Skip to main content
sharethis

"...ประชาชนชาวพม่าต้องได้รับโศกนาฏกรรมซ้ำสองที่ถือได้ว่ารุนแรงกว่าพายุไซโคลนนาร์กิส นั่นคือ การที่รัฐบาลทหารพม่า นอกจากไม่ออกมาช่วยเหลือประชาชนแล้ว แต่ยังได้มีการสกัดกั้นความช่วยเหลือจากนานาชาติ ... ซึ่งจากรายงานของ WFP ระบุว่าสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพียง 10% เท่านั้น นอกจากมีการพยายามสกัดกั้นไม่ให้นานาชาติเข้าไปช่วยเหลือแล้ว รัฐบาลทหารพม่ากลับให้ความสำคัญกับการลงประชามติรับร่าง รธน. โดยใช้กำหนดเดิมวันที่10 พ.ค. ที่ในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้เสียอีก"

เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิยาลัยเชียงใหม่, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ, โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า, ศูนย์ข่าวสาละวิน, ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมจัดการเสวนาวิพากษ์รัฐบาลไทยและพม่า ต่อกรณีความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุนาร์กีส                                    

โดยในเวทีดังกล่าว ได้มีการฉายภาพเหตุการณ์ 14 วันหลังจากพายุไซโคลนนาร์กีสถล่มชายฝั่งอิระวดี ย่างกุ้ง ประเทศพม่า ว่านับตั้งแต่พายุไซโคลนนาร์กีสได้ขึ้นพัดถล่มชายฝั่งอิระวดี ย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ซึ่งได้สร้างความสูญเสียและความเสียหายอย่างมหาศาล จนถึงตอนนี้ก็ยังมีอีกหลายร้อยหมู่บ้านที่ยังจมอยู่ใต้น้ำในเขตลุ่มน้ำอิระวดี             

 

 
ที่มาของภาพ: www.dvb.no

ล่าสุด ทางการพม่า ระบุว่า มียอดผู้เสียชีวิตจำนวน 31,938 คน และผู้สูญหายจำนวน 29,770 คน ซึ่งสวนทางกับรายงานข้อมูลขององค์กรสหประชาชาติหรือยูเอ็น ที่ได้มีการประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตราว 102,000 คน และสูญหายอีกราว 220,000 คน โดยคาดว่าจะมีประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 2 ล้านคน นอกจากนั้น ทาง UNICEF ยังได้ออกมาระบุด้วยว่า 40% ของยอดผู้เสียชีวิตนั้นเป็นเด็ก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสลดใจอย่างมาก

 

 

จ๋ามตอง

ตัวแทนเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่

(Shan Women"s Action network - SWAN)

 

การสกัดกั้นความช่วยเหลือจากนานาชาติของรัฐบาลทหารพม่า

คือโศกนาฏกรรมซ้ำสองรุนแรงยิ่งกว่าพายุไซโคลนนาร์กิส

นางสาวจ๋ามตอง ตัวแทนเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่ (Shan Women"s Action network - SWAN) กล่าวว่า ในช่วงเริ่มแรกที่เกิดเหตุการณ์ ชาวบ้านต้องช่วยเหลือกันเองด้วยความลำบาก เพราะนอกจากรัฐบาลทหารของพม่าไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนแล้ว ยังพยายามสร้างภาพด้วยนำเสนอภาพในสถานีโทรทัศน์ MRTV ของรัฐบาลว่าได้เข้าไปช่วยเหลือ แต่จริงๆ แล้ว ไม่ได้รับการช่วยเหลือมากเท่าไร รวมทั้งยังได้สกัดกั้นไม่ให้สหประชาชาติ นานาชาติ ที่ได้ประกาศให้ความความช่วยเหลือ รวมทั้งประชาชนในพม่า และองค์กรชุมชน รวมทั้งพระสงฆ์ออกมาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในเรื่องของปัจจัยสี่ ทั้งอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค

 

