Skip to main content
sharethis

อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ
สำนักข่าวประชาธรรม /เรียบเรียง


หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ภาคเหนือ ร่วมกับสถาบันแมคเคนเพื่อการฟื้นฟูสภาพ จัดปาฐกถาประจำปี 2551 ในหัวข้อ "ทำอย่างไรให้มีความสุขและสนุกกับชีวิต" โดย ศ.นพ. ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ณ โบสต์สันติธรรม สถาบันแมคเคนเพื่อการฟื้นฟูสภาพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่


............................................................................................


ในปัจจุบันนี้ความดีเกิดขึ้นได้ยากมากเพราะเรากำลังอยู่ในสังคมบริโภคนิยมที่ต้องมีการกระตุ้นการบริโภคให้เกิดขึ้นมาก ๆ ระบบเศรษฐกิจมันถึงจะอยู่ได้ ดังนั้นการปฏิวัติจิตสำนึกของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ เป็นจุดมุ่งหมายของทุก ๆ ศาสนา อารยะธรรมวัตถุนิยม บริโภคนิยมได้พาโลกไปสู่วิกฤตอย่างรุนแรงโดยที่จะไม่สามารถเดินต่อไปได้ แต่ว่ามีเพียงวิธีเดียวที่จะสามารถอยู่รอดได้ก็คือการปฏิวัติจิตสำนึก ดั่งที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์กล่าวเอาไว้ว่ามนุษยชาติจะสามารถอยู่รอดต่อไปได้จะต้องมีการปฏิวัติวิถีคิดอย่างสิ้นเชิง เพราะว่าวิธีคิดในปัจจุบันแบบนี้มันทำลายทุก ๆ อย่างทั้งมนุษย์ด้วยกันเอง สิ่งแวดล้อม


งานสังคมสงเคราะห์ที่พวกเรากำลังทำกันอยู่นี้นั้นมันเป็นการสร้างจิตสำนึกใหม่ ทำเพื่อคนจน คนแก่ คนเจ็บ คนพิการ ในสังคมนั้นสุดท้ายแล้วด้วยวิธีการแบบนี้จะเป็นการดึงบุคคลอื่น ๆ เพื่อให้เข้ามาเยียวยาสังคมด้วย


ที่ยุโรปในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นั้นอาจารย์คนหนึ่งที่ชื่อว่าพอล ฟาร์มเมอร์ ใช้เวลาครึ่งปีอยู่ที่เกาะเฮติ และกลับมาสอนอีกประมาณ 3-4 เดือน ประเทศเฮตินั้นเป็นประเทศที่จนมากๆ ผู้คนจำนวนมากติดเชื้อไวรัสเอชไอวี และเป็นโรควัณโรคที่ดื้อยา อาจารย์ฟาร์มเมอร์จึงยืมเวชภัณฑ์จากโรงพยาบาลที่บอสตันเพื่อที่จะไปรักษาผู้คนเหล่านั้น จนวันหนึ่งทางโรงพยาบาลสอบถามถึงจำนวนเงินค่ายืมเวชภัณฑ์เหล่านั้นที่สูงถึง 3 แสนเหรียญ อาจารย์ฟาร์มเมอร์ก็ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ ต่อมาอาจารย์ฟาร์มเมอร์ได้ไปพบกับเศรษฐีคนหนึ่งซึ่งสงสัยในการกระทำของอาจารย์ อาจารย์จึงชักชวนเศรษฐีคนนั้นเพื่อไปที่เกาะเฮติด้วยกัน เมื่อเศรษฐีคนนั้นเห็นการกระทำ เห็นงานของอาจารย์ฟาร์มเมอร์แล้วจึงเกิดความศรัทธา ยกสมบัติให้แก่อาจารย์เพื่อการสาธารณกุศลจำนวนมาก


