Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์โดย : องอาจ เดชา


 


 


"ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และถือได้ว่าเป็นนักวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่นในขณะนี้ ล่าสุด กำลังลงพื้นที่ทำงานวิจัยภายใต้ชื่อ "การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจในท้องถิ่น" โดยได้เลือกพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน เป็นพื้นที่เป้าหมายในงานวิจัยชุดนี้ เนื่องจากเห็นว่า เป็นพื้นที่ที่มีพัฒนาการและจุดเปลี่ยนทางโครงสร้างการเมืองท้องถิ่นได้ชัดเจนที่สุด


 


ล่าสุด "ประชาไท" มีโอกาสร่วมลงพื้นที่วิจัยและได้สัมภาษณ์ "ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์" ว่าด้วยการกระจายอำนาจกับโครงสร้างการเมืองท้องถิ่น...อำนาจและผลประโยชน์ตกอยู่ที่ใคร !? มานำเสนอที่นี่


 



จุดเปลี่ยนของการเมืองท้องถิ่น คือ "การกระจายอำนาจ"


เพราะถือว่าการจัดโครงสร้างรัฐใหม่ครั้งนี้ เป็นการพลิกแผ่นดินใหม่


ในแง่ที่ว่า อำนาจรัฐไทยเปลี่ยนจากรวมศูนย์มาสู่กระจายอำนาจ


ซึ่งเป็นการกลับแหล่งของความชอบธรรมทางอำนาจชนิดขั้วตรงกันข้าม


 



"การเมืองระดับท้องถิ่น" ก่อนการกระจายอำนาจ


ก็คือการเมืองของชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐในแบบ "โรงละคร"


คือมีตัวละครมาแสดงให้ดู


แต่การกระทำของตัวละครเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น


 



ไม่แปลกอะไรที่การเมืองเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน


จึงกลายเป็นการเลือกตั้งอย่างเดียว และเฉพาะช่วงการรณรงค์หาเสียงเท่านั้น


 



สิ่งที่เรียกกันว่า "ระบอบทักษิณ" คือการเข้ามาสร้างเครือข่ายอย่างเป็นระบบ


เขาทำได้เพราะเขาอ่านการเมืองท้องถิ่นของไทยแบบ "อ่านขาด"


จนสามารถสถาปนาอำนาจทางการเมืองในระดับชาวบ้านได้อย่างมั่นคง เป็นระบบ


 



แต่บทบาทของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นมันไม่ได้ง่ายๆ แบบเดิมแล้ว


เพราะมันต้องทำให้ชาวบ้านมากขึ้น ไม่งั้นเขาก็จะไม่เลือก มันจะวิ่งเข้าหาข้าราชการแบบเดิมไม่ได้แล้ว


มันก็ต้องวิ่งเข้าหาพรรคการเมือง


เพื่อที่จะได้รับความมั่นคงในเชิงนโยบาย งบประมาณ ข้อบัญญัติต่าง


 



การเมืองท้องถิ่นหลังระบอบทักษิณ ได้เปลี่ยนจากการเมืองแบบโรงละคร


มาสู่การเมืองแบบผลประโยชน์ที่จับต้องได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น


เพราะเท่ากับดึง "การเมือง" "อำนาจรัฐ" "นโยบาย" "กฎหมายและข้อบัญญัติ"


มาเข้าใกล้กับชาวบ้านมากขึ้น


 



คุณสมัครน่าจะเป็น The Last Samurai ในโครงสร้างอำนาจเก่า


ที่ดำรงอยู่ในจินตนาการของชาวบ้าน ที่ซ้อนทับกันอยู่กับผลประโยชน์ที่จับต้องได้ของการเมืองใหม่


การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จึงไม่ได้อยู่ที่คุณสมัคร


แต่อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงใน "โครงสร้างอำนาจเก่า" นั่นเอง


 



ประชาธิปไตยในกระบวนการเลือกตั้ง มันคือเรื่องผลประโยชน์


 



การพัฒนาประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นสำคัญที่สุด


และแทบจะเป็นทางออกเดียวของการเมือง "เพื่อชาวบ้าน" จริงๆ


สำหรับสถานการณ์การเมืองไทย


 


