Skip to main content
sharethis

 



แผนที่ทิเบตจาก www.medicinefortibet.org/.../tibet_map.gif


 


สัมภาษณ์โดยพิณผกา งามสม และจิรนันท์ หาญธำรงวิทย์


 


เมื่อสถานการณ์ในทิเบตคุกรุ่นขึ้น โดยอัตโนมัติที่ความสนใจจะพุ่งไปสู่ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างทิเบตกับจีน ในฐานะที่ทิเบต ได้ชื่อว่าเป็นเขตปกครองตนเองของจีน แต่ประเด็นสำคัญประการหนึ่งไม่ควรละเลยไปก็คือทิเบตนั้นไม่ได้ดำรงอยู่บนความสัมพันธ์กับจีนแบบโดดๆ หากแต่มีอินเดียในฐานะประเทศที่เล่มเกมอำนาจในอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตอย่างเป็นทางการ ทว่าเหตุจลาจลครั้งล่าสุดนี้ท่าทีของอินเดียกลับดูห่างเหินขึ้น...ทำไม เกิดอะไรขึ้นกับบทบาทและนโยบายของอินเดียซึ่งมีต่อทิเบต "ประชาไท" ไปคุยกับ ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผื่อว่าเราจะเห็นอินเดียชัดขึ้น ในฐานะผู้เล่นคนสำคัญอีกคนของภูมิภาคนี้


 


 


 


 


ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล


 


 


ประชาไท - บทบาทของอินเดียต่อกรณีทิเบตเป็นอย่างไร เกี่ยวข้องกับการที่ทิเบตเป็นรัฐกันชนระหว่างจีนกับอินเดียหรือไม่


สุรัตน์ - ข้อแรกสุดเลย มันคงไม่ใช่เรื่องรัฐกันชนอย่างเดียว การตัดสินใจของรัฐ ไม่ว่ารัฐใดก็ตาม มักจะมีนัยยะอยู่หลายประการ ถ้าตัดสินใจแล้วเป็นรัฐกันชนอย่างเดียว เท่าที่มองในประวัติศาสตร์ จะไม่ใช่การตัดสินใจที่จะออกไปในลักษณะที่กล้าหาญในทำนองนี้ เพราะความเป็นอธิปไตยมันสำคัญมาก เพราะฉะนั้นผมคิดว่ารัฐกันชนมันใช้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องดูเป็นองค์ประกอบรวมกับสิ่งอื่นด้วย


 


เราปฎิเสธไม่ได้ว่า อินเดียมีปัญหากับจีน โดยเฉพาะหลังประกาศเอกราชมา และประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจุดยุทธศาสตร์ทางแคชเมียร์ เพราะดินแดนทางด้านบนค่อนข้างจะกว้างขวางพอสมควร


 


แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องยอมรับด้วยว่านโยบายการต่างประเทศของอินเดีย ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการต่อสู้กับอาณานิคมอังกฤษ ในรูปแบบและหลักการของมหาตมะคานธี ซึ่งในที่สุดแล้วหลังจากเอกราช มันก็มีส่วนผสมของความเป็นคานธีสืบต่อมายังเนรู เพราะฉะนั้น ถ้าไปดูเอกสารของเนรู ว่าด้วยเรื่องการต่างประเทศ ต้องยอมรับว่านโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีทางสมบูรณ์อยู่แล้ว มันเป็นนโยบายที่หายากมาก ที่จะมีนักการเมืองมาเขียนอธิบายวิสัยทัศน์ปรัชญาแบบนี้ เพราะเขียนไว้ชัดว่า นี่ไม่ใช่ neutrality (ความเป็นกลาง) แบบสวิตเซอร์แลนด์ ที่จะนั่งอยู่บนกำแพงแล้วก็มองสิ่งที่เป็นอธรรมต่างๆ เกิดขึ้น โดยไม่กล่าวตักเตือน พูดจาหรือแสดงความเห็น


 


แต่การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนี้ จะแสดงความคิดเห็นและจะประณามด้วย ถ้ามีการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดมนุษยธรรม อันนี้ผมคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สื่อมวลชนละเว้นที่จะเข้าใจอินเดียในตอนนั้นด้วย เพราะอันนี้คือฉันทานุมัติหรือฉันทามติของอินเดียซึ่งดำรงมา จนกระทั่งอินเดียเปลี่ยนทิศทางเมื่อถึงกลางทศวรรษ 1980


