายแรงด้วย หนี้ต่างประเทศโดยรวมทั้งหมดของกลุ่มประเทศโลกที่สามใน ค.ศ. 2005 อยู่ที่ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ และการจ่ายหนี้ในปีนั้นมีมูลค่ารวมกันถึง 513 พันล้านดอลลาร์ [17] หากยุติการไหลออกของเงินจ่ายหนี้ได้ทันทีและไม่มีเงื่อนไข จะช่วยให้ประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรในการเลี้ยงดูผู้หิวโหยและฟื้นฟูการทำเกษตรกรรมในประเทศขึ้นมาใหม่


 


เอา WTO ออกไปจากภาคเกษตรกรรม ข้อตกลงภาคเกษตรกรรม (Agreement on Agriculture—AoA) ขององค์การการค้าโลกคือการนำนโยบายอาหารแบบถอยหลังเข้าคลองของธนาคารโลกกับไอเอ็มเอฟมายัดเยียดและบังคับใช้กับประเทศยากจน ดังที่ Afsar Jafri แห่งสถาบัน Focus on the Global South เขียนไว้ว่า ข้อตกลงนี้ "เข้าข้างระบบเกษตรกรรมของบรรษัทธุรกิจเกษตร ซึ่งใช้ทุนเข้มข้นและเน้นการส่งออก" [18] นั่นไม่น่าประหลาดใจเลย เนื่องจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่เป็นผู้ร่างและต่อรองในข้อตกลงนี้ เคยเป็นรองประธานของบริษัทธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่อย่างคาร์กิลล์มาก่อน


 


เราควรยกเลิก AoA กลุ่มประเทศโลกที่สามควรมีสิทธิในการยกเลิกนโยบายเปิดเสรีที่ธนาคารโลกไอเอ็มเอฟและดับเบิลยูทีโอยัดเยียดให้ รวมทั้งข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีอย่างนาฟตาและคาฟตาด้วย


 


การกำหนดชะตากรรมตนเองของซีกโลกใต้  ความพยายามของสหรัฐอเมริกาที่จะบ่อนทำลายและล้มล้างรัฐบาลต่อต้านจักรวรรดินิยมในกลุ่ม ALBA เช่น เวเนซุเอลา โบลิเวีย คิวบา นิการากัวและเกรนาดา คือการสืบทอดประวัติศาสตร์ยาวนานของประเทศซีกโลกเหนือที่ไม่ต้องการให้ประเทศโลกที่สามมีอำนาจควบคุมชะตากรรมของตนเอง ดังนั้น ขบวนการต่อต้านการแทรกแซงที่เคลื่อนไหว "ในท้องของเจ้าสัตว์ร้าย"  (หมายถึงในสหรัฐอเมริกา)  จึงเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้เพื่ออธิปไตยทางอาหารของโลก


* * *


กว่าร้อยปีที่แล้ว คาร์ล มาร์กซ์เคยเขียนไว้ว่า ถึงแม้ระบบทุนนิยมส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีก็ตาม  แต่  "ระบบทุนนิยมกลับต่อต้านวิถีเกษตรกรรมที่มีเหตุผล....วิถีเกษตรกรรมที่มีเหตุผลอยู่ร่วมกับระบบทุนนิยมไม่ได้" [19]  


วิกฤตการณ์อาหารและเกษตรกรรมในวันนี้ยืนยันข้อตัดสินข้างต้นเป็นอย่างดี ระบบที่เห็นกำไรสำคัญกว่าความจำเป็นของมนุษย์ กำลังเบียดขับผู้ผลิตหลายล้านออกจากที่ดิน กัดกร่อนความอุดมสมบูรณ์ของโลก  พร้อม ๆ กับใส่ยาพิษในอากาศและน้ำ ทำให้ประชาชนเกือบพันล้านคนต้องหิวโหยและขาดอาหาร


