Skip to main content
sharethis

ตามที่เมื่อวันที่ 13 พ.ย. สหภาพแรงงานผลิตแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับสวัสดิการต่างๆ ของคนงาน 10 ข้อ ต่อบริษัทซียูอีแอล จำกัด ที่มีผู้ถือหุ้น อาทิ บริษัทยูนิไทย บริษัทเชฟรอน ซึ่งเป็นบริษัทกิจการสร้างฐานแท่นขุดเจาะน้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล โดยที่ผ่านมามีการเจรจาสองฝ่าย 3 ครั้ง แต่ไม่เป็นผล ทางสหภาพแรงงานฯ จึงได้ใช้สิทธิแจ้งเป็นข้อพิพาทแรงงาน และมีพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้ามาไกล่เกลี่ยทั้งหมด 9 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้นั้น (อ่านข่าวย้อนหลัง กรรมกรแท่นขุดเจาะน้ำมันชลบุรี หยุดงานเป็นวันที่ 10)


 


ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ตั้งแต่เวลาประมาณ 6.00 น. สมาชิกจากสหภาพแรงงานผลิตแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย ประมาณ 200 คนเดินทางจาก อ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี มาชุมนุมกันที่หน้าอาคารไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัทซียูอีแอล จำกัด


 



 



 


พิสันต์ สอนเสือ ประธานสหภาพฯ กล่าวว่า ปีนี้พวกเขาทำงานมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว มีผลผลิตมากกว่า แต่นายจ้างกลับอ้างว่าขาดทุน จุดนี้ทำให้ต่างก็คิดแตกต่างกันไป นอกจากนี้ นายจ้างจ่ายเงินโบนัสให้เฉพาะพวกที่ไม่ใช่สหภาพแรงงาน โดยอ้างว่าเพราะยังพิพาทกันอยู่ และอ้างว่าบริษัทขาดทุน จากการโดนปรับ เพราะเหล็กสแตนเลสเป็นสนิม และมีการซื้อท่อมาผิด ซึ่งเขากล่าวว่า พนักงานไม่ได้เกี่ยวข้องกับความผิดพลาดด้วย เพราะไม่ได้เป็นคนซื้อ และว่า "นายจ้างไม่ได้คิดถึงกำลังใจของคนทำงาน ซึ่งทำงานกันมาตลอดปี ทั้งที่บริษัทไม่ได้ขาดทุน เพียงแต่ขาดทุนกำไรเท่านั้น"


 


อย่างไรก็ตาม จากผลของการเรียกร้องดังกล่าว พิสันต์ กล่าวว่า ทำให้มีผู้มาสมัครสมาชิกสหภาพเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ก็มีสมาชิกสหภาพบางคนที่ไม่ออกมาร่วมเรียกร้องด้วย เนื่องจากบ้างถูกบีบบังคับ บ้างมีความสนิทสนมต่อหัวหน้างาน


 


ประธานสหภาพฯ กล่าวถึงความปลอดภัยในการทำงานว่า เมื่อปี 45-46 ที่เขาเป็นแกนนำก่อตั้งสหภาพนั้น บริษัทไม่มีการป้องกันเรื่องฝุ่นสนิมและฝุ่นทราย ทำให้พนักงานเป็นโรคปอด รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในแหลมฉบัง เมื่อชาวบ้านร้องเรียนไปก็ไม่มีการแก้ไข ต่อมาเมื่อเกิดอุตสาหกรรมรถยนต์ส่งออกไปต่างประเทศ ในบริเวณใกล้เคียง และมีการฟ้องร้องเนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับความเสียหายจากฝุ่น จึงมีการป้องกันฝุ่น ซึ่งนับว่า บริษัทได้ละเมิดสิทธิของคนงาน ละเมิดกฎหมายและทำลายสิ่งแวดล้อม


  


ด้าน สมชัย สามพี่น้อง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและรัฐสัมพันธ์ บริษัทซียูซีแอล กล่าวว่า ข้อเรียกร้องมี 2 ประเด็นคือ โบนัสและการปรับค่าจ้างประจำปี สำหรับโบนัสนั้น ตามสัญญาการจ้างของบริษัทระบุว่า จะจ่ายให้พนักงานภายในสิ้นเดือนมกราคม แต่ที่ผ่านมา จ่ายภายในสิ้นเดือน ธ.ค. เพราะทุกปีสหภาพฯ จะเรียกร้องให้จ่ายภายในเดือน ธ.ค. ครั้งนี้ สหภาพก็คงข้อเรียกร้องนี้ไว้เช่นเดิม แต่เนื่องจากมีข้อเรียกร้องหลายข้อ และการเรียกร้องนั้นยังไม่ยุติ ทำให้ยังจ่ายเงินให้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ต่อรองว่าจะจ่ายให้พนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพที่สละข้อเรียกร้องทั้งหมด