 


เพราะฉะนั้น การเข้าใจเรื่องทิเบตจะต้องผนวกเข้าไปด้วยว่า อินเดียนั้นมองเรื่องพม่าอย่างไรในตอนนั้น รับคนลี้ภัยเข้ามาไม่รู้กี่แสนกี่ล้าน และขณะเดียวกัน ก็มีทัศนคติที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของสหรัฐฯ ที่จะไปเป็นเจ้าใหญ่ บุกนั่นบุกนี่ และมีเอกสารหลายชิ้นชี้ให้เห็นด้วยว่า รู้สึกไม่พอใจประเทศไทยที่เป็นพวกเลียก้นสหรัฐฯ ซึ่งพวกนี้ทั้งหมดมันเป็นจิ๊กซอว์


 


ที่เท้าความมาทั้งหมด ผมจึงมองว่าประเด็นเรื่องรัฐกันชนนั้นเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเอกสารทางการไม่มีทางบอก นี่คือการตีความของเรา เพราะไม่มีรัฐบาลไหนที่จะมาบอกว่า ต้องการทิเบตเพราะเป็นรัฐกันชน แต่เราสามารถคำนวณได้ว่า ภัยคุกคามจากจีนที่นำไปสู่สงคราม ทำให้อินเดียคำนวณเรื่องยุทธศาสตร์ใหม่หมด อันนี้มีเอกสารสนับสนุนหมดเลย เพราะฉะนั้นจะวางแผนวางหมากยังไง ขนาดยากจนแค่ไหนยังเอาเงินก้อนใหญ่ไปอุทิศทางกลาโหม ผนวกกับแนวทางที่คานธีเคยทำไว้ แล้วเนรูห์เอาออกมาเป็นรูปธรรม เป็นอหิงสา อะไรเหล่านี้มันก็เป็นองค์ประกอบของสิทธิมนุษยชนด้วย


 


เพราะฉะนั้น ถ้าผมกลับไปที่คำถามเลยก็คือว่า ผมไม่อยากให้มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและทิเบตเป็นเรื่องของรัฐกันชนอย่างเดียว ผมคิดว่า มันยิงปืนนัดเดียวแล้วได้นกหลายตัว รัฐที่เป็นเอกราช หลายครั้งมักกล้าตัดสินใจทำอะไรค่อนข้างฉับพลัน ถ้ามันไปเข้าล็อกเข้าทางเขา เช่น สหภาพยุโรป ชูโรงอยู่ตลอดเวลาว่า ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของเขา เพราะฉะนั้นก็เข้าไปสังเกตการเลือกตั้งของประเทศอื่น (แต่ขณะเดียวกันเราก็เห็นว่ามันไม่ได้สมบูรณ์แบบ เพราะเขาก็ค้าขายกับจีน ซึ่งจีนไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง)


 


แต่สำหรับอินเดีย ทัศนะนี้มันเปลี่ยนไป ในกลางทศวรรษ 1980 คือมีแนวความคิดทางเศรษฐกิจการเมืองที่เปลี่ยนไป ต้องการจะเปิดเปิดประเทศแล้ว โดยเรื่องเศรษฐกิจการเมืองมุ่งไปที่นโยบายเสรีนิยม และทำให้อินเดียมองว่า ผลประโยชน์แห่งชาติของตัวเองที่สำคัญที่สุดคือ การที่ตนจะสามารถพัฒนาประเทศไปข้างหน้าได้ และจะขึ้นมาเล่นบทบาทสำคัญในภูมิภาคมากขึ้นกว่าเดิม


 


ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมีสองประการ คือ หนึ่ง การแปรเปลี่ยนทัศนะ มโนทัศน์ทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ก็คือ financial liberalization ซึ่งคนที่ทำออกมาเป็นรูปธรรมก็คือ นายโมฮันซิง ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีการคลัง ในช่วงเวลานั้นเราจะเห็นซิตี้แบงค์ในอินเดีย เมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ


 


