Skip to main content
sharethis

1.         สถานการณ์ในประเทศพม่า


1.1        ชายพม่าจุดไฟเผาตัวเอง ประท้วงการปกครองรัฐบาลทหาร


1.2        รัฐบาลพม่าเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติ 3 แห่ง หวังให้ประชาชนไปดำเนินการจัดทำเอกสารในการเข้าทำงานในประเทศไทย พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้เข้าร่วมลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


1.3        พระพม่าคว่ำบาตรสอบนักธรรม ประท้วงเหตุนองเลือดปีที่แล้ว


 


2.         การค้าชายแดน


2.1        รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนไปสหภาพพม่า พร้อมตั้งเป้าปีนี้นำร่องธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจอู่ซ่อมบำรุงรถยนต์


2.2        รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ให้การสนับสนุนเอกชนไทยเข้าไปทำโครงการคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน


 


3.         แรงงานข้ามชาติ


3.1        กระทรวงแรงงานเน้นย้ำว่ารัฐบาลไทย มีนโยบายแรงงานข้ามชาติที่ไม่เลือกปฏิบัติกับแรงงานทุกสัญชาติ


3.2        ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพังงา เรียกร้องให้ตรวจสอบข้าราชการคนหนึ่งใน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ที่เรียกเก็บเงินค่าหัวแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายจากผู้ประกอบการ


 


4.         อาเซียน


4.1        รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ยืนยันว่าจะช่วยประเทศพม่าไปสู่ประชาธิปไตยด้วยวิธีการทูต สร้างความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์


4.2        กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ไม่เห็นด้วยกับการที่ไทยจะสนับสนุนพม่าให้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนไทย-พม่า


 


 


1.         สถานการณ์ในประเทศพม่า


 


1.1       ชายพม่าจุดไฟเผาตัวเอง ประท้วงการปกครองรัฐบาลทหาร


 


ผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนในย่างกุ้ง เมืองด้านการพาณิชย์ของพม่า เปิดเผยว่า มีชายคนหนึ่ง จุดไฟเผาตนเอง เพื่อประท้วงการปกครองของรัฐบาลทหารพม่าเมื่อวันศุกร์ที่ 21 ที่ผ่านมา โดยในช่วงเกิดเหตุ ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนหลายพันคนกำลังประกอบพิธีทางศาสนาที่บริเวณเจดีย์ชะเวดากอง ได้มีชายวัย 26 ปีคนหนึ่งร้องตะโกนให้โค่นล้มระบอบการปกครองของรัฐบาลทหาร ก่อนจะเอาน้ำมันราดตัวเอง และจุดไฟเผา เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลคนหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้พูดกับสื่อมวลชน เปิดเผยว่าชายคนนี้ยังคงมีอาการสาหัสเนื่องจากผิวหนังถูกไฟไหม้อย่างรุนแรง


 


เป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เผาตัวประท้วงรัฐบาลทหาร นับตั้งแต่ปกครองประเทศ เมื่อปี 2505เจดีย์ชะเวดากอง เป็นหนึ่งในจุดชุมนุมที่สำคัญของพระสงฆ์ และผู้ประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตยเมื่อเดือนกันยายนที่แล้ว ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 คน และอีกหลายพันคนถูกจับกุมคุมขังจากการใช้กำลังเข้ากวาดล้างของรัฐบาลทหาร 


(สำนักข่าวเนชั่น วันที่ 24/3/2551)


 


1.2       รัฐบาลพม่าเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติ 3 แห่ง หวังให้ประชาชนไปดำเนินการจัดทำเอกสารในการเข้าทำงานในประเทศไทย พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้เข้าร่วมลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


      