๑๐


ทำอย่างไรจะให้ชาวบ้านหรือภาคประชาชนเป็น "อำนาจนำ" ในท้องถิ่นได้


และเมื่อใดที่เป็นอำนาจนำได้ เมื่อนั้นก็เข้ามามีบทบาทในการเมืองท้องถิ่นได้


อำนาจนำไม่จำเป็นต้องไปนั่งบริหาร


 แต่เป็นอำนาจที่ตรวจสอบได้ เสนอนโยบายได้ และกดดันต่อรองได้


 


 


 


000


 


 


 


 


 


 


ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์


คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 


อยากให้เล่าที่มาที่ไปของงานวิจัยเรื่อง "การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจในท้องถิ่น" ที่กำลังดำเนินการตอนนี้ ?


งานวิจัยเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่นที่ทำอยู่นี้ เรียกว่าเป็น lifetime research ก็ว่าได้ เพราะดิฉันสนใจการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับท้องถิ่นมาโดยตลอด จริงๆ แล้วเป้าหมายใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การเมืองท้องถิ่นโดยตัวของมันเอง แต่อยู่ที่การอธิบายการเมืองระดับชาติผ่านทางการเมืองในระดับท้องถิ่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจในท้องถิ่น


 


การเมืองในระดับท้องถิ่นที่ว่านี้ หมายถึงการเมืองทั้งของการเลือกตั้ง และการเมืองนอกระบบเลือกตั้ง เกี่ยวพันทั้งกับนักการเมืองระดับชาติและนักการเมืองในท้องถิ่น แต่เป็นการเมืองที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง พูดอีกอย่างคือดูพื้นที่ที่เป็นหน่วยในการวิเคราะห์


 


การทำความเข้าใจการเมืองไทยนั้น มองได้จากหลายแง่มุม แต่ดิฉันเลือกแง่มุมจากท้องถิ่น เพราะเชื่อว่าเป็นการเมืองระดับที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากที่สุด เป็นทั้งการเมืองในชีวิตประจำวัน การเมืองของการเลือกตั้ง และการเมืองนอกระบบ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ พื้นที่ก็มีทั้งเขตตัวเมืองและเขตชนบท


 


 


ดูโดยรวม งานวิจัยของอาจารย์จะเน้นไปที่การเมืองท้องถิ่น ?


งานวิจัยที่กำลังทำอยู่ในระหว่าง 2-3 ปีนี้ เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงการเมืองในระดับท้องถิ่นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญคือการกระจายอำนาจที่จะพลิกเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองท้องถิ่นไป การกระจายอำนาจนี้ ดิฉันถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐไทยเลยทีเดียว


 


งานวิจัยที่ผ่านมาเมื่อปีที่แล้ว (2550) ได้ทุนสนับสนุนจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นงานกรณีศึกษาในจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน (อ่านรายละเอียดงานวิจัยดังกล่าว จากนสพ.บางกอกโพสต์ และ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ)


 


ส่วนงานวิจัยที่กำลังทำอยู่นี้ โครงการหนึ่งเป็นการประเมินการกระจายอำนาจว่าส่งผลอย่างไรต่อท้องถิ่น โดยจะเน้นผลที่มีต่อโครงสร้างทางอำนาจทางการเมืองในท้องถิ่น ได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมวิจัยแห่งชาติ ผ่านทางจุฬาฯ


 


และอีกโครงการหนึ่งเป็นการวัดระดับความเป็นประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นโครงการย่อยหนึ่งในโครงการเฝ้าติดตามประชาธิปไตยไทย (Thailand Democracy Watch, TDW) ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


 


โดยคำถามหลักๆ คือ โครงสร้างการเมืองในระดับท้องถิ่นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นส่งผลให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยไปอย่างไรบ้าง


 


 


อยากให้ช่วยวิเคราะห์ "การเมืองท้องถิ่น" ในช่วงก่อนระบอบทักษิณจะเข้ามามีบทบาท ?