สองคือ นิวเคลียร์ นิวเคลียร์ไม่ได้มีไว้เพื่อจัดการกับปากีสถาน หรือจัดการกับใคร ซึ่งสื่อมวลชนส่วนใหญ่พลาด เพราะอินเดียพูดไว้ชัดเจนว่า We shall be the second user only. (บุคคลที่ใช้เป็นคนที่ 2) คือพูดง่ายๆ ว่าต้องมีคนโจมตีฉันก่อน ฉันถึงจะใช้ ฉันไม่ได้ใช้รุกรานใครเลย การมีนิวเคลียร์จึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญมากๆ ที่ยืนยันว่า อินเดียต้องการยกตัวเองขึ้นมา


 


ทั้งหมดนี้จะไปผนวกกับผลประโยชน์แห่งชาติที่ว่า ฉันต้องทำมาหากิน ฉันต้องพัฒนาไประดับนั้น เพราะฉะนั้นแนวคิดของคานธีที่สืบทอดมรดกมา เริ่มจะถูกลดความสำคัญลงแล้ว เราจะเริ่มสังเกตเห็นว่า กรณีทิเบตล่าสุดนี้ วิธีจัดการกับผู้ชุมนุมที่ธรรมศาลาเริ่มมีท่าทีที่เปลี่ยนไป วิธีการพูดจากับตานฉ่วยในพม่าก็เปลี่ยนไป


 


นี่คือทัศนคติของอินเดียที่เรากำลังเห็นว่ามันกำลังเปลี่ยน แล้วมันกำลังบอกว่า จะให้ยึดอะไรกับสิทธิมนุษยชน ขอไปข้างหน้าดีกว่า นี่คือมุมมองเขา ซึ่งผมไม่เห็นด้วย และผมก็วิจารณ์เขาบ่อยครั้งมาก ว่าน่าเสียดาย เพราะอินเดียมีความสามารถที่จะเป็นมหาอำนาจหนึ่งที่สามารถแพร่กระจายความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ด้วย


 


เรื่องนี้มีผลอีกอันหนึ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือ เราต้องยอมรับด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับจีนนั้นดีขึ้น ซึ่งหลายคนก็เริ่มเป็นห่วงว่าทิเบตในอนาคตจะเป็นอย่างไร สาเหตุที่ดีขึ้นก็เพราะเราค้นพบว่า เส้นทางค้าขายตามพรมแดน เช่น ทางฝั่งสิกขิม เกิดขึ้นแล้ว ผู้นำเริ่มคุยกัน ผมไม่เรียกว่ากลับมาเป็นมิตรกันแบบดึกดำบรรพ์ ที่จีนเอาชา เอาน้ำตาลไปให้อินเดีย แต่ถ้าเทียบกับช่วงปี 1960 ที่มีสงครามแล้ว มันเริ่มดีขึ้น ซึ่งเราจะต้องไปดูต่อไปว่า ยุทธศาสตร์ของอินเดียมองเรื่องนี้ยังไง แล้วจะสร้างความสมดุลเรื่องทิเบตอย่างไร


 


ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องบอกว่า ภาคประชาสังคมในอินเดียแรงมาก ถ้าเขาจะประท้วงแล้วคุณจะจัดการเขา พวกนี้ก็จะประณาม แต่ในขณะเดียวกัน ช่วงนี้อินเดียกำลังเติบโตขึ้นมาก กำลังขยายอิทธิพลขึ้นมา เขาคงไม่อยากหาเหาใส่หัวกับจีน และอีกปัจจัยหนึ่ง ต้องดูด้วยว่ามหาอำนาจยักษ์ใหญ่จะปฎิบัติต่ออินเดียอย่างไร


 


พื้นที่ในเอเชียใต้นั้นดูเหมือนจะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างจีนกับอินเดีย แต่ก็มีอำนาจของสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงด้วย เช่น กรณีพรรค NLD ของพม่า ซึ่งมีผลต่อท่าทีของอินเดียที่มีต่อกรณีอองซานซูจี จะว่าไปจริงๆ แล้วนักคิดของอินเดียหลายคนมีแนวคิดว่า สหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงในพรรค NLD (พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) ทำให้การประท้วงของชาวพม่าคราวที่แล้ว อินเดียก็ค่อนข้างจะเพิกเฉย