"การกระทำเช่นนี้ ประชาชนชาวพม่าต้องได้รับโศกนาฏกรรมซ้ำสองที่ถือได้ว่ารุนแรงกว่าพายุไซโคลนนาร์กิส นั่นคือ การที่รัฐบาลทหารพม่า นอกจากไม่ออกมาช่วยเหลือประชาชนแล้ว แต่ยังได้มีการสกัดกั้นความช่วยเหลือจากนานาชาติ ปฏิเสธไม่ให้ทีมกู้ภัยและทีมบรรเทาทุกข์จากต่างประเทศเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยให้เอาของบริจาคฝากไว้ให้ทหารพม่าเท่านั้น ซึ่งจากรายงานของ WFP ระบุว่าสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพียง 10% เท่านั้น นอกจากมีการพยายามสกัดกั้นไม่ให้นานาชาติเข้าไปช่วยเหลือแล้ว รัฐบาลทหารพม่ากลับให้ความสำคัญกับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้กำหนดเดิมวันที่10 .. ที่ในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้เสียอีก"

 

นางสาว

จ๋ามตอง ยังระบุอีกว่า มีรายงานด้วยว่า ความช่วยเหลือที่นานาชาติ ส่งไปไม่ถึงประชาชน หนำซ้ำรัฐบาลทหารพม่ายังได้มีการนำสิ่งของบริจาคต่างๆ ไปวางขายให้ประชาชนตามท้องตลาดเสียอีก (http://www.prachatai.com/05web/th/home/12164) นอกจากนั้น องค์กรชุมชน และกลุ่มของพระก็ถูกข่มขู่และสกัดกั้นไม่ให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมีการตรวจและให้เจ้าหน้าที่ต่างๆ คอยติดตาม การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่พยายามไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกด้วย

 

เสนอยูเอ็น ใช้สิทธิ R2P เข้าไปในพม่า

"ดังนั้น เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลพม่า เปิดรับความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากนานาชาติและอนุญาตให้องค์กรชุมชนในพม่า อย่างเร่งด่วนแบบไม่มีเงื่อนไข เพื่อรักษาชีวิตประชาชนอีกนับล้านคน และขอให้สหประชาชาติ เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน โดยไม่ต้องรอให้ทหารพม่าอนุญาต โดยใช้ "Responsibility to Protect" หรือR2P ในห้วงวิกฤติต่อมนุษยชาติเช่นนี้ จึงขอให้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือประชาชนชาวพม่าได้ทันที" นางสาวจ๋ามตอง กล่าว

 

วอนสื่อไทยรายงานข่าวนาร์กีสให้รอบด้าน

เสนอดูความจริงในสื่อภาคประชาชนพม่า                                                               

ด้านนางสาววันดี สันติวุฒิเมธี บรรณาธิการ สาละวินโพสต์ ก็ออกมากล่าวถึง การรายงานข่าวโศกนาฎกรรมนาร์กิสในพม่า ว่า อยากตั้งข้อสังเกตจากสื่อต่างๆ ที่รายงาน จะพบว่าข้อมูลที่ได้รับส่วนใหญ่มักจะมาจากสื่อของรัฐบาลทหารพม่า จากสถานีโทรทัศน์MRTV (http://www.mrtv3.net.mm/) ซึ่งจะมีภาพรายงานว่า รัฐบาลทหารพม่าได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชน มีการแจกสิ่งของที่ได้รับบริจาคมา แต่อยากให้มีการเพิ่มข้อสังเกตก็คือที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นภาพพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติอย่างรุนแรงแต่อย่างใดเลย แต่เมื่อเราได้รับข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากสื่อมวลชนพม่าที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านและมีผู้สื่อข่าวอยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติในพม่า และได้รายงานภาพผ่านโทรศัพท์ ผ่านดาวเทียม ว่าการเสียชีวิตของผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก มีความเสียหายอย่างรุนแรง และมีการสัมภาษณ์ชาวบ้านว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านอย่างทั่วถึง

 

