Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2551 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 7 ในหัวข้อ "ยกเครื่องเรื่องวัฒนธรรมศึกษา" โดยแบ่งเป็นห้องย่อยตามประเด็นอีกหลายห้อง


 


ดร.ฐิรวุฒิ เสนาคำ นักวิชาการสาขาวัฒนธรรมศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง "วัฒนธรรมศึกษาฉบับไทยๆ เป็นวัฒนธรรมศึกษาหรือศึกษาวัฒนธรรม" โดยกล่าวว่า หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษาในประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2530 ซึ่งต่อเนื่องมาจากการมีหลักสูตรไทยศึกษา และสถานที่เริ่มต้นหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษานั้นมาจากท้องถิ่น คือ หลักสูตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช


 


ทั้งนี้ พบว่าเนื้อหาหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษาเท่ากับศึกษาวัฒนธรรม คือ การเน้นเรื่องทางวัฒนธรรม โบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะภาคใต้ เป็นต้น ต่อมาเมื่อหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษาไปปรากฏในหลักสูตรปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ถูกครอบอยู่ในสาขามานุษยวิทยาดนตรี พิพิธภัณฑ์วิทยา  วัฒนธรรมสาธารณสุข เพิ่งมาแยกออกจากมานุษยวิทยาเป็นสาขาวัฒนธรรมศึกษาและสังคมศึกษาในภายหลัง และเมื่อนำมาดูภาพรวมร่วมกับที่อื่นๆที่มีหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยทักษิณ หรือมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะพบว่า การสอนในมหาวิทยาลัยไม่เห็นทิศทางที่เป็นอัตลักษณ์ที่เรียกว่าวัฒนธรรมศึกษา แต่สามารถตั้งชื่ออื่นได้เช่น ไท(ย)ศึกษา นิเวศวิทยาการเมือง ท้องถิ่นศึกษา มานุษยวิทยา อาณาบริเวณศึกษา และมองไม่เห็นจุดโฟกัสของความเป็นวัฒนธรรมศึกษา


 


เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับหลักสูตรในต่างประเทศ เช่นวัฒนธรรมศึกษาสำนักเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือเกาหลี จะพบว่าวัฒนธรรมศึกษาครอบคลุมจะไปถึงวัฒนธรรมป๊อบ วัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น ดนตรี หนัง การไหลเวียนเคลื่อนย้ายวัฒนธรรมข้ามพรมแดนของวัฒนธรรมร่วมสมัยผ่านสื่อ  


 


"หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษาไทย อิทธิพลภูมิเรื่องปัญญาชาวบ้าน วัฒนธรรมชุมชน ไทศึกษาหรือเรื่องท้องถิ่นมีมาก แต่สิ่งที่ไม่ค่อยเห็นคือการศึกษาวัฒธรรมป๊อปหรือวัฒนธรรมร่วมสมัย ทั้งที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นหรือคนรุ่นหลังมากอย่างมหาศาล วัฒนธรรมศึกษาจึงควรเคลื่อนตัวออกจากมานุษยวิทยาหรืออื่นๆ เพื่อไม่ให้หลักสูตรถูกตั้งชื่ออื่นได้ มันควรมีทิศทางของมัน" ดร.ฐิรวุฒิ กล่าว


 


ด้าน ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้วิจารณ์งานศึกษากล่าวว่า มีความเห็นคล้อยตามว่าไม่อยากให้วัฒนธรรมศึกษาถูกครอบด้วยมานุษยวิทยา แต่การศึกษานี้ยังไม่ให้เหตุผลพอที่เข้าใจว่าทำไมควรแยก และปัญหาคืออะไร ทำไมต้องไปในแนวทางแบบเบอร์มิงแฮม เพราะวัฒนธรรรมศึกษาในไทยเกิดในบริบทที่ต่างไป


 


ดร.ชยันต์ กล่าวต่อไปว่า หลายหลักสูตรใช้คำว่าวัฒนธรรมศึกษาหรือคำข้างเคียง แต่ถ้าเปิดภาพให้เห็นพัฒนาการของวัฒนธรรมศึกษาจะเข้าใจมิติและเงื่อนไขประวัติศาตร์ และอาจจะนำไปเทียบได้ว่าวัฒนธรรมศึกษาไทยอยู่ในในขั้นใดของวัฒนธรรมศึกษาสำนักเบอร์มิงแฮมที่โตมาในยุค 1960 ซึ่งกระแสมาร์กซิสกำลังเติบโตในยุโรปหรืออังกฤษ


 


แต่หลักสูตรวัฒธรรมศึกษาไทยไม่ได้โตมาจากมาร์กซิส และไม่ได้เกิดภายใต้บริบทของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมแต่เกิดมาในช่วงที่ชนบทไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะจากโลกาภิวัตน์และจากรัฐส่วนกลาง ดังนั้นถ้าดูที่ความสนใจของผู้ก่อตั้งหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษาจะเห็นว่าเขามองว่าภูมิภาคของตนตกอยู่ในการครอบงำ เช่น การเกิดขึ้นของสถาบันทักษิณคดี ซึ่งมีภูมิภาคนิยมเป็นพื้นฐานและปฏิเสธการถูกครอบจากวัฒนธรรมชาติ


 


หรือวัฒนธรรมศึกษาแบบไทยๆ ที่ภาคอีสานก็ไม่ใช่วัฒนธรรมศึกษาในความหมายแบบสำนักเบอมิงแฮมเช่นกัน แต่มาจากการเป็นนักวัฒนธรรมนิยมหรือมนุษย์นิยมที่ชื่นชมในศักยภาพของคนที่ต่อสู่ดิ้นรน ศึกษา เพื่อให้สามารถเผชิญโลกาภิวัตน์และความทันสมัย เช่น หนังสือเรื่อง "ซิ่งอีสาน" ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในอีสานทั้งแบบสมัยนิยมและวัฒนธรรมประชาที่ไม่ได้ดูวัฒนธรรมในแง่การเป็นเรื่องชั้นสูงที่ต้องอนุรักษ์ แต่ให้ความหมายในแง่การต่อสู้ดิ้นรน เช่น การกล่าวถึงผู้หญิงหาบน้ำจนไหล่หนาเป็นปื้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีการวิเคราะห์วัฒนธรรมป๊อบ ซึ่งแนวทางเหล่านี้อาจได้อิทธิพลมาจาก นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม หรือ อานันท์ กาญจนพันธุ์ ซึ่งให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมสัมพันธ์และมิติของมนุษย์


 


"เข้าใจว่า ดร.ฐิรวุฒิ ต้องการผลักดันให้มีการสอนหรือวิจัยวัฒนธรรมศึกษาในแบบอังกฤษหรือนานาชาติ เชิงร่วมสมัยหรือวัฒนธรรมป๊อบ แต่ยังไม่ได้อธิบายว่าวัฒนธรรมศึกษาของอาจารย์หมายถึงอะไร ดังนั้นถ้าต้องการเห็นคล้อยและให้หันมาปรับปรุงหลักสูตรก็ต้องหันกลับไปสำรวจความหมายของวัฒนธรรมในสำนักตัวเองด้วย" ดร.ชยันต์ กล่าว


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net