อินเดียเพิกเฉยจริง เพราะจะเอาพลังงานจากพม่า นี่คือลักษณะของผู้นำที่กำลังเปลี่ยน สาเหตุเพราะความคาดหวังในการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงไม่แปลกใจว่าทำไม สหรัฐฯ จึงไปซัดซัดดัม ฮุสเซน วันนี้ภาพมันชัดแล้วว่าน้ำมันจะไปสู่จีน ไปสู่อินเดียอย่างไร


 


แปลว่า ทรัพยากรเป็นประเด็นหลัก


แน่นอนครับ เมื่อวานครบรอบ 5 ปีอิรัก ใช้เงินไปทั้งหมดสามล้านล้าน นาโอมิ ไคลน์ เขียนไว้ดีมาก ว่าถูกแปรรูปไปอย่างไร เพราะฉะนั้น agenda เหล่านี้ ในแง่หนึ่ง ผมไม่อยากจะมองว่าอินเดียเป็นแค่ประเทศที่ทำตัวไม่ดีอย่างเดียว คือเวลาเรามองทางสังคมศาสตร์ เราต้องมองทั้งสองอย่างคือ เป็นผู้กระทำ และเป็นผลผลิตของโครงสร้างอะไรต่างๆ ของโลกด้วย ซึ่งมันก็บอกว่าถ้าไม่ทำอย่างนี้แล้วจะให้ทำอย่างไร


 


ในกรณีพม่า อินเดียเองถูกภาคประชาสังคมในอินเดียวิจารณ์อย่างหนัก ดังนั้น ในประเด็นของพม่า ของทิเบต อินเดียกำลังสร้างความสมดุลระหว่างมโนทัศน์กับผลประโยชน์แห่งชาติมากกว่า แต่ภาคประชาสังคมไม่ใช่แล้ว ภาคธุรกิจเองก็เห็นด้วยกับรัฐบาล ต่างจากเมื่อก่อนที่ภาคธุรกิจไม่ได้สนิทสนมกับรัฐบาลขนาดนี้ เพราะคนอย่างคานธีหรือเนรูห์ ถือว่า ประเทศต้องมาก่อน เพราะฉะนั้นส่งออกไม่ได้ ถ้าคนยังไม่มีกิน แต่วิสัยทัศน์แบบนั้นมันไม่ค่อยจะมีแล้ว ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นปรากฎการณ์ทั่วโลกที่บรรษัทเข้าใกล้รัฐเข้าไปทุกวันๆ


 


ที่ผ่านมา ทิเบตดำรงอยู่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของอินเดีย หากความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียดีขึ้น จะเกิดอะไรขึ้น


อินเดียคงทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่บ้าง อาจจะบอกตัวเองว่าอย่าให้มัน sensitive เลย ตอนนี้เรื่องใหญ่ที่สุดคือ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งคนพันธุ์นี้เยอะขึ้น ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าอินเดียไม่กล้าขนาดนั้นเพราะภาคประชาสังคมของเขาแข็งแกร่งอยู่ พวกนักคิดในมหาวิทยาลัยไม่ยอมแน่ เขากดดันนายกฯ ตอนที่พม่าจัดการกับพระ เขียนจดหมายหลายฉบับ และมาลงนามกันเต็มไปหมด ก็มีอะไรที่น่าเรียนรู้อยู่เยอะ


 


แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่น่ากลัวคือ ความคิดของประชาชนส่วนใหญ่ที่กำลังมุ่งไปสู่สิ่งที่เรียกว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และมันถูกนิยามว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ ผมกลัวว่า มันจะทำให้เราไม่เห็นความสำคัญของทิเบตไป ซึ่งในมุมมองผม ผมไม่ได้ต่อต้านการค้าขาย แต่ผมคิดว่าการกำหนดชะตากรรมด้วยตัวเอง สิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศด้วย ผมไม่ใช่มาร์กซิสต์ซ้ายที่จะรื้อถอนเงินตรา แต่ผมคิดว่า เราต้องให้น้ำหนักมันพร้อมๆ กัน แล้วมันจะยั่งยืนกว่า ตรวจสอบกัน ไปด้วยกันได้


 


