Skip to main content
sharethis

ตามที่รายงานของสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เรื่อง อุปสรรคการค้าและการลงทุนของประเทศคู่ค้าสำคัญฯ ของสหรัฐฯ (National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers: NTE) ในส่วนของประเทศไทย ระบุเอาไว้ว่า


 


"กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยาติดสิทธิบัตรจำนวนหนึ่ง โดยสหรัฐฯ ยอมรับว่า ประเทศไทยมีสิทธิในการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนด้านสาธารณสุข อันเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีดังระบุในกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก


 


แต่ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ มีความวิตกกังวล เนื่องจากกระบวนการในการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ของประเทศไทยนั้นขาดความโปร่งใส ตลอดจนมีแนวโน้มว่าจะมีการประกาศใช้สิทธิฯ อย่างกว้างขวาง


 


สหรัฐฯ จึงเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการอย่างสุขุมรอบคอบเพื่อแก้ปัญหาความซับซ้อนระหว่างนโยบายด้านการสาธารณสุขและทรัพย์สินทางปัญหา โดยมีความตระหนักชัดถึงบทบาทความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาต่อการพัฒนายาใหม่ๆ"


 


ศาสตราจารย์ บรู๊ค เค เบเกอร์ จากภาควิชาสิทธิมนุษยชนและเศรษฐกิจโลก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น นำเสนอแง่มุมเกี่ยวกับมาตรการบังคับใช้สิทธิ โดยตั้งข้อสังเกตไว้ 4 ประการ คือ


 


1. สหรัฐฯ ยังคงยืนกรานในความเห็นที่ผิดๆ ของตนเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อนุญาตให้มีการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ โดยแนะนำว่ามาตรการดังกล่าวมีไว้สำหรับเฉพาะกรณีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขเท่านั้น


 


2. สหรัฐฯ ยังคงยืนกรานว่า การประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ที่ผ่านมาของไทยขาดความโปร่งใส ทั้งนี้สหรัฐฯ คงลืมไปว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการเจรจาอย่างยืดเยื้อยาวนานก่อนจะมีการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ กับยาเอฟฟาไวเรนซ์ โคลพิโดเกรล และโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ในระหว่างปี 2549-2550 หรือแม้แต่การร่วมปรึกษาหารืออย่างต่อเนื่องจริงจังก่อนประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ


กับยาต้านมะเร็งทั้ง 4 รายการในปี 2551


 


3. สหรัฐฯ เพิ่มข้อวิตกกังวลในเรื่องใหม่ที่ว่า "มีแนวโน้มว่าจะมีการประกาศใช้สิทธิฯ อย่างกว้างขวาง"


อันที่จริง ประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างรอบคอบระมัดระวังเพื่อจัดตั้งกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มงวด


โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากความจำเป็นเท่านั้น พร้อมกันนี้ยังได้ประกาศใช้สิทธิฯ กับยาติดสิทธิบัตรในประเทศไทยเพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น


 


4. ประการสุดท้าย สหรัฐฯ กลับปิดปากเงียบ และไม่แสดง "ท่าทีหรืออาการ" ใดๆ ทั้งสิ้น ว่ามีเจตนาจะปรับสถานะประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขั้นรุนแรงหรือ Priority Watch Country ดังปรากฏในข่าวตามสื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้


 


ก่อนหน้านี้ เจมส์ เลิฟ ได้เสนอให้ประเทศไทย (และประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้ปานกลาง) แก้ปัญหาในประเด็นที่สหรัฐฯ ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับ "การมีส่วนช่วยพัฒนายาใหม่ๆ" ด้วยการปรับอัตราค่าตอบแทนการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรให้สูงขึ้น (อัตราปัจุจุบันอยู่ระหว่างร้อยละ 0.5-5 จากราคายาชื่อสามัญ)


 


แม้ว่าหลักปฏิบัติสากลในการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิและการค้า จะสนับสนุนอัตราค่าตอบแทนข้างต้น แต่พึงทราบว่าอัตราค่าตอบแทนทางการค้านั้นโดยปกติจะยึดจากราคาจำหน่ายที่ราคาผูกขาด


จึงทำให้สามารถจ่ายค่าตอบแทนเต็มจำนวนต่อเม็ดได้ในอัตราที่สูงกว่ามาก


 


แม้ว่าจะไม่มีข้อกำหนดไว้ก็ตาม แต่ประเทศไทยอาจมีวิธีสร้างความน่าเชื่อถือกับบรรดาผู้นำในสภาคองเกรสสหรัฐฯ และทำลายแผนโจมตีของสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) และสมาคมผู้ผลิตยาสหรัฐ (PhRMA) ด้วยการเสนอค่าตอบแทนเพิ่มเติม อาจเป็นค่าตอบแทนสำหรับการทำวิจัยและพัฒนาในกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด หนึ่งในนั้นอาจเป็นการเสนอค่าตอบแทนให้กับการทำวิจัยและพัฒนาในกลุ่มโรคประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 (โรคที่ถูกละเลย) ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศไทย


 


หากบริษัทยาที่ได้รับผลกระทบยินดียอมรับในข้อเสนอตามเงื่อนไขนี้ การทำวิจัยและพัฒนาย่อมสามารถทำได้ทุกที่ ทว่าทางเลือกที่ดียิ่งกว่านั้นก็คือ ให้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาในกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดนี้ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย (ถ้ามี) หรือกระทั่งในองค์การเภสัชกรรม (GPO)


โดยอาจต้องทำข้อตกลงร่วมกันก่อนล่วงหน้าเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของร่วมและการทำตลาดสินค้าที่เป็นนวัตกรรมนั้นๆ


 


นอกจากนี้ รูปแบบการทำวิจัยและพัฒนาในกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดนี้ต้องอาศัยการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี การสร้างเสริมศักยภาพในการทำวิจัย หรือกระทั่งอาจหมายถึงการขยายศักยภาพด้านเภสัชกรรมในประเทศไทยเลยทีเดียว


 


แต่ข้อเสนอนี้ก็มีความเสี่ยงอยู่บ้างเช่นกัน ทั้งยังส่งผลให้มาตรฐานอัตราค่าตอบแทนการใช้สิทธิเพิ่มสูงขึ้น


และอาจทำให้มีจำนวนผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาน้อยลงด้วยเงินงบประมาณด้านสาธารณสุขเท่าเดิม


กระนั้นข้อเสนอนี้มีข้อดีในแง่ของการเมืองอยู่บ้าง กล่าวคือ แสดงให้เห็นถึงความเต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเพื่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนา ตราบเท่าที่การวิจัยและพัฒนานั้นๆ มุ่งตอบสนองความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net