ขณะนี้รัฐบาลพม่าได้ตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติจำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่ 3 เมืองชายแดนของพม่า คือ เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง เกาะสอง ภาคตะนาวศรี และเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน เพื่อให้แรงงานชาวพม่าเข้าไปพิสูจน์สัญชาติและจัดทำเอกสาร ซึ่งจะทำให้ชาวพม่าดังกล่าวสามารถเข้ามาขออนุญาตทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายไทย ในขณะเดียวกันกลุ่มชาวพม่าดังกล่าวที่ได้พิสูจน์สัญชาติพม่าจะต้องออกไปลงประชามติ เพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2551 และทางการพม่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553


อย่างไรก็ตามทางการพม่าได้ประกาศเสร็จสิ้นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นกลุ่มแรงงานชาวพม่าที่ได้รับเอกสารในการพิสูจน์สัญชาติจะต้องเห็นชอบกับการลงประชามติ เพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าวทุกคน


 


สำหรับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าและที่ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพม่า จำนวน 3 กลุ่ม ประกอบไปด้วย กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU กองทัพรัฐฉานใต้ SSA/S และพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยงคะยา KNPP เนื่องจากทั่ง 3 กลุ่มยังยึดมั่นที่จะต่อต้านรัฐบาลพม่าต่อไป และยังเคลื่อนไหวภายในกลุ่มตลอดเวลาที่จะไม่ให้ราษฏรลงประชามติฯ ในเดือนพฤษภาคม 2551 และแม้ว่ากลุ่มเคลื่อนไหวทั้ง 3 กลุ่ม ยังมีการต่อสู้กับรัฐบาลพม่า แต่ก็คงไม่สามารถเอาชนะรัฐบาลพม่าได้ เนื่องจากขาดกำลังปัจจัยหลาย ๆ อย่าง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศก็ตาม


 


รัฐบาลพม่าเร่งสำรวจสำมะโนประชากร โดยให้สมาคมเพื่อความเป็นปึกแผ่นแห่งสหภาพและการพัฒนา (USDA) เป็นองค์กรแนวร่วมและดูแลด้านมวลชนจัดตั้งให้รัฐบาลพม่าลงพื้นที่รัฐฉาน เมืองนาย ลางเคอ และหัวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และ จ.ตาก เพื่อทำการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ประชาชนให้ไปลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


รัฐบาลพม่ามีความมั่นใจในการจัดการลงประชามติครั้งนี้อย่างมาก แต่ทางการพม่าเองก็ยังมีความกังวลท่าทีและความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อย กลุ่มที่ตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า จำนวน 17 กลุ่ม โดยผู้นำพม่าได้ลงพื้นที่พบปะผู้นำชนกลุ่มน้อย ที่ตกลงหยุดยิงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อสำรวจท่าทีและขอความร่วมมือให้แกนนำดังกล่าวควบคุมและดูแลให้มวลชนไปลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างท่วมท้น


(ผู้จัดการ วันที่ 21/3/2551)


 


1.3       พระพม่าคว่ำบาตรสอบนักธรรม ประท้วงเหตุนองเลือดปีที่แล้ว


 


กลุ่มพันธมิตรพระสงฆ์ทั่วพม่า (เอบีเอ็มเอ) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้พระสงฆ์ทั่วประเทศร่วมกันคว่ำบาตรการสอบนักธรรมในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ซึ่งจัดโดยทางการพม่า เพื่อประท้วงกรณีที่รัฐบาลทหารใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ปรากฏว่าขณะนี้มีพระสงฆ์หลายพันรูปในหลายเมืองประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมการสอบ


 


แถลงการณ์ที่เอบีเอ็มเอส่งให้สำนักข่าวเอพีมีใจความสำคัญว่า ศาสนาพุทธจะไม่ได้รับความเสียหายใดๆ หากพระสงฆ์ไม่ได้เข้าร่วมการสอบนักธรรม แต่ความศรัทธาต่อศาสนาพุทธจะไม่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารที่เข่นฆ่าและจับกุมพระสงฆ์ อีกทั้งยังทำลายศาสนสถาน ด้านเว็บไซต์หลายแห่งของนักข่าวพม่าที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ต่างรายงานอ้างคำเปิดเผยของพระสงฆ์ในประเทศ ที่เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรการสอบนักธรรมเช่นกัน


 


ทั้งนี้ในแต่ละปีจะมีพระสงฆ์และแม่ชีหลายพันรูปจากทั่วประเทศเข้าร่วมสอบนักธรรม ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีขึ้นในเดือนเมษายน หากการคว่ำบาตรการสอบนักธรรมครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะเป็นการส่งสัญญาณต่อต้านรัฐบาลทหารที่ทรงพลังอีกครั้งหนึ่ง


 


ขณะเดียวกันมีรายงานว่าผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมตัวเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งในจำนวนนี้มีพระสงฆ์รวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมากนั้น ถูกนำตัวขึ้นศาลในนครย่างกุ้งเมื่อวันจันทร์ที่ 17 ที่ผ่านมา โดยทั้งหมดถูกตั้งข้อหาเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจะต้องโทษจำคุก 2 ปี


(คมชัดลึก วันที่ 21/3/2551)


 


 


2.         การค้าชายแดน


 


2.1       รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนไปสหภาพพม่า พร้อมตั้งเป้าปีนี้นำร่องธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจอู่ซ่อมบำรุงรถยนต์


 


นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศ เตรียมแผนส่งเสริมวิสาหกิจและผู้ประกอบการไทยเพื่อขยายฐานผลิต รวมทั้งการค้าการลงทุนไปยังสหภาพพม่า โดยปีนี้จะสนับสนุนในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและอุปกรณ์และอุตสาหกรรมบริการด้านรถยนต์ เช่น อู่ซ่อมบำรุงรถยนต์ เนื่องจากธุรกิจในกลุ่มนี้กำลังมีความต้องการสูงในพม่า นอกจากนี้ไทยยังเข้าไปลงทุนในพม่าเป็นอันดับ 1 โดยมีอังกฤษ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และจีน เป็นคู่แข่งการลงทุนในสาขาเกษตร ก่อสร้างและบริการ และจากความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกันมานานอีกทั้งพม่ามีประชากรกว่า 53 ล้านคน จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้พม่าเป็นตลาดน่าสนใจของไทย นอกจากนี้การที่พม่าถูกบางประเทศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หากมองเชิงบวกจะช่วยให้ไทยมีคู่แข่งน้อยลง เป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปทำธุรกิจในพม่าได้มากยิ่งขึ้น


(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 25/03/2551)


 


2.2       รมช.พาณิชย์เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ให้การสนับสนุนเอกชนไทยเข้าไปทำโครงการคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน


 


นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รองนายกรัฐมนตรีและรมช.พาณิชย์ เปิดเผยหลังมอบนโยบายการทำงานให้กรมการค้าต่างประเทศว่า เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้การสนับสนุนเอกชนไทยเข้าไปทำโครงการลงทุนสินค้าเกษตรแบบมีสัญญา (คอนแทรค ฟาร์มมิ่ง) กับประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชาและพม่า เพื่อทำสินค้าเกษตรนำมาเป็นวัตถุดิบและสินค้าเกษตรที่จะนำมาใช้ในการผลิตพลัง งานทดแทนจำนวน 10 รายการ คือ ยูคาลิปตัส ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียวผิวมัน ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ลูกเดือย ละหุ่ง งาและฝ้าย


 


ไทยต้องการสินค้าเหล่านี้มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ทำอาหารสัตว์ และพลังงานทดแทนมาช่วยพัฒนาการเติบโตเศรษฐกิจ จึงต้องสนันสนุนให้คนไทยเข้าไปลงทุนให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายได้รับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ทำคอนแทรค ฟาร์มมิ่งจากกัมพูชา 1.2 ล้านตัน สปป.ลาว 5 แสนตัน และพม่า 2 แสนตัน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และช่วยสนับสนุนการทำพลังงานทดแทน