คำถามนี้ใช้ "ระบอบทักษิณ" เป็นจุดศูนย์กลางในการอธิบายจักรวาลเลย ซึ่งดิฉันไม่ได้เริ่มจากระบอบทักษิณ แต่ไปๆ มาๆ มันก็กลายเป็นอันเดียวกันจนได้ด้วยเงื่อนไขของเวลา


 


จุดเปลี่ยนของการเมืองท้องถิ่นของดิฉันคือ "การกระจายอำนาจ" เพราะถือว่าการจัดโครงสร้างรัฐใหม่ครั้งนี้ เป็นการพลิกแผ่นดินใหม่ ในแง่ที่ว่า อำนาจรัฐไทยเปลี่ยนจากรวมศูนย์มาสู่กระจายอำนาจ ซึ่งเป็นการกลับแหล่งของความชอบธรรมทางอำนาจชนิดขั้วตรงกันข้าม


 


ซึ่งพูดถึงประเด็นนี้แล้ว ขอให้จับตาดูกันต่อไป แหล่งที่มาของความชอบธรรมทางอำนาจของรัฐไทยอยู่ที่ไหน และการเปลี่ยนแปลงนี้เองที่จะเป็นตัวบ่งชี้อันหนึ่งว่า แหล่งชอบธรรมใหม่จะไปอยู่ที่ใด ในอนาคตข้างหน้า หากมีการเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกแผ่นดินอีกครั้ง


 


อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การกระจายอำนาจเป็นการลิดรอนอำนาจของระบบราชการในระดับท้องถิ่นไปอย่างมาก ที่สำคัญที่สุดของการกระจายอำนาจ คือ ทำให้เกิดประชาธิปไตยระดับรากหญ้าครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ แม้ว่าจะจำกัดเฉพาะประชาธิปไตยในโครงสร้างก็ตาม แต่การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้นำการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญเข้าสู่ท้องถิ่น


 


ดังนั้น การเมืองก่อนและหลังการกระจายอำนาจจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และนั่นคือผลของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันที่เปิดให้พรรคไทยรักไทยเข้ามามีอำนาจอย่างเข้มแข็ง อันเป็นที่มาของระบอบทักษิณที่เราเรียกกัน


 


หากจะตอบคำถามว่า การเมืองท้องถิ่นก่อนการกระจายอำนาจเป็นอย่างไร ดิฉันได้พูดไว้หลายที่แล้วคือ เป็นการเมืองที่หยุดนิ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง อยู่ในสภาพของรัฐที่รวมศูนย์แต่ไร้ประสิทธิภาพ เอาเข้าจริงๆรัฐก็เข้าถึงประชาชนรากหญ้าน้อยมาก คือรัฐเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ในแง่ผลประโยชน์ที่เห็นชัดๆ จับต้องได้นั้นน้อยมาก เพราะรัฐไม่ได้ให้บริการประชาชนสักเท่าไร โผล่มาอีกทีก็คือมีโครงการที่ตัดสินใจโดยรัฐแล้วไปกระทบกับการใช้ทรัพยากรของชาวบ้าน จนชาวบ้านเดือดร้อน และกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่


 


ผลของราคาสินค้าเกษตรที่ไปกระทบกับชาวบ้านก็ไม่ได้เป็นนโยบายที่ทำเพื่อชาวบ้าน การอพยพแรงงานก็ไม่ใช่เป็นนโยบายที่ทำเพื่อชาวบ้าน เหมือนๆ กับชาวบ้านก็อยู่ไปรอบนอก "การเมือง" "อำนาจรัฐ" "นโยบาย" เป็นเรื่องไกลตัวมากๆ


 


มีอยู่เรื่องเดียวที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านโดยตรงชัดๆ และสม่ำเสมอ คือการไปลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้งนักการเมืองระดับชาติ ย้ำว่านักการเมืองระดับชาติ จึงไม่แปลกอะไรที่การเมืองเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน จึงกลายเป็นการเลือกตั้งอย่างเดียว และเฉพาะช่วงการรณรงค์หาเสียงเท่านั้น ซึ่งคนกรุงเทพฯชอบไปด่าว่าพวกเขาขายสิทธิ์ขายเสียงกัน ก็ถ้าไม่ขายจะเก็บเอาไว้ทำไมสิทธิ์ที่ไม่ให้ผลประโยชน์อะไรเลย ขายเสียไม่ดีกว่ารึ


