Skip to main content
sharethis


ปาฐกถา ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์


ในงานรำลึก 100 วัน วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์


เวทีวิชาการ "วนิดากับคนจนและการต่อสู้ของคนรากหญ้า: อดีต ปัจจุบัน อนาคต"


15 มีนาคม 2551


 


 


 



 


 


การพูดถึงชุมชนในอดีต ในลักษณะที่คล้ายกับว่าชาวบ้านไทยไม่ค่อยมีความขัดแย้งกัน และด้วยเหตุการณ์นั้นจึงไม่จำเป็นต้องต่อสู้หรือต่อรองอะไรกันมากนัก คล้ายๆ ว่าชุมชนของคนไทยในอดีตอยู่กันมาแบบสมานฉันท์และกลมกลืน ไม่มีความขัดแย้งกันเลย หรือถ้ามีก็น้อยมาก ในความเป็นจริงแล้วผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เมื่อการต่อสู้มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ในที่นี้การต่อสู้ไม่ได้หมายถึงการที่เราต้องเอามีด เอาปืน มาต่อสู้กันตลอดเวลา มนุษย์เราพัฒนาวิธีการหรือกลไกในการต่อสู้ให้สลับซับซ้อนและออกมาในลักษณะที่เป็นสันติวิธีเป็นส่วนใหญ่ นานๆ ครั้งที่มนุษย์เราจะมาต่อยกันหรือว่ายิงกัน แต่ในชีวิตปกติถามว่าเราต่อสู้ต่อหรือรองกับคนอื่นไหม เราต่อสู้ต่อและต่อรองกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา


 


เพราะฉะนั้นถ้าวกกลับไปดูชีวิตคนไทยในอดีต เราจะพบว่าจริงๆ แล้วมันมีความขัดแย้งกันและคนจำเป็นจะต้องต่อสู้กันตลอดเวลา แต่ต่อสู้กันในเชิงวัฒนธรรม ฉะนั้นที่บางท่านพูดว่าคนอีสานค่อนข้างจะมีความสงบและไม่ค่อยลุกขึ้นมาต่อสู้นั้น ในแง่หนึ่งผมคิดว่าคนอีสานรู้จักวิธีการต่อสู้ที่สลับซับซ้อนมาก เพราะพลังสำคัญของสมัชชาคนจนในการทำงานที่ผ่านมาทั้งหมดไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวแค่ไหนก็ตาม ผมว่ามันมาจากพลังของวัฒนธรรมของการต่อสู้ของชาวอีสานเอง


 


ก่อนที่จะมาพูดถึงชาวอีสาน ผมอยากจะยกตัวอย่างให้พี่น้องเข้าใจว่าการต่อสู้ที่สลับซับซ้อนเป็นอย่างไร ในสังคมอินเดีย ซึ่งเป็นสังคมที่มีวรรณะ มีพราหมณ์ มีกษัตริย์ มีแพศย์ มีสูตร และมีจัณฑาล จัณฑาลเป็นคนที่อยู่นอกวรรณะซึ่งไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นวรรณะใดทั้งสิ้น คือคนต่ำสุดในสังคม คนต่ำสุดในสังคมหรือในหมู่บ้านก็ดีเค้าไม่มีโอกาสแม้จะใช้บ่อน้ำในหมู่บ้านเพราะพวกจัณฑาลถือว่าเป็นพวกที่สกปรกซึ่งสกปรกในที่นี้หมายความถึงสกปรกทางพิธีกรรม ไม่ได้หมายความว่าตัวเขาสกปรกจริงๆ ดังนั้นเขาจึงไม่มีสิทธิที่จะใช้บ่อน้ำร่วมกันคนที่มีวรรณะ แต่เขาก็มีสิทธิบางอย่าง เป็นต้นว่า ในหมู่บ้านอินเดียเหมือนหมู่บ้านไทยโบราณที่ไม่มีส้วม ต้องมีที่ในหมู่บ้านสำหรับไปทุ่ง ทุกคนก็จะไปขับถ่ายในพื้นที่นั้น พอถ่ายกันมากเข้าก็สกปรก พวกจัณฑาลก็มีหน้าที่ในการเลี้ยงหมาเพื่อเอาหมาไปเก็บอุจาระของคนในหมู่บ้านบนลานถ่าย คือให้มันไปกิน วันรุ่งขึ้นก็สะอาด คนอื่นๆ สามารถไปใช้ได้


 