 


นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้มีการพัฒนาสถานที่ที่เป็นจุดค้าขายตามแนวชายแดน (เอ้าท์เล็ต) เพิ่ม เพื่อสนับสนุนการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยขอให้ประสานธนาคารพาณิชย์ของไทยเข้าไปตั้งสาขาในประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับธนาคารท้องถิ่น เพื่อให้บริการด้านการเงิน รวมถึงขอความร่วมมือกับธนาคารออมสิน เข้าไปขยายสาขาตามชายแดนเพื่ออำนวยความสะดวกทางการเงินและส่งออกสินค้าแอลซีให้นักธุรกิจ เพราะที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนปัญหานี้มาก


 


ขณะเดียวกันขอให้ปรับฐานข้อมูลของประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นเชิงลึกมากขึ้น ครอบคลุมใครเป็นคู่แข่ง ที่เข้าไปทำการค้า ทำการลงทุน เพื่อให้รู้เท่าทัน รวมทั้งส่งเสริมการเข้าไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อู่ซ่อมรถ และการส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตรจากไทย และวางแผนการทำการค้า การลงทุนกับพม่า ในโอกาสที่พม่าจะเปิดประเทศในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วย


 


เป้าหมายหลักคือการขยายการค้าชายแดนเพิ่ม โดยตั้งเป้าหมายเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% เพื่อช่วยผลักดันภาพรวมการส่งออกถึง 12.5-15% ตามเป้าหมายที่กระทรวงตั้งไว้ เพราะขณะนี้หลายประเทศเพื่อนบ้านมีเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมา เมื่อปีที่แล้วมีมูลค่าค้าขายรวมถึง 356,017 ล้านบาท ดังนั้นเราต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งกับคู่แข่ง โดยเฉพาะ จีน และเวียดนาม


(เดลินิวส์ วันที่ 22/03/2551)


 


 


3.         แรงงานข้ามชาติ


 


3.1       กระทรวงแรงงานเน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายแรงงานข้ามชาติที่ไม่เลือกปฏิบัติกับแรงงานทุกสัญชาติ


 


นายพรชัย อยู่ประยงค์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง นโยบายแรงงานข้ามชาติ : ความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ว่า ประเทศไทยมีประสบการณ์ทั้งในฐานะผู้รับและผู้ส่งแรงงาน โดยประเทศไทยมีแรงงานต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานกว่า 1 แสนคน มากที่สุดจากญี่ปุ่น จีน อังกฤษ อินเดีย และสหรัฐฯ ตามลำดับ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ จึงได้รับสิทธิประโยชน์จากสถานประกอบการสูงกว่ามาตรฐาน


 


ขณะที่กลุ่มหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายจะมีปัญหาไม่เข้าถึงสิทธิการได้รับความคุ้มครอง โดยเฉพาะพม่า ลาว และกัมพูชา ที่รัฐบาลได้จัดระบบจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2547 มีผู้ได้รับอนุญาตทำงาน 8 แสนคน แต่ได้ลดจำนวนลงเรื่อยๆเหลือ 5 แสน 4 หมื่นคนในปี 2550 ส่วนในปี 2551 มีปัญหากลุ่มที่มีใบ ทร.38/1 จากกรมการปกครอง แต่ขาดการมาต่อใบอนุญาต อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยไม่เลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติแต่ให้การดูแลคุ้มครองทุกสัญชาติ


                                                            (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 21/03/2551)


 


3.2       ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพังงา เรียกร้องให้ตรวจสอบข้าราชการคนหนึ่งใน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ที่เรียกเก็บเงินค่าหัวแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายจากผู้ประกอบการ


 


