Skip to main content
sharethis





พิณผกา งามสม สัมภาษณ์เรียบเรียง


 


ฝุ่น ควันของกระแสแก้รัฐธรรมนูญตลบอบอวล พร้อมแว่วๆ มาว่า องค์กรอิสระที่มีบทบาทสูงยิ่งต่อการอยู่หรือไปของนักการเมืองและ พรรคการการเมือง อย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจจะเป็นองค์กรแรกๆ ที่ถูกล้างบาง


 


ย้อนไปช่วงสงกรานต์ กกต. 4 เสียงต่อ 1 เสียง มีมติให้ยื่นเรื่องยุบพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล 2 พรรค คือชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยต่ออัยการสูงสุดเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ เป็น จังหวะทางการเมืองที่สอดคล้องกันไปกับข้อกล่าวหาว่า พรรคร่วมรัฐบาลต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือหนีการยุบพรรค เนื่องเพราะนอกจาก 2 พรรคการเมืองที่ กกต. มีมติไปแล้วนั้น ยังเหลือพรรคพลังประชาชนแกนนำรัฐบาลที่นอนหายใจรวยรินอยู่ในหน้ากระดาษ สำนวนของ กกต. ชุดเดียวกันนี้


 


ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับจากเมืองไทยมี กกต. (ครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540) การทำงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญองค์กรนี้ได้ส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรง ต่อการเมืองไทยมาโดยตลอด ไม่เพียงแต่ประชาชนไทยจะได้พบว่า การเลือกตั้งมันซับซ้อนและซ้ำซากเนื่องจากใบแดงใบเหลืองและเลือกตั้งซ่อม ที่เรียกร้องให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิต้องออกมาบริหารสิทธิทาง การเมืองกันบ่อยกว่าที่เคยในบางพื้นที่ 


 


องค์กร ที่ทำหน้าที่เพื่ออำนวยความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ตามระบอบประชาธิปไตย บัดนี้ เป็นองค์กรที่แฟนพันธุ์แท้การเมืองต้องจับตามองอย่างไม่อาจกระพริบตา (พร้อมๆ กับต้องเอาอำนาจอธิปไตยที่ตัวเองมีอยู่หนึ่งเสียงซุกใส่กระเป๋า) ด้วยอำนาจที่รัฐธรรมนูญ 2550 ให้ ไว้ บวกกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ทำให้ กกต. ได้อำนาจเพิ่มขึ้นมาอีกประการ คือพิจารณามูลความผิดของพรรคการเมืองอันนำไปสู่การยุบพรรค โดยหากกกต. มีมติเสียงข้างมาก "เชื่อได้ว่า" มีการทุจริต ก็สามารถมีมติเพื่อส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป


 


เมื่อมติของ กกต. ล่าสุด เป็น 4 ต่อ 1 เชื่อว่า 2 พรรคร่วมรัฐบาลมีมูลความผิดถึงยุบพรรคจริง สายตาเกือบทุกคู่มองข้ามช็อตไปที่ พรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง พลังประชาชนทันที อาจจะด้วยเหตุนั้นเอง ที่คราวนี้ กกต. เสียงข้างน้อยอย่าง สมชัย จึงประเสริฐ ผู้ลงมติทวนกระแสเสียงส่วนใหญ่ได้นั่งยิ้ม และพูดคุยกับประชาไทอย่างสบายอารมณ์ในห้องทำงานชั้น 19 ของอาคารศรีจุลทรัพย์ พร้อมแซวตัวเองว่า "ผิดหวังนิดหน่อย ไม่โดนด่า"


 


คำกล่าวหาที่คุ้นหูที่สุดสำหรับ กกต. เสียงข้างน้อยผู้นี้คือ เขาเป็นพวกทักษิณ และคำวินิฉัยล่าสุดก็ไม่ได้ช่วยให้เขาปลดพันธนาการออกจากข้อกล่าวหาแต่ อย่างใด เพียงแต่ครั้งนี้ เขาทำในสิ่งที่ต่างออกไปนั่นคือเปิดเผยมติของตัวเองเพื่อชี้แจงความเห็นที่ต่างนั้น ด้วยโดยชี้ให้เห็นประเด็นและการตีความของเขาเองในข้อกฎหมายและนำไปสู่การลง มติให้ยุติเรื่องการยุบพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตย (กรณี กกต.เสียงข้างมากให้ใบแดงนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร เขา( กกต.สมชัย) ก็ทำมติตนเองถือเข้าที่ประชุม กกต. ในวันลงมติแต่ไม่ได้นำมาเปิดเผยต่อสาธารณะจนกระทั่งสำนวนถูกส่งไปยังศาลฎีกา)



