Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพประกอบ
: furnari

กระแสความคลั่งไคล้ในเชื้อเพลิงชีวภาพ (bio-fuel หรือเชื้อเพลิงที่ผลิตจากพืชผลทางการเกษตร อาทิเช่น เอธานอล) ยังคงเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่เพราะเชื้อเพลิงประเภทนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นหนทางแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยข้อเท็จจริงแล้ว เชื้อเพลิงชีวภาพจะซ้ำเติมให้ปัญหาเหล่านี้เลวร้ายกว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทรงอิทธิพลที่สุดบนพิภพใบนี้เห็นว่าเชื้อเพลิงชีวภาพคือแหล่งกำไรหอมหวาน กลุ่มอิทธิพลนี้จึงวิ่งเต้นให้รัฐบาลในหลายๆ ประเทศอำนวยประโยชน์ด้วยกฎหมายและเงินอุดหนุน กลุ่มเหล่านี้ประกอบด้วยกลุ่มบริษัทผลิตรถยนต์ (ซึ่งหวังว่าประชาชนจะเปลี่ยนรถใหม่มาใช้พลังงานชีวภาพ) กลุ่มบริษัทน้ำมัน (ซึ่งควบคุมการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดอยู่แล้ว) กลุ่มบริษัทที่ควบคุมการผลิตธัญญาหารในโลก (ซึ่งจะได้กำไรทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้งจากความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพที่เพิ่มขึ้นและจากราคาอาหารที่สูงขึ้น) และบรรษัทข้ามชาติที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม

ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่กำลังจับจ้องธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพตาเป็นมันก็คือ บรรษัทข้ามชาติด้านการทำป่าไม้และเส้นใยเซลลูโลส (เช่น บริษัท Stora Enso, Aracruz, Arauco, Botnia, Ence ฯลฯ) ซึ่งปัจจุบันผลิตวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมกระดาษ แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีเพียงเล็กน้อย บรรษัทเหล่านี้สามารถเปลี่ยนผลผลิตไปเป็นพืชที่ใช้ทำเอธานอลได้ ในทำนองเดียวกัน ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมหัวอาหารของวัวและไก่ เช่น บริษัท Tyson Foods หันมาจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทน้ำมัน (ในกรณีของ Tyson คือการเป็นพันธมิตรกับบริษัทน้ำมัน Conoco-Phillips) เพื่อผลิตไบโอดีเซลจากไขมันสัตว์

เหตุใดบรรษัทข้ามชาติจึงสนใจเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม? ประการแรก เมล็ดพันธุ์เหล่านี้คือผลผลิตที่ครองยอดขายสูงสุดในเมล็ดพันธุ์เชิงพาณิชย์อยู่แล้ว ในปัจจุบัน เมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมทั้งหมดที่ปลูกเชิงพาณิชย์ในโลก อยู่ในเงื้อมมือของบริษัทมอนซานโต (ประมาณ 90%) ซินเจนตา, ดูปองท์, ไบเออร์, ดาว และ BASF ในขณะเดียวกัน บริษัทสามอันดับแรก นั่นคือ มอนซานโต, ซินเจนตาและดูปองท์ เป็นเจ้าของยอดขายเมล็ดพันธุ์จดสิทธิบัตรรวมกันในโลกถึง 44% หากบริษัทเหล่านี้สามารถเจาะตลาดใหม่ที่ "ปรารถนา" เมล็ดพันธุ์จดสิทธิบัตรได้ ก็จะกอบโกยกำไรมากขึ้น และมีอำนาจเหนือเมล็ดพันธุ์ ทั้งที่เป็นห่วงสำคัญในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์และสัตว์ รวมทั้งขยายอำนาจไปสู่ภาคส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญอีกภาคส่วนหนึ่ง นั่นคือ พลังงาน

บรรษัทข้ามชาติทุกบริษัทที่ควบคุมเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมล้วนแล้วแต่ทุ่มลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ ส่วนใหญ่เป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่มีสารให้น้ำมันสูง เช่น น้ำตาลหรือแป้ง แต่เพิ่มเอ็นไซม์และแบคทีเรียดัดแปลงพันธุกรรมเข้าไปในพืชหรือต้นไม้ชนิดนั้น เพื่อทำให้กระบวนการแปรรูปทำได้เร็วขึ้นหลังจากเก็บเกี่ยว

บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้กอบโกยผลประโยชน์มหาศาลพร้อมกับการขยายตัวของเชื้อเพลิงชีวภาพ ยกตัวอย่างเช่น การขยายตัวอย่างรวดเร็วของการปลูกถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะบราซิล รวมทั้งการขยายตัวของข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมในสหรัฐอเมริกา เมื่อพืชเหล่านี้สามารถนำมาใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือในบางกรณีก็ใช้ได้ทั้งเป็นอาหารสัตว์และเชื้อเพลิง บรรษัทข้ามชาติก็มุ่งหวังจะนำเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมชนิดใหม่เข้าสู่ตลาด หน่วยงานด้านอาหารและยาไม่มีทางอนุญาตให้เมล็ดพันธุ์ประเภทนี้ออกสู่ตลาดในฐานะอาหารสำหรับมนุษย์บริโภค แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ เมล็ดพันธุ์เหล่านี้อาจปนเปื้อนสู่พืชและธัญญาหารที่มนุษย์ใช้บริโภค

