Skip to main content
sharethis


มุทิตา  เชื้อชั่ง


 


 


 


รายงานข่าวมลพิษเกินมาตรฐานในมาบตาพุดมีให้เห็นเป็นประจำ ปีแล้วปีเล่ากับพล็อตเรื่องเดิมๆ และอาจเป็นข่าวใหญ่โตได้บ้างหากมีกรณีเฉียบพลัน หรือเสียหายมากเป็นพิเศษ


 


ในนาม "การพัฒนา" บนเส้นทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่ขับเคลื่อนโลกทั้งใบ และกลายเป็นเนื้อหนังมังสาของเราอย่างยากจะปฏิเสธ นี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุด (และยาวนานที่สุด) ที่จะสร้างโมเดลการพัฒนาที่เป็นที่ยอมรับ


 


แผนของรัฐที่จะผุดเวสเทิร์นซีบอร์ด เซ้าเทิร์นซีบอร์ด โรงไฟฟ้า ฯลฯ ได้รับเสียงโห่เกรียวกราวจากชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่ ก็จะให้พวกเขายอมรับได้อย่างไรในเมื่อบทเรียนเลวร้ายยังหลอกหลอน มาบตาพุดยังคงถูกพูดถึงเป็นกรณีตัวอย่างที่การพัฒนาเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ผู้คน ในทุกๆ เวที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ ที่ชาวบ้านเริ่มมีเครื่องมืออย่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือการประสานเครือข่าย แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กันอย่างทั่วถึง


 


ระยองเป็นจังหวัดแรกๆ ที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ โดยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2524 จากขนาด 4,100 ไร่ ขยายจนเป็น 15,745 ไร่


 


นิคมฯ มาบตาพุดยังประกอบด้วย 4 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมหนักทั้งสิ้น 134 โรง (รวมโรงไฟฟ้า 8 โรง (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2550)) แยกเป็น 1.กลุ่มปิโตรเคมี  2.กลุ่มเคมีภัณฑ์และปุ๋ย 3.กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน 4.กลุ่มสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้า 5.กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก 6.กลุ่มเขตธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น โรงกำจัดกากของเสีย 7.กลุ่มเขตท่าเรือ นี่ยังไม่รวมนิคมฯ รอบนอกอื่นๆ และโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 3 ที่จะมีโรงงานขนาดใหญ่ผุดขึ้นอีกสิบกว่าโรง


 


ส่วนชาวบ้านในพื้นที่เริ่มออกมาร้องเรียนปัญหามลพิษกันเป็นระยะ และมาบตาพุดได้รับความสนใจในฐานะ "พื้นที่มลพิษ" ตั้งแต่ปี 2540 ที่มีข่าวเกรียวกราวกรณีนักเรียนโรงเรียนมาบตาพุดพิทยาคารถูกส่งเข้าโรงพยาบาลฉุกเฉินเนื่องจากได้รับกลิ่นเหม็นของสารเคมี และต้องใช้ป้าปิดปาก-จมูก เรียนหนังสือกัน หลังจากนั้นมีการตั้งคณะทำงานจากภาครัฐมาแล้วหลายชุดเพื่อศึกษาและแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญญามลพิษทางอากาศ ซึ่งมีข้อมูลยืนยันล่าสุดจากกรมควบคุมมลพิษว่า พบสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ VOCs หลายชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง สอดคล้องกับสถิติที่ว่าคนที่นั่นเป็นโรคมะเร็งกันมากเป็นพิเศษ


 


หลังจากที่กระแสข่าวมลพิษในมาบตาพุดปะทุขึ้นอีกเมื่อปีที่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องน้ำใต้ดินและผิวดินที่มีสารเคมีปนเปื้อน ชาวบ้าน นักวิชาการ เอ็นจีโอ เรียกร้องให้ "ประกาศเขตควบคุมมลพิษ"ในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนก่อน "โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์" ซึ่งขณะเดียวกันก็นั่งเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้วย ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ด้วยเกรงว่าจะกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน แล้วจัดทำแผนลงมลพิษ 5 ปี พร้อมตั้งอนุกรรมการขึ้น 2 ชุดแทน


 


ที่ผ่านมา แม้โรงงานต่างๆ จะมีการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และกำหนดมาตรการกำจัดของเสียต่างๆ ไว้อย่างดี แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่ามันไม่มีผลอะไร เพราะน้ำเสีย ขยะพิษ อากาศพิษ ยังคงคุกคามพวกเขาอย่างหนักหน่วง และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การประกาศเขตควบคุมมลพิษจึงเป็นความหวังของผู้ที่ได้รับผลกระทบว่าอย่างน้อยก็น่าจะพอนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างจริงๆ จังๆ และน่าจะมีความเป็นไปได้ด้วย เพราะมันไม่ได้ยกเลิกอุตสากหรรมเดิม และไม่ได้ห้ามขยายอุตสาหกรรมใหม่


