Skip to main content
sharethis

 



 


อรรถพงศ์ ศักดิ์สงวนมนูญ
สำนักข่าวประชาธรรม สัมภาษณ์ / เรียบเรียง


 


กว่า 2 ปีแล้วที่สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง ต.กำเนิดนพคุณ และ ต.บางสะพาน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างคน 2 กลุ่มที่มีความเห็นต่างกันอย่างสิ้นเชิงต่อโครงการ "โรงถลุงเหล็ก" ของบริษัทในเครือสหวิริยา กลุ่มหนึ่งคือชาวบ้าน นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ เพราะปัญหาต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นในเชิงประจักษ์จากการดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2532 ส่วนอีกกลุ่มเป็นกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ ที่พยายามเดินหน้าโครงการ สร้างผลกำไรสูงสุดโดยการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นฐานการผลิต


 


พินิจดูจากความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนทั้งสองกลุ่มแล้วนับว่าเป็นเรื่องใหญ่ และมีความสำคัญที่ส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสังคมเองต้องช่วยกันเร่งจัดการแก้ไข เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งอาจนำไปสู่การเผชิญหน้า และดูเหมือนว่ากรณีปัญหาเดียวกันนี้นับวันยิ่งจะลุกลามแผ่ขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศจนยากที่จะคลี่คลาย …เมื่อ "สำนักข่าวประชาธรรม" มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับ วิฑูรย์ บัวโรย ชาวบ้านแม่รำพึงและประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรชาวบ้านที่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าในโครงการดังกล่าวอีกต่อไป ดังนั้นหลากหลายเรื่องราว นานาเหตุผล ถ้อยคำชี้แจงต่างๆ จึงถูกถ่ายทอดออกมา


 


วิฑูรย์ เริ่มเล่าให้ฟังว่า โรงรีดเหล็กก่อตั้งขึ้นประมาณตอนปี 2532 สาเหตุที่สามารถนำมาพูดได้นั้นก็เพราะตนเองมีโอกาสเข้าไปทำงานกับบริษัทอิตาเลียนไทย เจ้าของโครงการ ซึ่งตอนแรกตนไม่รู้ว่างานที่ทำคืออะไร เมื่อไปสมัครทำงานกับบริษัทก็ได้รับตำแหน่งเป็นช่างสำรวจ ลักษณะงานของเขาคือเอาดินลูกรังไปโปรยในทะเล แล้วปูทับไปด้วยหินใหญ่อีกหนึ่งชั้น หลังจากนั้นจึงใช้ปูนที่มีลักษณะเหมือนจิ๊กซอว์แต่ละลูกมีน้ำหนักประมาณ 1.2 ตันปูทับอีกที งานที่ทำนี้ตนมารู้ทีหลังว่าเป็นการสร้างแนวกันคลื่น


 


"วันแรกที่ทำงานผมเห็นดินลูกรังเทลงไปในทะเล ทับปะการังที่สวยงามเราก็เสียความรู้สึกแล้ว จิตสำนึกเราหมดแล้ว หดหู่ความเป็นคนพื้นที่เกือบจะหมดไป"


 


วิฑูรย์ เล่าต่ออีกว่า เมื่อเห็นภาพการทำลายทรัพยากรในท้องถิ่นทุกวัน ดังนั้นหลังจากโครงการก่อสร้างแนวกันคลื่นแล้วเสร็จตนตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำ ต่อมาก็พบว่ามีโครงการเกิดขึ้นอีกโครงการหนึ่ง ตนจึงสอบถามไปยังสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขอรายละเอียดโครงการและรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่สิ่งที่ สผ.ตอบมาคือมันเป็นความลับของโครงการไม่สามารถเปิดเผยกับชาวบ้านได้ เรื่องนี้สร้างความมึนงงกับชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะรายงานอีไอเอซึ่งถูกอ้างว่าเป็นความลับของโครงการนั้นต้องมีนัยแอบแฝงอยู่แน่นอน ขณะเดียวกันทางบริษัทก็อ้างเหตุผลว่าเป็นการขยายโครงการจากเฟสแรก ซึ่งเฟสแรกก็ไม่มีอีไอเอ ซึ่งตรงนี้ชาวบ้านเข้าใจได้ เพราะเฟสแรกเริ่มทำตอนที่ยังไม่มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เพิ่งออกในปี 2535 แต่เฟสต่อมาที่เริ่มสร้างหลังปี 2535 แม้มีการทำอีไอเอแต่เท่าที่ดูจะเห็นว่ามีการกระทบกระเทือนกับสิ่งแวดล้อม มีการดูดหินเก่าขึ้นมาแล้วก็ถมลงไป ถมล้ำพื้นที่ทะเลไปอีกชาวบ้านก็มีแต่เสีย


