Skip to main content
sharethis





14 มีนาคม 2551


 


เอ็นแอลดีเรียกร้องรัฐบาลพม่าชี้แจงรัฐธรรมนูญใหม่ต่อประชาชน


พรรคเอ็นแอลดีของนางอ่องซาน ซูจี ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าชี้แจงถึงรายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อสาธารณชน เพื่อที่ประชาชนจะได้ลงความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการจัดการลงประชามติในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ขณะที่มีรายงานว่า ทางการพม่าได้บังคับประชาชนในรัฐต่างๆรับรองรัฐธรรมนูญฉบัีบใหม่ในการลงประชามติที่จะถึงนี้ โดยข่มขู่ชาวบ้านในจังหวัดท่าขี้เหล็กในรัฐฉานว่า หากไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญของทหารพม่า จะถูกตัดสิทธิต่าง ๆ และจะไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆจากทางการ (Irrawaddy/S.H.A.N)


 


ทางการพม่าวางมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดในรัฐมอญ


ทหารพม่าได้วางกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดตามทางหลวงในมะละแหม่ง เมืองหลวงของรัฐมอญไปยังเมืองเย ทางตอนใต้ของรัฐมอญ โดยวางกำลังทหารประจำแต่ละหมู่บ้านที่อยู่ติดทางหลวงสายดังกล่าว 4 - 10 นาย รวมถึงเจ้าหน้าหน่วยข่าวกรองที่ถูกส่งเข้าไปยังเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ ในรัฐมอญ ด้านชาวบ้านเชื่อว่า ทางการพม่าหวั่นเกรงว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อต้านการลงประชามติที่จะถึงนี้ เนื่องจากเมื่อเร็ว ๆ นี้กลุ่มนักศึกษาในมหาลัยในรัฐมอญ รวมถึงพระสงฆ์และเยาวชนได้แจกจ่ายใบปลิวให้ประชาชนออกมาต่อต้านการลงประชามติของรัฐบาลพม่า (Independent Mon News Agency)


 


 






17 มีนาคม 2551


 


ทางการพม่าเรียกเก็บเงินชาวบ้านในรัฐอาระกันหลังไม่ยอมปลูกถั่วตามคำสั่ง


เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการเกษตรในเมืองมงดอว์ รัฐอาระกัน เรียกเก็บเงินชาวบ้านจำนวน 20,000 จั๊ต(576 บาท) ต่อพื้นที่ 0.40 เอเคอร์ หลังชาวบ้านไม่ยอมปลูกพืชตระกูลถั่วตามที่ทางการสั่ง รวมทั้งเรียกเก็บเงินจากชาวบ้านที่เก็บเกี่ยวผลผลิตพืชตระกูลถั่วไม่ได้ผล นอกจากนี้ ยังข่มขู่ชาวบ้านว่า ถ้าหากไม่จ่ายเงิน จะถูกยึดดินทั้งหมด ด้านชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า เหตุที่ผลผลิตจากพืชตระกูลถั่วไม่ได้ผล เนื่องจากสภาพดินไม่เหมาะสมที่จะปลูกพืชดังกล่าว อีกทั้งทางการพม่าไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ หรือแนะนำวิธีการปลูกอย่างถูกต้องแก่ชาวบ้าน (kaladan)


 


นายกฯ ไทยเยือนพม่ากระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ


นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทยพร้อมนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยือนพม่าเป็นเวลาหนึ่งวัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ โดยนายสมัครกล่าวว่า นายพลอาวุโสตานฉ่วยนั้นเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีและประเทศพม่าเป็นประเทศที่สันติและเป็นเรียบร้อย โดยไทยสนับสนุนการจัดการลงประชามติของรัฐบาลพม่าเต็มที่ และไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรต่อพม่า


 


นายนพดลยืนยันการสร้างเขื่อนท่าซางบนแม่น้ำสาละวินต่อไป ขณะที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนของไทยและนักสิ่งแวดสิ่งล้อม ด้านนายหน่ายวิน โฆษกพรรคเอ็นแอลดีกล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่ควรมองในเรื่องผลประโยชน์ในการทำธุรกิจกับรัฐบาลพม่าเพียงอย่างเดียว (Irrawaddy)


 


 






18 มีนาคม 2551


 


กลุ่มพระสงฆ์พม่าเรียกร้องคว่ำบาตรสอบภาคประจำปี


กลุ่มพันธมิตรพระสงฆ์พม่าออกแถลงการณ์เรียกร้องพระสงฆ์ในพม่า คว่ำบาตรการสอบภาคประจำปีที่ทางการพม่าจะจัดขึ้นในวันที่ 24 ที่จะถึงนี้ เพื่อตอบโต้ที่รัฐบาลพม่าใช้ความรุนแรงต่อพระสงฆ์และผู้เข้าร่วมประท้วงเมื่อเดือนกันยายนของปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประชาชนออกมาคว่ำบาตรรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพม่า ขณะที่พบว่า พระสงฆ์ในย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ปะโคะกู่ ภาคพะโค รวมถึงพระสงฆ์ในรัฐอาระกันได้ร่วมคว่ำบาตรการสอบภาคประจำปี  ขณะที่มีรายงานว่า ทหารพม่าได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดตามวัดต่างๆในกรุงย่างกุ้ง (Irrawaddy)


 


ประชาชนในรัฐอาระกันยื่นจดหมายถึงสหภาพแรงงานสากล


ประชาชนจำนวน 1,600 คนในรัฐอาระกันยื่นจดหมายถึงองค์กรแรงงานสากล(ILO) หลังทางการพม่าจับกุมตัวนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลขของนักเคลื่อนไหวที่ถูกจับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเรียกร้องให้สหภาพแรงงานสากลตอบโต้การกระทำของรัฐบาลพม่าต่อการกระทำดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลพม่าได้ลงนามสัญญาในการร่วมกับสหภาพแรงงานสากลในการร่วมมือแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงาน (DVB)


 


 






19 มีนาคม 2551


 


ผู้ลี้ภัยถูกตัดอาหารหลังค่าเงินผันผวนและการปรับขึ้นราคาสินค้า


 


องค์กรไทยแลนด์เบอร์มาคอมซัลเตี้ยม(TBBC) เปิดเผยว่า องค์กรจำเป็นต้องตัดความช่วยเหลือในด้านอาหารบางส่วน และความช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ แก่ผู้ลี้ภัยตามชายแดนไทย - พม่า เนื่องจากจำนวนเงินช่วยเหลือผู้ลี้ภัยลดลง ประกอบกับการปรับขึ้นราคาของสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะข้าวที่ปรับขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศผันผวน ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำต้องสูญเงินไปกว่า 1 ร้อยล้านบาท


 


ด้านสมาชิกคณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง   (KRC) เปิดเผยว่า การที่เงินช่วยเหลือลดน้อยลงอาจจะทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่มาใหม่ได้ทั่วถึง และอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ลี้ภัยในด้านสุขภาพและการศึกษา อย่างไรก็ตาม TBBC ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและความช่วยเหลือด้านอื่นๆแก่ผู้ลี้ภัยจำนวน 130,000คน จากค่ายผู้ลี้ภัย 7 แห่งมากว่า 24 ปี (Irrawaddy)


 


ที่มา: CHUEM NEWS โดย ศูนย์ข่าวสาละวิน ติดตามสถานการณ์ในพม่าและบทความต่าง ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ www.salweennews.org

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net