 



 


0000


 



 


 


ในฐานะที่ท่าน เป็นกกต. เสียงข้างน้อยท่านใช้หลักการอะไรในการวินิจฉัยคดียุบพรรคที่เพิ่งลงมติไป


 


พื้นฐานของผมมาจากศาลซึ่งมีหลักการวินิฉัยในคดีต่างๆ 2 ประการคือ ประการที่หนึ่ง เราต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงนั้นให้เป็นข้อยุติแล้วเราจึงจะวินิจฉัยข้อ กฎหมาย ประเด็นต้องเป็นอย่างนี้เสมอไป ผมจะไม่มองเฉพาะข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวแล้วจบหรือวินิจฉัยเฉพาะข้อ กฎหมาย โดยหลักก็จะมองสองประการนี้ ต้องขออนุญาตว่า จริงๆ ผมไม่ได้มองแต่เพียงคนเดียว และไม่ได้ยึดถือความเห็นของผมคนเดียว แต่เป็นการมองร่วมกับทีมงานของผม ผมไม่ได้เอาความเห็นของผมเป็นใหญ่ แต่มองหลายๆ ด้าน มองหลายๆ มุม บางทีก็มองลึกไปถึงผลของมันด้วย ซึ่งผมไม่ทราบว่าคนอื่นเมองอย่างไร


 


และเนื่องจากความเป็นศาลมาก่อน ผมก็ติดในนิสัยของความเป็นอิสระ ไม่ได้ทำตามคำสั่งใคร ผมต้องวินิจฉัยอย่างเป็นกลาง


 


ศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ สอนไว้ว่าการจะวินิจฉัยอะไรก็ตามต้องทำจิตให้ว่าง ถ้าเราไปวินิจฉัยโดยเห็นแก่หน้าใคร วินิจฉัยโดยมีภยาคติสี่ มันก็อาจจะทำให้เราวินิจฉัยคลาดเคลื่อนได้


 


ใน หลายๆ ครั้งที่การวินิจฉัยอาจจะไม่ตรงกับกระแสสังคม อาจจะไม่ตรงกับความต้องการของคนหลายๆ กลุ่มหรือไปขัดแย้ง ไปขัดขวางความเห็นของเขา ทำให้งานการ หรือเป้าหมายที่เขาต้องการไม่บรรลุผล แต่ผมเมื่อมองย้อนหลังกลับไปแล้วผมเองก็พิจารณาและคิดอยู่ว่าผมควรจะทำงาน ตำแหน่งนี้อยู่หรือไม่ และในหลายๆ ครั้งผมเองก็คิดว่าผมน่าจะไปทำอย่างอื่น


 


จริงๆ จะบอกว่าผมถือหลักตุลาการทีเดียวก็ไม่ได้ ความจริงผมก็มองด้านรัฐศาสตร์ด้วย เพราะบ้านเมืองเราจะเอาแต่กฎหมายล้วนๆ เลยบางครั้งก็ต้องตระหนักเหมือนกัน สำหรับกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นเราต้องยึดถืออย่างแน่นหนา แต่พอมากฎหมายเลือกตั้งมันเป็นเรื่องของรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครองอยู่ด้วย และกฎหมายเองก็เขียน เช่น มาตรา 116 วรรค 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง สว. ตามมาตรานี้แม้ผิดจริง แต่ถ้าไม่มีผลถึงขั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราจะยุติเรื่องก็ได้ ซึ่งนี่เราต้องมองว่า หลักกฎหมายเลือกตั้งและหลักประชาธิปไตยต้องเคารพ popular vote คือสียงของประชาชน


 