 


ท่าเรือของรัฐ เพื่อบริษัทเอกชน


แกนนำกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง เล่าต่ออีกว่า ส่วนของท่าเรือของบริษัทนั้นเกิดขึ้นมาพร้อมกับโครงการโรงรีดร้อนรีดเย็นในครั้งแรก สิ่งที่ชาวบ้านคัดค้านในประเด็นของท่าเรือคือ หลังจากมีการสร้างท่าเรือขึ้นมา ก็มีการก่อสร้างเบสวอเตอร์เพื่อที่จะกันแนวคลื่น ซึ่งการสร้างเบสวอเตอร์นี้ไปทำให้กระแสน้ำที่เคยไหลไปชะล้างในอ่าวก็เปลี่ยนไป คือทำให้ไม่มีการชะล้างตะกอนในอ่าวเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้นในอ่าวก็กลายเป็นที่สะสมของตะกอนต่างๆ กลายเป็นพิษ และมีข้อที่น่าสังเกตก็คือ ที่ท่าเรือมีการก่อสร้างคลังสินค้าแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่เลยสักคน เขาพยายามที่จะทำให้ดูเหมือนว่าเป็นโครงการของรัฐ เพราะว่าการก่อสร้างชุดแรกเป็นงบประมาณของรัฐ ดังนั้นหากเป็นของรัฐจริงชาวประมงจะต้องขึ้นปลาได้ แต่นี่ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์จากท่าเรือแห่งนี้ได้เลย ทั้งที่ท่าเรือแห่งนี้สร้างมากว่าสิบปีแล้ว


 


เขาเสริมขึ้นอีกว่า แต่เมื่อปัญหาเรื่องท่าเรือนี้เริ่มแพร่ขยายขึ้น บริษัทก็อนุโลมให้เรือของชาวบ้านเข้าไปจอดได้ ก่อนหน้านี้เข้าไม่ได้เลยเขาเป่านกหวีดไล่ มีเรือตรวจการ ถามว่าเวลาที่เกิดมรสุมชาวบ้านที่เคยใช้พื้นที่ตรงนั้นหลบมรสุมจะทำอย่างไร


 


"ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลักษณะของถนนเส้นท่าเรือก็ยังไปทอดขวางคลองแม่รำพึงที่ทำหน้าที่ระบายน้ำลงในอ่าวไทย โดยปกติหากถนนผ่านไปตรงๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะถนนกินพื้นที่ลำคลองเข้าไป คล้ายกับทาบทับลำคลองไปทั้งเส้น กินเนื้อที่คลองเข้าไปเยอะมาก จากเดิมที่พื้นที่กว้างใหญ่แต่กลับโดนบีบแคบลงเหลือนิดเดียว และยังไปเปลี่ยนทางเดินของน้ำด้วย ที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามบอกบริษัทในปัญหานี้แต่ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยง ชาวบ้านขอให้บริษัทเปลี่ยนสะพานใหม่เป็นแบบสะพานฐานโปร่งเพื่อที่จะให้น้ำระบายลงทะเลได้รวดเร็วขึ้น บริษัทก็ไม่ยอมเปลี่ยน"


 