การกระทำเช่นนี้ถามว่าเขาถูกบังคับให้ทำหรือ มันก็ไม่เชิงทีเดียว เพราะว่าการกำจัดอุจจาระในลานถ่ายขอหมู่บ้านทำให้จัณฑาลมีสิทธิที่จะได้ข้าว สินค้า และอาหาร จากคนอื่นๆ ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญมากขึ้น ก็มีการทำส้วมกันมากขึ้น และคนที่ไปถ่ายที่ลานนั้นก็น้อยลง บางคนก็จะไม่ให้ข้าวแก่พวกจัณฑาล จัณฑาลก็จะตอบโต้หรือว่าต่อสู้ด้วยการไม่พาหมาออกไปเก็บอุจจาระ คนที่ยังใช้ลานนั้นอยู่ก็เดือดร้อนเพราะเมื่อเข้าไปยังลานนั้นก็พบอุจจาระเรี่ยราดไปหมดและไม่สามารถจะใช้ประโยชน์บนลานนั้นได้ จึงได้มีการเจรจากับคนที่มีส้วมแล้วว่าถึงคุณจะมีส้วมอยู่แต่คุณก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายข้าวให้แก่พวกจัณฑาลต่อไป เพราะคนที่เดือดร้อนเนื่องจากไม่มีส้วมมีจำนวนมากกว่า ทำให้ทุกคนในหมู่บ้านยอมจ่ายข้าวให้แก่พวกจัณฑาลรวมทั้งคนมีส้วม พวกจัณฑาลจึงพาหมาออกมาทำงานต่อไปได้ตามหน้าที่


 


.....การหยุดไม่ให้หมาไปกินอุจาระคือการต่อสู้อย่างหนึ่ง แต่เป็นการต่อสู้ในทางวัฒนธรรม


 


ในบางส่วนของอินเดีย หรืออย่าง "คุชราต" ทางตะวันตกของอินเดีย มีประเพณีว่าเมื่อใดก็ตามแต่ที่คนอื่นกระทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรมแก่เรา เช่น การยืมเงินแล้วไม่ยอมใช้ วิธีต่อสู้ของเค้าคือการเอาเสื่อและกาน้ำไปปูเสื่อหน้าบ้านคนที่เป็นลูกนี้ และอดอาหารกินแต่น้ำในกาอย่างเดียว ใครเดินผ่านไปผ่านมาก็บอกว่าฉันมาอดอาหาร ประทวงคนที่เป็นลูกหนี้แล้วไม่ยอมใช้ มันกระทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรมต่อเราแล้วไม่ยอมใช้ คนทั้งหลายที่อยู่แถวนั้นก็จะว่าคนคนนี้มันไม่ดี เริ่มนินทา เริ่มด่ามัน แล้วคนนั้นรู้ก็จะทนไม่ไหว จำเป็นต้องหาเงินมาใช้หนี้ หรือกระทำการอะไรก็แล้วแต่เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่คนที่มาประท้วง ผมพูดได้เลยว่า คานธี ที่เรารู้จักก็มาจาก คุชราต คือการเอาประเพณีอดอาหารประทวงของคุชราตมาใช้ จึงเห็นได้ว่าการต่อสู้ของคนมันไม่จำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธ ใช้มีดเสมอไป แต่ในทุกวัฒนธรรมมันสร้างกลไก สร้างสถาบัน สร้างวิธีการในการที่เราจะต่อสู้และต่อรองเยอะแยะไปหมด


 


ในชุมชนภาคอีสาน หรือชุมชนไทยโดยทั่วๆ ไป ถามว่าเรามีวิธีการที่จะต่อสู้กับคนมีอำนาจที่กระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อเราหรือไม่ ผมคิดว่ามีมากมาย เริ่มต้นง่ายๆ คือ หนึ่ง การนินทา ซึ่งมันได้ผลในชุมชนที่ยังไม่ได้ใหญ่โตเท่าไหร่ ทุกคนในชุมชนสามารถพบหน้ากันได้ มีตลาดนัดวันจันทร์ อังคารก็แล้วแต่เกิดขึ้นในชุมชน ฉะนั้นใครก็แล้วแต่หรือผู้ใหญ่บ้านที่กระทำการไม่เป็นธรรมต่อเรา เราก็สามารถร่วมกันนินทาผู้ใหญ่บ้านที่ตลาด ซึ่งได้ผลเพราะเมียผู้ใหญ่บ้านก็ได้ยิน หลานผู้ใหญ่บ้านก็ได้ยินก็จะช่วยบอกกันต่อๆ ตัวผู้ใหญ่บ้านก็จะรู้สึกว่าถูกชาวบ้านนินทา นี่คือการต่อสู้ การนินทาก็คือการต่อสู้อย่างหนึ่ง ในที่สุดผู้ใหญ่บ้านที่ครั้งหนึ่งอาจเคยปิดทางน้ำเพื่อผันน้ำเข้านาตัวเองโดยไม่แบ่งคนอื่น ถูกนินทาก็เลิกกั้นทางปล่อยให้นาคนอื่นได้รับน้ำบ้าง