มาตรา 116 วรรค 2 ในกรณีที่ผลการสืบสวนสอบสวนปรากฏว่าการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใดหรือเขตเลือกตั้งใดเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่ายังไม่มีเหตุที่


จะต้องให้มีการเลือกตั้งใหม่เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมี


คำสั่งให้ยุติเรื่องก็ได้


 


             คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด


 


เห็นไหมว่าในหลายๆ เรื่อง เรื่องเล็กนิดเดียวก็ผิด แต่เราจะไปล้มล้าง popular vote เราต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่าจะมีผลขนาดไหนเพียงใด ในกฎหมายท้องถิ่น...ก็ในทำนองอย่างนี้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกกต. เราพบว่าหลายๆ เรื่องที่เราให้ใบเหลืองไป ปรากฏว่าเมื่อมีการเลือกตั้งอีกครั้ง เขากลับได้เสียงมากกว่าเดิมเสียอีก จะเห็นเลยว่าหลักคิดของเรานั้นยึดแต่กฎหมายล้วนๆ ไม่ได้ แต่ต้องคำนึงถึง การเมืองการปกครองประกอบด้วยเหมือนกัน


 


รัฐธรรมนูญ 2550 ให้อำนาจ กกต. มากเกินไปไหม


 


กกต. นอกจากจัดการการเลือกตั้งแล้วต้องควบคุมการเลือกตั้ง การควบคุมการเลือกตั้ง มันก็เหมือนกีฬาควรให้อำนาจกรรมการที่จะควบคุมการเลือกตั้ง การเมืองของเรา นักการเมืองนั้นยังไม่พัฒนาถึงจุดที่รู้กฎ กติกา ถ้าปฏิบัติตามกฎกติกา ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง เคารพคนอื่น อย่างนี้การควบคุมก็ไม่มีความสำคัญเลย แต่เพราะเหตุว่าการเมืองบ้านเรายังไม่พัฒนาเท่าที่ควร การควบคุมจึงมีความสำคัญมาก แล้วการควบคุมนี้ก็ยังจำเป็นที่จะต้องให้อำนาจกับกกต. ในการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก่อนที่ประชาชนจะไปหย่อนบัตรลงคะแนน ให้ได้ทันท่วงที ซึ่งหากไม่ให้อำนาจตรงนี้แก่ กกต. แล้วการควบคุมก็ทำได้ไม่เต็มที่


 


ก่อนหน้าการลงคะแนนเสียง เมื่อมีการกระทำผิดเราก็สามารถจัดการได้เลย แต่เมื่อลงคะแนนเสียงแล้ว มันต้องคำนึงถึงเสียงประชาชน เป็นเสียงสวรรค์ตามระบอบประชาธิปไตยว่าประชาชนเขาเลือกคนนี้แล้ว ตรงนี้แหละ สำคัญ สมัยก่อน(รัฐธรรมนูญ 2540)ให้อำนาจกกต. ให้ใบเลืองใบแดงได้ แต่ปัจจุบันอำนาจนี้ก็ได้ไปอยู่กับศาลแล้ว ซึ่งศาลก็สามารถถ่วงดุลตรวจเช็คอำนาจของกกต. ได้


 


ในสมัยก่อน เขาจะต้องให้ 5 คนในกกต. มีเสียงเอกฉันท์ คน 5 คนนั้นมาจากวิชาชีพด้านต่างๆ กัน มีมุมมองแต่ละมุมที่ต่างกัน มีพื้นฐานที่มาต่างกัน หากคน 5 คนที่มีที่มาต่างกันมีเสียงเอกฉันท์ ก็น่าจะฟังได้ว่า น่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ พูดง่ายๆ คือคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ได้ แต่บัดนี้ ได้เปลี่ยนไปโดยใช้คำว่า ถ้าจะส่งให้ศาลก็ให้เสียงส่วนใหญ่ หรือก่อนประกาศผลก็ใช้ 4 ใน 5 ซึ่งจริงๆ อำนาจนี้ของกกต. ก็เช็คกัน ถ่วงดุลกันอยู่ในตัว นั่นคือตามหลักจะไปล้มมติประชาชนก็ไม่ใช่ทำได้ตามอำเภอใจ


