Skip to main content
sharethis

 



 


สืบเนื่องหลังจากกรณีเมื่อวันที่ 27 ม.ค.51 ที่เจ้าหน้าที่ทหาร ฉก.11 จังหวัดยะลา ซึ่งตั้งค่ายอยู่ใกล้โรงเรียนพาณิชยการยะลา ได้ร่วมกันตรวจค้น จับกุมนักศึกษา ทั้งหมด 7 คน (อ่านย้อนหลัง: ทหาร ฉก.11 จับกุม 7 นักศึกษาจังหวัดยะลา คุมตัวค่ายอิงคยุทธ) ล่าสุด มีรายงานเพิ่มเติมแจ้งว่า มีการจับกุมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเพิ่มอีก 2 คน


 


โดยผู้ที่ถูกจับ 7 คนที่ถูกจับกุมในวันที่ 27 ม.ค. ได้แก่ นายกุยิ อีแต คณะกรรมการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา(สนย.) และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาและสถาบันพลศึกษา วิทยาเขตยะลา ซึ่งประกอบด้วยนายอามีซี มานาก อายุ 22 ปี นายอับดุลเลาะ ดอเลาะ อายุ 23 ปี นายฮัสมาดี ประดู่ อายุ 23 ปี นายฮัซมัน เจ๊ะยอ นายอิสมาแอล เตะ อายุ 22 ปี และนายอาหามะ บาดง อายุ 22 ปี ทั้งหมดเป็นเพื่อนกัน พักอยู่บริเวณหอพักนักศึกษาย่านถนนฝั่งธนวิถี


 


การตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ทหารเกิดขึ้นขณะกำลัง เตรียมตัวไปเล่นฟุตบอลต้านยาเสพติด พงยาวีคัพ โดยเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาว่า นักศึกษาทั้งหมดมียาบ้าและอาวุธปืนในครอบครอง แต่หลังจากการตรวจค้นก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ ตามข้อกล่าวหา นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ชุดที่ทำการตรวจค้นได้ทำการยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 2 เครื่อง (เครื่อง PC และโน้ตบุ๊ค) โทรศัพท์มือถือจำนวน 7 เครื่องและกล้องถ่ายรูปดิจิตอล 1 ตัว โดยอ้างซ้ำว่า "พบวงจรระเบิดในเครื่องคอมพิวเตอร์"


 


สำหรับรายละเอียดของผู้ที่ถูกจับเพิ่มเติมอีก 2 คนนั้น นายรอมซี ดอฆอ เลขาธิการสมาพันธ์นักศึกษายะลา ให้ข้อมูลว่า เมื่อเวลาประมาณ  20.50 น. วันที่ 28 ม.ค. มีเจ้าหน้าที่ทหาร ฉก.11 แต่งกายชุดนอกเครื่องแบบเข้าตรวจค้นหอพักของ นายซอบรี กาซอ พักอยู่บ้านเลขที่ 11 ซอย เเยนาวากัฟ ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา แต่ปรากฏว่า นายซอบรี กาซอ ไม่ได้อยู่หอพัก จึงได้ถ่ายรูปและสอบประวัติเพื่อนของนายซอบรี ได้แก่ นายอาดีลัน เจ๊ะอุเซ็ง นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคยะลา นายอารอฟัต สะอะ นักศึกษาสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตยะลาและนายมะลีเป็ง ปู๊ด นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา


 


หลังจากนั้นเพื่อนได้ทราบภายหลังว่า นายซอบรี กาซอ และนายอับดุลอาซิส อารง ซึ่งเป็นนักศึกษาปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาทั้งคู่ได้หายตัวไป และทราบในภายหลังว่าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ ฉก.11 โดยก่อนหน้านี้ประมาณ 3 เดือน นายอับดุลอาซิสเคยถูกเจ้าหน้าที่จับกุมโดยใช้กฎอัยการศึกและพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้ว


 


ทั้งนี้ รายงานแจ้งด้วยว่าการจับกุมของเจ้าหน้าที่ มีการซ้อม นายซอบรี กาซอ และนายอับดุลอาซิส อารง เพื่อให้รับสารภาพ


 


สืบเนื่องจากกรณีการจับกุมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลานี้ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และองค์กรภาคี ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา เรื่อง การจับกุมนักศึกษาจังหวัดยะลา โดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อวันที่ 18-21 ที่ผ่านมา ทางสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา (สนย.) ซึ่งมีนายกุยิ  อีแตเป็นคณะกรรมการ มีโครงการอบรมความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดยะลาขึ้น ซึ่งทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้เป็นผู้ร่วมจัดโครงการด้วย 


 


ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาในสถาบันการศึกษาในจังหวัดยะลาในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของรัฐที่ไม่ไว้วางใจ หวาดระแวงต่อนักศึกษาอยู่ตลอดเวลาเพราะการจับกุมในครั้งนี้ขาดซึ่งพยานหลักฐานที่บ่งชี้ชัดว่านักศึกษาทั้ง 7 คน ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด และข้อกล่าวหาในการจับกุมก็ขาดน้ำหนักที่จะทำให้เชื่อได้ว่านักศึกษาทั้ง 7 คน มีส่วนพัวพันกับขบวนการก่อความไม่สงบจริง อย่างที่ทางภาครัฐกล่าวอ้าง


 


ในแถลงการณ์ของระบุว่า "สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยไม่เคยคาดหวังต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ในวิธีทางของรัฐ ว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง สาเหตุเนื่องมาจากที่ผ่านมามักมีการจับกุมผู้บริสุทธิ์อยู่เสมอ อีกทั้งยังมีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยด้วยวิธีการทารุณโหดร้ายมาโดยตลอดดังเช่นกรณีของ นายมะสุกรี อาดัม นักศึกษามอ.ปัตตานีที่ถูกซ้อมภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารอย่างไร้มนุษยธรรม ดังที่เคยเป็นข่าว


 


ต่อกรณีดังกล่าว สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเรียกร้องต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต่อการกำหนดนโยบายการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังนี้


 


1. ให้มีการสอบสวนผู้ถูกจับกุมที่เป็นนักศึกษาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และหากว่ากระบวนการสอบสวนแล้วนักศึกษากลุ่มดังกล่าวไม่มีความผิด ให้มีการเร่งปล่อยตัวโดยเร็ว อีกทั้งห้ามมิให้มีการบังคับ ข่มขู่ หรือ ซ้อมทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพตามข้อกล่าวหาเด็ดขาด หากพบว่ามีการซ้อมเพื่อให้รับสารภาพทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจะจัดชุมนุมเคลื่อนไหวในพื้นที่ทันที เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับกลุ่มเพื่อนนักศึกษาที่เสียสละทำงานโดยมุ่งหวังให้เกิดสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


2. หากมีการพิสูจน์แล้วว่านักศึกษากลุ่มดังกล่าวไม่มีความผิด รัฐต้องชี้แจงต่อสาธารณะชนและสังคมว่านักศึกษาที่ทำงานด้านสันติวิธีกลุ่มดังกล่าวไม่มีความผิด และการเข้าจับกุมเป็นความผิดของรัฐที่เข้าใจผิดต่อการทำงานของนักศึกษา


 


3. รัฐจะต้องใช้ความระมัดระวังต่อการปฏิบัติงานในการเข้าจับกุม ต้องเคารพในประเพณี วัฒนธรรม และศาสนา โดยเฉพาะการตรวจค้นศาสนสถาน และต้องมีหลักฐานที่ชี้ชัดได้จริงๆ มิใช่ใช้ความรู้สึก สงสัย หวาดระแวง ในการเข้าจับกุม


 


4. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศจับตาและเฝ้าติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีอย่างต่อ เนื่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


แถลงการณ์ ออกโดยองค์กรภาคีต่างๆ ได้แก่ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.), เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน (คพช.), กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคมมหาวิทยาลัยรามคำแหง, เครือข่ายนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม(คนท.), เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสันติภาพ, สมาพันธ์นิสิตนักศึกษา ปัตตานี  ยะลา สงขลา นราธิวาส, ศูนย์ประสานงานนักศึกษาและประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

เอกสารประกอบ

แถลงการณ์สนนท. เรื่อง การจับกุมนักศึกษาจังหวัดยะลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net