 


พูดอีกอย่างหนึ่ง "การเมืองระดับท้องถิ่น" ก่อนการกระจายอำนาจ ก็คือการเมืองของชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐในแบบ "โรงละคร" คือมีตัวละครมาแสดงให้ดู แต่การกระทำของตัวละครเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น มีก็แต่ให้ความฝันให้จินตนาการว่ามีความเกี่ยวโยงกับตัวละครเหล่านั้นอยู่บ้าง คือ มีพรรคพวกของตัวเองเข้าไปอยู่ในอำนาจรัฐ ผ่านการเลือกตั้ง ทีนี้ไอ้การเมืองแบบโรงละครนี่เองที่บทบาทตกไปอยู่กับคนจัดการละคร ที่เป็นคนกลางระหว่างชาวบ้านกับอำนาจรัฐ ก็คือพวกเครือข่ายผู้มีอิทธิพลที่เข้าไปมีบทบาทผูกพันกับชาวบ้านในชีวิตประจำวัน ให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเขามีพรรคพวกที่พึ่งพาได้ แต่เมื่อคนที่ชาวบ้านเลือกเข้าไปอยู่ในอำนาจรัฐแล้วจะไปทำอะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


 


การเมืองแบบนี้ ก็คือ "การเมืองที่มีผู้มีอิทธิพล" หรือ "เจ้าพ่อท้องถิ่น" เป็นตัวกลางระหว่างอำนาจรัฐที่รวมศูนย์กับชาวบ้าน การเมืองแบบนี้เป็นการเมืองที่นักการเมือง ข้าราชการ และนายทุน ได้ประโยชน์โดยอาศัยซึ่งกันและกัน มีชาวบ้านเป็นฐานเสียง แต่ไม่ได้อะไรที่จับต้องได้เลย...ยกเว้นเงินตอนเขามารณรงค์หาเสียง...เรื่องนี้ อ.เกษียร เตชะพีระ ได้สรุปงานของดิฉันช่วงก่อนการกระจายอำนาจไว้ชัดเจนดีมาก


(ดู http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2003q4/article2003dec26p4.htm)


 


 


แล้วระบอบทักษิณ ได้สลายขั้วอำนาจเดิม-สร้างอำนาจใหม่ ให้กับการเมืองท้องถิ่นที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง ?


ดิฉันเคยไม่ชอบคำนี้ (ระบอบทักษิณ) และไม่คิดว่ามีอยู่จริง จนมาลงพื้นที่ทำวิจัย และเพิ่งได้เห็นสิ่งที่เรียกกันว่า "ระบอบทักษิณ" คือการเข้ามาของพรรคไทยรักไทย ที่เริ่มสร้างเครือข่ายอย่างเป็นระบบ เขาทำได้เพราะเขาอ่านการเมืองท้องถิ่นของไทยแบบ "อ่านขาด" จนสามารถสถาปนาอำนาจทางการเมืองในระดับชาวบ้านได้อย่างมั่นคง เป็นระบบ


 


แต่ที่ว่า อย่างมั่นคง และ เป็นระบบ นี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มี "การกระจายอำนาจ" เป็นเงื่อนไขสำคัญ มันคล้ายๆ กับว่า ระบอบทักษิณมาไฮแจ็คกระบวนการกระจายอำนาจให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง พูดแบบนั้นก็จะเป็นการให้เครดิตไทยรักไทย และดูถูกพลังทางสังคมอื่นๆ มากไปหน่อย


 


ดิฉันคิดว่า การกระจายอำนาจมันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างโครงสร้างใหม่ และช่วงของการเปลี่ยนผ่าน (transitional period) นี้เองที่ทำให้อะไรๆ มันเด่นชัดขึ้น เมื่ออำนาจในการจัดการปกครอง (โดยมีเงินมหาศาลตามมาด้วย) ลงมาสู่ท้องถิ่น เมื่อเป็นเช่นนี้ อำนาจนำต่างๆ ในท้องถิ่นก็เริ่มเข้ามาแข่งขันและมีส่วนแบ่งมากขึ้น ในเมื่ออำนาจนำในระดับท้องถิ่นคือเครือข่ายผู้มีอิทธิพลที่ดำรงอยู่มาช้านาน เครือข่ายผู้มีอิทธิพลก็ปรับตัวได้ก่อนและเข้ามามีบทบาทในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและเข้ามามีตำแหน่งในองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับต่างๆ