 


เว้นเสียแต่ 5 คนนั้นจะรวมหัวกัน ซึ่งนี้ก็ไปพ้นจากเรื่องหลักการแล้ว แต่เป็นเรื่องคุณธรรมจริยธรรม หลักการนั้นสำคัญที่สุด แต่ถ้าคนนั้นไม่มีหลักการ ก็จะหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ยิ่งเขียนมากก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหามาก ผมจึงเห็นว่า กฎเกณฑ์นั้นเขียนไว้พอให้เกิดความเข้าใจโดยหลักการก็เพียงพอ ไม่ต้องลงลึกในรายละเอียดมาก แต่ให้ กกต. ที่เหมือนนิติบัญญัติถ้าไม่ดีก็ให้แก้ไขระเบียบได้ เช่น หากกต. ออกระเบียบมาไม่ดี ก็ไปร้องขอต่อศาลให้แก้ไขระเบียบ ถ้าอย่างนี้ผมคิดว่า กกต. ของเราจะได้มาตรฐานที่ดี


 


ท่านกำลังจะบอกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งของเราละเอียดเกินไป


 


ละเอียดเกินไป กฎหมายควรจะมีการยืดหยุ่นได้เพื่อความเหมาะสมเพื่อให้เกิดผลดีของแต่ละยุค แต่ละสมัย แก้เท่าไหร่ยิ่งแก้ไปแก้มาก็ยิ่งเลอะ ทีนี้กฎหมาย ถ้าไม่ละเอียดมากเกินไป แต่ใช้วิธีการปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับกันทั้งในส่วนของ กกต. หรือผู้สมัครก็ตาม มีการยอมรับกันว่าเคยทำกันมาแบบนี้ พอคนหนึ่งจะแปรให้เป็นอย่างอื่นไปจะเกิดข้อรังเกียจได้ เป็นต้น มีระเบียบปฏิบัติ หรือประเพณี จารีตที่เขาถือปฏิบัติกันมาเรื่อยๆ เป็นเวลาช้านานให้รู้ว่านักการเมืองรู้ว่าแบบไหนคือสิ่งไม่ดี ไม่ควรปฏิบัติ ถ้า ได้ในอย่างนี้ผมคิดว่า มันจะช่วยพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายของเรานี่เอะอะก็ล้มแล้วก็เขียนใหม่ ปรากฏว่าไอ้ที่ล้มก็ไม่ได้แปลว่าดีขึ้นมากว่าเก่า


 


หมายถึงว่ากฎหมายต้องมีวิวัฒนาการ มีความเป็นสถาบัน


 


ควรจะมีวิวัฒนาการ ไม่ใช่ความต้องการหรือความพึงพอใจของคนที่มีอำนาจหรืออยากที่จะรักษาอำนาจนั้น


 


เมื่อกฎหมายต้องอาศัยวัฒนาการ แล้วท่านคิดว่าความรู้หรือหลักการเกี่ยวกับการเลือกตั้งของสังคมไทยขณะนี้อยู่ในระดับไหน


 


ตอนนี้ยังไม่เป็นที่พอใจ มีหลายๆ อย่างที่คิดว่าระยะเวลายังไม่เพียงพอสำหรับการวิวัฒนาการ กฎหมายกลายเป็นการร่างขึ้นมาสำหรับเป็นเครื่องมือของกลุ่มชนที่มีอำนาจ กฎหมายไม่ได้ร่างขึ้นมาให้เกิดความเป็นธรรมแล้วเพื่อให้มันอยู่คู่สังคมไทย ให้มันได้ทำหน้าที่เพื่อรักษาสังคม หรือประเทศเราเอาไว้ มันกลายเป็นว่า ฉันมีอำนาจฉันอยากให้เป็นอย่างนี้ ฉันก็เขียนกฎหมายไว้อย่างนี้ ซึ่งมันก็เป็นได้แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง


 