วิกฤตการณ์อาหารและเกษตรกรรมมีรากเหง้ามาจากระบบที่ต่อต้านมนุษย์อย่างไร้เหตุผล เพื่อเลี้ยงดูโลกใบนี้ ชนชั้นแรงงานในเมืองและชนบทต้องจับมือกันกำจัดระบบนี้ให้สิ้นซาก



 


Footnotes


[1] Frederic Mousseau, Food Aid or Food Sovereignty? Ending World Hunger in Our Time. Oakland Institute, 2005. http://www.oaklandinstitute.org/pdfs/fasr.pdf.
International Assessment of Agricultural Knowledge, Science and Technology for Development. Global Summary for Decision Makers. http://www.agassessment.org/docs/Global_SDM_210408_FINAL.pdf


[2] Francis Moore Lappe, Joseph Collins, Peter Rosset. World Hunger: Twelve Myths. (Grove Press, New York, 1998) p. 8


[3] "About the Alliance for a Green Revolution in Africa."
http://www.agra-alliance.org/about/about_more.html


[4] IRRI Press Release, April 4, 2008. http://www.irri.org/media/press/press.asp?id=171


[5] "World Bank President Calls for Plan to Fight Hunger in Pre-Spring Meetings Address." News Release, April 2, 2008


[6] ตัวเลขเหล่านี้นำมาจากรายงานประจำไตรมาสล่าสุดของบริษัท  ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเว็บไซท์ของบริษัทเหล่านั้น   เนื่องจากมันรายงานตัวเลขด้วยบรรทัดฐานแตกต่างกันไป  จึงไม่อาจเปรียบเทียบระหว่างบริษัทได้  ทำได้เพียงเปรียบเทียบกับรายงานก่อนหน้านี้ของบริษัทนั้น ๆ


[7] Shawn Hattingh. "Liberalizing Food Trade to Death." MRzine, May 6, 2008. http://mrzine.monthlyreview.org/hattingh060508.html


[8] Fred Magdoff, John Bellamy Foster and Frederick H. Buttel. Hungry for Profit: The Agribusiness Threat to Farmers, Food, and the Environment. Monthly Review Press, New York, 2000. p. 11


[9] UN Food and Agriculture Organization. Key Statistics Of Food And Agriculture External Trade. http://www.fao.org/es/ess/toptrade/trade.asp?lang=EN&dir=exp&country=100


[10] J. Madeley. Hungry for Trade: How the poor pay for free trade. Cited in Ibid


[11] Jahi Campbell, "Shattering Myths: Can sustainable agriculture feed the world?" and " Editorial. Lessons from the Green Revolution." Food First Institute. www.foodfirst.org


[12] World Food Summit. http://www.fao.org/wfs/index_en.htm


[13] La Vía Campesina. "Food Sovereignty: A Future Without Hunger." (1996) http://www.voiceoftheturtle.org/library/1996%20Declaration%20of%20Food%20Sovereignty.pdf


[14] Paraphrased and abridged from Ibid


[15] La Vía Campesina. "A response to the Global Food Prices Crisis: Sustainable family farming can feed the world." http://www.viacampesina.org/main_en/index.php?option=com_content&task=view&id=483&Itemid=38


[16] เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น ในปีนี้ แคนาดาจะใช้งบประมาณราว 1 พันล้านดอลลาร์ให้แก่สงครามและการยึดครองที่ผิดกฎหมายในอัฟกานิสถาน


 [17] Jubilee Debt Campaign. "The Basics About Debt." http://www.jubileedebtcampaign.org.uk/?lid=98


[18] Afsar H. Jafri. "WTO: Agriculture at the Mercy of Rich Nations." Focus on the Global South, November 7, 2005. http://www.focusweb.org/india/content/view/733/30/


[19] Capital, Volume III. Karl Marx & Frederick Engels, Collected Works, Volume 37, p. 123


 


Ian Angus เป็นบรรณาธิการของเว็บไซท์  Climate and Capitalism


 


 


อ่านตอนแรก: ภัควดี รายงาน: วิกฤตการณ์อาหารโลก (ตอนที่ 1)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net