งานเพื่อเพื่อนมนุษย์นั้นเป็นงานที่เล็กแต่ว่าจิตสำนึกใหญ่ ส่วนงานอื่นๆ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง เป็นงานที่ใหญ่มโหฬารแต่ว่าจิตสำนึกกลับเล็กนิดเดียว ซึ่งไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแปลงมนุษย์ได้ มีแต่จะพาให้มนุษย์ดิ่งลงเหวมากขึ้น เพราะฉะนั้นงานสังคมสงเคราะห์นั้นจะทำให้เรามีความสุขตลอดเวลา เราทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ ในทางพุทธศาสนานั้นถ้าหากเราอยู่กับความจริงในสิ่งที่เราทำ รู้ความหมาย จิตของเราจะเกิดความปิติอิ่มเอิบ


มิติของคนนั้นแตกต่างจากสัตว์ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าถึงสิ่งสูงสุดได้ โดยสิ่งสูงสุดนั้นจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเชื่อของบุคคล ในทุกๆ ศาสนาอยากให้มนุษย์เข้าถึงสิ่งสูงสุด ในศาสนาฮินดูเข้าถึงปรมาตมัน ศาสนาพุทธนั้นให้เข้าถึงนิพพานเพื่อที่จะหลุดพ้นจากการเห็นแก่ตัวทั้งสิ้น ศาสนาคริสต์เข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด ซึ่งสิ่งสูงสุดอีกนัยหนึ่งนั้นก็คือความจริง ความดี ความงาม ถ้างานที่เราทำพาเราไปสู่สิ่งสูงสุด เราจะมีความสุข สนุกในงานที่เราทำไม่ว่ามากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่พาเราเข้าสู่สิ่งสูงสุด งานทุกชนิดจะกลายเป็นความปิติดื่มด่ำ โดยท่านพุทธทาสเรียกว่าเป็นนิพพานที่ปลายจมูก เพราะทางพุทธศาสนาไปอธิบายนิพพานในความหมายที่ฟั่นเฝือบอกว่าหากจะเกิดนิพพานได้นั้นต้องใช้เวลาอีกหลายแสนปี แต่ว่าท่านพุทธทาสบอกว่ามันอยู่ที่เพียงตรงปลายจมูกเท่านี้เอง เพราะยามใดที่เราไม่เห็นแก่ตัวจะเกิดความสงบเย็น นั่นแหละที่คือนิพพาน


จริง ๆ แล้วสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุดก็คือความสุข แต่เรากลับไม่ได้เรียนรู้ว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร และเกิดจากอะไร กลายเป็นว่าสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดเรากลับไม่ได้เรียนรู้มันเลย ขณะนี้ความเครียดเป็นโรคระบาดมากที่สุดในโลก ยาที่ขายดีที่สุดในโลก 3 อย่างแรกล้วนเกี่ยวกับความเครียด คือยากดประสาท ยารักษาโรคความดันโลหิต และยารักษาแผลในกระเพาะ และความเครียดก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ อย่างมากมาย และความเครียดเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับทุกๆ คนอันที่จริงพวกเราน่าที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างความสุข


ในจักรวาลของเรานั้นไม่มีอะไรที่วิจิตรที่สุดเท่ากับสมองของมนุษย์ที่สามารถบรรลุอะไรก็ได้ แต่ว่าทำไมเราไม่สามารถที่จะสร้างความสุขในชีวิตได้เราเข้าใจอะไรผิดไปในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกว่าทิฐิย้อนกลับมาที่คำพูดของไอน์สไตน์ที่ว่าเราต้องการวิธีคิดใหม่อย่างสิ้นเชิงนั้น แสดงว่าเรากำลังติดอะไรอยู่ในความคิด ซึ่งอันที่จริงแล้วมนุษย์ควรที่จะเป็นอิสระ ซึ่งคำว่าอิสระนั้นก็คือนิยามชองความสุขนั่นเอง