"ดังนั้น นอกจากสื่อมวลชนไทยจะนำเสนอข้อมูลจากสื่อของรัฐบาลทหารพม่าแล้ว อยากให้นำเสนอข้อมูลที่ได้รับจากสื่ออื่นๆ ของพม่าด้วย อาทิ www.dvb.no , www.irrawaddy.org และ www.bnionline.net ซึ่งเราสามารถอาศัยข้อมูลข่าวและภาพข่าวจากสื่อเหล่านี้มานำเสนอได้ เนื่องจากว่าในขณะนี้สื่อต่างประเทศยังถูกรัฐบาลทหารพม่าปิดกั้นไม่ให้เข้าไปรายงานในพื้นที่ได้ ดังนั้น จึงอยากให้เราได้ใช้ข้อมูลทั้งสองช่องทางมานำเสนอด้วย"

 

 

วันดี สันติวุฒิเมธี

บรรณาธิการ สาละวินโพสต์

 

ติงท่าที "สมัคร" ทำให้คนไทยและนานาชาติอาจเข้าใจผิดและตัดความช่วยเหลือ

บรรณาธิการนิตยสารสาละวินโพสต์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตกรณี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ออกแถลงข่าวเมื่อวันที่14 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังเดินทางกลับจากประเทศพม่าว่า รัฐบาลพม่าสามารถช่วยเหลือตนเองได้แล้ว ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากภายนอกนั้น ตนคิดว่ายังไม่มีข้อมูลที่แน่นอน โดยนายสมัครได้รับข้อมูลจากรัฐบาลพม่าเพียงด้านเดียว ว่าจะได้รับความช่วยเหลือแท้จริงหรือไม่ เพราะว่านายสมัครไม่ได้เดินทางเข้าในหลายพื้นที่บริเวณชายฝั่งแม่น้ำอิระวดี ที่เป็นพื้นที่ห่างไกลและเดินทางเข้าไปไม่ถึง ซึ่งประชาชนกำลังได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก เมื่อออกมาแถลงข่าวอย่างนี้ อาจทำให้คนไทยและนานาชาติเข้าใจผิดและตัดความช่วยเหลือที่ส่งไปในประเทศพม่าได้

ชี้จับตามองการรุกคืบของรัฐบาลทหารพม่าและนายทุน                                      
สร้างบาดแผลซ้ำเติมชาวบ้าน หลังเหตุการณ์นาร์กีส                                                       
ในขณะที่ ดร.ชยันต์ วรรธณะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า พื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติครั้งนี้ ส่วนหนึ่งจะอยู่ที่บริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำอิระวดี ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญอาศัยอยู่ที่นั่น จะมีฐานะค่อนข้างยากจน เพราะส่วนใหญ่จะอาชีพรับจ้าง เป็นแรงงาน ทำนากุ้ง ทำนาเกลือและปลูกข้าว ให้กับนายทุนที่มาจากย่างกุ้ง ดังนั้น เมื่อได้รับภัยพิบัติครั้งนี้ ชาวบ้านคงจะตกอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ซึ่งการไม่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยบริเวณชายฝั่งอิระวดี อาจเป็นกลไกทางการเมืองของรัฐบาลทหารพม่าและนายทุน ที่จะเข้าไปยึดครองพื้นที่ทำกินและทรัพยากรของชาวบ้านหลังเกิดเหตุการณ์นี้ก็ได้ เพราะรัฐบาลทหารพม่าและนายทุนพยายามจะเข้าไปขยายพื้นที่ตรงนี้เพื่อเพาะปลูกข้าวและทำนากุ้งตั้งแต่ปีที่แล้ว

 
ดร.ชยันต์ วรรธณะภูติ
ผอ.ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(RCSD)