 


แต่บทบาทของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นมันไม่ได้ง่ายๆ แบบเดิมแล้ว เพราะมันต้องทำให้ชาวบ้านมากขึ้น ไม่งั้นเขาก็จะไม่เลือก มันจะวิ่งเข้าหาข้าราชการแบบเดิมไม่ได้แล้ว มันก็ต้องวิ่งเข้าหาพรรคการเมืองเพื่อที่จะได้รับความมั่นคงในเชิงนโยบาย งบประมาณ ข้อบัญญัติต่าง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็ไม่พ้นพรรคไทยรักไทย


 


มองจากมุมของพรรคไทยรักไทย การจะสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคอย่างทั่วถึงในระดับรากหญ้า มันก็ไม่พ้นต้องวิ่งเข้าหาเครือข่ายผู้มีอิทธิพลเช่นเดียวกัน


 


แต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น พรรคไทยรักไทย และชาวบ้านมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว จึงเกิดสิ่งที่คุณพยายามจะเรียกว่า "สลายขั้วอำนาจเดิม สร้างอำนาจใหม่"


 


มันสลายขั้วอำนาจเดิมอย่างไรหรือ ก็คือ การกระจายอำนาจที่ลิดรอนอำนาจข้าราชการในท้องถิ่น และเพิ่มอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่น พวกผู้มีอิทธิพลสายที่อิงอยู่กับข้าราชการก็ย่อมต้องลดความสัมพันธ์ลงไป นักการเมืองท้องถิ่นที่ปรับตัววิ่งเข้าหาพรรคไทยรักไทยไม่ทัน หรือพรรคไทยรักไทยไม่เอา ก็อ่อนแอลงเป็นธรรมดา ขณะเดียวกันเมื่ออำนาจต่อรองของชาวบ้านมีมากขึ้นด้วยการผ่านระบบเลือกตั้ง ผู้นำท้องถิ่นที่สามารถเข้ากับการเลือกตั้งและเสนอทางเลือกที่ดีให้ชาวบ้านได้ก็ย่อมมีบทบาทมากขึ้น


 


แต่สิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณที่เป็นปรากฏการณ์ระดับชาติ เน้นภาคเหนือกับภาคอีสาน ก็คือการทำให้เครือข่ายของขั้วอำนาจใหม่ที่เข้ามาอยู่ในองค์กรปกครองท้องถิ่นนี้มันมั่งคงและเป็นฐานเสียงสำคัญ ก็ด้วยการสนับสนุนงบประมาณและเงินอุดหนุน จนกลายเป็นเอาระบบการปกครองท้องถิ่นมาเป็นระบบการสร้างฐานคะแนนนิยมให้กับพรรคไทยรักไทยได้อย่างชัดเจนและเป็นระบบ


 


การเมืองท้องถิ่นจึงได้เปลี่ยนจากการเมืองแบบโรงละคร มาสู่การเมืองแบบผลประโยชน์ที่จับต้องได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะเท่ากับดึง "การเมือง" "อำนาจรัฐ" "นโยบาย" "กฎหมายและข้อบัญญัติ" มาเข้าใกล้กับชาวบ้านมากขึ้น สลายการเมืองแบบโรงละคร สู่การเมืองที่จับต้องได้มากขึ้น การเมืองท้องถิ่นจึงพลิกโฉมไปเป็นการเมืองแบบกินได้ ที่ผ่านระบบประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง


 


