Skip to main content
sharethis



แก้ ม.309 - "ไม่" ถือว่าคำสั่ง คปค.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสต่อสู้ชั้นศาล


31 มี.ค.51  นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการศึกษายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการฯ ราว 4 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมมีมติให้เสนอแก้ไขยกเลิกมาตรา 309 แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปยกเลิกประกาศหรือคำสั่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพียงแต่ยกเลิกในประเด็นที่ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ไม่มีต่อไป เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย มีโอกาสต่อสู้ในชั้นศาลว่าประกาศหรือคำสั่งทั้งหลายไม่เป็นไปตามระบบนิติรัฐ สร้างความไม่เสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งขัดหลักรัฐธรรมนูญเป็นการเปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย



นายชูศักดิ์กล่าวว่า ประเด็นการยกเลิกมาตรา 309 ที่ประชุมบางส่วนเห็นว่า ไม่น่าจะยกเลิกทั้งมาตรา แต่ให้เขียนให้ชัดเจนแต่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรยกเลิกทั้งมาตรา


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า การยกเลิกมาตรา 309 เหมือนจะเป็นคุณต่อผู้ที่ถูก คตส. ตรวจสอบอยู่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้พยายามย้ำกับสื่อมาตลอดว่า การยกเลิก มาตรานี้ความหมายคือ คนที่ถูกฟ้องเป็นผู้ต้องหา เป็นจำเลย สามารถยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้ได้ หรือคำสั่งทั้งหลายทั้งปวงที่ออกมาบังคับไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


 


ส่วนจะเป็นการเปิดทางให้ผู้ที่โดนสอบสามารถฟ้องร้อง คตส.ได้ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เขาก็มีสิทธิที่จะต่อสู้ฟ้องร้องถ้าคิดว่าไม่ผิด เมื่อถามว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวายหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าสิ่งที่อนุวิป หรือ วิปรัฐบาลทำอยู่ในขณะนี้ไม่ได้ทำเพื่ออะไรทั้งหลายทั้งปวง เบื้องหลังของมาตรา 309 เป็นเทคนิคของคนเขียนกฎหมาย เอาประสบการณ์จาก รสช.ที่ศาลฎีกายกฟ้องมาเขียนไว้ในมาตรา 309 ซึ่งเรามองว่าการเขียนเช่นนี้ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม สมควรมีการแก้ไข เปิดโอกาสให้เขาต่อสู้คดีได้ หยิบยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลได้ มาตรา 309 ที่เขียนว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นการปิดปาก


         


แก้ ม.237 - ส.ส.ทำผิดเอาผิดรายตัว หลักการยุบพรรคใช้ตาม รธน.40


นายชูศักดิ์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังมีมติให้เลิกมาตรา 237 บางประเด็นคือ หลักการยุบพรรค ซึ่งการเขียนกฎหมายว่าให้ถือว่าการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ฝ่าฝืนระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และไปเขียนว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง ซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญก็จะตัดออกทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นครั้งแรกที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการเหมารวม ที่ไม่เป็นธรรม โดยยังคงยืนยันหลักการยุบพรรคยังคงไว้ แต่ให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเดิมปี 2540 ใน 3 ประเด็น คือ 1.กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 2.กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 3.ตัดคำว่าให้ถือว่าพรรคการเมืองกระทำออก โดยให้ถือว่าเป็นเรื่องของบุคคล แต่หากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารที่มีส่วนร่วมหรือมีส่วนรู้เห็นและไม่ระงับยับยั้ง ก็สามารถถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งได้


 



แก้ ม.190,266 กลับไปเหมือนเดิม ทำสนธิสัญญาผ่านสภาบางฉบับ


นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังมีมติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง มาตรา 190 คือการทำสนธิสัญญาใดๆ ยังเหมือนเดิม หากเป็นเรื่องสำคัญต้องขอความเห็นชอบจากสภาฯ ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญระบุว่า ต้องเปิดเผยหลักการและสาระบางประการของข้อตกลงเจรจา ซึ่งส่วนนี้ที่ประชุมเห็นว่า จะทำให้ประเทศทำข้อตกลงได้ลำบากและอาจเสียเปรียบต่างประเทศ แต่ยังคงหลักการเดิมว่าหากการทำสัญญาทำให้ประชาชนเสียหาย เสียเปรียบหรือได้รับความเดือดร้อน รัฐมีหน้าที่ต้องเยียวยาแก้ไข นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้แก้ไข มาตรา 266 โดยให้ตัดข้อความบางประการ เพื่อให้ส.ส.เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือสาธารณะก็ให้สามารถทำได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ราชการ