กฎหมายต้องเป็นธรรม กฎหมายเขียนขึ้นจากผู้อำนาจคนหนึ่ง มันก็สนองตอบผู้มีอำนาจกลุ่มนั้น ถ้าเราไปปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายนั้นก็กลายเป็นว่าเราไปรับใช้ ผู้มีอำนาจนั้น กลายเป็นว่าคนที่เขียนกฎหมายล่วงหน้าก็เพื่อที่จะมาเป็นนายในอนาคตต่อไป ไม่ใช่กฎหมายร่างขึ้นมาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ผมชื่นชมอาจารย์จอนและกลุ่มผู้คัดค้านกฎหมายขอสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ ไม่ยอมรับการร่างกฎหมายเป็นร้อยๆ ฉบับ ผมเห็นด้วยว่าถูกต้อง กฎหมายไม่ได้ร่างขึ้นมาเพื่อสนองตอบคนแค่กลุ่มหนึ่ง มันเป็นสิ่งที่บังคับใช้สำหรับประชาชนคนทั่วไป ฉะนั้นมันควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ


 


แต่กฎหมายก็เกิดขึ้นและบังคับใช้แล้ว โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบ ตัวท่านเองในฐานะเป็นคนที่ต้องใช้กฎหมายนั้น ท่านอยู่กับความขัดแย้งเชิงหลักการนี้อย่างไร


 


ผม ก็พยายามใช้ให้เกิดความเป็นธรรม แต่อย่าลืมว่า กกต. นั้นเป็นแค่หน่วยงานปฏิบัติไม่ใช่หน่วยงานที่จะไปใช้อำนาจอธิปไตย การจะไปแปรกฎหมายให้เกิดการถ่วงดุลและคานนั้น อำนาจจะต้องเสมอกัน คือนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ถึงจะถ่วงดุลอำนาจกันได้ ถึงจะสามารถไปแปรกฎหมายที่เขาเขียนไว้ให้มีความหมายที่เกิดความเป็นธรรมได้ ลำพัง กกต. อำนาจมันเล็กกว่า มันไม่มีน้ำหนักเพียงพอ


 


ท่านมีความเห็นอย่างไรเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับ กกต.


 


ผมยอมรับว่าเฉพาะในส่วนของ กกต. ผมคิดว่า เราน่าจะเขียนแค่รับรองสิทธิ และหน้าที่ สำหรับผู้เป็นนักการเมืองไว้กว้างๆ แต่ในเนื้อหาแล้วควรจะมาเขียนไว้ในกฎหมายลูกมากกว่า ปัจจุบันนี้อ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญก็มี อ่านกฎหมายลูกก็มี อ่านไปวิเคราะห์ไม่ละเอียดก็คิดว่ามันเหมือนกัน ครั้นพอดูลึกๆ แล้วมันก็ไม่เหมือนกัน เป็นกฎหมายที่กว่าจะทำความเข้าใจก็ยาก คนทั่วๆ ไปไม่รู้กฎหมายไม่ได้ใช้กฎหมายที่มากพอก็มีปัญหา


 


เราต้องเข้าใจว่ากฎหมายเลือกตั้งมีเจตนารมณ์อย่างหนึ่งคือ เจตนารมณ์ที่ทำให้เกิดความเป็นธรรม (Fair) ในการเลือกตั้ง เป็นเรื่องของผู้สมัคร ผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนของประชาชนมากกว่า แต่กฎหมายพรรคการเมืองเจตนารมณ์นั้นอีกอย่างหนึ่ง กฎหมายพรรคการเมืองเป็นเรื่องสถาบัน เป็นเรื่องของมหาชนที่เข้ามารวมกลุ่มกันดำเนินกิจการทางการเมือง มีอุดมการณ์ร่วมกัน โดยที่กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ รับรองไว้ว่าการที่คุณจะได้อำนาจปกครองประเทศนั้น พรรคการเมืองจะต้องทำอย่างไรบ้าง มีวัตถุประสงค์อย่างไรบ้าง เพราะถ้าไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองก็จะไปเหมือนอั้งยี่ ซ่องโจร อย่างสมัยหนึ่งที่มีการปราบปรามกลุ่มที่พยายามแย่งชิงอำนาจรัฐโดยไม่ใช่ วิถีทางประชาธิปไตย


 