และในสถานการณ์เช่นนี้ ชนชั้นนำในท้องถิ่นได้ผลประโยชน์จากการใช้งบประมาณภาครัฐผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกิดชนชั้นนำทางการเมืองรายย่อยๆ ขึ้นทั่วประเทศ ชาวบ้านธรรมดาก็สามารถมีส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ทางการเมืองได้ หากเข้าไปมีบทบาทในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลประโยชน์นั้นก็แบ่งปันไปยังพรรคพวกญาติพี่น้องอย่างเป็นรูปธรรม ชาวบ้านทั่วๆ ไปก็ต่อรองเอาถนน เอาน้ำใช้ เอาการส่งเสริมอาชีพ มาเป็นเครื่องมือที่จะเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครที่เข้ามาบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


 


นี่ยังไม่ต้องพูดถึงนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยที่ให้การเมืองแบบกินได้ที่เป็นรูปธรรมร่วมกันเข้าไปอีก มันมั่นคงและเป็นระบบจริงๆ


 


 


แล้วหลังจากเกิดรัฐประหาร 19 กันยา จนถึงรัฐบาลที่มาจากเผด็จการทหาร ทำให้ระบบการเมืองท้องถิ่นเปลี่ยนบทบาท เปลี่ยนขั้วมากน้อยเพียงใด?


ผลของการเลือกตั้งที่พรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แสดงให้เห็นแล้วว่า การเมืองท้องถิ่นแบบประชาธิปไตยกินได้นี่มันมั่นคง จนรัฐบาลเผด็จการทหารสั่นคลอนมันได้น้อยมาก คุณจะเอาอะไรมาเสนอแทนผลประโยชน์ที่จับต้องได้หรือกินได้ล่ะ?


 


การรัฐประหารคืออะไร ในภาพรวม อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ คือ เป็นความพยายามดึงอำนาจราชการกลับเข้ามามีบทบาทจากความสูญเสียไปในระบอบทักษิณ ในท้องถิ่นก็เป็นตัวสะท้อนสิ่งนี้เช่นกัน แต่ทำได้ไม่ดีแบบเดียวกับที่เฮงซวยในระดับชาติเหมือนกัน


 


ดิฉันเพิ่งจะได้คุยกับผู้นำท้องถิ่นบางคนมา เห็นได้เลยว่าในพื้นที่ มันมีความพยายามของทหารและสายข้าราชการที่จะปรับตัวเข้ามามีอำนาจคานกับอำนาจของผู้นำในสายของไทยรักไทย มีทั้งข่มขู่ ใช้อุดมการณ์นำ และใช้เครือข่ายชาวบ้านเพื่อที่จะเคลื่อนไหวต่อรอง แต่ก็ทำได้แค่สร้างความขัดแย้งให้มันชัดขึ้น แต่ไม่สามารถสร้างความมั่นคงอะไร เพราะการเมืองท้องถิ่นมันไปถึงผลประโยชน์ที่จับต้องได้แล้ว คุณจะมาขายอะไรฝันๆ แบบเดิมไม่ได้แล้ว


 


ขอหมายเหตุนิดหนึ่ง ประชาธิปไตยในกระบวนการเลือกตั้ง มันคือเรื่องผลประโยชน์ คำว่าผลประโยชน์ไม่ใช่คำในแง่ลบเสมอไป เราต้องใช้ประชาธิปไตยนำในการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ คำถามคือ ผลประโยชน์ที่จะไปถึงชาวบ้านนั้นคืออะไร เป็นเรื่องที่คุณต้องคิด


 


 


มาถึงตอนนี้ อาจารย์มองการเมืองในยุคสมัคร จะทำให้การเมืองท้องถิ่นเปลี่ยนไปในทิศทางไหนบ้าง ?


พูดถึงคุณสมัครแล้วเศร้านะคะ ดิฉันเพิ่งฟังบทสัมภาษณ์คุณสมัครเรื่องกรณีตากใบ กับเรื่อง 6 ตุลา 2519 แล้วอยากร้องไห้ มันทำให้เห็นว่า ขั้วทางอุดมการณ์ของสังคมไทยที่รัฐไทยสถาปนามาโดยตลอดมาเป็นขั้วเดียวจริงๆ จังๆ คือ "ขั้วขวาจัดกษัตริย์นำ"


 