นายวรชาติ ทนังผล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพังงา พร้อมด้วยบริษัทผู้ผลิตไม้ยางพารา ชาวสวนยางพารา และพนักงานกว่า 200 คน เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ต่อนายปิติธรรม ฐิติมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ขอให้ตรวจสอบข้าราชการระดับบริหารคนหนึ่งใน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ที่เรียกเก็บเงินค่าหัวแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายจากผู้ประกอบการ โดยเรียกเก็บแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัตรหัวละ 600 บาท ต่อเดือน แรงงานต่างด้าวที่มีรถจักรยานยนต์คันละ 500 บาท ต่อเดือน แรงงานต่างด้าวที่มีโทรศัพท์มือถือ เครื่องละ 500 บาท ต่อเดือน ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอย่างไม่เป็นธรรม จึงไม่ยินยอมที่จะจ่าย


 


ล่าสุดนายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า ข้าราชการคนดังกล่าวยื่นหนังสือขอย้ายตัวเองเข้ากรมการปกครองเรียบร้อยแล้ว ส่วนการตรวจสอบทางจังหวัดพังงาได้แต่งตั้งให้นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ ปลัดจังหวัดพังงา และเจ้าหน้าที่นิติกรกรมการปกครอง เป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีมูลเรื่องของการใช้อำนาจหน้าที่ไปเรียกเก็บเงินแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายจริงก็ต้องดำเนินการทางวินัยต่อไป


(มติชน วันที่ 25/03/2551)


 


 


4.         อาเซียน


 


4.1       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ยืนยันว่าจะช่วยประเทศพม่าไปสู่ประชาธิปไตยด้วยวิธีการทูต สร้างความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์


 


นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ว่ารัฐบาลไทยจะช่วยถ่ายโอนพม่า ไปสู่ประชาธิปไตยโดยผ่านวิธีการทางการทูต แต่ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมาจากภายใน และมาตรการคว่ำบาตรของชาติมหาอำนาจตะวันตกต่อพม่า จะประสบความล้มเหลว และเรียกร้องให้มีปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับบรรดาผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าแทน ขณะเดียวกัน ไทยจะช่วยพม่าจัดการแสดงประชามติรัฐธรรมนูญ ในเดือน พ.ค. ก่อนที่จะมีการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งทั้งการแสดงประชามติและการเลือกตั้ง นายนพดลย้ำว่า ควรจะเปิดโอกาสอย่างกว้างขวางและน่าเชื่อถือ


 


นายนพดล ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 กล่าวว่า เขาได้หารือปัญหาพม่า และความจำเป็นที่สหรัฐต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน กับ ดร.คอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ที่ผ่านมา โดยนายนพดลกล่าวว่า ปัญหาพม่าไม่ควรจะเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและอาเซียน


 


รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ใช้นโยบายคว่ำบาตรอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า และหลังจากรัฐบาลพม่ากวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว ชาติมหาอำนาจตะวันตกก็ใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างเข้มงวดต่อพม่า แต่ชาติอาเซียนแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลยในการกดดันพม่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยย้ำว่า มาตรการคว่ำบาตรหรือการใช้มาตรการกดดันพม่าจะไม่ได้ผล โดยระบุว่าความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจกับพม่า และความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อพม่า อาจจะช่วยปูพื้นฐานไปสู่ประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จได้


 


ผมขอความเห็นใจจากรัฐบาลสหรัฐให้เข้าใจสถานการณ์ของเรา ซึ่งทุกวันนี้มีคนพม่ากว่า 2 ล้านคน หลบหนีเข้ามาทำงาน และต้องดูแลผู้พลัดถิ่นอีกหลายแสนคน เป้าหมายของเราคือประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่วิธีการอาจจะต่างกัน แต่การพูดคุยทำให้มีช่องทางมากขึ้น คิดว่าสหรัฐเข้าใจสิ่งที่ได้พูดไป


(เดลินิวส์,มติชน วันที่ 22/03/2551)


 


4.2       กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ไม่เห็นด้วยกับการที่ไทยจะสนับสนุนพม่าให้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนไทย-พม่า