 



นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการเสนอกฎหมายโดยพี่น้องประชาชนซึ่งเดิม ให้เสนอได้เฉพาะในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพเราเห็นว่าไม่มีความจำเป็นอะไร ต้องไปจำกัดไว้เฉพาะตรงนั้นจึงขอเพิ่มเติมแก้ไขว่า ต่อไปนี้พี่น้องประชาชนสามารถ เสนอกฎหมายได้ทุกเรื่องไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกฎหมายในหมวดนั้นหมวดนี้เท่านั้น


 


ยกร่างให้ ส.ส.เข้าชื่อเสนอสภา สัปดาห์หน้า


รัฐมนตรีประจำสำนักฯ ยังระบุด้วยว่า ที่ประชุมยังพิจารณาประเด็นการเสนอกฎหมายของประชาชน โดยเปิดให้ประชาชนสามารถเสนอกฎหมายได้ทุกเรื่อง เมื่อได้ข้อสรุปวันนี้แล้วจะเสนอให้ฝ่ายเลขานุการยกร่างไปยกร่าง เพื่อที่พรรคร่วมรัฐบาลจะนำไปเสนอในที่ประชุมของแต่ละพรรค ถ้าพรรคร่วมเห็นชอบจะนำมายกร่างฉบับสมบูรณ์ ก่อนที่ให้ ส.ส.เข้าชื่อเพื่อเสนอประธานรัฐสภาต่อไป คาดว่าจะยื่นร่างแก้ไขได้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะยื่นร่างแก้ไขก่อนปิดสมัยประชุมนี้แน่นอน แต่จะพิจารณาทันในสมัยประชุมนี้หรือไม่ ต้องว่ากันอีกครั้ง


 



คตส.มีสิทธิถูกฟ้อง - ยันไม่ปิดโอกาสประชาพิจารณ์


ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยื่นทันก่อนปิดสมัยประชุมแน่นอนเพราะตั้งใจว่าอย่างน้อยที่สุดสัปดาห์หน้าจะยื่นต่อประธานวุฒิสภา เมื่อถามว่าในภาพรวมจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะฟังเสียงประชาชนต่อการแก้กฎหมายซึ่งอาจจะเป็นการทำประชาพิจารณ์ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ความจริงการจัดทำประชาพิจารณ์ควรเป็นเรื่องทั้งฉบับ ซึ่งขณะนี้วิปรัฐบาลไม่ได้ปิดโอกาส อย่างไรก็ตาม จะแถลงให้ประชาชนทราบว่าที่ ยกเลิก แก้ไข ปรับปรุงเพราะอะไร โดยทำออกมาเป็นตาราง


 


ส่วนประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า จะมีกฎหมายที่เป็นไปตามหลักนิติธรรมมากขึ้น เมื่อถามว่า การยกเลิกมาตรา 309 เป็นการปูทางให้นิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรคไทยรักไทย 111 คน หรือไม่ เพราะการตัดสินเป็นไปตามประกาศ คปค.และจะมีการฟ้องภายหลังว่าประกาศ คปค. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็ถูก เขามีสิทธิต่อสู้ว่าประกาศทั้งหลายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถ้ามีคดีขึ้นเขาก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ก็สุดแต่องค์กร ที่ทำหน้าที่วินิจฉัย อาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่ามาปิดปากไม่ให้ต่อสู้อะไรไม่ได้เลย เพราะมาตรา 309 บอกว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหมด


 