 


ถ้านินทาแล้วไม่ได้ผลทำอย่างไร มีวิอีกหลายอย่างเป็นต้นว่า เราต้องวิ่งไปหาหลวงพ่อที่วัด ขอให้หลวงพ่อช่วยพูดกับผู้ใหญ่บ้านว่าผู้ใหญ่บ้านปิดน้ำไว้ใช้คนเดียวอย่างนี้ไม่ถูกต้อง ต้องแบ่งน้ำให้คนอื่นด้วย หากผู้ใหญ่บ้านเชื่อหลวงพ่อ ผู้ใหญ่บ้านต้องเปิดทางน้ำ


 


ถ้าไม่เชื่อหลวงพ่อจะทำอย่างไร วิธีการสุดท้ายที่คนอีสานใช้มากคือ ช่วยกันกระพือข่าวว่าผู้ใหญ่บ้านแกเป็นปอบ พอทุกคนในหมู่บ้านบอกกันว่าผู้ใหญ่เป็นปอบ ตัวผู้ใหญ่บ้านเองก็อยู่ในหมู่บ้านนี้ไม่ได้ เพราะทุกคนพากันรังเกียจ คำว่า "ปอบ" ของชาวอีสานจริงๆ มันคือการลงโทษทางสังคม เราจะเห็นได้เลยว่าในสังคมคนอีสานสมัยก่อน ไม่ใช่ปัจจุบัน คนที่ถูกบอกว่าเป็นปอบคือคนไม่เอาไหน คนที่ไม่เอาเพื่อน ก็จะถูกลือในหมู่บ้านว่าเป็นปอบและในที่สุดก็จะอยู่ในหมู่บ้านนั้นไม่ได้ ต้องย้ายหนีออกไป เหล่านี้คือการต่อสู้ทั้งสิ้น


 


แล้ววันหนึ่งบ้านเมือง ประเทศไทยก็เปลี่ยนไป จากสมัยก่อนเราอยู่เป็นชุมชน เรามีทรัพยากรใช้ร่วมกันอยู่จำนวนหนึ่ง ทะเลาะกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง และต่อสู้กันบ้าง เช่นผู้ใหญ่บ้านไม่ยอมปล่อยน้ำให้แก่คนอื่นอะไรอย่างนี้ แต่ก็พอจะมีกลไก วิธีการในทางวัฒนธรรมต่างๆ ในการที่จะต่อรองต่อสู้กับอำนาจ แต่เมื่อประเทศไทยเปลี่ยน ชุมชนมันไม่ได้มีอิสระ อยู่อย่างโดดเดียวอีกต่อไปแล้ว เพราะมันมีคนอื่นมาร่วมใช้ทรัพยากรเยอะแยะไปหมด และที่สำคัญก็คือรัฐและทุน ซึ่งรัฐและทุนในที่นี้เป็นหนึ่งเดียวกันเพราะรัฐเป็นพันธมิตรของทุนตลอดเวลา


 


ถามว่าไอ้พวกนี้มันโผล่มาจากไหน โผล่มาจากนิวยอร์ก โผล่มาจากกรุงเทพฯ อเมริกาไม่ต้องพูดถึง โผล่มาจากญี่ปุ่นก็มี เกาหลีก็มี มันไม่ได้อยู่ร่วมกันเปล่าๆ อยู่ๆ มันก็มาบอกว่าเฮ้ย... ไอ้น้ำมูนเนี่ย เอามาทำไฟฟ้าดีกว่าว่ะ เพื่อที่จะทำให้ภาคอีสานตอนล่าง (เขาอ้าง) มีความมั่นคงด้านไฟฟ้า ถึงแม้ว่าจะได้น้อยก็ตาม ก็ยังดีกว่าการปล่อยให้ชาวบ้านจับปลา เราถึงจะต้องสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมูนเพื่อที่จะผลิตไฟฟ้าได้เพียงนิดหน่อยในทุกวันนี้ เพราะว่ามีคนจากข้างนอกเข้ามาแย่งใช้ทรัพยากร