 


เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 กลุ่มต่อต้านและเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ไม่เห็นด้วยกับการที่ไทยจะสนับสนุนพม่าให้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าซางต่อไป รวมถึงการให้พม่ากู้เงินอีก 4,000 ล้านบาท  ภายหลังการเดินทางไปเยือนและพบผู้นำพม่า ของนายสมัคร สุนทรเวช  นายกรัฐมนตรีไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา


 


ทางด้านรัฐบาลพม่าหรือ SPDC ได้ แถลงการณ์ว่าไทยจะให้การสนับสนุนพม่าโดยจะปล่อยเงินก็ให้ 4 พันล้านอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเมื่อประมาณปี 2548 ธนาคารการค้าต่างประเทศของพม่าได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ดังกล่าวกับธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของไทยไปครั้งหนึ่งแล้ว ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยขณะนี้ไทยเตรียมเดินหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าซาง กั้นแม่น้ำสาละวิน เรื่องดังกล่าวทำให้นักเคลื่อนไหวหรือกลุ่มต่อต้านด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมได้ออกมาต่อต้านทันทีและเริ่มที่จะวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำรัฐบาลไทยอย่างหนัก


 


นายสมชาย  หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ออกมาต่อต้านนโยบายด้านการต่างประเทศของไทยที่มีต่อพม่า และยังแนะนำให้ควรพิจารณาถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่าเป็นหลัก ไม่ควรที่จะคำนึงถึงเรื่องผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว โดยให้รัฐบาลไทยที่มาจากประชาธิปไตยไม่ควรสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า การสนับสนุนและการทำธุรกิจร่วมกับรัฐบาลพม่าเป็นการยืดเวลาของอำนาจเผด็จการให้ยาวนานออกไป เพราะผู้นำรัฐบาลพม่าจะนำเงินของเราไปใช้ในการกดขี่ข่มเหงประชาชนพม่า เพราะพม่าไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย ปัญหาภายในต่าง ๆ ของพม่าจึงไม่สามารถแก้ไขได้ และไทยเองจะได้รับผลกระทบคือ จำนวนผู้ที่เพิ่มมากขึ้น แรงงานและปัญหายาเสพติดเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน


 


สำหรับโครงการสร้างเขื่อนท่าซางบนแม่น้ำสาละวินถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากขาดการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี อย่างไรก็ตามไทยมีแผนที่จะสร้างเขื่อนท่าซางตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน โดยบริษัท MDX ของไทยได้ทำสัญญาร่วมกับพม่าเมื่อปี 2545 เพื่อร่วมสร้างโครงการดังกล่าว นักสิ่งแวดล้อมระบุว่าเขื่อนท่าซางมีกำลังผลิตถึง 7,110 เมกกะวัตต์ และเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่จะสร้างบนแม่น้ำสาละวินนั้นจะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตรในรัฐฉาน และจะส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่หลายพันคนไร้ที่อยู่อาศัย


 


ทางด้าน นายจ่อจา  แกนนำสมาชิกของเครือข่ายปกป้องแม่น้ำสาละวิน (Salween Watch) ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรในพื้นที่ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของพม่ากล่าวว่า ไทยจะต้องรับภาระผู้ไร้ที่อยู่หลายพันคนจากการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว รัฐบาลไทยรู้ปัญหาการเมืองและความขัดแย้งภายในประเทศพม่าดี แต่กลับฉวยโอกาสนำทรัพยากรออกจากพม่า รัฐบาลไทยคิดถึงแต่ประโยชน์ด้านทางธุรกิจพลังงานจากโครงการสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ ไม่ได้คำนึงถึงความทุกข์ยากของประชาชนในพม่าที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเลย อย่างไรก็ตาม พื้นที่ใกล้เคียงบริเวณแม่น้ำสาละวินนั้นเป็นพื้นที่การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังทหารกะเหรี่ยงและกองกำลังทหารไทยใหญ่