1.เราติดอยู่ในวิทยาศาสตร์ ที่มีความแหลม มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง มีความคมชัดลึก ใช้ความรู้เป็นตัวนำซึ่งไม่จริงอันที่จริงแล้วเราต้องใช้ใจนำถ้าใช้ความรู้นำเราก็จะเครียดมากจะกลายเป็นคนขี้ขลาด ถ้าใช้ความรู้นำ ความรู้ไม่มีอำนาจที่จะไปต่อต้านกิเลส และไม่ใช่ความรู้ที่สามารถจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ ผมมีโอกาสได้ไปร่วมประชุมทางการแพทย์ที่นิวยอร์ก ที่นั่นการวิจัยในโรคที่คนจนเป็นนั้นน้อยมากเพราะว่ามันไม่สามารถทำเงินได้ เพราะเมื่อเราใช้ใจนำจะเกิดความกล้าหาญ พยายาม เกิดความเพียรอย่างแรงกล้าที่จะเข้าไปหาความรู้ พระพุทธเจ้าใช้ใจนำให้เกิดวิริยะเพื่อความหลุดพ้น และอีกอย่างหนึ่งนั้นการศึกษาของประเทศไทยไม่ได้เอาวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง แต่ว่าเอาวิชาความรู้เป็นตัวตั้งเด็กทุกวันนี้ไม่ค่อยอยากจะคุยกับพ่อแม่แล้วเพราะว่าคุยแล้วมันไม่ได้คะแนน


2.การเคารพคุณค่าของความเป็นคนของคนทุกๆ คน สังคมไทยนั้นเป็นสังคมชนชั้น คนจน คนเล็ก คนน้อย ชาวบ้านไม่มีเกียรติหรือว่าศักดิ์ศรีในชีวิต ซึ่งตรงนี้นั้นมันนำไปสู่สิ่งต่างๆ อีกมากมายเพราะว่าคุณค่าของความเป็นคนนั้นเป็นสิ่งพื้นฐานในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นการพัฒนาในประเทศจึงขาดความเป็นธรรมซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่ และเกี่ยวข้องโดยตรงกับความยากจนในสังคมไทย


นักเศรษฐศาสตร์มักจะคิดว่าความยากจนนั้นเกิดจากการไม่พัฒนาทางเศรษฐกิจแต่ในความเป็นจริงแล้วมันเกิดจากความไม่เป็นธรรมทางสังคมมากกว่า คนยากจนเข้าไม่ถึงทรัพยากรในชีวิต มันเป็นความคิดที่ครอบงำคนทั้งหมดในสังคมลักษณะโครงสร้างทางสังคมที่เป็นแนวดิ่งแบบนี้นั้นมันส่งผลให้การเมือง เศรษฐกิจ และศีลธรรมย่ำแย่ลงมาก


ภาคประชาสังคมนั้นจะทำให้คนจนหงายหน้าขึ้นไปแล้วจะเจอกับท้องฟ้า และอีกอย่างหนึ่งคือเราต้องทำการปฏิรูปการศึกษาโดยแทนที่จะให้ไปเรียนกับครูเราต้องทำให้เด็กนักเรียนไปเรียนกับชาวบ้านมากขึ้นเพราะว่ามันจะทำให้เห็นคุณค่าของคนเล็ก ๆ เห็นคุณค่าของคนขายก๋วยเตี๋ยว คนกวาดถนน


3.ความรู้ในตัวคนหรือความรู้ในตำราเราไปติดกับความคิดอย่างมากเพราะว่าความรู้ในตำรานั้นเป็นความรู้ที่มีฐานมาจากความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยคนน้อยคนที่จะมีความรู้ทางด้านนี้ แต่ว่าความรู้ในตัวคนเป็นความรู้ในฐานทางด้านวัฒนธรรม ความรู้ทางด้านมิติชีวิต คนทุกคนมีหมด ดังนั้นถ้าเราเคารพเพียงแต่ความรู้ในตำราแล้วน้อยคนนักที่จะมี แต่ถ้าเราเคารพความรู้ในตัวคนแล้วคนทุกคนมีหมด คนไม่ว่าจะจนอย่างไร คนยากจน คนขับรถเมล์ เขามีเกียรติมีศักดิ์ศรีมันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงมุมมองของเราที่มีต่อเพื่อนมนุษย์เสียใหม่


และอีกอย่างหนึ่งนั้นเราต้องใช้วัฒนธรรมเป็นฐานและเอาวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ เพราะว่าในปัจจุบันนี้เราใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นฐานแล้วละทิ้งวัฒนธรรมของเราไปเสีย