มีรูปธรรมว่าอินเดียที่ผ่านมาสนับสนุนทิเบตอย่างไรบ้าง


เท่าที่ทราบอย่างเป็นทางการ ก็มีทรัพยากร สถานที่ เสบียง คือ อินเดียก็ทำในขีดความสามารถของตน ซึ่งที่ผ่านมา ออกไปทางกึ่งๆ สังคมนิยม ซึ่งเป็นความฝันของเนรูมานาน แต่คานธีบอกให้เนรูเก็บไว้ก่อน ต้องใช้ชาตินิยมเตะฝรั่งออกไปก่อน ตอนหลังพอคานธีเสียชีวิต ได้รับเอกราชแล้ว เนรูจึงนำมาใช้ เพราะฉะนั้นสมัยก่อนเวลาคุณซื้อแป้งสาลี คุณต้องมีใบสำมะโนครัว แล้วจะได้รับส่วนลด มีโควต้าห้ามส่งออกนอกถ้าทุกคนยังไม่ได้กิน


 


มาถึงตอนนี้ รูปแบบของการช่วยเหลือในธรรมศาลา ส่วนใหญ่มาจากการบริจาคของชาวทิเบตในต่างแดน และเงินทุนประการใหญ่อันหนึ่งที่เข้าใจได้อย่างชัดเจน มาจากท่านดาไลลามะ จากการบรรยาย คนอย่างดาราหนัง เช่น ริชาร์ด เกียร์ ก็สนับสนุนงานเขียนทางด้านศาสนา สนใจเรื่องทิเบต แต่หลายคนก็ไม่ค่อยออกหน้าเนื่องจากเกรงใจปักกิ่ง เพราะก็ค้าขายกันอยู่


 


แต่แน่นอน นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าโลกของเรามันบกพร่องมากกว่าเดิม ระบบระหว่างประเทศมันแย่ ทั้งๆ ที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าจีนไปทำอะไรกับเขา ไปให้คำมั่นสัญญาอะไรกับเขา ยังไม่พอเอาประชาชนชาวฮั่นของตนไปปล่อย เพื่อละความสำคัญลง เป็นมุขเดียวกับที่เซอร์เบียทำในโคโซโว เป็นมุขเดียวกับที่อินเดียทำในจามู แคชเมียร์ คือ เอามารวมกันเลย เมื่อรวมกันแล้ว อ้าวมีฮินดูด้วยนี่ ไม่ใช่มุสลิมอย่างเดียว ซึ่งการกระทำแบบนี้เราก็เคยเห็นมา แต่ประเด็นคือใครกล้าที่จะทำกับจีน ทุกคนมันฮันนีมูนหมด


 


สำหรับการประท้วงของทิเบต ผมเชื่อว่านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ นี่คือการวางแผน และมีอีก 2-3 ช็อต กรณีเอ็นจีโอเกาหลีใต้จะประท้วงว่า จีนนั้นเลี้ยงเกาหลีเหนือไว้อย่างไร ไม่ยอมปล่อยผู้ที่ถูกลักพาตัวกลับมา สาเหตุที่วางแผนกันในปีนี้ก็เพราะว่าจะมีโอลิมปิก


 


เวลาอยากจะทำให้จีนรู้สึกเจ็บ ต้องทำอย่างนี้ เพราะเอเชียมีวัฒนธรรมหน้าใหญ่ เวลาจะจัดงาน ก็ขอให้ทุกอย่างเงียบหมดเลย ซึ่งไม่ใช่แค่จีน สมัยทักษิณก็เป็น ตอนเอเปคก็เอาหมาออก พอหลังจากเอเปค หมากลับมา เมื่อเอเชียชอบคิดแบบนี้ เพราะฉะนั้น พวกนี้ก็ตอกกลับแบบเอเชีย


 


รวมถึงไต้หวันด้วยหรือไม่


มีสิทธิ แต่ไต้หวันยังไม่ค่อยนิ่ง เพราะมีการเลือกตั้ง และพรรคใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะเข้ามาเยอะดันโปรปักกิ่ง


 


ประเมินระยะใกล้ก็คือว่า ดาไลลามะคงอยู่ที่ธรรมศาลาต่อไป แต่ทิเบตจะเป็นอย่างไร อินเดียก็คงลดบทบาทลงไปพอสมควร


คงเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือตอบคำถามแบบกว้างๆ เช่น ผู้นำอาเซียน ตอบคำถามเรื่องพม่า "เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า..." มันไม่ได้ช่วยอะไร ใครก็พูดได้ คุณบอกสิว่าคุณมีจุดยืนอย่างไร "เราไม่ยุ่ง นี่คือมิตรของเรา" ผมยังรักคนพวกนั้น อย่างน้อยมันมีความชัดเจน อย่าไปพูดแค่อินเดีย เราต้องพูดว่า นี่มันคือบรรยากาศโลก คุณดูความหน้าด้านของสหภาพยุโรปสิ บอกว่าจีนปล่อยคาร์บอน แต่ก็ซื้อของเขา


 


แต่อันนี้มันเป็นปรากฎการณ์ เพราะฉะนั้น สุดท้ายรัฐบาลอินเดียก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ โดยให้เหตุผลว่า คนอินเดียยังรอถามอยู่ว่า นโยบายการคลัง เศรษฐกิจ จะกระตุ้นการลงทุนอย่างไร นี่คือสิ่งสำคัญ ซึ่งถ้ามองอย่างนี้ การประท้วงที่ธรรมศาลา สำหรับคนอินเดียบางคนก็มองว่าจะประท้วงทำไม เปลืองงบ


 


แนวโน้มในอินเดีย รัฐบาลอินเดียจะเหินห่างประชาชนด้วยไหม จะดูแลน้อยลงด้วยไหม


เศรษฐกิจที่อิงอยู่กับกลไกตลาดแต่อย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงของมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ไม่คำนึงว่าประชาธิปไตยเป็นการปรึกษาหารือกับประชาชน ไม่คำนึงว่าประชาธิปไตยไม่ได้มีคู่แข่งทางการเมืองในฐานะที่เป็นศัตรู หากแต่เป็นผู้ที่แข่งกันทางอุดมการณ์ความคิด เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาธิปไตยไปอีหรอบนี้หมด มันจะห่างเหิน สุดท้ายจะเห็นว่า ปรากฎการณ์พวกนี้แย่มาก ไปกำหนดกฎเกณฑ์เองหมด สุดท้ายประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือเปล่าด้วย นี่คือสิ่งที่ผมไม่อยากจะบอกว่ามันไม่ใช่แค่อินเดีย เราต้องเข้าใจว่าอินเดียเป็นผลผลิตของโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองโลกด้วย เช่นเดียวกับ จีน สหภาพยุโรป อเมริกา ตอนไทยเกิดรัฐประหารก็ด่าไทยเละตุ้มเป๊ะเลย ผมก็ถามว่าแล้วทำไมคุณค้าขายกับจีนล่ะ จีนมาจากการเลือกตั้งเหรอ ก็เงียบ ล่าสุด ผมไปมา เขาบอกว่าอยากจะเซ็นเอฟทีเอ อียูกับอาเซียน แต่ไม่เซ็นเพราะพม่าไม่เป็นประชาธิปไตย อ้าว แล้วจีนล่ะ


 


นี่คือปัญหาของเราทั้งหมด บรรทัดฐานระหว่างประเทศ จริยธรรมระหว่างประเทศมันเริ่มเปราะบาง ปล่อยให้ใครทำอะไรก็ได้ อย่างเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีบุชบุกอิรัก ในปี 2003 ทั้งที่สหประชาชาติไม่ได้ลงมติ ระบบรัฐชาติที่เราจะอิงตามกฎเกณฑ์ ไม่เคยอนุญาตให้คุณมี preemption สงครามโจมตีเพื่อป้องกันตัวเองก่อน


 


แต่ก็เริ่มมีสัญลักษณ์มาเยอะ เช่นการที่สหรัฐฯ ไม่เข้าโตเกียวโปรโตคอลบ้าง อินเดียไม่ยอมเซ็นสัญญาเรื่องทุ่นระเบิดบ้าง มันวุ่นวายแล้ว บรรทัดฐานตรงนี้มันหายไป ถ้าร่มนี้มันแกร่ง แล้วเราอยู่ภายใต้ร่มนี้ คุณก็จะมีสิทธิทะลึ่งทะเล้นได้ภายในกรอบ ซึ่งความเสียหายจะน้อย ดังนั้น อย่าไปห่วงอินเดียมาก การเมืองโลกมันไปในทางเดียวกัน