ดิฉันเห็นด้วยกับสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ที่มีคนนำบทความของเขามาเผยแพร่ลงในพลเมืองเหนือ ฉบับ 11-17 ก.พ. 2551 (อ่าน ปีกซ้ายพฤษภา : "สมัคร สุนทรเวช" อีกหนึ่งความภูมิใจของพันธมิตรประชาชนเพื่อการรัฐประหาร) ที่ว่าคุณสมัครคือผลผลิตของการเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อการรัฐประหาร" คือสังคมไทยไม่มีทางเลือกอื่นที่จะต่อสู้กับระบอบทักษิณ นอกจากเอาแนวขวานิยมกษัตริย์เข้ามาสู้ ในเมื่อสังคมไทยไม่มีทางเลือกอื่นก็ต้องยอมรับไว้ก่อน


 


เมื่อคุณสมัครถืออุดมการณ์เช่นนั้นแล้ว ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะทำให้ชนชั้นนำท้องถิ่นสายที่ทำกิจกรรมแบบนี้จะกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง แต่ไม่เชื่อว่าจะมีบทบาทนำแทนสายผลประโยชน์กินได้อย่างชัดเจน คือไม่ถึงขั้นเปลี่ยนขั้วอำนาจได้ เพราะการเมืองท้องถิ่นมันเดินไปไกลเกินกว่าจินตนาการเดิมๆ มันจะใช้ได้ผล


 


เอาอย่างนี้ดีกว่า คุณสมัครน่าจะเป็น The Last Samurai ในโครงสร้างอำนาจเก่า ที่ดำรงอยู่ในจินตนาการของชาวบ้าน ที่ซ้อนทับกันอยู่กับผลประโยชน์ที่จับต้องได้ของการเมืองใหม่ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จึงไม่ได้อยู่ที่คุณสมัคร แต่อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงใน "โครงสร้างอำนาจเก่า" นั่นเอง ระหว่างนี้ถือเป็นการประสานผลประโยชน์รอจังหวะเวลาก็แล้วกัน ไม่คิดว่ามันจะส่งผลสะเทือนในระดับโครงสร้างทางสังคมสักเท่าไร


 


เมืองไทยมีเรื่องให้เศร้าเยอะ อดทนกันอีกนิด ให้กำลังใจกันไปก็แล้วกันว่านี่ The last Samurai แล้วจริงๆ


 


 


อยากให้อาจารย์วิเคราะห์เรื่อง "ระบบเจ้าพ่อ" กับ "เจ้าพ่อในคราบ (เจ้าหน้าที่) รัฐ" ที่เข้ามาทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ชาวบ้าน ?


ถ้าหมายถึงข้าราชการที่ชอบใช้อำนาจแบบเจ้าพ่อ ควรจะหมดยุคไปได้แล้ว คือระบบราชการที่ไม่ให้บริการที่ดีกับประชาชนก็เหลือทนแล้ว ยังมีข้าราชการบางคนตั้งตัวเป็นเจ้าพ่ออีก อันนี้ต้องวางระบบที่ล้างบางคนพวกนี้ เรื่องคอรัปชั่นในระบบราชการนี่ให้คนอื่นพูดบ้างเนอะ


 


แต่ถ้าหมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในองค์กรปกครองท้องถิ่น และเป็นเจ้าพ่อ เป็นผู้มีอิทธิพลด้วยนี่ เป็นเรื่องใหม่ แต่ดิฉันมองว่าคือแนวโน้มที่ดี เราเคยมีเจ้าพ่อภูมิภาคละคน ใหญ่ๆ บิ๊กๆ บวกกับข้าราชการที่นอนกินหัวคิวสบายๆ รอย้ายไปพื้นที่ใหญ่ขึ้นรวยขึ้น ตอนนี้เรามีเจ้าพ่อทุกๆ ตำบล นี่แหละคือการกระจายอำนาจแท้จริง


 


มันคือช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ไปสู่ทิศทางของการพัฒนาประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเป็นเรื่องผลประโยชน์ อำนาจนำที่ครองผลประโยชน์ก็ต้องเข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงสร้างประชาธิปไตยเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ


 


 


อาจารย์มองการเมืองท้องถิ่น ว่ามีความสำคัญอย่างไรบ้าง ? ทำอย่างไรจึงจะทำให้ กลไกการทำงานของ "การเมืองท้องถิ่น" นั้นทำเพื่อชาวบ้าน เพื่อชุมชนของตนเองจริงๆ และทำอย่างไรถึงจะทำให้ การเมืองท้องถิ่น หลุดไปจากวงจรอุบาทว์ เช่น ผู้มีอิทธิพล นักการเมือง และภาครัฐได้ ?