แต่เหนืออื่นใด บรรษัทข้ามชาติไม่กี่บริษัทที่ครอบงำตลาดเมล็ดพันธุ์ในโลกมีเป้าหมายครอบครองส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่ให้มากขึ้น พร้อม ๆ กับรุกคืบเข้าสู่เกษตรกรรายย่อยที่ใช้เมล็ดพันธุ์เชิงพาณิชย์เพียงจำนวนน้อยหรือไม่ใช้เลย แต่หากเกษตรกรเหล่านี้ติดกับด้วยเหยื่อล่อของการทำเกษตรพันธะสัญญาเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ประชากรกลุ่มนี้ก็จะเริ่มใช้เมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม

เงื่อนไขทั้งหมดกำลังก่อให้เกิดกลุ่มพันธมิตรบรรษัทอันทรงอำนาจกลุ่มใหม่ขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมอนซานโตกับบริษัทดาวเพิ่งลงนามในข้อตกลงผลิตเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งในพืชเพียงต้นเดียวจะมีทั้งภูมิต้านทานยากำจัดวัชพืชถึง 8 ชนิด รวมทั้งผลิตสารที่เป็นยาฆ่าแมลงได้ด้วย นี่แสดงให้เห็นว่า เมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมทำให้เกิดอาการดื้อยากำจัดวัชพืช จึงต้องใช้ยาในปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ และหากเมล็ดพันธุ์นั้นมิได้ปลูกเพื่อการบริโภคของมนุษย์ ก็เป็นไปได้ที่จะมีการใช้ยากำจัดวัชพืชที่เป็นสารพิษในปริมาณมากขึ้นกว่าปรกติ

นอกจากนี้ มอนซานโตยังจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท BASF ด้วยเงินลงทุน 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมชนิดใหม่สำหรับปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้ายและคาโนลา มอนซานโตจับมือกับคาร์กิลล์ก่อตั้งบริษัท Renessen เพื่อผลิตข้าวโพดและถั่วเหลืองจีเอ็มโอสำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพและอาหารสัตว์ สำหรับมอนซานโต การลงทุนทั้งหมดนี้หมายถึงขยายอำนาจผูกขาดของตนออกไป พร้อมกับพยายามเบียดขับบริษัทคู่แข่งที่ไล่หลังมา คือซินเจนตาและดูปองท์ ให้ออกไปจากตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพ

ส่วนดูปองท์ก็จับมือกับบริษัท Bunge (บริษัทด้านอาหารธัญพืชที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก) ก่อตั้งบริษัท Treus เพื่อผลิตข้าวโพดและถั่วเหลืองจีเอ็มโอป้อนแก่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ รวมทั้งจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทบริติชปิโตรเลียม (บีพี) ผลิตเอธานอลจากข้าวสาลีและบิวทานอลชีวภาพ (bio-butanol บิวทานอลเป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง ใช้หล่อลื่น) ซินเจนตาลงนามในสัญญาความร่วมมือระยะเวลา 10 ปี กับบริษัท Diversa Corporation (บริษัทที่ดำเนินการปล้นจุลินทรีย์ไปทั่วโลก) เพื่อพัฒนาเอ็นไซม์ดัดแปลงพันธุกรรมสำหรับใช้ในการผลิตเอธานอล ไม่ว่าจะเป็นชนิดที่ตัดต่อเข้าไปในเมล็ดพันธุ์โดยตรงหรือใช้ระหว่างกระบวนการแปรรูป ซินเจนตากำลังร่วมมือกับผู้ผลิตอ้อยในบราซิล และเป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมบริษัทแรกที่กำลังขอใบอนุญาตในสหรัฐอเมริกา เพื่อจำหน่ายข้าวโพดที่มีเอ็นไซม์ที่ออกแบบมาสำหรับผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพโดยเฉพาะ

ขั้นตอนต่อไปที่จะคุกคามความปลอดภัยของมนุษยชาติและโลกใบนี้ เพียงเพื่อแสวงหากำไรของภาคเอกชนก็คือ ชีวภาพสังเคราะห์ (synthetic biology) นั่นคือ การสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Synthetic Genomics ซึ่งเป็นบริษัทของนักพันธุกรรมเจ้าปัญหาชื่อ Craig Ventner กำลังคิดค้นผลิตสิ่งมีชีวิตเทียมขึ้นมาสำหรับใช้ผลิตพลังงาน

พร้อมกับแผนการของบรรษัทข้ามชาติและนักวิทยาศาสตร์ที่รับใช้ผลกำไรอย่างหน้ามืดตามัว การต่อต้านและการตระหนักรู้ในระดับโลกก็กำลังเติบโตขึ้นเช่นกัน เมื่อดูจากเค้าเดิมพันที่ต้องเสี่ยงในการต่อสู้ครั้งนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่จะเป็นสมรภูมิที่รบกันอย่างสาหัสแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net