Skip to main content
sharethis

อริสา  สุมามาลย์


โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ


www.teenpath.net


สังเกตไหมคะว่าละครเรื่องไหนพระเอกใช้กำลังกับนางเอก เรื่องนั้นดังทุกที


อย่างฉากข่มขืนของละครบางเรื่องกลายเป็นจุดหักเหจากที่พระเอกนางเอกไม่ชอบหน้ากัน มีความแค้นต่อกัน ก็หันมาเริ่มใส่ใจ ห่วงใยความรู้สึกกัน สุดท้ายเมื่อพระเอกสำนึกผิด นางเอกอดทน เข้าอกเข้าใจ ให้โอกาสคนทำผิดพลาดแก้ตัว ทุกอย่างก็แฮปปี้เอนดิ้ง


ขณะที่สิ่งที่ดำเนินอยู่อย่างเงียบเชียบในละคร คือการตอกย้ำความเชื่อในสังคมเราว่าผู้หญิงไม่ควรมีปากเสียงในเรื่องเพศ หากถูกข่มขืนต้องเก็บเป็นความลับ ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง และไม่เคยเรียกร้องสิทธิเพื่อความเป็นธรรม เพราะเท่าที่ดูมาก็ไม่เคยเห็นนางเอกเรื่องไหนลุกขึ้นมาแจ้งความตำรวจให้จับพระเอกดำเนินคดีสักที เลยกลายเป็นว่าเรายอมรับว่าพระเอกสามารถแสดงความรักกับนางเอกโดยใช้ความรุนแรงได้


เช่นเดียวกัน เรามักได้ยินเรื่องราวการข่มขืนจากข่าวจำพวก "ไอ้หื่นโรคจิตฉุดสาวสายเดี่ยวในที่เปลี่ยวกลางซอย" จึงมีความเข้าใจผิดว่าผู้หญิงที่แต่งตัวโป๊ หรือมีสรีระที่ยั่วยวนใจ เดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวตอนค่ำคืนจะมีสิทธิถูกข่มขืนได้ง่ายๆ โดยคนแปลกหน้า ที่เราประณามว่า "หื่น" "บ้ากาม" ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ทางเพศได้


คำถามแรกคือ อะไรทำให้เกิดมาตรฐานซ้อนระหว่างการข่มขืนโดยคนแปลกหน้ากับการข่มขืนด้วยความรัก โดยเฉพาะเมื่อพระเอกขาว หล่อล่ำ??


จากข้อเท็จจริงเรื่องการข่มขืน โดยคณะทำงานพัฒนาแนวทางเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พบว่า ผู้ข่มขืนส่วนใหญ่รู้จักกับผู้ถูกกระทำ เช่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ญาติพี่น้อง และมีบุคลิกภาพปกติในสายตาของคนรู้จัก นอกจากนี้ยังใช้เงื่อนไขอำนาจในเรื่องอื่นๆ เช่น สถานภาพนายจ้างกับลูกจ้าง เจ้าหนี้กับลูกหนี้ เป็นเหตุผลเพื่อข่มขืน


คำถามต่อมาอยู่ที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้หญิงเราหวาดกลัวการถูกข่มขืนในที่เปลี่ยว แต่กลับรู้สึกชินชากับการเอาเปรียบทางเพศโดยคนใกล้ตัว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อยู่ใกล้ตัวมากกว่า และเกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ แต่งตัวเรียบร้อยขนาดไหน


อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจล่าสุด โดยศูนย์วิจัยความสุขชุมชน ในหัวข้อ "การศึกษาอิทธิพลของการชมรายการโทรทัศน์กับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในกลุ่มคนดู" ศึกษาเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปใน กทม. และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ของประเทศ จำนวนตัวอย่าง ๒,๑๕๙ ตัวอย่าง พบว่าเด็กอายุระหว่าง ๒ - ๖ ปี จำนวน ๑๐.๙ % , เด็กอายุ ๗ - ๑๒ ปี จำนวน ๑๙.๙ % และเด็กอายุ ๑๓ - ๑๙ ปี จำนวน ๒๐.๒ % บอกว่าการข่มขืนเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่ยอมรับได้ และเด็กบางส่วนบอกว่าอยากเป็นพระเอกจะได้ข่มขืนคนอื่น


จากผลโพลข้างต้น หากเรากังวลว่าการเลียนแบบสื่อของเด็กอาจนำไปสู่ปัญหาสังคม คงต้องตั้งคำถามว่าเด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบเพราะขาดความยั้งคิด หรือเขาคิดแล้วว่ามันดี มันชอบธรรม เพราะสื่อเองกำลังบอกอย่างนั้น หากเป็นเช่นนั้นจริง ละครจะขายเนื้อเรื่องอื่นที่สนุกชวนลุ้นได้ไหม หรืออีกทางหนึ่งจะทำอย่างไรให้เด็กดูสื่อแล้วสามารถทำความเข้าใจและเลือกรับสิ่งดีๆ ได้


ถ้าเรารักเด็กๆ ของเราจริง แล้วในวันนี้ ใครควรทำอะไรบ้าง??


 






 


หมายเหตุ: www.teenpath.net เป็นเว็บไซต์ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษากับทุกเพศทุกวัย ประกอบด้วยห้อง


เพศศึกษาสำหรับวัยรุ่น / เพศศึกษาในโรงเรียน โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ และห้องเครือข่ายเยาวชน V-Teen ภายใต้โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net