เรื่องนี้สำคัญที่สุด คำถามนี้มีชาวบ้านเป็นศูนย์กลาง ก็ต้องขอฟันธงว่า การพัฒนาประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นสำคัญที่สุด และแทบจะเป็นทางออกเดียวของการเมือง "เพื่อชาวบ้าน" จริงๆสำหรับสถานการณ์การเมืองไทย


 


ทางออกเดียวที่ว่านี้คืออะไร คือการเปิดพื้นที่ใหม่ และเปิดโครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตย ในอุดมคติแล้วคือใครๆ ก็เข้ามามีอำนาจได้ แต่ในทางปฏิบัติมันก็ถูกยึดกุมโดยชนชั้นนำ ซึ่งก็ไม่พ้นนายทุนท้องถิ่น เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลเข้ามาใช้ประโยชน์ เพราะมันคืออำนาจนำในท้องถิ่น ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้ชาวบ้าน หรือภาคประชาชนเป็นอำนาจนำในท้องถิ่นได้ และเมื่อใดที่เป็นอำนาจนำได้ เมื่อนั้นก็เข้ามามีบทบาทในการเมืองท้องถิ่นได้


 


อำนาจนำไม่จำเป็นต้องไปนั่งบริหาร แต่เป็นอำนาจที่ตรวจสอบได้ เสนอนโยบายได้ และกดดันต่อรองได้


 


ตามข้อกฎหมายแล้ว มันมีช่องทางแบบนี้อยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรให้เรามีความรู้เท่าทันแล้วก็เข้ามาใช้ประโยชน์ให้มันตอบสนองกับชุมชนอย่างแท้จริง แหมพูดอย่างนี้แล้วเหมือนดูถูกประชาชนนะคะ ว่าไม่รู้เท่าทัน พูดตรงๆ ก็คือ เราถูกทำให้มองเรื่องการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องน่ารังเกียจเรื่องสกปรก ซึ่งเข้ากรอบการใส่ร้ายป้ายสีโดยระบบราชการเลยล่ะ เราอย่าไปหลงกลเข้ากรอบเดียวกับเขาก็ใช้ได้แล้ว


 


ดิฉันไม่ค่อยกล้าเสนอแนะใคร เพราะว่าตัวเองไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองและไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ที่ชอบเสนอทางออกให้สังคม


 


 


แต่ถ้าหากจำเป็นต้องเสนอ อาจารย์จะเสนอทางออกเรื่องการกระจายอำนาจการเมืองท้องถิ่นในขณะนี้อย่างไรบ้าง ?


อยากให้ผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองมองช่องทางนี้ให้ออก อ่านให้ขาดแบบที่ฝ่ายทุนเขาอ่านขาด เข้าไปใช้ประโยชน์กับมัน แล้วเมื่อนั้นเราจะมองเห็นว่ามันมีโครงสร้างอะไรที่เราต้องออกแบบใหม่ ปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้น


 


อย่าปล่อยให้อำนาจนำเพียงไม่กี่กลุ่มเข้ามาใช้ประโยชน์กันไปอย่างสบายๆ แล้วเรามัวแต่ไปนั่งด่าองค์กรปกครองท้องถิ่น โดยที่ฝ่ายราชการที่ยังคงมีช่องทางครอบงำอยู่ เขาก็ยังอยู่แบบนั้นไป


 


เราต้องอ่านให้ขาดแบบระบอบทักษิณอ่าน แต่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อพรรคหรือกลุ่ม เมื่อเราอ่านขาดแล้วเราจะรู้อย่างแท้จริงว่าเราจะ "ปลดแอก" องค์กรปกครองท้องถิ่นให้เป็นองค์กรของประชาชนได้อย่างไร ขอให้อ่านให้ขาดก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net