 


ถึงกระนั้น ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมก็ไม่ต้องการให้เกิด เพราะมันทำให้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงการลงทุนที่สูงขึ้น และหน่วยงานต่างๆ ก็มีส่วนเข้ามาจัดการได้มากขึ้นนอกเหนือจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทั้งในด้านการศึกษา เก็บข้อมูล และการกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากโรงงานต่างๆ นอกจากนี้หากเผชิญกับปัญหารุนแรงเข้าขั้นวิกฤติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ยังสามารถขออนุมัติจาก ครม. ในการใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ ทั้ง


1)  กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน


2)  ห้ามการกระทำหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบ


3)  กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ให้ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)


4)  กำหนดวิธีการจัดการ รวมทั้งขอบเขต หน้าที่ และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน


5)  กำหนดมาตรการอื่นๆ ที่เห็นสมควรและเหมาะสมกับสภาพของพื้นที่


 


ล่าสุด ชาวบ้าน 27 คนจาก 12 ชุมชนรอบนิคมฯ ได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 จากกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ยอมประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ทั้งที่มีข้อมูลอันชัดแจ้งจากหลายหน่วยงานแล้วว่าพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหารุนแรง และทั้งที่ก่อนหน้านี้ในปี 2549 หน่วยงานอย่างสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  กรมควบคุมมลพิษ ก็เคยมีการสำรวจศึกษาและเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษไปแล้วด้วย


 


หลังจากนั้นทางผู้ถูกฟ้องคือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ชี้แจงต่อศาล โดยระบุว่าสาเหตุที่ไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษในมาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียง เพราะปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์  ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศหลักที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม  อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ  และข้อมูลสุขภาพไม่ได้แสดงความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษกับสุขภาพ  ทำให้เหตุแห่งการประกาศเขตควบคุมมลพิษไม่ชัดเจน


 


เมื่อวันที่ 23 ก.พ.51 ที่ผ่านมา ชาวบ้านมาบตาพุดซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ ได้ทำสำนวนคัดค้านการชี้แจงของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยระบุว่า มลพิษมีมากกว่าที่ชี้แจงต่อศาล ตัวที่สำคัญที่ไม่ได้กล่าวถึงคือ VOCs ซึ่งอันตรายยิ่งต่อสุขภาพประชาชนยิ่ง และพบว่ามีปริมาณเกินมาตรฐานอยู่หลายชนิด


 


นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงความล่าช้าของการศึกษาการศึกษาการประเมินผลกระทบคุณภาพอากาศในบรรยากาศด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาศักยภาพการรองรับมลพิษทางอากาศในบริเวณพื้นที่มาบตาพุด เรื่องนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเองได้มีคำสั่งให้ทำตั้งแต่ปี 2541 แต่จนบัดนี้ 10 ปีก็ยังไม่แล้วเสร็จเสียที เมื่อการศึกษาชิ้นนี้ไม่เสร็จภาครัฐก็อ้างเสมอว่าเรื่องมลพิษยังไม่ชัดเจน ขณะเดียวกันก็อนุมัติขยายพื้นที่อุตสาหกรรมไปเรื่อยๆ ทั้งที่ปัญหาเดิมยังแก้ไม่ได้


 


ในคำคัดค้านของชาวบ้าน ยังระบุถึง ความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาของภาครัฐและเอกชน เพราะไม่ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ (2550-2554) ที่เพิ่งกำหนดขึ้น ซึ่งในที่สุดกลายเป็นข้ออ้างในการไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษด้วย โดยยกตัวอย่าง เรื่องโรค "เลื่อน" ที่โรงงานจำนวนมากสามารถเลื่อนการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ไปได้เรื่อยๆ โดยที่ประชาชนไม่มีหลักประกันความมั่นใจใดว่าผู้ประกอบการจะทำจริงจัง และเรื่องจะไม่ซาลงหรือหายไปในที่สุด


 


เรื่องราวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งคดีนี้นับเป็นคดีสำคัญที่มีนัยอย่างยิ่ง ในการจุดสมดุลระหว่างการพัฒนากับสิทธิของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยและสิ่งแวดล้อม


 


เพราะที่นี่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตมโหฬาร และบุกเบิกกันมานาน ถ้าแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ มีต้นทุนมากมายที่คนเล็กคนน้อย ชุมชน สิ่งแวดล้อมต้องแบกรับ ก็ป่วยการที่จะโฆษณาว่าพื้นที่อื่นๆ ที่กำลังจะมี "การพัฒนา" จะดำเนินไปอย่างดี               


 


           


ข้อมูลจาก : กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net