Skip to main content
sharethis

 



 



 



 


 


ป่าสักทอง ที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี บอกว่าไม่มีแล้ว


จะถูกน้ำท่วมทั้งหมด 24,000 ไร่ จากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ทั้งหมด ประมาณ 60,000 ไร่


 


 


จากกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมชี้แจงนโยบายของรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยตอนหนึ่ง ได้พูดถึงระบบชลประทานว่า เขื่อนในประเทศไทยที่มีอยู่เดิมเป็นประโยชน์มาก ดังนั้นโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจึงจะจำเป็น เพราะช่วยกักเก็บน้ำได้ถึง 1.2 พันล้านลูกบาศก์เมตร และยังช่วยป้องกันน้ำท่วมด้วย


 


ทั้งนี้ ในความตอนหนึ่ง นายสมัครได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา การสร้างเขื่อนถูกปลุกระดมขัดขวางโดยเอาเรื่องไม้สักทอง 500 ต้นมาอ้าง ทั้งที่ตอนนี้ต้นสักทองเหล่านั้นไม่มีเหลืออยู่แล้ว นั้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่ ส่งภาพล่าสุดของป่าสักทองมาเพื่อยืนยันการมีอยู่ ของป่าสักทองในพื้นที่จังหวัดแพร่


 


นายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า เปิดเผยว่า ทางกลุ่มราษฎรรักษ์ป่าประชุมหารือเป็นที่เรียบร้อยแล้วและจะดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างถึงที่สุด โดยจะเดินทางเข้าพบนายสมัคร และนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องดังกล่าวให้เร็วที่สุด หากรัฐบาลยังดึงดันที่จะสร้างต่อ ก็จะประสานความร่วมมือไปยังภาคีเครือข่ายทั้งสมัชชาคนจน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ เพื่อจับมือต่อต้านโครงการดังกล่าว


 


ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่ลำน้ำยมทั้งหมด ขณะนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการคลังและธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เพื่อศึกษาเรื่องการฟื้นฟูป่าต้นน้ำตลอดทั้งสาย และจะตั้งให้แม่น้ำยมเป็นแม่น้ำตัวอย่างในการศึกษาอีกด้วย เนื่องจากแม่น้ำสายหลักทั้งแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง และแม่น้ำน่าน ต่างมีการสร้างเขื่อนขึ้นแล้ว แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งได้ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา แต่การที่นายกฯ ออกปากปัดฝุ่นโครงการแก่งเสือเต้นชาวบ้านก็ยอมไม่ได้เช่นกัน


 


นายประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี คณะกรรมการชาวบ้าน บ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า สำหรับปัญหาเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดแพร่และจังหวัดใกล้เคียง เช่น สุโขทัย พิษณุโลก ที่ได้รับผลกระทบนั้น ก็มีวิธีการแก้ไขปัญหาสามารถทำได้หลายทางเป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนอีกด้วย ทั้งการทำแก้มลิม ทางเบี่ยงน้ำ อ่างน้ำขนาดเล็ก ทั้งนี้ในหลายพื้นที่เช่น จ.สุโขทัยก็ได้ของบประมาณในการทำถนนทางเบี่ยงน้ำโดยใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 900 ล้านบาท และมีการสร้างประตูกั้นน้ำยม ป้องกันน้ำทะลักออกมาท่วมพื้นที่ราษฎร์ซึ่งก็สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี


 


ในส่วนของจังหวัดแพร่ ได้ดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กตามโครงการป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้งที่ต้องทำทั้งหมด 3 อ่างนั้น ขณะนี้ก็แล้วเสร็จไปแล้ว 1 อ่าง จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดสามารถหาทางแก้ไขอื่นได้ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมา


 


"หากนายกฯยังดึงดันที่จะมีการสร้างเขื่อนดังกล่าวจริง ชาวบ้านในพื้นที่ก็จะมีการลุกขึ้นมาคัดค้านให้ถึงที่สุดเหมือนในอดีต เพราะไม่ต้องการให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ และการสร้างเขื่อนยังมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากตัวเขื่อนตั้งอยู่ใกล้กับแนวรอยเลื่อนแพร่และโครงการดังกล่าวยังแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เพียง 8%เท่านั้น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย และปัจจุบันปัญหาต่างๆ ก็ได้สงบและสามารถแก้ไขได้ด้วยดีแล้ว" นายประสิทธิพร กล่าว


 


 


 


 


ที่มาบางส่วน : เว็บไซต์คมชัดลึก


 


อ่านข่าวย้อนหลัง :


 


"หาญณรงค์" โต้ "ดุสิต ศิริวรรณ" แก่งเสือเต้นไม่ได้แก้น้ำท่วม


"หาญณรงค์"โต้ "บรรหาร" หนุน แก่งเสือเต้น: "มีแต่ความเชื่อ แต่ไม่ดูความจริง"


สัมภาษณ์ : หาญณรงค์ เยาวเลิศ "ถึงเวลาที่ธรรมชาติเริ่มทวงคืน"


คนสะเอียบเปิดงานวิจัยยันคุณค่าผืนป่าสักทอง กันรัฐปลุกผี "แก่งเสือเต้น"


พิธีบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ ประเพณีชาวสะเอียบ ปกป้องรักษาป่าสักทองผืนสุดท้าย คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น


จดหมายเปิดผนึก : เหตุผลที่ไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอุทยานแห่งชาติแม่ยม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net