เตรียมต้านการต่อสัญญาเช่า


วิฑูรย์ เล่าต่อไปอีกว่า โครงการเก่าของบริษัทซึ่งเป็นโรงรีดเหล็กนั้น สามารถสังเกตได้เลยว่าตั้งอยู่ในใจกลางป่าชายเลนหนองนกกระเรียน บริษัทไปต่อสู้กับที่ดินกับกรมป่าไม้แล้วแพ้ ดังนั้นก็เปลี่ยนจากการรุกพื้นที่ป่ากลายเป็นเช่าป่า และพื้นที่ 900 กว่าไร่แต่ว่าสัญญาเช่าจริงเพียง 300 กว่าไร่เท่านั้นเองซึ่งเช่าในราคาที่ถูกมากแค่ปีละล้านกว่าบาท และเขาทำสัญญาเช่ากัน 15 ปี และกำลังจะหมดอายุสัญญาเช่าในปี 2551 นี้


 


"ทางกลุ่มกำลังจะคัดค้านการต่ออายุสัญญาเช่าและผลักดันให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะต่อไป หลังจากที่ทางบริษัทเอาไปครอบครองไว้อยู่ในอ้อมกอด คนนอกไม่ให้เข้า ทางบริษัทต้องเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะทั้งหมด เพราะว่าพื้นที่หนองนกกระเรียนนั้นรับน้ำมาจากตัว อ.บางสะพาน ก่อน เดิมนั้นจะเป็นพื้นที่ร่องน้ำทางธรรมชาติแต่ว่ากลับถูกถมพื้นที่ให้สูงขึ้น เพราะฉะนั้นน้ำจะต้องเดินทางอ้อมพื้นที่เพื่อระบายลงสู่คลองแม่รำพึงก่อนไหลลงสู่ทะเล"


 


บทเรียนบทแรก


"ปัญหาของโรงรีดเหล็กนั้น ที่ผ่านมาก็เป็นที่ประจักษ์กับเราแล้วว่าความรับผิดชอบของเขาไม่มีเลย ไม่มีธรรมาภิบาล น้ำเสียก็ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ปลาก็ตาย ถามว่าชาวบ้านได้อะไร อีกทั้งชาวบ้านที่ประสบปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความเหลียวแลแม้แต่น้อย และหลังจากมีการตรวจสอบหนักขึ้น ทางบริษัทก็ทำทุกอย่าง มีการก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อม แต่ก็เพิ่งก่อตั้งได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าโรงงานนี้เกิดขึ้นมากี่สิบปีแล้ว หากบริษัทจริงใจในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทำไมจึงเพิ่งจะตั้งศูนย์นี้ขึ้นมา ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้จะมีผลในการเช่าพื้นที่ต่อไป เราจะยื่นคัดค้านแน่นอน เพราะหากเราปล่อยให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งที่เขามีไอเอสโอต่างๆ เยอะแยะมากมาย แต่ถามว่าในความเป็นบริษัทมหาชนแบบนี้เขามีธรรมภิบาลหรือเปล่า คำตอบคือไม่มีเลย"


 


จากมาบตาพุดสู่บางสะพาน


แกนนำกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง เล่าอีกว่า ทางกลุ่มมีโอกาสไปดูบทเรียนปัญหาจากนิคมอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด ที่นั่นอาชีพประมง การท่องเที่ยวล่มสลายไปหมด รีสอร์ทกลายเป็นบ้านร้าง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตต่ำมาก น้ำทะเลก็กลายเป็นสีน้ำชา กุ้ง หอย ปู ปลาตายหมด หากที่นี่กลายเป็นแบบนั้นก็ไม่ไหว 


และอีกอย่าง การทำประมงเรือเล็กส่วนมากจะเป็นชาวบ้านในพื้นที่ แต่ตอนนี้ที่เป็นสิ่งแปลกปลอมในพื้นที่คือคนระยองอพยพเข้ามาในพื้นที่เพื่อทำประมง เพราะว่าที่นั่นหากินไม่ได้แล้ว เขาทำลอบหมึกสุดสายตา