ปชป.เตรียมประเด็นแก้ รธน.ไว้แล้ว


นายอภิสิทธิ์ เวชชาวีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคจะรอฟังท่าทีของวิปของรัฐบาลและฝ่ายค้านก่อน เพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีการพูดคุยกันอยู่ว่าจะนำญัตติเรื่องของรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้หรือไม่ แต่ขณะเดียวกันคณะทำงานพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ดูประเด็นต่าง ๆ ไว้เรียบร้อยและพร้อมที่จะเสนอได้ทันที ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเดิมที่เคยพูดกันไว้ตั้งแต่ตอนที่รัฐธรรมนูญ ผ่านความเห็นชอบ


 


ส่วนมาตรา 309 และ 237 ที่เกี่ยวกับการยุบพรรคและการรองรับองค์กรที่ตั้งโดย คปค. นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคไม่ได้มองว่าตรงนี้เป็นปัญหาหลัก อย่างไรก็ตาม คงต้องดูข้อเสนอของคนที่อยากจะแก้ไขว่าจะเขียนอย่างไร เพราะจนถึงขณะนี้ยังมีการตีความที่แตกต่างกันออกไปอยู่


 


"วิชา" มั่นใจล้ม309ไม่กระทบ คตส.


 นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การแก้ไขมาตราดังกล่าวก็ถือเป็นเจตนารมณ์ของพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้วที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหนีการยุบพรรค โดยเฉพาะมาตรา 309 ที่ต้องการให้กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมาต่อสู้คดี อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการขอแก้ไขยกเลิกมาตรา 309 แต่ไม่กระทบการทำงานของ คตส. การดำเนินการของคตส.จะไม่สูญเปล่า เพราะการทำงานของคตส.ที่ผ่านมามีกฎหมายรองรับ ไม่มีปัญหา


 



"วาระซ่อนเร้นที่สำคัญที่สุดของการแก้มาตรา 309 คือ การทำให้คตส. หมดความชอบธรรมในการตรวจสอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยอาจจะเขียนว่า การตรวจสอบของคตส.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะหัวใจการเข้ามาของรัฐบาลชุดนี้คือการยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้บริสุทธิ์มาโดยตลอด" นายวิชากล่าวและว่า การที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 พิจารณาให้ยาแรงนักการเมืองก็เพื่อป้องกันการทุจริตซื้อเสียง แต่เมื่อนักการเมืองรับไม่ได้ ก็ต้องเสนอแก้ไข ทั้งที่เราก็คิดว่าป้องกันไว้อย่างดีแล้ว เมื่อถึงตอนนี้ก็คงช่วยอะไรไม่ได้บ้านเมืองก็เข้าสู่กระบวนการทุจริตแบบถอนตัวได้ยาก คงต้องฝากไว้ที่ประชาชนว่าจะทำอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร ก็คิดเอาว่าจะปล่อยไปหรือจะทำอะไร" นายวิชากล่าว


 



"ปริญญา" ชี้ตัด ม.309 มีปัญหาการตีความ


นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ าการแก้มาตรา 309 คงต้องการตัดปัญหาไม่ต้องตีความการทำงานของ คตส. หรือการทำงานของ องค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามประกาศ คปค. คือมีไว้เพื่อกันเหนียวนั่นเอง อย่างไรก็ตาม มองว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 มาตรา 36 รับรองการกระทำ คำสั่ง ประกาศที่เกิดจาก คปค.อยู่แล้ว อะไรที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญ 2550 จบไปแล้ว เพราะถูกทำให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 แล้ว แต่เมื่อมีมาตรานี้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นปัญหาในทางหลักการกฎหมายว่า เป็นการนิรโทษกรรมเหตุที่จะเกิดในอนาคตด้วย จุดนี้ตนและนักนิติศาสตร์หลายคนเคยออกมาคัดค้านว่า มาตรานี้ไม่ควรมี


 