โดย วิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ว่าคุณดำเนินกิจการนั้นขัดต่อศีลธรรมอันดี หรือไม่ มีจุดมุ่งหมายที่จะล้มล้างสถาบันหรือเปล่า เป็นต้น จึงต้องมีกฎหมายเหล่านี้ออกมาควบคุมการทำงาน การบริหารของพรรคการเมือง ซึ่งต้องการอำนาจรัฐ


 


ในประเทศอื่นๆ จะยุบพรรคการเมืองได้ในกรณีแบบไหน


 


มันต้องถึงขนาดที่ว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง อันนั้นต่างหาก หมายความว่าพรรคการเมืองดำเนินกิจการทางการเมืองในลักษณะหนึ่งเป็นภัยแก่ ประเทศชาติ ต้องยุบพรรคการเมือง แต่ไอ้เรื่องหาเสียงเลือกตั้งหรืออะไรที่เป็นอยู่ถูกกำหนดอยู่ในกฎหมายตอนนี้นี่ ไม่ถึงขั้นนั้น โดยหลักแล้วเป็นเรื่องของผู้สมัครมากกว่า แต่การเลือกตั้งต้องเคารพผู้เลือกตั้ง การดำเนินกิจการทางการเมืองมันมีเรื่องอะไรอีกสารพัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรณรงค์ การรวมตัว แล้วพรรค การเมืองนี้ ต่อไปก็ต้องเข้ามาบริหารบ้านเมือง เราจึงต้องมีการควบคุมว่า การดำเนินงานของพรรคการเมืองนี้ จะล้มล้างระบอบประชาธิปไตยหรือเปล่า


 


 


ขณะนี้ประเทศไทยเรามีบทบัญญัติอะไรบ้างที่ปกป้องพรรคการเมือง


 


ก็มีบทบัญญัติที่ว่าประชาชนสามารถจะรวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองได้


 


 


รัฐธรรมนูญทั้ง 2540 และ 2550 เขียนขึ้นจากความไม่ไว้วางใจนักการเมืองมากไปหรือเปล่า


 


การเขียนรัฐธรรมแล้วเห็นว่านักการเมืองเลวร้าย ด้านหนึ่งเราต้องยอมรับว่ามันมีปัญหาเช่นนั้นจริง


 


แต่ถึงแม้นักการเมืองจะเลวร้าย ประชาชนก็เลือกเขาเข้ามา


 


นี่ยังไงล่ะ การเหมารวมเอาทั้งเข่ง คนดีก็มี คนไม่ดีก็มี แล้วดีไม่ดี มันอยู่ตรงไหน ขึ้นศาลศาลตัดสินให้เราชนะ เราก็บอกศาลนี้ดี ถ้าตัดสินให้เราแพ้ เราก็บอกศาลไม่ดี เหมือนกัน บางอย่างก็มีสองด้าน อย่างไรก็ตาม มันต้องให้เวลาและโอกาสที่จะให้เขาได้พัฒนาการเมืองการปกครองต่อไป ของเราปุ๊บปั๊บ....ถึงแม้จะเขียนในรัฐธรรมนูญเลยว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีก แต่แล้วเราก็ไปเรียกให้เขามาฉีก


 


ทำไม เราไม่ให้ประชาธิปไตยได้แก้ไขด้วยตัวมันเอง ทำไมไม่ให้การเมืองแก้ไขด้วยการเมือง จริงๆ แล้วทุกคนเกี่ยวข้องอยู่กับการเมือง ทำไมเราไม่เขียนในลักษณะสร้างสรรค์ พลันที่มีคนไม่ดีเข้ามาคุณก็ฉีกทิ้งแล้วล้มเอาใหม่ ทำไมคุณไม่หาวิธีทำให้คนเหล่านี้อยู่แค่ สองสมัยแล้ว เลิก ไม่ ใช่ว่าเข้ามาเป็นนักการเมืองเป็นอาชีพ เป็น ส.ส. เป็น เลขา เป็นรัฐมนตรี เป็นทุกอย่างหมุนเวียนอยู่แต่กับคนกลุ่มเดิม ๆ บ้านเมืองเราก็มีแต่นักการเมืองที่เป็น ส.ส. ตั้งแต่อายุน้อยๆ จนกระทั่งเกษียณอายุ เราควรจะกำหนดไปว่าส.ส. นั้นเป็นได้ไม่เกินกี่สมัย เป็นรัฐมนตรีได้ไม่เกินกี่สมัย