 


ยกผังเมืองให้ทุน ระฆังศึกยกต่อมา


"เดิมที่หมู่บ้านนี้อยู่ในเขต ต.กำเนิดนพคุณ เป็น 1 ใน 8 ตำบลของ อ.บางสะพาน และเป็นตำบลที่เล็กที่สุด แต่แล้วก็ถูกแบ่งให้เป็น ต.แม่รำพึง เหตุผลก็คือเพื่อให้ง่ายในการจัดการของทางราชการ และต่อมาทางการก็ครอบผังสีม่วงที่ระบุว่าเหมาะแก่การอุตสาหกรรมลงไปใน ต.แม่รำพึง ทั้งๆ ที่ในแถบนี้ชาวบ้านเกือบทั้งหมดมีอาชีพเป็นเกษตรกรทั้งสิ้น ทำนา ทำไร่ ทำสวนมะพร้าวกัน ประมง แต่ว่าอยู่ๆ ผังตำบลแม่รำพึงทั้งหมดเป็นสีม่วง จะหมดวันที่12 ..2551 นี้ เรื่องนี้เราไปถามกับผู้ว่าราชการจังหวัด ทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็บอกว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของผังเมืองจังหวัด ซึ่งหากชาวบ้านรู้ว่าโครงการในอนาคตจะเป็นแบบนี้เขาไม่ให้เกิดขึ้นมาแน่ๆ "


 


ชาวบ้านคัดค้านแต่ข้อมูลในการเปลี่ยนแปลงผังเมืองนั้น กฎหมายตัวใหม่ที่ออกมานั้น 5 ปีทำครั้งหนึ่ง แต่ในการทำแต่ละครั้งนั้นต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คือเขาคิดว่าใครมีเงินแล้วก็กว้านซื้อที่เก็บเอาไว้เพื่อที่จะให้เป็นสีม่วง ซึ่งแบบนั้นมันไม่ได้ เขาซื้อ ๆ ๆ ๆ แล้วก็บอกว่าให้เปลี่ยนเป็นสีม่วงเลย ทั้งๆ ที่มีชาวบ้านอีกมากมายที่ทำสวนมะพร้าว ทำไร่ ประมง มีเพียงแค่พื้นที่สีเหลี่ยมเล็กๆ ที่เป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ๆ ก็มาใช้อภิสิทธิ์ครอบให้เป็นสีม่วงเลยนั้นมันไม่มีความชอบธรรมเดี๋ยววันที่ 12 ตุลาคม 2551 นี้เราก็จะต้องไปยื่นคัดค้านผังเมืองตรงนั้นอีก


 


ป่าพรุ ลมหายใจของชาวบ้าน


ที่ผ่านมา เหตุที่ต้องมีกลุ่มชาวบ้านเข้าไปเฝ้าระวังในพื้นที่ป่าพรุก็เพราะว่า ในขณะที่เรากำลังชี้แจงกับสังคม ชี้แจงกับสาธารณะว่าพื้นที่ป่าแห่งนี้เป็นพื้นที่สมบูรณ์ แต่ว่าเขากับเอาเครื่องมือหนักเข้ามาไถทำลายเป็นร้อยไร่ ซึ่งเราก็ยื่นเรื่องดำเนินการไปทางศาลปกครอง ให้สภาทนายความเดินเรื่อง เพราะการดำเนินการกับนายทุนนั้นมันนานกว่า ช้า แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของชาวบ้านแค่ไปเอาน้ำมาตรวจเพียงไม่กี่วันเรื่องก็ขึ้นโรงขึ้นศาลแล้ว มีหมายมาแล้ว


 