 


ทำยังไงเมื่อถูกแย่งชิงทรัพยากร เราจะไปหาหลวงพ่อได้ไหม ให้หลวงพอสามารถจะไปพูดกับไอ้พวกถ่อยที่เราพูดถึงกันว่าอย่ามาสร้างเขื่อน ให้เค้าหยุดสร้างเขื่อนได้ไหม ไม่ได้ เพราะเขาไม่ฟังหลวงพ่อ เราสามารถจะไปนินทาไอ้พวกถ่อยเหล่านั้นในตลาดให้เกิดประโยชน์ ให้เกิดผลจริงๆ ได้ไหม ก็ไม่ได้ จะกล่าวหาว่ามันเป็นปอบมันก็ไม่เป็นไร มันก็ไม่เดือดร้อน เพราะพวกมันต่างก็เป็นปอบที่กินไม่เลือกหน้าอยู่แล้ว มันก็ไม่เดือดร้อน  


 


สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นก็คือว่า กลไกการต่อสู้ซึ่งเราเคยมีมามันใช้ไม่ได้ในสังคมสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นคนอีสานไม่ใช่ไม่เคยต่อสู้ แต่เราต่อสู้โดยอาศัยกลไกลทางวัฒนธรรมที่เรามีในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม ในการต่อรองกับอำนาจและอื่นๆ อยู่ตลอดมา แต่บ้านเมืองมันเปลี่ยนไปแล้ว มันมีคนแปลกหน้าที่มีอำนาจมากมายเข้ามาใช้ทรัพยากร เข้ามาแย่งใช้ทรัพยากรโดยที่เราไม่สามารถต่อสู้หรือต่อกรกับมันได้เลย


 


ด้วยเหตุการณ์นั้นผมจึงเชื่อว่า ความอ่อนแอของชาวบ้านมาจากการที่เราไม่สามารถใช้อาวุธชุดที่เรามีมาได้ อาวุธที่เรามีมาผมไม่ได้หมายถึงมีดแต่มันคือการนินทาก็ตาม การกล่าวหาว่าเป็นปอบก็ตาม การไปฟ้องกับหลวงพ่อก็ตาม การไม่คบหาสมาคมกับมันก็ตาม ทั้งหมดเหล่านี้คืออาวุธในการต่อสู้ที่เราเคยมีมามันใช้ไม่ได้เลย และตรงนี้แหละครับคือส่วนที่ผมคิดว่า คุณวนิดา หรือ คนอย่างคุณวนิดา (ในที่นี้ผมไม่อยากจะพูดถึงคุณวนิดาว่าเป็นประหนึ่งวีรสตรีเพียงคนเดียวของประเทศ ซึ่งผมคิดว่ายังมีคนอื่นๆ นอกเหนือจากคุณวนิดาอีก) สิ่งที่คุณวนิดาทำก็คือ เข้ามาในช่วงจังหวะที่ประชาชนขาดอาวุธในมือ และคุณวนิดา เอาอาวุธใหม่ๆ มาให้


 


อาวุธแบบใหม่นั้นคืออะไร อาวุธแบบใหม่นั้นคือกฎหมาย คือการประท้วง การจัดองค์กรเพื่อจัดการประท้วงที่ทำให้เกิดผลมากขึ้น การเข้าไปยึดกุมพื้นที่สื่อเพื่อจะทำให้เรามีพลังต่อรองกับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงคนในหมู่บ้านเรา และตรงนี้คือสิ่งคุณวนิดามีบทบาทมากที่สุดในการต่อสู้ร่วมกับคนจน คือเข้ามาเพื่อจะทำให้คนจนมีอาวุธของสังคมสมัยใหม่ในการต่อสู้


 