"หากเราดูจากประสบการณ์สึนามิที่ผ่านมา จะพบว่า หลังเหตุการณ์สึนามิ คนที่เดือดร้อนก็คือคนที่อยู่ชั้นล่างของสังคม คนที่เป็นชนกลุ่มน้อย เช่น พี่น้องมอแกน ที่โดนยึดที่ดิน ฉะนั้น พอเกิดปัญหาลักษณะนี้ ก็จะพบว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงการช่วยเหลือเช่นเดียวกัน และยังมีการพยายามสร้างกลไกเข้าไปยึดครองพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งผมเกรงว่าหลังเหตุการณ์นาร์กีสที่พม่าก็เช่นเดียวกัน นอกจากการช่วยเหลือ เราไม่ควรคำนึงถึงความรวดเร็วเพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงความโปร่งใส มิติทางด้านสุขภาพ การดำรงอยู่ของชีวิตผู้คน รวมทั้งการฟื้นฟูชุมชนให้พวกเขาอยู่ได้เหมือนเดิม โดยที่ไม่ถูกเอาเปรียบหลังเหตุการณ์ด้วย ถ้าไม่เช่นนั้น อาจจะเป็นการสร้างบาดแผลที่มีอยู่ให้ลึกลงไป หรือมีแต่จะซ้ำเติมความเดือดร้อนที่มีอยู่ให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น"

จี้ยูเอ็นใช้ท่าทีแข็งกร้าว กดดันรัฐบาลทหารพม่า               
ในขณะที่ นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขาเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้สหประชาชาติ ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวกว่านี้ในการให้ความช่วยเหลือ ต้องมีมาตรการกดดันให้รัฐบาลทหารพม่า ยอมให้องค์กรนานาชาติเข้าไปช่วยเหลือโดยเร็ว เพราะหากปล่อยไปอย่างนี้ความช่วยเหลือจะยิ่งล่าช้าและจะก่อให้เกิดปัญหามากไปกว่าปัจจุบัน

"และสิ่งที่พี่น้องชาวพม่าต้องการมากกว่าการช่วยเหลือเฉพาะหน้าก็คือสิทธิและเสรีภาพ ควรใช้เงื่อนไขนี้ในการเกลี้ยกล่อมให้รัฐบาลพม่าคำนึงถึงเรื่องความเป็นอยู่ของชาวพม่ามากกว่านี้"

ในเวทีดังกล่าว ยังได้มีการอ่านแถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทยและพม่าต่อกรณีความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุนาร์กีส พร้อมประกาศเชิญชวนให้สังคมไทยได้ร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุนาร์กีสใน เบื้องต้น สามารถร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกับโครงการ CDCE คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้ที่บัญชี CDCE: Nargis Disaster Relief Fund หมายเลขบัญชี 456-0-04544-5 ธนาคารกรุงไทย สาขา ม.เชียงใหม่

ทั้งนี้ ในวันอังคารที่ 20 พ.ค.นี้ เวลา 15.00-22.00 น. ภาคประชาชน จ.เชียงใหม่ ร่วมกับองค์กรพันธมิตรจะร่วมกันจัดงาน "มหกรรมเพื่อนพม่า" ที่หอประชุมเล็ก ม.เชียงใหม่ เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้กำลังใจ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า โดยกิจกรรมภายในงานจะมีการเสวนา เรื่อง "การละเมิดสิทธิมนุษยชนถึงไซโคลนนาร์กีสในพม่า" โดยนักวิชาการจากทั้งไทยและพม่า นอกจากนี้ยังมีคอนเสิร์ตระดมทุน "เพื่อนพม่า" จากศิลปินชาวไทยและชาวพม่า พร้อมทั้งยังมีการประมูลภาพวาด รวมทั้งการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายและข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า และพายุไซโคลนนาร์กีสด้วย

แถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทยและพม่า
ต่อกรณีความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุนาร์กีส

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมาพายุไซโคลนนาร์กีสได้ขึ้นพัดถล่มชายฝั่งอิระวดี ย่างกุ้ง และพื้นที่ภาคกลางของประเทศพม่าในเขตอิระวดี ย่างกุ้ง และเมืองใกล้เคียงจนทำให้จนถึงวันนี้ ตามตัวเลขจากทางการพม่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 31,938 คน และผู้สูญหายจำนวน 29,770 คน ขณะที่ตัวเลขจากองค์กรสหประชาชาติหรือยูเอ็นประเมินว่ามีผู้เสียชีวิต 102,000 คน และสูญหาย 220,000 คน โดยคาดว่าจะมีประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 1 ล้านคน

