Skip to main content
sharethis

1 กุมภาพันธ์ 2551  สืบเนื่องด้วยเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2551 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทหารเฉพาะกิจ 11 ได้เข้าตรวจค้นและจับกุมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาและสถาบันพลศึกษา วิทยาเขตยะลา จำนวน 7 คน ประกอบด้วย นายกุยิ อีแต  นายอามีซี  มานาก  นายอับดุลเลาะห์  ดอเลาะ  นายฮัสมาดี ประดู่  นายฮัซมัน  เจ๊ยอ  นายอิสมา  แอลเตะ  และนายอาหามา บาดง  ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ  20.50 น. วันที่ 28 ม.ค. ต่อมามีรายงานเพิ่มเติมแจ้งว่า มีการจับกุมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเพิ่มอีก 2 คน คือ นายซอบรี กาซอ และนายอับดุลอาซิส อารง อาสาสมัคร รุ่นที่ 28 มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ได้ออกแถลงการณ์ในฐานะคนหนุ่มสาวที่อาสาสมัครรับใช้สังคม ความว่า  


 


"นักศึกษากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มนักศึกษากิจกรรมที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และ ศูนย์ทนายความมุสลิม ในการไปเป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับกฎหมายเฉพาะ 3 จังหวัดภาคใต้ ประกอบกับความเป็นคนในพื้นที่จึงทำให้ รับรู้ และเข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคได้เป็นอย่างดี 


 


"ในการเข้าจับกุมดังกล่าวเจ้าหน้าที่ค้นพบเพียง คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 7 เครื่องและกล่องถ่ายรูป 1 ตัว  หลักฐานเพียงแค่นี้ทำให้นักศึกษาผู้มีความสนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นต่อบ้านเกิดเมืองนอนต้องถูกจับกุมตัวและถูกส่งเข้าค่าย อิงคยุทธบริหาร  โดยไม่อนุญาตให้พบทนายเป็นเวลาถึง  3  วัน  เห็นได้ชัดว่าการจับกุมดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง เนื่องจากไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และไม่พบหลักฐานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรง 3 จังหวัดภาคใต้ตามที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารกล่าวอ้างแต่ประการใด ตลอดจนไม่อนุญาตให้ทนายได้เข้าพบนั้น ทำให้นักศึกษากลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงในการถูกซ้อม และทรมานได้


 


"สภาพปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นปัญหาที่สั่งสมมายาวนานจึงมีความซับซ้อนและเปราะบางต่อการกระทำใด ๆ เกรงว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารเฉพาะกิจครั้งนี้ จะนำไปสู่ความไม่พอใจละความรุนแรงตามมา 


 


"ดังนั้นเราในนามของอาสาสมัครรุ่นที่ 28  มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อการพัฒนา  จึงขอประณามอย่างถึงที่สุดในการเข้าจับกุมกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งการจับกุมที่ปราศจากการตั้งข้อกล่าวหา และไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์   จึงขอเรียกร้องดังนี้


1.     ให้เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุมอย่างไม่มีเงื่อนไข


2.     ให้เจ้าหน้าที่ทหารออกมาชี้แจงกรณีการจับกุมดังกล่าวโดยละเอียด


3.     ให้เจ้าหน้าที่ทหารรับประกันถึงเรื่องความรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากการซ้อม ทรมาน ในขณะมีการกักขังตัวผู้ต้องสงสัย


4.     ยกเลิกกฎอัยการศึกษาและ พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติอันเป็นกฎหมายที่นำชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์เข้าสู่ความเสี่ยงในการถูก จับกุม  กักขัง และกฎหมายดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือในการเข้าไปทำลายล้างผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ"


 


นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้ในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความร่วมมือกันทุกฝ่าย เพื่อการมีส่วนร่วมในการรับรู้  เข้าใจ  แก้ไข และเยียวยาสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หากปราศจากการมีส่วนร่วมและมุมมองต่อสภาพปัญหาที่หลากหลายเพราะถูกผูกขาดอำนาจในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐเพียงไม่กี่คน และมีมุมมองต่อผู้ที่มีความรักต่อผืนดินเกิด ต้องการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  เช่น กลุ่มนักศึกษาที่ถูกจับกุม เป็นศัตรูที่ต้องลายล้างด้วยการจับกุมแล้ว  เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าความ สงบ และสันติสุข อย่างแท้จริงจะไม่มีวันเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net