ในระดับจังหวัดนั้นเราพึ่งพาอาศัยไม่ได้เลย เมื่อดูโครงสร้างแล้วระดับกระทรวงก็ไม่สามารถทำอะไรเขาได้เลย คือมีคนใหญ่ๆ โตๆ มาการันตีถ้าหากว่า พล..ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นผู้เปิดโครงการได้ลงมาในพื้นที่เหยียบป่าพรุเพียงวันเดียว พรุ่งนี้เช้าป่าพรุแม่รำพึงกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมในทันที สังคมพร้อมที่จะเชื่ออยู่แล้ว ชาวบ้านจึงยืนยันโดนการเฝ้าระวังพื้นที่ป่าพรุเอาไว้เพียงแต่ว่าคุณอย่าทำลายหลักฐานคือป่าพรุที่มีอยู่ สุดท้ายแม้กระทั่งรัฐมนตรีหรือว่าผู้นำในระดับประเทศลงมาในพื้นที่เขาก็ไม่กล้ายืนยันหรอกว่าพื้นที่ป่านั้นยังคงเสื่อมโทรมอยู่ ชาวบ้านก็พร้อมที่จะยืนยันว่ามันเป็นแหล่งทรัพยากรของเราเป็นแหล่งอาหารของกุ้ง หอย ปูปลา   


 


คลังอาหารทางทะเลแหล่งใหญ่


ตลอดระยะทางที่ติดทะเลความยาว 2800 กว่ากิโลเมตรทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ทำไมไม่เก็บให้เป็นครัวของโลก เป็นครัวของเมืองไทย ทำไมต้องเอาอุตสาหกรรมเหล่านี้มาทำลาย เราคิดว่าพื้นที่มันไม่เหมาะสม เพราะว่าใน 3 พื้นที่คือโรงถลุงเหล็ก ป่าพรุ โรงรีดเหล็กนั้น โรงรีดเหล็กจะเป็นพื้นที่ที่อยู่ตรงกลาง ป่าพรุแม่รำพึงจะอยู่ทางด้านบน แล้วก็ปลายน้ำคือคลองแม่รำพึง คือประมงเรือเล็ก คำถามก็คือว่าหากมีสิ่งที่รั่วไหลและปนเปื้อนลงไปในพื้นที่คลองแม่รำพึงนั้นจะมีใครจัดการแก้ปัญหาและรับผิดชอบ


 


สาเหตุที่เราหวงพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึงคือ คนในสังคมจะพูดว่าปลาทูในทะเล 12 ตัวต่อกิโลกรัม แต่ทำไมไม่พูดกันบ้างว่าปลาทูนั้นกินอะไร ปลาทูกินแพลงตอน และในพื้นที่นี้เป็นแพลงตอนที่มาจากป่าพรุแม่รำพึง ถ้าหากช่วงที่แพลงตอนเดินทางมาแล้วเจอเข้ากับสารเคมีเขาก็จะไปไม่ถึงปากอ่าว ไม่มีการกินอาหารของปลาในอ่าวก็จะเกิดการหมักหมม ป่าพรุแม่รำพึงเป็นแหล่งสร้างแพลงตอนพืช แพลงตอนสัตว์เป็นแหล่งสร้างอาหารที่อยู่ในบริเวณแถบนี้


 


มะพร้าวของชาวบ้าน เหล็กของนายทุน

บางสะพานมีมะพร้าวที่คุณภาพดีที่สุด แต่ว่าเรื่องของจำนวนตอนนี้ไปอยู่ที่ทับสะแกแล้ว ถามว่ามะพร้าวต้นหนึ่งกับเหล็กกองหนึ่งใครได้ผลประโยชน์มากกว่ากัน ต้นมะพร้าวตัวลำต้นเอามาทำการก่อสร้างได้ ต้นก็ทำไม้กวาด ลูกก็ขายได้ มีกะทิให้อีก กะลาเอามาทำหัตถกรรมได้ ถามว่ามะพร้าวทั้งต้นมีประโยชน์ทั้งหมด เหล็กของบริษัท 1 กองทำได้อย่างเดียวก็คือรถยนต์ และต่อไปปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจะมาจากเรื่องของอาหารทั้งสิ้น คนเราต่อไปจะเกิดการแย่งอาหารกันลักข้าวในนา ลักหมู ลักเป็ด ลักไก่ มันจะไม่ลักกันหรอกรถยนต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net