 


เป็นเพราะอะไร เพราะเรามี hegemony (ประเทศมหาอำนาจทางความคิด) เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นแล้วหรือเปล่า


มันก็เป็นไปได้ว่า คู่แข่งแบบโซเวียตมันจบไป และมันเหลืออยู่เจ้าเดียว แต่ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่า วัฒนธรรมปัจเจกนิยมที่เกิดขึ้น มันน่ากลัวมากกว่า มันทำให้คุณคิดเรื่องเฉพาะหน้า วันนี้ไปข้างนอก เป็นห่วงสิ่งแวดล้อมมากเลย แต่จะไปทิ้งที่ไหนอีกทีนึง วันนี้ถุงก๊อปแก๊ปก็ได้ เพราะฉะนั้นคุณมาพูดเรื่องทิเบต ผู้อ่านบางคนอาจจะบอกว่าห่วงเรื่องคาร์ฟูลกับโลตัส ที่ไหนขายไก่ถูกกว่ากัน อันนี้ผมว่าน่ากลัว นั่นคือสิ่งที่ Ulrich Beck เรียกว่า "risk society" สังคมเสี่ยง อำนาจของรัฐจะห่างเหิน และเพิ่มขึ้น และถึงที่สุด ทำให้คุณมีทางเลือกแบบเฉพาะหน้า และคุณจะต้องอยู่กับมัน


 


การที่อินเดียเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ประเทศในเอเชียก็จะหักหน้าจีน จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในจีนได้บ้าง


เงื่อนไขที่ผมคิดว่า มหาอำนาจจะเล่นงานจีน คือ ทิเบต ซินเจียง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งฝรั่งเก็บไว้หมด แต่ตอนนี้มันก็แหย่ พูดไปเล่นๆ เพราะมันได้ผลประโยชน์อยู่ แต่ถ้าวันหนึ่งเศรษฐกิจจีนไม่ตอบสนองมันแล้ว ซึ่งมีโอกาส เพราะไม่มีที่ไหนที่จะเห็นความรุ่งเรืองอยู่ตลอดเวลา ถ้าเศรษฐกิจตลาดมัน bloom and bust มันต้องล้างตัวมันเองอยู่แล้ว ผมว่าต้องจับตาดูตอนนั้นน่ะ ว่ามันจะมาแบล็กเมลอะไรกับจีนอีก


 


จะใช้คำว่า แบล็กเมล ก็ถูก ในแง่ที่ว่า มันจะไปทำลายความเป็นจีนในหลายเรื่องด้วยกัน แต่ใช้คำว่า แบล็กเมล คงไม่ถูก เพราะในกรณีซินเจียง หรือทิเบต จีนไปกระทำการโหดร้ายต่อผู้อื่นเขาจริง


 


สถานการณ์ในโลกทุกวันนี้มันสับสน จนนักวิชาการบางคนถามผมว่า จะเชียร์จีนดีหรือไม่ ในฐานะที่บั่นทอนอเมริกา ขณะเดียวกันก็ตีหัวทิเบตอยู่ สับสนกับชีวิตจริงๆ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะฉะนั้น ผมว่าที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ขยายความออกมาเถอะ ว่าตรงไหนที่เรารับได้ในความเป็นจีน ตรงไหนที่เรารับไม่ได้ แต่การจะบอกว่าสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องของตะวันตกอย่างเดียว อันนี้ไร้สาระ เพราะจริงๆ แล้วในขงจื้อก็มี พุทธศาสนาก็มี ภัควคีตาก็มี อัลกุรอานก็มี ไม่ใช่แค่ของฝรั่งอย่างเดียว


 


ตรงนี้ทำให้เราเกิดความขัดแย้งในตัวเอง (dilemma)เยอะมาก เพราะถ้าประเทศแบบนี้แข็งขึ้นมา มันก็ดีเพราะสหรัฐฯ ก็โดนบั่นทอน แต่ในแง่หนึ่ง ถ้ามันยิ่งแข็ง มันยิ่งตีหัวคนของมันเองด้วย ไม่เพียงแต่กับทิเบต คนจีนด้วยกันที่วิจารณ์รัฐบาลก็ยังติดคุก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net