 


ไทยมีแผนก่อสร้างเขื่อนร่วมกับรัฐบาลพม่ามากกว่า 7 เขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน แต่โครงการต้องหยุดชะงักหลังเกิดการปฏิวัติทางการเมืองของไทยในเดือนกันยายนปี 2549 ที่ผ่านมา โดยพบว่า ในช่วงที่รัฐบาลทักษิณบริหารประเทศ มีนโยบายให้ความร่วมมือกับรัฐบาลพม่าอย่างดีเยี่ยมในระหว่าง ปี 2544 - 2549


การเดินทางไปเยือนพม่าของนายกรัฐมนตรีไทยนั้น สื่อมวลชนพม่าได้ให้ความสำคัญและนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทยได้ไปเยือนกรุงเนย์ปีดอ เมืองหลวงใหม่ของพม่าและได้พบกับนายพลอาวุโสตานฉ่วย และผู้นำไทยยังได้ให้สัมภาษณ์หลังจากการเยือนพม่าว่า ประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีสันติภาพและมีระเบียบเรียบร้อย นอกจากนี้นายสมัครยังเห็นว่า นายพลอาวุโสตานฉ่วยเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เพราะเห็นนายพลอาวุโสสวดมนต์และนั่งสมาธิทุกเช้า โดยสื่อพม่ายังป้อนคำหวานผู้นำไทยว่า รู้ถึงปัญหาการเข่นฆ่าและการกดขี่ข่มเหงถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในพม่า แต่เราควรทำความเข้าใจความเป็นจริง  ปกติแล้วผู้คนมักจะมองพม่าเพียงด้านเดียว แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ซึ่งเป็นคำกล่าวของ นายสมัคร สุนทรเวชกับสื่อพม่า


 


ในระหว่างที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้เข้าพบปะหารือกัน ไทยได้เสนอถึงแผนพัฒนาท่าเรือทวาย ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกที่อยู่ทางตอนใต้ของพม่า เพื่อเปิดเป็นเส้นทางการค้าขายระหว่างสองประเทศ  โดยไทยไม่เห็นด้วยกับนโยบายการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของประเทศทางตะวันตกต่อพม่า ซึ่งควรจะมีการเจรจาที่อาจจะเป็นแนวทางที่จะพัฒนาประเทศพม่าได้มากกว่าการลงโทษ และจากสถิติของกรมการค้า


 


ต่างประเทศของไทยระบุว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในพม่าเป็นอันดับที่สาม ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.3 พันล้านบาทในปี 2550 ที่ผ่านมา รองลงจากอังกฤษที่เข้าไปลงทุนในพม่าราว 1.5 พันล้านบาท  และสิงคโปร์  1.4 พันล้านบาทนโยบายการให้การช่วยเหลือเงินกู้ ครั้งที่ 2 กับพม่า 4,000 ล้านบาท  


อย่างไรก็ตาม โครงการสร้างเขื่อนท่าซาง กำลังถูกจับตาจากองค์กรสิทธิมนุษยชน ที่กำลังมองว่าเป็นการทำเพื่อเศรษฐกิจมุมเดียวอย่างไรก็ตามรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ มองไปถึงความร่วมมือและพัฒนา


 


ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากกว่า  อย่างไรก็ตามสิ่งที่นายกรัฐมนตรีไทยได้ไปเยือนและพบผู้นำพม่าครั้งนี้สิ่งที่ได้มาคือได้สร้างความสัมพันธ์ในก้าวแรกที่ดีต่อกันและมองได้อีกมุมคือแย่งตลาดการค้ากลับคืนมาจากประเทศคู่แข่งอย่างจีน สิงคโปร์ ฯลฯที่สินค้ากำลังตีตลาดสินค้าไทยในพม่าอย่างหนัก


(สยามรัฐ วันที่ 21/03/2551)


 


 


000


Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทยที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net