 


สังคมเรานี้ไม่มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่พูดแล้วน่าเคารพนับถือ ผู้ใหญ่มักจะบอกคนโน้นคนนี้ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ให้เสียสละแต่ตัวเองก็ไม่ได้ทำ การเมืองเราต้องเปลี่ยนจากการมาดำรงตำแหน่งแล้วก็ยังได้เป็นอีก มีเอกสิทธิ์ มีเงินเดือนสูง ใครๆ ก็อยากเป็น


 


ขณะนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอให้ถอดถอนท่าน


 


ก็แล้วแต่ ไม่ว่ากัน แต่ผมยืนยันว่าผมทำงานชอบด้วยกฎหมาย เพราะผมเปิดกฎหมายประกอบการทำงาน เป็นไปไม่ได้ที่การทำงานของผมจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อาจจะไม่ชอบ ไม่ถูกใจคน นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วก็ไม่สามารถจะไปทำเพื่อไปเอาใจใครได้ เพราะผมก็มีหลักยืนของผมเอง แล้วสิ่งที่ผมอธิบายตามกฎหมายให้ฟัง มันไม่ชอบด้วยกฎหมายตรงไหน แต่ไม่ถูกใจคนแน่นอน แล้วผมก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาทำงานเพื่อเอาใจคนนั้นคนนี้ มาทำงานเพื่อให้ถูกใจคนนั้นคนนี้


 


ท่านไม่ได้หมายความว่ากกต. คนอื่น มีความเห็นไม่อยู่บนบรรทัดฐานของกฎหมายใช่ไหม


 


เปล่า ผมต้องเคารพความคิดเห็นของท่านอื่นๆ แต่เราก็มีมุมมองของเรา แล้วที่ผมเขียนไปมันผิดตรงไหน


 


 


แต่ทางพันธมิตรฯ ระบุว่า กฎหมายล็อกไว้แล้วว่าอย่างไรกกต. ก็มีหน้าที่ต้องส่งสำนวนให้กับอัยการสูงสุด


 


ถ้า ล็อกจริงแล้วทำไมที่ผมอ้างอิงไว้ในความเห็นของผมมันไม่ได้ล็อกไว้ล่ะ คำว่าล็อกมันเป็นอย่างไร แล้วการเขียนกฎหมายที่ล็อกเอาไว้แล้วนี่เป็นการเขียนกฎหมายที่แย่มากแล้ว เป็นการเขียนเพื่อให้องค์กรอื่นไม่สามารถจะถ่วงดุลอำนาจได้ใช่ไหม ตามหลักแล้ว อำนาจทั้งสามต้องถ่วงดุลกัน


 


 


การทำหน้าที่ กกต. ซึ่งต้องทำงานท่ามกล่างแรงเสียดทานและข้อวิจารณ์ที่หนักหน่วง มันเกินกว่าที่คาดไว้ไหม


 


เกินกว่าที่เตรียมใจไว้มาก เราก็ปุถุชน แต่เมื่อเขาส่งให้เรามาอยู่ตรงนี้แล้ว มันเป็นเรื่องที่เราต้องทำ แล้วหลายๆ คนโดยเฉพาะพนักงานเขาก็มาให้กำลังใจว่า ที่ตรงนี้ก็จะถูกแรงเสียดทานอย่างนี้แหละ ต้องทำใจ


 


จริงๆ เมื่อก่อนผมก็ทำใจไม่ได้หรอกเพราะไม่เคยมีใครมาด่าว่าเราขนาดนี้ แต่พอถึงตอนนี้ก็เข้าใจได้ว่าการเมืองของประเทศที่ไม่เจริญและต้องเป็นวงจร อุบาทว์อยู่อย่างนี้ก็เพราะสปิริตทางการเมืองของคนไทยยังไม่ได้มาตรฐาน และก็ควรที่จะมีการพัฒนาต่อไป ถ้าหากว่าผมต้องถูกเซ่น แล้วทำให้การเมืองมันดีขึ้นผมก็ดีใจ


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net