4.การคิดหรือว่าทำอย่างแยกส่วน ที่ผ่านมาเราคิดและทำแบบแยกส่วนมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม การศึกษา แต่มันไม่สามารถที่จะสำเร็จได้เพราะว่าเรื่องทั้งหมดนี้มันเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน อะไรที่ชำแหละเป็นส่วน ๆ แล้วมันจะหมดชีวิตไปอย่างเช่นหมู เพราะว่ามันมีความหลากหลายในแต่ละส่วนๆ ทุกๆ อย่างมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง และการมีอัตลักษณ์ของตัวเองได้จะต้องมี Autonomy ที่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ ต้องไม่มีใครไปสั่งให้หัวใจทำงานได้มันต้องทำด้วยตนเอง ตัวอย่างที่เด่นชัดของการทำงานที่ล้มเหลวก็คือกลไกการทำงานของภาครัฐเพราะว่าไม่ได้ใช้หลักธรรมชาติ ชีวิตของเราเกิดจากการเชื่อมโยงของปอด ตับ หัวใจ ไต ดังนั้นการพัฒนาคือการเชื่อมโยงการ มีชีวิตจึงเกิดขึ้น


5.การติดในด้านวิธีคิดของพวกเรา ปกติพระเจดีย์นั้นต้องเริ่มสร้างที่ฐานแต่ว่าเราทำสิ่งต่าง ๆ โดยไปสร้างที่ยอดก่อน ทางด้านเศรษฐกิจเราก็เริ่มที่ยอด การศึกษาก็เริ่มที่ยอดโดยมันทำไปให้คนออกจากท้องถิ่นไปทั้งหมดมหาวิทยาลัยไม่ได้ให้ความสำคัญของท้องถิ่นเพราะว่าอันที่จริงแล้วนั้นท้องถิ่นมันก็คือฐานของสังคม การเมืองของเราก็เริ่มที่ยอดเน้นที่ประเทศ สาธารณสุขเน้นที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่โดยเมินเฉยต่อท้องถิ่น ดังนั้นมันจึงกลายเป็นสามเหลี่ยมหัวกลับ เวลาที่ทำอะไรจึงพังทลายลงมาทั้งหมด ถ้าหากว่าประเทศเราเริ่มทำอะไรจากฐานภายใน 5 ปีประเทศเราจะแข็งในทุก ๆ ด้าน ทุกวันนี้เราเอาเศรษฐกิจระดับบนไปเชื่อมกับภาคเศรษฐกิจในต่างประเทศมันจึงพัง ถ้าเริ่มจากฐานข้างล่างที่เป็นฐานวัฒนธรรมประเทศเราก็จะไม่เกิดวิกฤต เพราะว่าฐานวัฒนธรรมนั้นมันจะทำให้เราสามารถที่จะพึ่งตนเองได้ ฐานวัฒนธรรมเป็นฐานที่ใหญ่มากๆ แต่ว่าเรากลับสร้างพระเจดีย์จากยอดมันก็เลยพังทลาย


6.เราติดความเป็นทางการ เราติดในรูปแบบมากกว่าสาระของมัน เช่นพระสงฆ์สามารถที่จะสร้างหอไตรที่สวยที่สุดได้แต่ว่าไม่สามารถทำให้คนหันมาสนใจศึกษาพระไตรปิฎกเหล่านั้นได้ อันที่จริงแล้วความไม่เป็นทางการนั้นมีมาก่อนแล้ว และมีอำนาจมากกว่ามากสมัยก่อนมนุษย์มีทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ แม่น้ำแต่รัฐที่ตั้งมาทีหลังกลับยึดเอาสิ่งเหล่านั้นไปทั้งหมด มันจึงเกิดความโกลาหลเกิดขึ้นเพราะว่าไม่สามารถจัดการทรัพยากรได้อย่างเป็นธรรม และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการทำความดีไม่ต้องรอการอนุมัติจากทางการ ความดีไม่มีทางการ