แม้ว่าจนถึงวันนี้ เหตุการณ์ภัยพิบัติจะผ่านไปเป็นเวลานานเกือบสองอาทิตย์ แต่ผู้ประสบภัยที่รอดชีวิตยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง โดยเฉพาะปัจจัยสี่ ทั้งอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค ที่พักอาศัย  เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าไม่อนุญาตให้ทีมบรรเทาทุกข์จากต่างประเทศเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยประกาศรับเฉพาะสิ่งของบริจาคและเงิน ซึ่งไม่มีใครมั่นใจได้ว่า ความช่วยเหลือดังกล่าวจะไปถึงมือผู้ประสบภัยทุกคน  ส่งผลให้ผู้ประสบภัยนับล้านชีวิตกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะขาดอาหารและโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งอาจทำให้ผู้ประสบภัยเหล่านี้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมซ้ำสองที่รุนแรงกว่าพายุไซโคลนนาร์กิสก็เป็นได้

ในขณะที่เสียงของประชาคมโลกเสนอให้รัฐบาลพม่าเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน  แต่รัฐบาลพม่ากลับให้ความสำคัญกับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้กำหนดเดิมวันที่ 10 พฤษภาคมในพื้นที่อื่นๆที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลพม่าให้ความสำคัญกับการรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของตนเองมากกว่าคิดถึงประชาชนที่ต้องตกอยู่ในความยากลำบาก โดยหวาดระแวงว่านานาชาติและผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศจะเข้ามาสังเกตการณ์เลือกลงประชามติครั้งนี้ ส่งผลให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติถูกสกัดกั้น ดังเช่น การปฏิเสธไม่ให้ทีมกู้ภัยและผู้สื่อข่าวซึ่งโดยสารมาจากเที่ยวบินกาตาร์เข้าประเทศพม่าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมและส่งทีมทั้งหมดกลับออกนอกประเทศพม่าไปในวันเดียวกัน

            แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือแม้นายกรัฐมนตรีไทยได้แถลงข่าวถึงสถานการณ์ในพม่าเมื่อวานนี้ โดยมีสาระสำคัญว่า รัฐบาลพม่าสามารถดูแลประชาชนได้ แต่กลับไม่มีหลักฐานครอบคลุมทุกพื้นที่ และเป็นเพียงข้อมูลที่ได้รับจากการรายงานของนายกรัฐมนตรีพม่า ส่วนพื้นที่ซึ่งลงเยี่ยมก็เป็นเพียงพื้นที่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถยืนยันได้ว่าพื้นที่ประสบภัยอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป จะได้รับการช่วยเหลือแล้วจริง โดยเฉพาะภาคอิระวดี

 

            ถึงแม้ขณะนี้รัฐบาลพม่าจะเปิดให้ทีมช่วยเหลือด้านการแพทย์จากประเทศไทยเข้าไปได้แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติครั้งนี้ยังต้องการความช่วยเหลืออีกหลายด้าน ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยเฉพาะพการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ชุมชน ปัจจัยพื้นฐาน และโครสร้างพื้นฐาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤติและเสี่ยงต่อความมั่นคงของมนุษย์ในภูมิภาคนี้  องค์กรที่ร่วมลงนามจึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาลพม่าเปิดรับความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากนานาชาติอย่างเร่งด่วนและไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตประชาชนที่รอดชีวิตเอาไว้ให้มากที่สุด และฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยในระยะยาวด้วยเช่นกัน

                             15 พฤษภาคม 2551

 

ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิยาลัยเชียงใหม่

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ

โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า

ศูนย์ข่าวสาละวิน

โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net