คุณวนิดาเป็นใคร ในทัศนะของผม ผมเรียกคุณวนิดาว่าเป็นนักเคลื่อนไหว ผมไม่เคยคิดว่าคุณวนิดานั้นเป็นเอ็นจีโอ คุณวนิดาเป็นคนละสายพันธุ์ คนละสปีชี่ส์กันกับพวกเอ็นจีโอ ไม่เหมือนกัน แต่ต่างกันอย่างไรผมจะบอกคราวหลัง แต่ว่าคุณวนิดาเป็นนักเคลื่อนไหว และคุณวนิดาทำให้มีการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของการต่อสู้ต่อรองในสังคมใหม่ ไม่ใช่การต่อสู้ต่อรองในสังคมแบบเดิม ด้วยกลไกลใหม่ของชาวบ้านเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากๆ และสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันขยายวงกว้างออกไปได้ไม่สิ้นสุด ผมว่าอันนี้คือคุณูประการอันสำคัญที่สุด ในการทำให้ชาวบ้านสามารถเรียนรู้การต่อสู้โดยอาศัยกลไกลของรัฐ แล้วในขณะเดียวกันก็ขยายวงกว้างออกไปได้ด้วย


 


คุณวนิดาอาจจะไม่ได้ทำด้วยตนเองก็ได้ โดยสมัชชาคนจนเองมีรูปแบบการจัดองค์กรที่ได้ดึงเอาปัญหาของชาวบ้านที่เดือดร้อนทั้งประเทศมาเชื่อมต่อเข้าหากัน คนที่มาร่วมกับสมัชชาคนจนเองมีหลายกรณีที่เพื่อนร่วมสมัชชาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าปัญหาของเขาคืออะไร แต่ไม่เป็นไร คนที่ได้เข้ามาเชื่อมต่อจะได้เรียนรู้กลไกวิธีการต่อสู้ของสังคมสมัยใหม่ ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ศึกษา แต่คือคนทั้งประเทศเลยก็ว่าได้


 


คุณวนิดา มีคุณูประการอะไรบ้าง ผมคิดว่า ประการที่หนึ่ง คุณวนิดาเข้ามาทำให้เกิดการเรียนรู้โดยการปฏิบัติตาม คือไม่ได้เรียนรู้โดยการทำอย่างที่ผมเป็น นั่นคือ การสอน อันที่จริงสอนมันให้ตายก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ถ้าชาวบ้านหรือนักเรียนที่เรียนกับผมมันไม่เข้าไปทำจริง คนเราจะเรียนรู้อะไรบ้างต้องทำจริง และคุณวนิดาเข้ามาสร้างการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง ถามว่าสอนแบบครูแบบผมนี่มันได้ไหม ได้แต่ช้า ช้าด้วยแล้วก็โง่ด้วย เพราะว่ามันคิดเองไม่เป็น แต่การลงมือปฏิบัติการหลายๆ ครั้งจะทำให้คิดเองเป็น


ผมเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในกลุ่มสมัชชาคนจน ชาวบ้านได้เรียนรู้อะไร ได้คิดอะไรใหม่ๆ โดยคุณวนิดาไม่ได้เป็นคนบอก ไม่ได้ส่งเสริม ในกรณีต่างๆ ที่ชาวบ้านทำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการที่ชาวบ้านเข้าไปล้อมทำเนียบแล้วลงไปอาบน้ำในคลองหลอด ทำให้มันเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ถามว่าแค่นี้มันต้องไปศึกษากันหรือเปล่า มันไม่ต้องเมื่อชาวบ้านรู้ประเด็นแล้วว่าเราต้องยึดกุมพื้นที่สื่อให้มากที่สุดในการเข้าไปต่อสู้กับพื้นที่ในกรุงเทพฯ คิดเอง จะยึดกุมพื้นที่ไว้ได้อย่างไร


 


นี่คือสิ่งสำคัญ คนอย่างพวกผม อย่างอาจารย์วิโรจน์ อาจารย์อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด เรียนหนังสือตั้งสิบกว่าปีในโรงเรียนมีโอกาสจะคิดอะไรน้อยมาก เขาคิดอะไรมาก็คิดไปตามนั้น ระบบการศึกษาต้องไม่ใช่แบบบอกจึงจะทำให้เราคิดอะไรเป็น


 


สมัยก่อนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา พวกเราคงพอจะจำได้ มันมีความพยายามของนักศึกษาในการไปบอกไปสอนประชาธิปไตยให้ชาวบ้าน มีงบมาให้ด้วยเพื่อจะสอนประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยจะสอนได้ก็คือลงมือประท้วงเอง คุณประท้วงเองถือว่าคุณเรียนเลย ประชาธิปไตยสำหรับชาวบ้านเราจะเรียนรู้ได้จริงจากกลางถนน ไม่ได้เรียนได้จากที่ไหนทั้งสิ้น สิ่งที่คุณวนิดาได้ทำไว้ให้คือว่า แนะนำวิธีการสอนประชาธิปไตย  ซึ่งได้ผลเป็นเอกภาพเลยคือ ลงมือปฏิบัติการเองไม่ต้องมีทฤษฎี