 


กรณีสหภาพเรียกร้องจ่ายโบนัสตามผลการปฏิบัติงานเป็นเงินเดือนเฉลี่ย 3.5 เดือน บวกเพิ่มพิเศษอีกคนละ 17,000 บาท สมชัยกล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัท โดยสรุป เมื่อปีที่แล้ว มีกำไร 500 กว่าล้านบาท จึงจ่ายให้ได้ แต่ปีนี้ผลประกอบการกำไร 300 กว่าล้านบาท ซึ่งเท่ากับกำไรลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง บริษัทจึงเสนอจะจ่ายโบนัส 2.5 เดือน ส่วนการปรับค่าจ้างประจำปี ซึ่งสหภาพเสนอให้ปรับจาก 6% เป็น 8% นั้น เดิมบริษัทเสนอ 5% แต่ก็ยอมถอยมาที่ 6% อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ยังไม่สามารถใช้ได้ เพราะยังไม่ได้ตกลงกรณีพิพาทกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้ การตัดสินใจนั้นเป็นสิทธิในการบริหารงานของบริษัท


 


ส่วนที่มีพนักงานเสียชีวิตขณะทดสอบความดันนั้น ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและรัฐสัมพันธ์ กล่าวว่า มาตรการการรักษาความปลอดภัยในการทำงาน ได้รับการดูแลตามมาตรฐานสูงสุดของมาตรฐานอุตสาหกรรมประเภทนี้ ก่อนเข้าทำงานในเขตที่มีอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือต้องได้รับการดูแล และขณะนั้นเท่าที่ได้รับรายงานก็มีการทำทุกอย่างตามมาตรฐานของการทำงานเพื่อความปลอดภัยแล้ว สำหรับสาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยเบื้องต้น ได้ให้ผู้ทำงานทดสอบแรงดัน มากำหนดวิธีการการทดสอบแรงดันให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น มีการตรวจสอบทุกจุดที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบแรงดัน รวมทั้งให้ย้อนไปตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนเริ่มงานทุกครั้ง


 


"เราไม่ได้ปล่อยปละละเลยมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน ดูได้จากบริษัทได้รับรางวัลด้านความปลอดภัย อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิด สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ก็คือป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก" สมชัย กล่าว


 


ต่อมา สมพร ขวัญเนตร เลขาธิการสหภาพฯ ให้สัมภาษณ์หลังเข้าพบผู้บริหารเมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. ว่า ไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาเรื่องข้อพิพาท เนื่องจากไม่พบผู้เจรจาฝ่ายนายจ้างเลย อย่างไรก็ตาม ได้ยื่นหนังสือข้อพิพาทต่อฝ่ายบริหารของเชฟรอน ซึ่งมารับหนังสือและรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น โดยทางเชฟรอนรับว่าจะไปพิจารณาว่า จะจัดการอย่างไร โดยที่ไม่ไปก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายอื่น


 


ทั้งนี้ สมพร กล่าวว่า พวกเขาจะชุมนุมกันอยู่ที่หน้าเอสซีบีปาร์คต่อไป โดยจะอยู่ให้ยาวที่สุด เนื่องจากที่สำนักงานใหญ่นี้เป็นที่ที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจอยู่ อย่างไรก็ตาม สมพร กล่าวว่า ขณะที่พวกเขากำลังรวมตัวกันที่กรุงเทพฯ นั้น สมาชิกของสหภาพจำนวนหนึ่งก็รวมตัวกันทำกิจกรรมที่แหลมฉบังกว่า 70 คนเช่นกัน โดยคาดว่าในวันพรุ่งนี้ (30 ม.ค.) จะมีเพื่อนจากสหภาพมาร่วมชุมนุมด้วยอีกจำนวนหนึ่ง


 


 


 


 


...............................


อ่านข่าวย้อนหลัง


กรรมกรแท่นขุดเจาะน้ำมันชลบุรี หยุดงานเป็นวันที่ 10

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net