นายปริญญา กล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีมาตรา 309 และมาตราดังกล่าวมีผลบังคับใช้มาระยะหนึ่ง แต่ปัจจุบันฝ่ายการเมืองต้องการจะแก้ไข ก็เป็นปัญหา โดยต้องดูว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมให้มีเงื่อนไขอย่างไร สมมติว่า ตัดทิ้งทั้งมาตรานี้ โดยไม่เพิ่มอะไรเลย ก็เป็นปัญหาการตีความว่า สิ่งที่ชอบตามรัฐธรรมนูญ 2550 จะกลายเป็นไม่ชอบหรือไม่ และจะมีผลตั้งแต่วันที่ตัด หรือ มีผลย้อนไปถึงวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 เพราะอย่างการทำงานของ คตส. เป็นการกระทำที่สืบเนื่องมา ก็จะเป็นช่องทางให้ฝ่ายถูกที่กล่าวหา ใช้จุดนี้สู้คดี มันจะเป็นปัญหาการตีความและช่วงเวลาการมีผลบังคับใช้ โดยแบบแรกคือ ตัดแล้วไม่มีผลอะไร เพราะการดำเนินการทุกอย่างที่ผ่านมาถูกทำให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 แล้ว คดีที่คตส.ทำมา ทุกอย่างก็จะดำเนินการต่อไป แบบสอง คือ คดีที่ คตส.ทำและอยู่ในศาลแล้วก็อยู่ต่อไป ส่วนคดีที่ยังไม่ส่งไปศาลก็ถือว่าจบ แบบสามคือ คดีที่คตส. ทำมาทั้งหมด แม้อยู่ในศาลแล้วก็จบหมด


       


 อย่างไรก็ดี ทั้งหมดอยู่ที่ศาลจะชี้ ตนคิดว่า การที่จะแก้ไขมาตรานี้ ต้องไปตรวจสอบว่า ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2550 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ตัดมาตรานี้ทิ้งมันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และมีอะไรที่ทำให้เขาต้องสู้กันบ้าง อย่างไรก็ดี เรื่องมาตรา 309 ยุ่งยากมาก เพราะโดยหลักการมันควรจะแก้ไข แต่อีกด้านหนึ่งถ้าจะแก้เพื่อประโยชน์ของตนเอง คนก็จะรับไม่ได้ มันเลยเป็นสีเทาๆ ทำให้ต้องถกเถียงกันมากมาย


 



"คมสัน" สับใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อตัวเอง


นายคมสัน  โพธิ์คง อดีตกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่สังคมคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านั้นว่าพรรคพลังประชาชนต้องการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม  โดยอ้างว่ามาจากรัฐธรรมนูญเผด็จการเท่านั้น  โดยไม่ต้องการต่อสู้ตามกระบวนการกฎหมาย ทั้งที่ คตส.ที่เขาต้องการล้มก็เป็นเพียงแค่พนักงานสอบสวนเท่านั้น  ซึ่งเชื่อว่าหากเรื่องไปที่ ป.ป.ช.  ก็ต้องต่อสู้ที่ศาลอยู่ดี  ขณะที่เป้าหมายของการแก้มาตรา 237 คือหลีกเลี่ยงการยุบพรรค เป็นการนิรโทษกรรมตัวเอง  เห็นได้ว่านักการเมืองกำลังใช้อำนาจเพื่อแก้ปัญหาให้ตัวเอง ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนจะไม่เคารพกฎหมายอีกต่อไป และความวุ่นวายจะตามมาทันที


 


นายคมสันกล่าวว่า   สำหรับมาตรา 190 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ  ซึ่งมาตราที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมาก  เพราะเป็นเครื่องมือของประเทศกำลังพัฒนาไม่ให้ถูกแย่งชิงทรัพยากร    การที่นักการเมืองแก้มาตรานี้แสดงว่าไม่ได้เห็นต่อประโยชน์ของประชาชนเลย   ตรงกันข้ามกลับเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเพื่อให้นักการเมืองสามารถทำการค้าเสรีได้ง่าย  ซึ่งจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนตามมาอีกมาก  นอกจากนี้ การแก้ไขมาตรา  266 เชื่อว่านักการเมืองต้องการได้อำนาจในการแทรกแซงระบบราชการ   เช่น การโยกย้ายข้าราชการและอยากแทรกแซงสื่อ ที่สำคัญมาตราดังกล่าวยังเป็นเหตุที่จะสามารถถอดถอนนักการเมืองได้  การแก้มาตรานี้สะท้อนว่านักการเมืองพวกนี้ไม่ต้องการได้รับการตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม


 

 


 


 


เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ผู้จัดการ, เว็บไซต์แนวหน้า

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net