 


ประเด็นที่ 2 คือ เท่าที่รู้จักกันมาคุณวนิดาไม่เคยเป็นผู้ตัดสินแทนชาวบ้านเลย เพราะคุณวนิดามีความเคารพต่อความแตกต่าง เพราะว่ามนุษย์โดยพื้นฐานเป็นอยู่แล้ว คุณวนิดาได้แต่เพียงช่วยประเมินให้ฟังว่าช่องทางที่จะทำได้คืออะไรบ้าง ส่วนการตัดสินใจเป็นเรื่องของชาวบ้านเอง ทำอย่างนี้แล้วประเมินตามความคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่จะทำหรือไม่อันนี้ชาวบ้านตัดสินใจเอาเอง นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเข้าไปทำงานกับชาวบ้านแล้วเป็นคนคิดแทนชาวบ้าน นำชาวบ้าน พูดแทนชาวบ้านทุกอย่าง ผมคิดว่าชาวบ้านจะไม่มีวันโต แต่สิ่งที่คุณวนิดาทำ คือ การทำให้ชาวบ้านโตขึ้นด้วยตัวของตัวเอง ซึ่งบางครั้งบางคราวอาจมีความคิดแตกต่างกันเลย ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าความรักที่แท้จริงคือการให้เสรีภาพต่ออีกฝ่าย ความรักไม่ใช่หมายถึงการจะเป็นเจ้าของไปครอบงำคนอื่น ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญมาก


 


ประเด็นที่ 3 ผมคิดว่าเป็นบทบาทที่สำคัญมากคือ งานที่คุณวนิดาจะต้องทำร่วมกับชาวบ้านมันมีมากกว่าอย่างเดียว คุณวนิดาถือเป็นนักเชื่อมโยงสร้างเครือข่ายที่เก่งมาก เมื่อไหร่ก็ตามที่จะเคลื่อนไหวในภาคประชาชน เราก็รู้อยู่ว่าภาคประชาชนของเราอ่อนแอ หรือมีพลังในการต่อรองที่น้อยมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องจับมือกัน และคุณวนิดาเท่าที่ผมเห็นมาเธอเป็นนักเชื่อมโยงเครือข่าย จึงสามารถดึงเอาคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เข้ามาช่วยกันทำงานกว้างขวาง และในแง่นี้เท่าที่ผมสังเกต คนเป็นนักเคลื่อนไหวทั้งหลายที่รู้จักสร้างเครือข่ายได้เก่งหาได้ยากมาก เพราะฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่คุณวนิดาได้เข้าไปร่วมในการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน คุณจะเห็นได้ว่าจะมีปัญญาชน นักเคลื่อนไหว นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน เข้าร่วม แม้แต่เมื่อตอนร่วมกันต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูล คุณวนิดาแอบไปได้ข้อมูลจากทางราชการและคนของ กฟผ.(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) มีข้อมูลบางอย่างใน กฟผ.ที่คน กฟผ.เป็นคนบอกกันคุณวนิดาการสร้างเครือข่ายอย่างนี้สำคัญมากเพราะว่ามันจะทำให้พลังของเราที่มีอยู่น้อยเข้มแข็งมากขึ้นได้


 


เรามีนิมิตหมายที่ผมคิดว่าน่าชื่นใจมากเลยก็คือ เมื่อตอนที่สมัชชาคนจนไปอยู่หน้าทำเนียบ 99 วันอะไรประมาณนี้ จะพบว่ามีเครือข่ายประชาชนจากประจวบคีรีขันธ์ จากโน่นจากนี่ ลงไปหา เอาอาหารเป็นคันรถๆ เทให้ ซึ่งเป็นกล้วยตาก และจากนั้นเป็นต้นมาความเคลื่อนไหวของประชาชนทั้งประเทศไทยพยายามเอื้อมมือมาเกาะกันและกันอยู่ตลอดเวลา


 