วิธีปฏิบัติเมื่อเราไม่มีความสุข 1.ทำอะไรก็ได้ที่เราชอบโดยทำให้ประณีตงดงาม อย่างที่ อ.ระพี สาคริก บอกว่าสิ่งที่งดงามมันจะพัฒนาจิตใจของเราให้สงบสุข บริสุทธิ์และประณีตมากยิ่งขึ้น และค้นคว้ามันให้ลึกขึ้น ทำเรื่องใดก่อนก็ได้เพราะว่าสิ่งที่เราทำเหล่านี้มันก็จะไปพบกันเอง เพราะว่าธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ นั้นมันเป็นสิ่งเดียวกันเราอาจจะเริ่มที่อะไรก่อนก็ได้ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข


2.การทำงานของนักพัฒนานั้นคือความเครียด ในคัมภีร์ภัควัตวคีตามักจะบอกว่าให้เราถือว่าการที่เราได้กระทำนั้นมันก็คือผล เพราะว่าเรามักกลุ้มใจและมีความผิดหวังเมื่อทำอะไรลงไปแล้วมันไม่เกิดผล เราจึงมีความทุกข์ดังนั้นวิธีการดับทุกข์ก็คือเราไม่หวังอะไรเลยเราจะได้ไม่ผิดหวัง ให้ถือว่าการกระทำนั้นมันคือผลทั้งหมด มันอาจจะเป็นการยากแต่ว่าถ้าหากทำได้แล้วจิตจะหลุดจากการหวังผลทั้งหมด


3.ทำให้การทำงานทุกชนิดเป็นความสุขด้วยปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ มีสติรู้อยู่กับปัจจุบันความทุกข์มันเกิดจากการคิดดังนั้นถ้าหากหยุดคิดก็จะไม่มีความทุกข์ วลาจิตมีสติจะเกิดความงดงามเพราะว่ามันจะเห็นความจริง ทุก ๆ อย่างจะเป็นความงดงามไปทั้งหมด และก็จะเกิดความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง


เพราะว่าในโลกของวัตถุนิยมหรือว่าทุนนิยมในปัจจุบันนั้นเราขาดมิติทางจิตวิญญาณดังนั้นเราจึงต้องหาอะไรมาเติมเต็มสิ่งเหล่านั้น โดยอาจจะเป็นความฟุ่มเฟือย ยาเสพติดหรือว่าความรุนแรง ฉะนั้นถ้าหากว่ามนุษย์มีมิติทางจิตวิญญาณแล้วเราก็ไม่ต้องเติมอะไรลงไปอีก ความสุขราคาถูกหรือว่าความสุขที่ไม่มีราคานั้นเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ คนในโลก


4.หลักการ INN ปัจจุบันนี้เราอยู่ในโครงสร้างทางดิ่ง 5 ด้านคือการเมือง ราชการ การศึกษา ธุรกิจ และศาสนา เราอาจจะใช้หลักการ INN มาแก้โครงสร้างทางดิ่ง


I คือ Individual คือการสำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นคน N คือ Node ที่แปลว่ากลุ่ม ใช้ความไม่เป็นทางการโดยรวมตัวกัน หากลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่เราทำและสิ่งที่เราชอบทำให้เกิดกลุ่มแบบนี้ขึ้นให้เต็มในสังคม มันคือโครงสร้างอย่างไม่เป็นทางการ เพราะถ้าหากว่ามันเกิดขึ้นเยอะโครงสร้างทางสังคมก็จะเปลี่ยนไปเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น การเมืองก็จะเปลี่ยนเพราะว่าทั้งหมดเชื่อมโยงกันและทุก ๆ คนสามารถทำได้ทันที Network  หมายความว่าเครือข่าย อาจจะเป็นเล็กบ้างใหญ่บ้าง ใกล้บ้าง ไกลบ้าง โดยเลียนแบบมาจากเซลส์สมองของมนุษย์ เราแต่ละคนสามารถจะเป็นสมาชิกได้หลายคน หลายเครือข่าย  เพราะฉะนั้น INN คือโครงสร้างทางสังคมแบบใหม่ที่สามารถทำได้เอง และถ้าหากมันเกิดขึ้นแล้วนั้นเรื่องต่าง ๆ ของประเทศก็จะเปลี่ยนไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net