ด้วยความที่เกิดเหตุรุนแรงในภาคใต้ ผมกับเพื่อนเองเคยเดินชวนผู้นำสมัชชาชนจนจำนวนหนึ่งไปคุยกับชาวบ้านชาวใต้ที่ปัตตานี ก็พบว่าชาวบ้านในภาคใต้มีความประทับใจในผู้นำชาบ้านเหล่านี้มากเลย ยกตัวอย่างลูกชายของพ่อหลวงจอนิ ชื่อ พฤ ซึ่งเค้าพูดภาษาไทยไม่ชัด ได้ลุกขึ้นมาพูดบรรยายความเดือดร้อนที่รัฐกระทำต่อเค้าและเค้าตอบโต้รัฐอย่างไร ในทัศนะของคนในภาคใต้เข้าพูดภาษาไทยไม่ชัด แต่ชัดกว่า พฤ ครับ แต่ พฤ สามารถพูดทำให้คนเหล่านั้นฟังแล้วน้ำตาไหล ทำไมคนที่พูดภาษาไทยไม่ชัดจึงได้รู้สึกว่าเขาควรจะได้รับสิทธิ มีอำนาในการต่อรองเรื่องอย่างนี้ ทำไมพวกเขาไม่มีบ้าง ผมจำได้ว่าตอนแยกจากกันวันนั้น มีผู้หญิงในภาคใต้ซึ่งตามหลักการในศาสนาอิสลามที่เคร่งครัด เขารัก พฤ มาก เขาเข้ามากอด พฤ ในการที่จะลาจากกัน ซึ่งตามหลักศาสนาอิสลามเขามีข้อห้ามไว้ว่าผิดต่อองค์อันเลาะ แต่ความรู้สึกของเขานั้นคือการเชื่อมโยง ความรู้สึกที่เชื่อมโยงกันในกลุ่มการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และผมคิดว่าปรากฏการณ์อย่างนี้คุณมดมีส่วนเยอะมากในการทำให้มันเกิดขึ้น ในการทำให้คนจน คนเล็กคนน้อยในประเทศไทยยื่นมีเข้ามาจับกัน มันถึงจะทำให้เกิดแสงสว่างที่มากขึ้น


 


ประการต่อมา นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่น่าสนในโดยบทบาทของคุณวนิดา ก็คือว่า เมื่อชาวบ้านเติบโตขึ้นมาด้วยบทเรียนแล้ว ดึงเอากลไกการต่อสู้ การจัดองค์กรต่างๆ เข้ามาใช้ในการต่อสู้ ชาวบ้านรู้จักกฎหมายดีมาก มีผู้นำสมัชชาคนจนที่เป็นชาวบ้านจำนวนมากจะท่องจะบอกมาตรานั้นมาตรานี้ ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าไม่ใช่นักกฎหมายแล้ว นักวิชาการก็สู้ไม่ได้ เพราะพวกเขารู้ข้อกฎหมายดี รู้ว่าช่องไหนมีแนวทางที่จะต่อสู้ได้ในทางกฎหมาย วิธีประท้วงทำอย่างไร สิทธิในการประท้วงทำได้แค่ไหน อย่างไร เรียนรู้เป็นอย่างมากเลย เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ก็จะสามารถต่อสู้ในสังคมแบบใหม่ได้


 


สิ่งสำคัญอันหนึ่งที่ผมเห็นพ้อง ก็คือว่าในการทำงานเหล่านี้กับชาวบ้าน ผมพบว่าการจัดองค์กรของชาวบ้านที่คุณวนิดามีส่วนร่วมด้วยนั้น ชาวบ้านแม้ว่าจะเรียนรู้การต่อสู้ในสังคมแบบใหม่ กลไกแบใหม่ก็จริง แต่ก็ดึงเอาวัฒนธรรมเดิมเข้ามาช่วยเสริมด้วย ซึ่งมีความสำคัญมาก เช่น ที่เห็นชัดๆ คือหมอลำ ซึ่งมีส่วนมากในการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน คือเรียกว่าไม่ทิ้งสิ่งเหล่านั้นไป


 


อีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญมากๆ คือ ในกลุ่มสมัชชาคนจนไปดูให้ดี ถามว่าใครบ้างเป็นผู้นำ โอ้โห มีเป็นร้อยเลย เพราะสมัชชาคนจนจะให้ความสำคัญแก่คน แก่บทบาทต่างๆ คนจับปลาเก่งก็มีบทบาทมีความสำคัญ เพราะในบางครั้งบางคราวที่เราไปตั้งแคมป์กันอยู่ที่เขื่อนปากมูลก็ต้องมีคนจับปลามากินกันด้วย เพราะฉะนั้นคนจับปลาเก่งก็มีบทบาท ได้รับการยกย่องว่ามีความสำคัญในการเคลื่อนไหว คนต่างๆ ล้วนแต่มีบทบาทหมด ผู้รู้ในการประกอบพิธีกรรมก็มีบทบาท มีความสำคัญ ซึ่งคิดให้ดีๆ มันเหมือนกับชุมชนโบราณของเรา ในภาคอีสานสมัยก่อนไม่ใช่เฉพาะแต่เพียง "กั้ง" คนเดียวจะที่จะเป็นพระเอกในชุมชน ในชุมชนอีสานชาวบ้านจะให้ความสำคัญกับคนเยอะแยะมาก ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นในสมัชชาคนจน


 


คุณวนิดา ไม่เคยตั้งผู้นำ ไม่เคยปั้นผู้นำมาเชิดอย่างที่กลุ่มบางกลุ่มชอบไปสัมมนากับชาวบ้านเพื่อจะปั้นผู้นำบางคนแล้วตัวเองก็อยู่หลังผู้นำ ที่คุณวนิดาพยายามจะทำคือให้ชาวบ้านสามารถลุกขึ้นมายืนเหนือ และมีความสัมพันธ์แตกต่างหลากหลายค่อนข้างมาก ซึ่งตรงนี้จะทำให้ชาวบ้านมีการเคลื่อนไหว มีพลังต่อไปในอนาคตได้


 


ประการสุดท้ายที่จะพูดถึง คือ ในการทำงาน คุณวนิดาคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านมาก มากจนเหมือนว่าเป็นหนึ่งในชาวบ้านทั่วไป ผมคิดว่าวิถีชีวิตของคนชั้นกลางในเมืองกับชาวบ้านมันไม่เหมือนกัน มันแตกต่างกันมากเสียจนในขั้นว่ายากที่ชนชั้นกลางจะได้รับความไว้วางใจอย่างเต็มที่จากชาวบ้าน ถ้าคุณไม่สามารถใช้วิถีชีวิตอย่างเดียวกับชาวบ้านได้ ยกตัวอย่างตัวผมเอง ถ้าผมมาทำแบบคุณวนิดาถามว่าทำได้ไหม ไม่ได้ครับ เพราะประการที่หนึ่งผมไม่ยอมกินปลาร้า แต่ตอนนั้นคุณวนิดากินได้หมดทุกอย่าง และก็อยู่ตามแบบที่ชาวบ้านเขาอยู่กัน สิ่งที่สำคัญสองอย่างที่เกิดคือ หนึ่ง คุณวนิดาได้รับความไว้วางใจอย่างที่ชนชั้นกลางจะไม่สามารถได้รับจากชาวบ้านได้ง่ายๆ สอง ผมคิดว่ามีความสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ในการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ของสมัชชาคนจนมันมีข้อที่น่าสนใจมาก สมัชชาคนจนแสดงวิธีชีวิตของคนจนหรือของชาวบ้านออกมาในเมืองกรุงเทพฯ อย่างเปิดเผยไม่ปิดบัง ในส่วนนี้ผมคิดว่าคุณวนิดามีส่วนสร้างให้ชาวบ้านมีความมั่นใจในตนเอง มีความมั่นใจในวิถีชีวิตของตนเอง


 


เมื่อวานที่อาจารย์สุลักษณ์ (ศิวรักษ์) พูดถึงคุณหน่อย จินตนา (แก้วขาว) และคุณกรณ์อุมา (พงษ์น้อย) ว่าสองคนนี้เขามีกึ๋น ผมก็ไมรู้ว่ากึ๋นของคุณสุลักษณ์หมายถึงอะไร แต่สำหรับผม กึ๋นหมายถึงความเป็นตัวของตัวเอง กล้าเป็นตัวของตัวเอง ฉะนั้น การที่สมัชชาคนจนไปอยู่อย่างที่ฉันเคยอยู่มาโดยไม่เกิดความอาย นี่เป็นศักดิ์ศรีที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่ผมคิดว่าชาวบ้านกล้าเป็นตัวของตัวเองต่อหน้าชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ


 


และจุดนี้ผมคิดว่าเป็นจุดที่มีความสำคัญที่คุณวนิดาอยู่มาแล้วทำให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจในความเป็นตัวของตัวเอง ผมมีเพียงเท่านี้ ขอบคุณมากครับ...


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net